การสัมผัสธรรมชาติ
มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มีธรรมชาติอยู่ภายในตัวเอง ทั้งสองส่วนนี้ต่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
แต่วิถีชีวิตในปัจจุบันนำพาเราห่างไกลธรรมชาติออกไปทุกขณะ จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีความรู้สึกขาดพร่องภายในอยู่เสมอ
การกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติจึงเป็นหนึ่งในช่องทางที่มีพลังในการการเติมเต็มความสุขภายในจิตใจของพวกเรา
ความสุขประเทศไทย ร่วมกับนิตยสารสารคดีและ Nairobroo-นายรอบรู้ นักเดินทาง ขอแนะนำกิจกรรม "Parkใจ" ที่จะชวนทุกคนมาฝึกพักใจ สัมผัสธรรมชาติอย่างลึกซึ้งผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้เราได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายใจและจิตวิญญาณ ติดตามกิจกรรมได้ทาง Faceboook group "Parkใจ" คลิกที่นี่
ธรรมชาติ ความรัก ความสุข

ธรรมชาติไม่ใช่เพียงต้นไม้ ใบหญ้า ท้องทุ่ง และลำน้ำ แต่หมายรวมถึงธรรมชาติในใจเราด้วย ใจที่มีความรักจะเห็นคุณค่าธรรมชาติภายนอกและมีความสุขอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อความรักในธรรมชาติกับความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน จะเชื่อมโยงความปรารถนาดีไปยังผู้อื่น
เช่นที่นักวิชาการเกษตรผู้คลุกคลีอยู่กับดอกไม้และเป็นผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทยสู่สากล ศ.ระพี สาคริก ได้ปฏิบัติมาเกือบทั้งชีวิต ท่านเข้าหาธรรมชาติของดอกไม้ด้วยแรงผลักดันที่จะเอาชนะอุปสรรคและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ท่านสนใจกล้วยไม้และเริ่มต้นปลูกเองด้วยอายุเพียง 6-7 ขวบ ด้วยความรู้สึกที่ต้องการต่อสู้กับคนกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งนำเอากล้วยไม้มาปฏิบัติบนพื้นฐานความไม่เท่าเทียม ท่านเริ่มต้นบรรจงเพาะกล้วยไม้เมล็ดแรกด้วยความรู้สึกรักและทะนุถนอม ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากวิญญาณซึ่งหยั่งรากลงอย่างลึกซึ้ง
“ความสวยงามเป็นที่ต้องการของสิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน การจะเดินไปหาสิ่งที่งดงาม เราก็ต้องเดินบุกป่าฝ่าดงไปก่อน ถ้าเราไม่เจอะสิ่งที่ไม่พอใจ แล้วเราจะไปเจอสิ่งที่พอใจได้อย่างไร …ผมสนใจกล้วยไม้ เพราะมองเห็นว่า มันมีหนามเต็มไปหมดเลย ผมชอบเดินฝ่าดงหนาม ทุกเรื่อง มีปัญหาทั้งนั้นเลย กล้าที่จะเดินเข้าไปหามัน และเอาชนะใจตัวเองให้ได้หมดทุกเรื่อง”
การทำงาน
"เคยมีการคำนวณว่าคนเราใช้เวลากว่า 80% ของชีวิตอยู่ในที่ทำงาน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก ถ้าเราจะใช้เวลาจำนวนมากขนาดนี้ให้หมดเปลืองไปกับความทุกข์
จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถใช้เวลาในที่ทำงานเพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ ขัดเกลาตนเองในด้านต่างๆ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนการทำงานจากความทุกข์ ให้กลายเป็นเส้นทางนำเราเดินทางไปสู่ความสุขที่แท้จริง"
การหาความสุขจากการทำงานคือการหาความสุขจากการดำเนินชีวิต

