8 เส้นทางความสุข

ความสุขของชายหนุ่มเพื่อนรักสุนัขบาดเจ็บ

บนถนนจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตร  ชายหนุ่มวัยกลางคนพร้อมเพื่อนร่วมทีมตัดสินใจเดินทางไกลจากดินแดนตอนเหนือสู่ปลายด้ามขวานเพื่อช่วยเหลือสุนัขบาดเจ็บเพราะถูกคนทำร้ายและมีคนแจ้งข่าวไว้ในโลกโซเชียลมาแล้วหลายวัน แต่ยังไม่มีใครสามารถเข้าช่วยเหลือมนได้

.

หลังจากเดินทางข้ามวันข้ามคืนไปถึงจุดหมาย ชายหนุ่มเฝ้าติดตามสุนัขเป้าหมายจนเจอและพานำกลับมารักษาตัวที่เชียงใหม่ได้ตามที่ตั้งใจ แม้ว่าบางคนอาจตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับการช่วยสุนัขตัวนี้ แต่สำหรับผู้ชายที่ชื่อบัณฑิต หมื่นเรือคำ หรือ ดิ๊พ ประธานมูลนิธิ ดิ อาร์ค แล้ว เขามีคำตอบสุดท้ายให้ตนเองอย่างชัดเจนว่า คุณค่าของความช่วยเหลือระหว่างคนและสุนัขเพื่อให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานมีค่าเท่ากับ “หนึ่งชีวิต” เท่าเทียมกัน

.

ถ้าคิดเป็นตัวเงินมันไม่คุ้มหรอก สุนัขบางตัวหมดเงินค่ารักษาเป็นแสน คนที่ไม่ชอบสุนัขก็จะโจมตีว่า เอาเงินไปรักษาคนป่วยดีกว่าไหม แต่สำหรับเราไม่ว่าจะคนหรือสุนัขบาดเจ็บ ความเจ็บปวดไม่ต่างกัน  ถ้าเรามีแผลนิดเดียว โดนน้ำยังแสบ แล้วสุนัขที่เป็นมะเร็งอวัยวะเพศ เวลาฉี่จะทรมานแค่ไหน หรือบางตัวเป็นแผลลึกเพราะถูกเชือกบาดคอหรือเอวมาเป็นปีต้องทนจุ่มน้ำทะเลที่แสบมากเพื่อไม่ให้แมลงวันมาตอม ขนาดเราแค่มองดูยังน้ำตาไหลเลย การได้ช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บเหล่านี้ก็คือการได้ช่วยปลดเปลื้องชีวิตหนึ่งให้หายจากทุกข์ทรมาน แค่นี้มันก็ทำให้ใจเรามีความสุขแล้ว

.

.

ดิ๊พเล่าย้อนกลับไปในวัยเด็กให้ฟังว่า เขาเติบโตมาในครอบครัวชาวนาภาคอีสานซึ่งมีฟาร์มหมูขนาดเล็กเป็นรายได้ของครอบครัว เขาจึงคุ้นเคยกับการเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่เด็กและตัดสินใจเดินทางมาเรียนสัตวบาลที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อตั้งใจทำงานในกิจการปศุสัตว์ แต่โชคชะตาดูเหมือนจะไม่ได้กำหนดมาให้เขาเป็น “คนเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค” แต่กำหนดให้เขาเป็น “คนเยียวยาสัตว์” มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าจะทำงานในโรงงานปศุสัตว์มีรายได้มั่นคง แต่หัวใจของเขากลับรู้สึกโหยหา “อะไรบางอย่าง” ที่ขาดหายไป จนกระทั่งเมื่อถูกเพื่อนชักชวนให้เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสุนัขจรจัด เขาจึงค้นพบคำตอบที่รอคอย

.

“ตอนนั้นผมทำงานอยู่โรงงานปศุสัตว์ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ บังเอิญรุ่นพี่ที่ทำงานดูแลสุนัขจรจัดกับลุงแกรนท์ ชาวอเมริกันมาชวนผมไปร่วมเป็นอาสาสมัครด้วยเพราะขาดคนพอดี หลังจากลองไปทำงานนี้ก็พบว่ามีความสุขมากกว่าทำงานในโรงงาน เลยตัดสินใจลาออก แล้วมาทำงานผู้จัดการเกสต์เฮ้าตอนกลางคืน ส่วนกลางวันก็ช่วยดูแลหมา เมื่อก่อนเงินค่าใช้จ่ายในการดูแลหมา ลุงแกรนท์เป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด แต่หลังจากลุงแกรนท์เสียชีวิตไปเมื่อห้าปีแล้ว เราก็เริ่มต้นจดทะเบียนมูลนิธิ ดิ อาร์ค เพื่อรับเงินบริจาคมาช่วยเหลือสัตว์ที่ยังคงต้องดูแลต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสุนัข”

.

