8 ช่องทางความสุข

ฝึกเพื่อรู้จักตัวเอง

การรู้จักตัวเองเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและความพยายาม อาศัยความตั้งใจจริงและมุ่งมั่น หากเรารู้จักตัวเองรอบด้านมากขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่เราอยากจะเป็นได้มากขึ้น รู้สึกพึงพอใจตัวเองมากขึ้น และเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายยิ่งขึ้น

  • การรู้จักตัวเองเป็นกระบวนการเรียนรู้และสำรวจตัวตนของเราซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองได้ดียิ่งขึ้น มีความสามารถตัดสินใจและดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม พัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีหลายวิธีที่เราจะฝึกเพื่อรู้จักตัวเอง เช่น การทำแบบสอบถาม การทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การเขียนบันทึกประจำวัน การพูดคุยกับเพื่อน รวมไปถึง การเฝ้าสังเกตตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติเช่น สังเกตอารมณ์ สังเกตความรู้สึก สังเกตความชอบ-ไม่ชอบ ความถนัด-ไม่ถนัด แนวโน้มที่จะเข้าหา หรือ ถอยห่าง สังเกตความคิด ฯลฯ
  • การรู้จักตัวเองเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและความพยายาม อาศัยความตั้งใจจริงและมุ่งมั่น หากเรารู้จักตัวเองดียิ่งขึ้น เห็นตัวเองรอบด้านมากขึ้น ก็จะสามารถนำความเข้าใจนี้ไปพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่เราอยากจะเป็นได้มากขึ้น รู้สึกพอใจตัวเองมากขึ้น และมีความสุขได้ง่าย

ในบทความนี้ เราจะชวนให้ลองเซ็ตวัน เพื่อเลือกการฝึก แต่ก่อนอื่น คุณจะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณเป็นคนแบบไหน ถ้าคุณเป็นคนขยัน ให้เลือกข้อ 1. แต่ถ้าคุณเป็นคนช่างหลงลืม ให้ฝึกข้อ 2.

.

1. วันขี้เกียจ (Lazy Day) – การฝึกปฏิบัติสำหรับคนขยัน
ถ้าคุณเป็น ‘คนขยัน’ ถ้าคุณขับเคลื่อน ดำเนินชีวิตประจำวันด้วย ‘ตารางเวลา’ ถ้าคุณเป็นเด็กดีที่มีแนวโน้มที่จะทำทุกๆ สิ่งที่ ควรทำ ต้องทำ และน่าจะได้ทำ คุณควรจัดตารางชีวิตของคุณให้มี วันขี้เกียจ

.

ท่านติช นัท ฮันห์ พระเถระในพุทธศาสนามหายาน และผู้ก่อตั้งชุมชนหมู่บ้านพลัม* เป็นผู้เซ็ต ‘วันขี้เกียจ – Lazy Day ’ ให้มีขึ้นในวิถีการปฏิบัติของชุมชนหมู่บ้านพลัม ในช่วงแรกลูกศิษย์หลายคนพยายามโน้มน้าวให้ท่านเปลี่ยนชื่อวันนี้เสียใหม่ เช่น ขอให้ใช้คำว่า “วันแห่งการพัก” หรือ “วันแห่งการหยุด” หรือ “วันพักผ่อน” แต่ท่านยังคงยืนยันที่จะเรียกวันนี้ว่า ‘Lazy Day ’ หรือ ‘วันขี้เกียจ’


ชุมชนหมู่บ้านพลัมเป็นชุมชนชาวพุทธ สนับสนุนการเจริญสติในชีวิตประจำวัน มีรูปแบบและวิถีปฏิบัติ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน มีตารางเวลาที่ชัดเจน แต่วันขี้เกียจ เป็นวันที่ปลอดตาราง ไม่มีการปฏิบัติในรูปแบบ (formal practice) ใดใดทั้งสิ้น ไม่มีตารางการปฏิบัติ ไม่มีกำหนดการ ไม่มีระฆังปลุก ไม่มีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า ไม่มีการนั่งสมาธิตอนเย็น ไม่ต้องกินข้าวในความเงียบ — หากอยู่ในหมู่บ้านพลัมวันขี้เกียจ คุณจะนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน ไม่อาบน้ำ ไม่แปรงฟัน ก็จะไม่มีใครมายุ่งกับคุณเลย