มีอย่างเดียวในวันอาทิตย์ที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ไม่ชอบคือตอนระลึกได้ว่า ‘พรุ่งนี้เป็นวันจันทร์’ ขณะที่ในอังกฤษมีการรวมตัวเป็นชุมชนเครือข่ายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กในชื่อว่า “I HATE MONDAYS!” และมีบทความด้านจิตวิทยาการทำงานมากมายนำเสนอวิธีการรักษาโรค I hate Monday syndrome ดูเหมือนว่าวันจันทร์ซึ่งเป็นวันแรกของการทำงานในแต่ละสัปดาห์ จะสร้างอาการหวาดผวาให้กับคนทำงานไม่น้อยทีเดียว เมื่อถึงเช้าวันจันทร์ เราอาจมีอาการปวดเนื้อตัว ไม่อยากลุกจากเตียงนอน ขาดความกระปรี้กระเปร่า ทั้งที่อันที่จริงการทำงานได้สร้างความสำเร็จเป็นของขวัญชิ้นงามให้กับชีวิต และนำพาความสุขอันอิ่มเอมให้เราได้
ผลสำรวจจากสถาบัน Institute of Economic Affairs ในอังกฤษ พบว่า คนที่ออกจากงานมาอยู่บ้านเฉยๆ มีโอกาสที่จะเกิดอาการหดหู่และทุกข์ใจเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ‘ถ้าอยากมีความสุข ให้ไปทำงาน’ เพียงแต่ปรับวิธีการคิดใหม่ให้ไม่ทุกข์กับงานที่ทำและสร้างการตระหนักรู้ในตัวเอง ตามคำแนะนำของ รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ซึ่งมักได้รับเชิญให้บรรยายเกี่ยวกับความสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงาน
การเคลื่อนไหวร่างกาย
“การเคลื่อนไหวร่างกายเมื่อนำไปผนวกกับสิ่งที่มีคุณค่าอย่างเช่น การอยู่ในปัจจุบันขณะ หรือ การเปิดสัมผัสอย่างเต็มที่ จะทำให้เกิดเส้นทางพิเศษที่เชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจให้กลายเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อลงมือปฏิบัติ ธรรมชาติจะพาเราไปอยู่ในภาวะที่ดีที่สุด เราจะค้นพบความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ พบความสุขในมิติที่ยั่งยืน ซึ่งหาไม่ได้จากการได้ฟังหรือแค่อ่านหนังสือ แต่จะพบเมื่อได้ทำด้วยตัวเอง”
ผมเดินด้วยจิตใจแจ่มใสเบิกบาน

ในบรรดาการบริหารกายทั้งหมด การเดินเป็นวิธีที่เก่าแก่และดีที่สุด ฮิปพอคราทีส (Hippokrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตกยกย่องว่า “การเดินคือยาดีที่สุดของมนุษย์”ส่วนที่สหรัฐอเมริกามีการจัดประชุม The 2013 Walking Summit เพื่อหาทางรณรงค์ให้คนอเมริกันเดินมากขึ้น และเพิ่มทางเท้าให้ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแคมเปญใหม่ส่งเสริมสุขภาพและความสุข
การเดิน นอกจากทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ยังใช้เป็นเครื่องมือสร้างการตื่นรู้ภายในใจ พุทธศาสนามีฝึก ‘เดินจงกรม’ เพื่อตามรู้การเคลื่อนไหวกายให้เกิดสมาธิ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เลือกใช้การเดินเท้าเป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตร เพื่อหาคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต และความสุขที่มาจากการเกื้อกูลกัน
ความสัมพันธ์
“ความสุขจากความสัมพันธ์นั้น มีพื้นฐานจากการกลับมารับรู้ตัวเอง และรับรู้โลกรอบตัวอย่างตรงไปตรงมา
หนึ่งในกุญแจสำคัญของความสุขในความสัมพันธ์ คือ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง เพราะมันคือการได้ย้อนกลับมาเข้าใจตัวเราเอง ในขณะเดียวกันจะทำให้เราเข้าใจคนตรงหน้าเรามากขึ้นด้วย
เราจะมองเห็นโอกาสในการดูแลตัวเรากับคนตรงหน้าได้ดีขึ้น
และพบเส้นทางใหม่ในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างกัน”