นับจากวันแรกที่ก้าวเดินบนเส้นทางแห่งการเยียวยาสุนัขจรจัดจนถึงวันนี้ เวลาที่ล่วงผ่านมานานนับสิบห้าปีทำให้เขามีประสบการณ์มากขึ้นในการช่วยเหลือสุนัขบาดเจ็บที่ขึ้นชื่อว่าดุและเข้าถึงยาก ด้วยเหตุนี้ หากมีสุนัขบาดเจ็บที่อยู่ห่างไกลจากเชียงใหม่ยังไม่มีใครสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เขาจึงต้องเดินทางไปถึงพื้นที่เหล่านั้นด้วยตนเอง

.

“ขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือ เราจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เชียงใหม่ก่อน ส่วนกรณีนอกพื้นที่ เราจะเลือกเฉพาะเคสยากๆ ที่คนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะเรางบน้อย  ถ้ามีคนโพสต์ขอความช่วยเหลือแล้ว รออยู่สี่ห้าวันยังไม่มีคนในพื้นที่เดินทางไปช่วย เราก็จะสอบถามรายละเอียดไปก่อนว่าทำไมยังไม่มีคนช่วย หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจเดินทางไปช่วยเหลือ บางตัวเราต้องไปดักรอนานถึงสิบวันกว่าจะจับตัวได้ เพราะส่วนมากหมาบาดเจ็บจะดุและซ่อนตัวเพราะกลัวคนมาทำร้าย\

.

“หมาบางตัวเราก็ไปช่วยไม่ทัน หรือไปช่วยมาแล้ว เสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับมายังมูลนิธิก็มี  อย่างที่อำเภอปักธงชัย (โคราช) หมามีหนอนกลางหลังสาหัสมาก เราขับรถกลับเชียงใหม่ตอนเที่ยงคืนตีหนึ่ง แล้วเขาตายระหว่างทาง หมาแต่ละตัวจะรอดหรือไม่ บางทีก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตาของหมาด้วย บางตัวเราไปรอให้ความช่วยเหลือ แต่เขาหลบซ่อนตัวเอง ไม่มาให้ช่วย หรือบางตัว เราโพสต์รูปเพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือในเฟสบุ๊คมีคนมาช่วยเต็มไปหมด แต่บางตัวก็ไม่มีคนมาช่วย แล้วแต่โชคชะตาของหมาตัวนั้นด้วย”

.

.

หนึ่งในเหตุผลของสุนัขจรจัดได้รับบาดเจ็บ บางครั้งก็อาจมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ “อดีตคนเคยรักกัน” ซึ่งคนในสังคมไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยรับรู้และตระหนักในเรื่องนี้มากนัก

บางคนชอบเลี้ยงสุนัขตอนเด็กเพราะมันน่ารัก พอโตขึ้นแล้วไม่น่ารักเหมือนเดิมก็เอามาปล่อย หรือเด็กบางคนเวลาเจอลูกสุนัขจรจัด แล้วอยากแสดงความเป็นเจ้าของมักจะเอาเชือกผูกรองเท้าของตนเองมามัดคอไว้ พอลูกสุนัขตัวโตขึ้น แต่เชือกหรือปลอกคอยังมีขนาดเท่าเดิมก็จะเริ่มบาดคอแน่นขึ้นเรื่อยๆ  เพราะเชือกรองเท้าถ้าเปียกน้ำจะยิ่งหดและเหนียว บางตัวที่เคยพบหลอดลมขาดก็มี

.

นอกจากบาดแผลที่ “คนรักเก่าวัยเยาว์” ฝากไว้ ยังมีอีกเหตุผลที่ทำให้สุนัขที่เคยมีเจ้าของได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ฟังแล้วสะเทือนใจไม่แพ้กัน

.

ถ้าหมาเคยมีเจ้าของมาก่อนถูกนำมาปล่อยทิ้งข้างทาง โอกาสที่มันจะถูกรถชนตายหรือบาดเจ็บสาหัสเพราะข้ามถนนไม่เป็นมีเยอะมาก เราเคยเจอหมาที่เจ้าของเอามาปล่อยทิ้งไว้เป็นคู่ โดยเอามามัดใต้ต้นไม้ข้างถนน เพราะเจ้าของเดิมคงกลัวว่ามันจะข้ามถนนแล้วถูกรถชน และสาเหตุที่เอามาทิ้งก็อาจเป็นเพราะมันกัดเจ้าของ หรือกัดข้าวของในบ้าน จุดที่คนนิยมนำมาหมาทิ้งกันมากคือทางแยกเข้าเขื่อนแม่กวง เพราะตรงนั้นมีรถวิ่งผ่านเยอะ คนที่เอามาทิ้งมักคิดว่า ตรงจุดนี้คงมีคนมาช่วยเหลือ บางคนเอาแม่หมากับลูกหมาใส่กล่องกระดาษมาวางไว้ริมทางเข้าเขื่อน เรามักจะพบลูกหมาปีนออกมาจากกล่องแล้วพลัดตกตามทางน้ำไหลอยู่บ่อยๆ หรือบางคนเอาลูกหมาใส่กระสอบมาโยนทิ้งข้างทาง บางตัวก็รอด บางตัวก็บาดเจ็บ บางตัวก็ตาย เคยเปิดไปเจอลูกหมาคอหักอยู่ในกระสอบก็มี

.