แต่ถ้าหากคุณตั้งใจที่จะตื่นแต่เช้า ไปที่หอสมาธิ เดินจงกรม กราบสัมผัสผืนดินในหอสมาธิ ก็ไม่มีใครทักท้วงคุณเช่นกัน หอสมาธิเปิดให้เข้าใช้งานตามปกติตลอดทั้งวัน คุณสามารถนั่งสมาธิ เดิน ออกกำลังกาย สนทนากับเพื่อน รวมถึงการดำรงอยู่ในความเงียบอันประเสริฐทั้งวัน (ปิดวาจา) คุณก็ปฏิบัติได้ และคุณจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่


หลักเพื่อฝึกปฏิบัติ
วันขี้เกียจไม่ใช่วันมักง่าย และไม่เชิงเป็นวัน ‘อะไรก็ได้’ แต่วันที่วันขี้เกียจเป็นโอกาสที่ผู้ปฏิบัติจะได้ถามตัวเองว่า “เราอยากให้วันนี้ของเราเป็นอย่างไร” “ เราอยากจะใช้ 24 ชั่วโมงในวันนี้ของเรา ไปกับอะไร” — ไม่ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ไม่ต้องฝึกในสิ่งที่ฝืนใจ ตรงกันข้าม ขอให้เราจะได้ทำในสิ่งที่เราสนใจ แต่ไม่เคยมีเวลา นี่คือโอกาสแห่งการมอบเวลา 24 ชั่วโมง สำหรับตัวเอง เราจะได้รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น — เพื่อนชาวตะวันตกหลายคนบอกว่า สำหรับเขา มันเป็นการฝึกที่ยากทีเดียว เพราะเมื่อถึงเวลา ‘ว่างจากตาราง’ เขาไม่รู้ว่าเขาจะใช้เวลาที่ได้มานั้นอย่างไร


นักบวชรูปหนึ่งเล่าประสบการณ์ของท่านให้ฟังว่า ในช่วง 1-2 ปีแรกของการบวช ท่านชอบวันขี้เกียจมาก เฝ้ารอ อยากจะเร่งให้ปฏิทินเคลื่อนไปไวๆ เพราะท่านไม่อยากตื่นเช้าไปทำวัตร และจะได้ ‘กินไปคุยไป’ (เพราะการรับประทานอาหารในวิถีการปฏิบัติหมู่บ้านพลัมจะต้องกินอาหารในความเงียบ) แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ท่านพบว่า ท่านชอบกินข้าวในความเงียบ แม้จะอยู่ในวันขี้เกียจก็ยังชอบนั่งกินในความเงียบอยู่ดี รู้สึกสบายที่จะกินในความเงียบ “เมื่อก่อนฉันรู้สึกว่า ‘ฉันต้องทำ’ แต่ปัจจุบันฉันทำเพราะฉันชอบที่จะทำ ไม่มีใครบังคับ ซึ่งมันทำให้ฉันรู้สึกดีและรู้สึกสบายในการปฏิบัติมากๆ เลย”

2. วันแห่งสติ (Day of Mindfulness) – การฝึกปฏิบัติสำหรับคนหลงลืม
วันแห่งสติตรงกันข้ามกับวันขี้เกียจ ท่านติช นัท ฮันห์ มักจะเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจการฝึกสติ ได้จัดเวลาไว้สักสัปดาห์ละ 1 วัน อุทิศให้เป็นวันแห่งสติ เพื่อไม่ให้สูญเสียตัวเองไปกับความหลงลืม ความกังวล และระบบอัตโนมัติ