ศิลปะ
“การทำศิลปะเป็นโอกาสให้ได้หยุดฟังเสียงตนเอง เพราะงานศิลปะที่เราแสดงออกมาสามารถสื่อความหมายแทนตัวเรา เป็นพื้นที่ที่เราสามารถแสดงมุมอง ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่ในโลกด้านในของเรา
งานศิลปะจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นเส้นทางที่พาให้เราได้รู้จักตัวเองในแง่มุมต่างๆ มากขึ้นด้วย”
เมื่อศิลปะทำให้เราเล็กลง เราจะมีความสุข

ณ ชั่วขณะที่เราหยุดอยู่กับการชมศิลปะ หรือโมงยามของการจดจ่ออยู่ที่การสร้างงานศิลป์ คือความรื่นรมย์ที่จรรโลงใจ และมันเป็นเช่นนี้ตลอดมาในทุกห้วงเวลาที่เข้าหาศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการฟังดนตรี เต้นรำ ดูภาพวาด อ่านวรรณกรรม หรือเป็นผู้ผลิตงานศิลป์ประดิษฐ์หัตถกรรม ศิลปะได้ชื่อว่าเป็นหนทางเข้าหาความสุขที่ง่ายและงดงาม แต่ดูเหมือนเราจะคุ้นเคย และอาจละเลยที่จะระลึกถึงการหาความสุขจริงๆ จากสิ่งนี้ในยามหม่นเศร้า รวมถึงการมีอยู่ของศิลปะอย่างเข้าใจ
ความมหัศจรรย์ของศิลปะเกิดขึ้นได้กับทุกคน เช่นเดียวกับคุณจิตร์ ตัณฑเสถียร ผู้หยิบเอางานศิลปะมาสื่อสารกับคน และพบความสุขที่เกิดขึ้นจากมิติด้านใน รวมทั้งเห็นการเชื่อมโยงกับผู้คนที่ทำให้เกิดความอ่อนโยน และละลายตัวตน
“จุดเริ่มศิลปะของเรามักจะเจอตอนที่อยากจะทำอะไรให้ใครสักคนหนึ่ง อย่างเช่นโครงการ Think ทิ้ง ซึ่งทำตุ๊กตากระต่ายจากผ้าเหลือใช้ เราเอางานศิลป์ไปทำงานกับคนอื่น เป็นกึ่งจิตอาสา เกิดขึ้นหลังจากไปบ้านเด็กโฮมฮัก แล้วพบเด็กที่มีเชื้อเอชไอวี เด็กถูกทิ้ง และมีพัฒนาการไม่ค่อยดี มีอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง สังคมทิ้งง่ายเกินไป อันนี้เลยเป็นโครงการที่ทำขึ้นมาเพื่อส่งสารอะไรบางอย่างชื่อ Think ทิ้ง คือคิดก่อนทิ้ง ซึ่งทำมาหลายปีแล้ว เราพบว่ามีเศษผ้าอยู่เยอะ เวลาที่เราตัด บางชิ้นใหญ่ บางชิ้นเล็ก งานศิลปะของเราคือตุ๊กตา ‘กระต่าย’ ที่สื่อว่าตอนมีลูกไม่ค่อยคิด มันมีเพศสัมพันธ์กันง่ายมากและผลิตเต็มไปหมด เป็นตุ๊กตาที่ไม่มีหน้ามีตาในสังคม แต่เขามีอยู่”
การภาวนา
“หากเราพิจารณาความหมายของการภาวนาอย่างแท้จริงแล้ว คำว่า ภาวนา หมายถึง การพัฒนาจิตใจ หรือ การทำให้จิตใจดีขึ้น ในอดีตการภาวนาอาจรู้จักกันเฉพาะการสวดมนต์ นั่งสมาธิ
แต่ปัจจุบันการภาวนามีรูปแบบที่หลากหลายที่ร่วมยุคร่วมสมัย อย่างเช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย ยิงธนู จัดดอกไม้ การอยู่ในธรรมชาติ และกระบวนการอื่นๆ อีกมากมาย”
ความสุขแบบนี้มันยั่งยืน ไม่หายจากเราไปง่ายๆ

หากจะมีใครถามหาหนทางไปถึงความสุขที่จริงแท้แน่นอน ‘การภาวนา’ เป็นทางสายนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย คนที่ผ่านการปฏิบัติภาวนาจะทราบดีว่า จิตที่เป็นสมาธิมีความสุขสงบเย็นเพียงใด
เมื่อปีที่แล้วนิตยสารระดับโลกอย่าง TIME Magazine เผยแพร่ผลวิจัยของสหรัฐฯ ว่า คนที่มีความสุขมากที่สุดในโลกคือ พระในพุทธศาสนา หลังทดสอบด้วยการสแกนสมองของพระที่ทำสมาธิ มหาวิทยาแห่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย สำรวจพบว่า ผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนามาเป็นเวลาเกิน 2 ปี มีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะการภาวนาไม่ว่าจะด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกลม เจริญสติ และสวดมนต์ ช่วยปรับสภาวะความสมดุลของร่างกายและจิตใจ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย คลื่นสมองเรียบ อัตราการหายใจและชีพจรช้าลง สมองจะปลอดโปร่ง จิตใจประณีตผ่องใส
