8 ช่องทางความสุข

สุขที่ไม่ต้องทำ

การสูบบุหรี่ กินเหล้าไม่ได้เป็นความสุข เพียงแต่มันหยุดไม่ได้ หยุดแล้วทุกข์ ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าความสุขอาจจะเป็นความทุกข์ก็ได้ พุทธศาสนาจึงชี้ให้เห็นว่า สุขกับทุกข์ มาคู่กัน เราจะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะไม่ใช้เวลาทั้งชีวิตตะกายหาความสุขไม่จบไม่สิ้น ถ้าไม่ได้สุขสุดๆ แต่ไม่มีความทุกข์เลยจะสนใจไหม?

.

  • ในยุคบริโภคทุกวันนี้มีช่องทางให้พวกเราเข้าถึงความสุขมากมาย แต่กระนั้นพวกเราก็ยังทุกข์และวิ่งยังแสวงหาความสุขอยู่นั่นเอง ต้องออกไปทำ ออกไปหา วิ่งไล่คว้าเพื่อจะได้และมีความสุข แต่ความสุขในวิถีพุทธกลับบอกว่า การหยุดวิ่ง หยุดหา หยุดทำ แล้วก็จะพบความสุขได้ในทันที
  • หยุดแรกที่ทำได้ยากสำหรับผู้คนในวันนี้คือ หยุดคิด เพราะเราเป็นมนุษย์ยุค คิดไม่หยุด นอนไม่หลับ หลับยาก หลับแล้วก็ยังคิด คิดทั้งตอนตื่นและตอนหลับ — บทความนี้บอกว่า เราไม่ต้องห้ามความคิด ไม่ต้องพยายามหยุดคิด ไม่ต้องสู้กับความคิด แค่กลับมาอยู่กับสิ่งที่ทำ
  • การภาวนา (หรืออาจจะเรียกว่า กรรมฐาน) คือวิธีการที่จะช่วยให้ความสุขได้เผยตัว กลับมารู้ในขณะที่มือกำลังทำ รู้ร่างกายกำลังเคลื่อนไหว หั่นผัก พิมพ์งาน ดื่มน้ำ ก็ภาวนาได้ และไม่ต้องห้ามความคิด “มันจะคิดก็คิดไปแต่เราไม่ยุ่งกับความคิด” นี่เรียกว่าภาวนา
  • การภาวนาเป็นช่องทางและเป็นวิธีการ เพื่อหยุดความทุกข์ หยุดการคิด โดยไม่ต้องหยุดภาระกิจ ไม่ต้องหยุดชีวิตประจำวัน อยู่กับสิ่งที่ทำในขณะปัจจุบัน แล้วความสุขก็จะเดินทางมาเอง


พระอาจารย์สันติพงษ์ เขมปัญโญ (หลวงพ่อตุ้ม) พระสงฆ์สุปฏิปัณโณแห่งอาศรมวิริยธรรม สถานปฏิบัติธรรมเจริญสติในสายการปฏิบัติของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ผู้ล่วงลับ ในช่วงแรกผู้เขียนอยากจะขอให้หลวงพ่อพูดถึงความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เพราะหลวงพ่อเป็นคนรักต้นไม้ รักธรรมชาติ หลวงพ่อบอกว่า การไปอยู่กับธรรมชาติก็ยังเป็นการ “ทำเพิ่ม” เพื่อจะมีความสุข พวกเราอยากมีความสุขแบบ “ไม่ต้องทำ” ดูไหม … เชิญอ่านคำชวนของหลวงพ่อนะคะ


ความสุขที่ไม่ต้องทำ
สมมติว่าเรามีหนี้สิน การปลดหนี้มีหลายวิธี วิธีแรกก็คือ เราอาจจะหางานเสริม ทำเพิ่ม จะได้มีรายได้เพิ่ม หรือวิธีที่สองคือไม่ได้หารายได้เพิ่มแต่ยุติการก่อหนี้ ไม่ซื้อเพิ่ม ลดรายจ่าย วิธีนี้ไม่ต้องทำงานเพิ่ม วิธีนี้ไม่ได้ออกไปข้างนอกแต่กลับมาสำรวจข้างใน


หลวงพ่อรู้จักผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง เขาติดเหล้าติดบุหรี่มายาวนานจนเรียกได้ว่าเป็น ‘ขี้เมา’ แล้วอยู่มาวันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ และเขาทำได้ด้วยนะ พอเลิกได้ปุ๊บ เขากลายเป็นคนดีในทันที — นี่คือตัวอย่างของการที่ไม่ต้องทำเพิ่ม เขาไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อจะเป็นคนดี แต่เขาเป็นคนดีในทันทีที่เขาเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้