“ปัญหาคือหมาที่ได้รับบาดเจ็บจากคนที่เอามาทิ้งแบบนี้ เราต้องดูแลค่ารักษาพยาบาลเยอะมาก แต่ถ้าเป็นหมาที่ยังไม่เคยมีเจ้าของ เขาจะมีสัญชาติญาณเอาตัวรอดสูง และเวลาบาดเจ็บเข้าไปช่วยเหลือยากกว่า เพราะเขาไม่เข้าหาคน แล้วหลบซ่อนเก่ง”

.

.

ขั้นตอนการช่วยเหลือหลังจากพบตัวสุนัขบาดเจ็บแล้ว ภาพของสุนัขตัวนั้นจะถูกโพสต์ทางแฟนเพจ The ARK Chiangmai เพื่อประกาศรับความช่วยเหลือทางด้านค่าใช้จ่าย และหากรักษาหายแล้วก็จะประกาศรับครอบครัวอุปการะต่อไป

.

“เคสแพงสุดใช้เงินค่ารักษาหลักแสนบาท เพราะถูกรถชน กรามหัก กระดูกหัก หมาพวกนี้ถ้ารักษาหายแล้วเราก็จะต้องเลี้ยงเองต่อไป เพราะไม่ค่อยมีคนอยากรับไปอุปการะ หมาก็จะอยู่ในบ้านเราเหมือนลูก เราต้องหมุนเงินมาใช้ช่วยเคสที่จำเป็นมากที่สุดก่อน บางตัวโรคเก่ารักษาหายไปแล้ว แต่อาจติดเชื้อโรคจากหมาใหม่ที่เพิ่งเข้ามา เราก็ต้องหาเงินมารักษาหมาตัวเก่าแต่โรคใหม่ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจึงไม่ได้มีเฉพาะหมาตัวใหม่ แต่หมาตัวเก่าก็ยังต้องรักษาด้วย เพราะเขายังมีโอกาสป่วยได้อีก

.

“ทุกวันนี้มีหมาที่เราต้องดูแลสองร้อยกว่าตัว เงินบริจาคบางทีก็ไม่พอ ถ้าหมาตัวเล็กหรือลูกผสมจะมีคนอุปการะเร็ว ถ้าหมาโตแล้วจะหาคนอุปการะยาก ปัญหาสำคัญของการหาบ้านให้หมาคือ คนอุปการะไม่เคยรู้จักพฤติกรรมของหมามาก่อน บางคนอยู่ต่างพื้นที่ เห็นภาพถ่ายที่เราโพสต์ทางแฟนเพจ แล้วให้เราส่งหมาไปทางขนส่ง  พอรับไปเลี้ยงก็เกิดปัญหาบ้านแตก เพราะหมาบางตัวไม่เคยเห็นรองเท้า หรือบุรุษไปรษณีย์มาก่อน ถ้าเจอก็จะกัด หมาบางตัวส่งไปแล้วต้องถูกส่งคืนกลับมา เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งหลายครั้ง เราจึงอยากให้มาทำความคุ้นเคยกับหมาก่อนรับอุปการะ”

.

แม้ว่าตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา การช่วยชีวิตสุนัขบาดเจ็บจะทำให้ร่างกายของเขามีบาดแผลจากถูกสุนัขกัดหลายแห่ง แต่เขากลับไม่ได้มองว่า ความเจ็บปวดของตนเองเป็นอุปสรรคต่อการทำงานแต่อย่างใด  หากมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ใกล้ชิดสุนัข และยังคงมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือสุนัขจรจัดต่อไปด้วยความเต็มใจ

.

.

“ความรักหมาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราก็มีความเข้าใจเยอะขึ้นด้วย ถ้าเรามีความหลากหลายในความช่วยเหลือ เราก็จะรู้ว่าเคสแบบนี้เราจะทำยังไง บางทีต้องแกะตามรอยเท้าและตีวงล้อมเป็นกิโลๆ บางตัวรอนานถึงสิบวันกว่าจะจับตัวได้ เพราะสุนัขที่บาดเจ็บจะซ่อนตัวจากชีวิตประจำวันเดิม ตอนกลางวันมันจะหลบแมลงวันที่มาตอมบาดแผล และมักจะออกมาหาอาหารเฉพาะตอนกลางคืน อย่างสุนัขตัวที่ชื่อวาเลนไทน์ใช้เวลาเจ็ดวัน เราเฝ้าสังเกตพฤติกรรมพบว่า พอเจ็ดโมงเช้าจะมากินอาหารแล้วก็หลบไป พอหนึ่งทุ่มก็วนกลับมาอีกที ถ้าเราวิ่งไล่ มันก็จะวิ่งหนีไป ต้องใช้ยาสลบ เป็นหมาที่โดนคนโยนทิ้งจากรถจนขาหักแล้วขาบวม ทุกวันนี้รักษาหายแล้วก็ยังอยู่กับเราที่มูลนิธิ

.

“เคสที่สะเทือนใจมากๆ ก็มีเยอะ อย่างเคสสุนัขที่เกาะกูดโดนกับดักเชือกรัดคอจากฟาร์มหมูอยู่สองสามปีจนหน้าบวม เพราะต่อมน้ำลายถูกเชือกบีบรัดขึ้นเรื่อยๆ พอไปถึงตอนแรกตามหาไม่เจอ ชาวบ้านบอกว่าตอนกลางวันมันจะแช่น้ำทะเลเพื่อป้องกันแมลงวันตอมแผล เราเลยไปตามหาที่ทะเลก็พบจริงๆ” 

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกท้อใจมากที่สุดบนเส้นทางการช่วยเหลือสุนัขจรจัดบาดเจ็บ เขาตอบโดยไม่ลังเลว่า การช่วยเหลือ “สุนัข” ไม่ใช่ปัญหา แต่การสร้างความเข้าใจกับ “มนุษย์” ด้วยกันต่างหากที่เป็นปัญหา

.

คนที่ไม่ชอบหมา เขาก็จะถามว่าคุ้มไหม เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีไหม มีกระแสแบบนี้เรื่อยๆ แต่ในมุมมองของผม ไม่ว่าคนหรือหมาจะเจ็บปวดมากน้อยแค่ไหนมันก็คือหนึ่งชีวิต เราเป็นแค่คนกลางในการส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างคนบริจาคไปสู่สุนัข คนบริจาคเป็นคนที่ได้รับอานิสงส์เยอะสุด เพราะเขาเป็นคนให้ชีวิต มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีความสุขกับการช่วยเหลือใครมากกว่า เราไม่สามารถยิ่งใหญ่จากการให้ความช่วยเหลือทุกคนได้ แต่เราก็มีความสุขที่ยิ่งใหญ่ในใจเรา เวลาได้ช่วยปลดเปลื้องความเจ็บปวดให้สุนัขเหล่านี้จะรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก เมื่อก่อนถ้าไปช่วยไม่ทันจะรู้สึกอินมากจนน้ำตาไหล แต่ตอนนี้พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด บางตัวก็ช่วยทัน บางตัวก็ช่วยไม่ทัน แต่ก็ยังรู้สึกดีใจที่เราได้ทำอะไรให้เขาบ้าง

.

“ยิ่งเราเดินมาไกลก็ยิ่งเจอคนที่คิดแตกต่างเยอะขึ้น เวลาเหนื่อยท้อ เราก็ถอยห่างออกมาบ้าง แต่เราทิ้งไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าเจอคนพูดให้เราบั่นทอน ต้องไม่อยู่คนเดียว พยายามคุยกับเพื่อนหลายๆ คน ถ้าลบได้ก็ลบ บางทีมันต้องก้าวข้ามไปไม่ให้มันกวนใจเรา ผมคิดว่าทุกคนมีเป้าหมายและหน้าที่ของตนเอง มูลนิธิที่ช่วยเหลือคนป่วยก็ทำหน้าที่ช่วยคน แล้วเขาก็ไม่ได้อะไรตอบแทนจากคนป่วยคนนั้นเหมือนกัน เราเป็นมูลนิธิช่วยหมาป่วยก็ช่วยหมา ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทนเหมือนกัน เราอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้เพราะยังมีคนพร้อมจะบริจาคเพื่อช่วยเหลือหมาจรจัดเหล่านี้อยู่  เราแค่อยู่ตรงกลางระหว่างความสุขของคนบริจาคและหมาเท่านั้นเอง”

.

(ผู้สนใจติดตามร่วมสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิ ดิ อาร์ค สามารถคลิกเข้าไปที่แฟนเพจ The ARK Chiangmai  ขอขอบคุณภาพจากแฟนเพจมูลนิธิมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)

 

การสัมผัสธรรมชาติ

ช่วยเหลือสุนัขจรจัด

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save