งานจิตอาสา
“เราหลายคนอาจคิดว่าเราเป็นจิตอาสาไม่ได้ เพราะเราไม่มีเวลา ไม่มีทักษะ ที่จะไปช่วยเหลืออะไรใครได้ แต่จริงๆ แล้วหากมองลึกลงไป รากศัพท์ของคำว่าอาสา แปลว่า “ความหวัง”
จริงๆ แล้วจิตอาสา คือคนที่มีความหวัง ความหวังที่จะเห็นสังคมดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และที่สำคัญคือความหวังที่เรามีกับตัวเราเอง ว่าเราเป็นคนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และชีวิตเราเองได้”
การศึกษาเรียนรู้
“การเรียนรู้เป็นความสุขที่เกิดได้โดยไม่มีเงื่อนไขของเวลา อายุ หรือจำกัดแค่ในรั้วสถานศึกษาเท่านั้น
แต่มันยังคือการมีมุมมองที่จะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ความสุข ความท้าทาย ให้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ ที่ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น และส่งเสริมให้เกิดศักยภาพใหม่ๆ ในตัวเราได้”

เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีความสุขที่จะเรียนรู้
เคยสังเกตหรือเปล่าว่า ขณะที่เรากำลังเรียนรู้ทำอะไรใหม่ๆ เช่น เรียนทำอาหาร ทอผ้า เล่นกีฬาชนิดใหม่ ศึกษาการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร เรียนภาษาเพื่อนบ้าน ขับรถเส้นทางใหม่ ฯลฯ ความสุขกำลังเกิดขึ้นระหว่างที่เราจดจ่อกับการเรียนรู้ ยิ่งเมื่อได้แจ่มแจ้งความรู้ จะเพิ่มพูนความพึงพอใจ การเรียนรู้ได้ชื่อว่าเป็นหนทางอันยอดเยี่ยมของการเข้าหาความรื่นรมย์ แม้ว่ามันอาจหมายถึงการผ่านช่วงเวลาของความเหน็ดเหนื่อย อดทน และท้อแท้
ข้อสังเกตนี้ รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้บุกเบิกแนวการศึกษาที่เน้นให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้จากการมองเห็นเด็กที่กำลังเรียนรู้จากการเล่น
“เด็กๆ ชอบเล่น เล่นเพราะกำลังเรียนรู้ เขากำลังปรับร่างกาย ปรับสายตา ปรับกล้ามเนื้อ ปรับอะไรต่ออะไร เขาต้องเอาตัวเองไปวัดกับสิ่งต่างๆ ไปทาบกับสิ่งต่างๆ ไปท้าทายสิ่งที่อยู่รอบตัว อันนี้คือการเรียนรู้ของเขา ถ้าหากคุณแม่บอกว่า ‘อย่า’ เด็กจะหงุดหงิด ขัดความสุข เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีความสุขอยู่แล้วที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่ผู้ใหญ่มักลืมว่า ตอนเด็กๆ ก็เป็นอย่างนี้”
เราเคยระลึกถึงความสุขที่เกิดจากการเรียนรู้ไหม บางทีเราไม่เคยมอง เพราะมันไม่หวือหวา แต่เป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงเราอยู่ลึกๆ ทำให้เรามีจิตใจเข้มแข็ง และมั่นคง
“มันน่าคิดนะว่าเราเคยระลึกถึงความสุขที่เกิดจากการเรียนรู้ไหม บางทีเราไม่เคยมอง เพราะมันไม่หวือหวา ไม่ฉูดฉาด แต่เป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงเราอยู่ลึกๆ ทำให้เรามีจิตใจเข้มแข็ง และมั่นคงขึ้น สามารถอดทนกับสิ่งต่างๆได้มากขึ้น เมื่ออดทนกับความยากลำบาก เราจะไม่ทุกข์ง่าย ซึ่งต่างจากความสุขแบบหวือหวา ที่ไม่ได้เข้าไปหล่อหลอมคุณภาพทางใจของเรา”