ต่อไปนี้คือ การเตรียมวันแห่งสติ โดยท่านติช นัท ฮันห์ จากหนังสือ The pocket of Thich Nhat Hanh
ปักหมุด – ขอให้เธอหาวิธีที่จะปักหมุดวันนั้นเพื่อเตือนตัวเธอให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่า วันนี้คือวันแห่งสติของเธอ เธออาจจะแขวนป้าย หรือหาอะไรสักอย่างห้อยลงมาที่ผนัง เตรียมกระดาษที่เขียนว่า “สติ” หรือจะแขวนไว้ที่กิ่งไม้ — อะไรก็ได้ที่จะเตือนตัวเธอ ที่เมื่อเธอลืมตาขึ้นแล้วก็จะเห็นได้ทันทีว่า วันนี้คือวันแห่งสติของเธอ วันนี้คือวันของเธอ จำไว้ว่าเธอควรจะยิ้มในบางครั้ง เพราะยืนยันได้ว่าเธอมีสติแล้วอย่างสมบูรณ์ รอยยิ้มจะทำให้สติของเธอครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ไม่รีบ – ขณะที่เธอยังนอนอยู่บนเตียง ขอให้ตามลมหายใจช้าๆ หายใจยาวๆ และรู้ตัว จากนั้นค่อยๆ ลุกขึ้นจากเตียง (แทนที่จะกระโดดลงจากเตียงทันทีแบบที่ทำอยู่เป็นประจำ) หล่อเลี้ยงสติเอาไว้ในทุกๆ การเคลื่อนไหว เมื่อเธอแปรงฟัน ล้างหน้า ทำกิจกรรมยามเช้าของเธอด้วยความสงบและผ่อนคลาย แต่ละการกระทำ ทำด้วยสติ ตามลมหายใจ ให้เวลา ไม่ปล่อยให้ความคิดพัดพาเธอไป แต่ละการเคลื่อนไหวค่อยๆ ทำด้วยความสงบ ค่อยๆ ก้าวเท้าอย่างเงียบๆ ตามลมหายใจยาวๆ และรักษารอยยิ้มเอาไว้


ให้เวลาอาบน้ำอย่างน้อยสักครึ่งชั่วโมง อาบช้าๆ อย่างมีสติ หลังจากที่เธอเสร็จภารกิจแล้วเธอจะรู้สึกเบาสบาย สดชื่น หลังจากนั้นเธออาจจะทำงานบ้าน เช่น ล้างจาน ดูดฝุ่น เช็ดโต๊ะ ขัดพื้นห้องครัว หรือจัดหนังสือขึ้นชั้น ไม่ว่าจะทำอะไรขอให้ทำช้าๆ และสบายๆ ด้วยสติ อย่าทำเพื่อให้มันเสร็จๆ ไป ขอให้ทำในวิถีที่เธอได้ผ่อนคลายและด้วยความใส่ใจ เบิกบานและเป็นหนึ่งเดียวกับงานของเธอ เพราะหากปราศจากสิ่งนี้ วันแห่งสติก็ไม่มีคุณค่าอะไร ความรู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ที่น่ารำคาญจะหายไปเมื่อเธอทำอย่างมีสติ ลองดูตัวอย่างจากปรมาจารย์เซน ไม่ว่าท่านจะทำอะไร ทั้งการทำภาระกิจหรือการเคลื่อนไหว ท่านทำมันอย่างช้าๆ โดยทัดเทียมกัน ปราศจากความไม่เต็มใจ


พูดให้น้อย เงียบให้มาก – สำหรับผู้ฝึกใหม่ เป็นเรื่องดีถ้าเธอจะธำรงความเงียบเอาไว้ตลอดวัน ไม่ได้หมายความว่าเธอจะพูดอะไรไม่ได้เลยในวันแห่งสติ เธอพูดได้ และร้องเพลงได้ด้วย แต่เมื่อเธอพูดหรือร้องเพลงขอให้ทำด้วยสติเต็มเปี่ยม และเธอน่าจะพูดและร้องเพลงให้น้อยลง เป็นเรื่องธรรมดาและทำได้ง่ายๆ ที่จะร้องเพลงไปด้วยและฝึกสติไปด้วยในเวลาเดียวกัน มันใช้ได้ตราบเท่าที่เธอรู้ตัวว่ากำลังร้องเพลงและกำลังฝึกสติ แต่พร้อมกันนั้นก็ขอให้ระวังด้วยว่า มันง่ายมากที่เมื่อเธอพูดหรือร้องเพลง พลังแห่งสติ ความเข้มแข็งของสติจะอ่อนกำลังลง