เวลาที่อยากจะมีความสุข พวกเราคุ้นเคยกับการวิ่งออกไปหาความสุข ออกไปทำอะไรสักอย่างให้มีความสุข นี่คือวิธีการที่พวกเราคุ้นเคย แต่หลวงพ่ออยากจะชวนให้เราลองหยุดการออกไปหาความสุข แต่ลองอยู่เฉยๆ แล้วทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มันกลายเป็นความสุข แทนที่จะต้อง ‘ออกไปทำ’ กิจกรรมอะไรบางอย่างเพื่อจะมีความสุข หลวงพ่อชวนให้พวกเราลองหยุดแล้วลองทำสิ่งเราต้องทำอยู่แล้วให้มันกลายเป็นความสุขจะได้ไหม ไม่ต้องออกไปหา ไม่ต้องทำเพิ่ม ทำอีก แต่ทำสิ่งที่ทำอยู่ให้กลายเป็นความสุข นี่คือโจทย์ที่หลวงพ่อให้


ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เรามีกิจกรรมที่ ‘ต้องทำ’ มากมาย กิจกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว แต่แทนที่จะทำไปอย่างนั้น ลองทำสิ่งนั้นให้กลายเป็นความสุขขึ้นมา ให้เป็นการทำที่มีคุณภาพ มีคุณค่า เป็นความสุข


พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มักจะสอนว่าให้ ทำกิจและทำจิต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พูดถึงความสุขในทุกย่างก้าว เพียงแค่ก้าวเท้าก็เป็นความสุข — ซึ่งการปฏิบัติที่จะเข้าถึงความสุขแบบนี้ง่ายมาก เพียงแค่เราเอาใจมาอยู่กับกายเท่านั้นเอง ยังกวาดบ้านได้ หุงข้าว-ทำกับข้าวได้ ทำสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วกลายเป็นความสุข ไม่ได้แปลว่าทำอย่างหนึ่งแล้วต้องเว้นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทำจิต (ฝึกจิต) แล้วกวาดบ้านไม่ได้ ทำงานไม่ได้ และถ้าเราทำได้อย่างนี้ ชีวิตของเราจะง่ายขึ้น ไม่ต้องแบ่งแยกว่า นี่กำลังทำเพื่อตัวเอง นี่กำลังทำเพื่อคนอื่น นี่กำลังทำให้โลกดีขึ้น นี่กำลังทำเพื่อความสุขส่วนตัว นี่กำลังทำเพื่อส่วนรวม ฯลฯ ถ้าเราทำเป็น เอาใจมาอยู่กับกายให้เป็น ทำความรู้สึกตัวให้เป็น การทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อโลก และทำให้ตัวเองมีความสุขไม่ได้แยกจากกัน ดังนั้นถ้าจะมีภารกิจอะไรสักอย่างที่เราอยากจะทำเพื่อจะมีความสุข หลวงพ่อก็อยากจะแนะนำให้ทำภารกิจแบบนี้ และแน่นอนว่า มันเป็นสิ่งที่เราควรจะฝึก ฝึกที่จะรู้สึกไปกับร่างกายของเรา กลับมาอยู่กับตัวเองให้ได้ อยู่กับตัวเองให้เป็น ไม่อย่างนั้น เราจะต้องคอยสอดส่ายหาสิ่งที่จะต้องออกไปทำ หาคนที่จะต้องไปคุย ไปเจอ ซึ่งถ้ามีก็ดี แต่ถ้าไม่มีล่ะ — หลวงพ่ออยากให้เราหัด ชวนให้เราฝึก


พวกเราหลายคนอาจจะเห็นว่า ภารกิจแบบนี้ การฝึกแบบนี้ จะเรียกว่าเป็น “ความสุข” ได้หรือ ? มันไม่สุขสุดๆ ไม่สนุกเต็มที่ ซึ่ง

.