เวลาพักกลางวัน เตรียมอาหารสำหรับตัวเอง ปรุงอาหารและล้างจานอย่างมีสติ ในตอนเช้าหลังจากที่เธอทำความสะอาดและจัดการบ้านเรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่าย เธออาจจะดูแลสวน ดูเมฆบนท้องฟ้า หรือจัดดอกไม้ นั่งดื่มชาอย่างมีสติ อนุญาตตัวเองให้มีเวลาพอเหมาะที่จะทำสิ่งเหล่านี้ อย่าดื่มชาอั่กๆ เหมือนกับตอนดื่มกาแฟในช่วงพักเบรกของวันทำงาน ดื่มชาของเธอช้าๆ อย่างนอบน้อมและขอบคุณ ราวกับเธออยู่ที่ใจกลางแกนโลกที่กำลังหมุน ช้าๆ ไม่ต้องรีบที่จะไปข้างหน้าในอนาคต ใช้ชีวิตในขณะที่เป็นอยู่นี้ มีเพียงขณะนี้ของชีวิต อย่าถูกดึงไปในอนาคต อย่ากังวลถึงสิ่งที่เธอต้องทำ อย่าเพิ่งคิดถึงสิ่งที่จะต้องได้มา หรือจะต้องไปทำ


ก่อนสิ้นวัน – ในช่วงค่ำ เธออาจจะอ่านหรือคัดลอกพระสูตร เขียนจดหมายถึงเพื่อน หรือทำอะไรก็ได้ที่เธอเบิกบาน นอกเหนือไปจากกิจวัตรที่เธออยู่เป็นปกติ เมื่อเธอทำ ขอให้ทำอย่างมีสติ กินมื้อเย็นให้น้อยๆ จากนั้นราวๆ สี่ทุ่มหรือห้าทุ่ม เมื่อเธอนั่งสมาธิเธอจะนั่งได้สบายขึ้น ท้องว่าง หลังจากนั้นเธออาจจะเดินจงกรมกลางแจ้งรับอากาศสดชื่นช่วงกลางคืน ตามลมหายใจขณะที่ก้าวเท้า และสุดท้าย เธอกลับเข้าห้องและหลับอย่างมีสติ


สรุป
การฝึกเพื่อรู้จักตัวเองนี้ พวกเราอาจจะเริ่มฝึกเอาฤกษ์เอาชัยตั้งต้นตั้งแต่ปลายปีนี้นี้ ให้เป็น ปีใหม่ คนใหม่ – New Year, New Me ขอให้ลองฝึกต่อเนื่องสัก 1 ไตรมาส ผลจากการฝึกเพียง 1 วันในสัปดาห์จะส่งผลกับ 6 วันที่เหลือของสัปดาห์และหากฝึกนานสัก 12 สัปดาห์ (1 ไตรมาส) เราจะเห็นคุณค่าของการฝึกยิ่งขึ้น จะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเราเอง


*หมู่บ้านพลัม ชุมชนชาวพุทธแบบมหายาน ก่อตั้งโดย ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระชาวเวียดนาม หมู่บ้านพลัมแห่งแรกตั้งอยู่ที่เมืองบอร์กโดว์ ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีชุมชนหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่หลายแห่งในแต่ละภูมิภาคของโลก อเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และประเทศไทย


หมู่บ้านพลัมประเทศไทย www.thaiplumvillage.org
หมู่บ้านพลัมนานาชาติ www.plumvillage.org

การภาวนา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save