หลวงพ่อขอตั้งคำถามสักคำถามหนึ่ง ไม่ต้องตอบหลวงพ่อก็ได้ แต่ลองตอบให้ตัวเองได้ยิน “ถ้าสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เรามีความสุข แต่ไม่สร้างความทุกข์ให้เลย จะเอาไหม ? จะลองฝึก ลองทำไหม ?” — ถ้าสนใจ ก็ชวนกันฝึกอย่างที่หลวงพ่อบอก สำหรับหลวงพ่อ กิจกรรมที่ไม่ก่อความทุกข์ มันก็เป็นความสุขอยู่แล้วด้วยตัวของมัน — นี่คือการมีความสุขที่ง่ายที่สุดเลย แต่พวกเราต้องหัดนะ


สุขเพราะเสพ ทุกข์เพราะติด
ถ้าลองถามคนที่ติดบุหรี่ ติดเหล้า ถามว่าในการสูบ-การดื่มครั้งแรกเป็นความสุขจริงไหม ส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่จริง บุหรี่เหม็น เหล้าขม แต่ที่ลองทำเพราะอยากเก๋ เท่ เด่น หรือทำตามเพื่อน เข้ากลุ่มเข้าสังคม ฯลฯ เหล้า-บุหรี่ ไม่ได้เป็นความสุข แต่เมื่อทำต่อเนื่อง เสพไปเรื่อยๆ ติด พอติดก็หยุดไม่ได้ เพราะถ้าหยุดทุกข์เกิดทันที ปวดหัว อาเจียน ทำงานไม่ได้ ฯลฯ เราจะเห็นว่าการสูบบุหรี่ กินเหล้าไม่ได้เป็นความสุข เพียงแต่มันหยุดไม่ได้ หยุดแล้วทุกข์ ไม่ได้ทำให้มีความสุขแต่ขาดแล้วเป็นทุกข์ ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าความสุขอาจจะเป็นความทุกข์ก็ได้ มันดูปนๆ กัน สุขๆ ทุกข์ๆ ขาดกันไม่ได้ พุทธศาสนาจึงชี้ให้เห็นว่า สุขกับทุกข์ มาคู่กัน

.

เป็นความจำเป็นที่เราจะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะไม่ใช้เวลาทั้งชีวิตตะกายหาความสุขไม่จบไม่สิ้น สุขประเดี๋ยวหนึ่ง อีกไม่นานก็ไล่คว้าสิ่งใหม่อีก อยากจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตวิ่งไล่แบบนี้หรือเปล่าเป็นคำถามที่เราต้องตอบเอง พุทธศาสนาชวนให้หยุดไล่คว้า ชวนหาวิธีการใหม่ๆ ในการพบความสุข ลดสิ่งที่ไม่จำเป็น ดูเหมือนว่าไม่สุขแต่ไม่มีความทุกข์เพิ่ม สนใจไหม?

.


เหนื่อยเพราะคิด
ชีวิตนักเรียน พนักงานออฟฟิศ มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ นั่งเป็นส่วนใหญ่ ขึ้นลิฟต์บ้าง เดินบ้างไม่ได้ใช้แรงกายมากแต่พอตกเย็นก็หมดแรง เหนื่อย สงสัยไหมว่าเราเหนื่อยเพราะอะไร ?


หลวงพ่อคำเขียน มักจะบอกว่าความคิดมี 2 แบบ คือความคิดที่เราตั้งใจ กับความคิดที่ไม่ตั้งใจ เวลาเรียนหนังสือ ทำการบ้าน เขียนเรียงความ ต้องใช้ความคิดอย่างตั้งใจ และมีความคิดอีกแบบหนึ่ง คือความคิดเตลิด คิดไปนั่นมานี่ จับแพะชนแกะ — ความคิดแบบนี้เราไม่ได้ตั้งใจคิด แต่มันเกิดขึ้น และเราไม่ค่อยรู้ตัว หยุดมันไม่ได้ ความคิดแบบนี้ทำให้เหนื่อย หมดแรง


ถ้าเรามีความสามารถที่จะเห็นว่า ตอนนี้มีการคิดแล้วนะ เราจะมีท่าทีใหม่ที่เรียกว่า ท่าทีของนักปฏิบัติ คือ มันจะคิดก็เรื่องของมัน แต่เราไม่คิดไปกับมัน มันจะคิดก็คิดไป แต่เราไม่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ไม่ผสมโรงไปกับความคิด เรากลับมาทำงาน ทำภารกิจของเรา หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “มีสติเป็นนักศึกษา เอากายกับใจเป็นตำรา” คือสร้างความรู้สึกตัวขึ้นมาที่การเคลื่อนไหวของร่างกาย พาใจมารับรู้ เอาสติคอยดูกายกับใจ แค่นี้เท่านั้น หรือพูดอีกอย่างก็คือ รู้กายที่เคลื่อนไหว ดูใจที่คิดนึก ทำแค่นี้

.

หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “มีสติเป็นนักศึกษา เอากายกับใจเป็นตำรา” คือสร้างความรู้สึกตัวขึ้นมาที่การเคลื่อนไหวของร่างกาย พาใจมารับรู้ เอาสติคอยดูกายกับใจ แค่นี้เท่านั้น หรือพูดอีกอย่างก็คือ รู้กายที่เคลื่อนไหว ดูใจที่คิดนึก ทำแค่นี้

.


การปล่อยให้จิตใจของเราไหลไปตามความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจ ใจทำงานหนัก — มองเผินๆ เหมือนกับว่าการคิดไม่ได้เปลืองอะไรเลย แต่จริงๆ แล้ว การปล่อยให้ใจคิดไปโน่นไปนี่ ปล่อยใจเตลิดเป็นเรื่องสิ้นเปลืองมาก เปลืองเวลา กินพลังงาน เปลืองอารมณ์ เปลืองชีวิต ถ้าคิดจนนอนไม่หลับนานๆ เข้าก็เปลืองสุขภาพ สรุปว่า มันสิ้นเปลืองมาก ความคิดไม่มีมวลแต่มันเป็นก้อนพลังงานที่หนัก ทำให้เราเหนื่อย


เมื่อสักยี่สิบปีที่แล้วมีงานวิจัยของอเมริกาที่บอกว่า คนเราคิดวันละ 60,000 ครั้ง นั่นแปลว่าในแต่ะวันของเราน้อยมากที่เราว่างจากการคิด ถ้าไม่อยากเหนื่อยก็อย่าไปผสมโรงกับความคิด ไม่สมรู้ร่วมคิด มันจะคิดก็คิดไปแต่เราไม่ต้องคิดไปกับมัน ถ้าเราแยกแยะได้ สิ่งที่ตั้งใจคิดก็คิดไป สิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจคิดก็อย่าหลงไปกับมัน ไม่เตลิดไปกับสิ่งที่ไม่จีรัง ถ้าเราได้ลองพิจารณา ลองทำ แล้วปลดสิ่งที่ก่อทุกข์ออกไปก่อน ถ้าทำได้ เราจะพบว่า “โอ้..นี่ไม่ได้ถอนใจมาหลายวันแล้วนะ” การไม่ถอนใจเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่นะ


กรรมฐานเล็กๆ
กรรมฐาน คือ ใช้การกระทำเป็นฐาน เวลาที่จะทำอะไรสักอย่างเอาใจมาอยู่ที่การทำ เช่น ทำกรรมฐานด้วยการแปรงฟัน เอาใจมารู้การเคลื่อนไหว การขยับ แปรงฟันบน ฟันล่าง แปรงด้านนอก แปรงด้านใน อยู่กับการแปรงฟัน สิ่งที่นอกเหนือไปจากนี้ เช่นเกิดความคิดที่ไม่ตั้งใจ ปล่อยมันไป ไม่สมรู้ร่วมคิด เราอยู่กับงานของเราคือการแปรงฟัน นี่คือการฝึกกรรมฐานการแปรงฟัน เราจะได้เห็นว่ากรรมฐานไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่กำหนดงานขึ้นมา แล้วเอาสติไปรับรู้


ทำกรรมฐานเหลาดินสอ กรรมฐานทำกับข้าว ก็ทำได้ทั้งหมด — กำหนดกรรมฐานเป็นงานๆ ไป มันช่วยให้เราไม่ยุ่งไปกับความคิดที่ไม่ตั้งใจได้มาก เราจะมีเวลาเหลือ จะเหนื่อยน้อยลง —- สิ่งนี้เป็นความสุขไหม สำหรับหลวงพ่อ มันเป็นความสุขนะ


วิธีกำหนดกรรมฐานเล็กๆ

.

1. กำหนดงานเล็กๆ ขึ้นมา เช่น แปรงฟัน ขึ้นบันได ลงบันได ข้ามสะพานลอย ชงกาแฟ หุงข้าว หั่นผัก ฯลฯ

2. ระหว่างที่จะทำงานนั้น เอาใจมาอยู่กับงาน อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่รู้ชัดๆ ง่ายๆ เช่นมือ เท้า ขา

3. เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น ไม่ไหลไปกับความคิด ให้กลับมาที่การเคลื่อนไหวของเรา (กายของเรา)

เครดิตภาพโดย วิชัย นาพัว

.

……………………………………………….

การภาวนา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save