8 ช่องทางความสุข

ความหมายในความงามและความจริง

ธรรมชาติของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย มักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มองหากิจกรรมที่น่าสนใจ มีคุณค่า และได้พบเพื่อนใหม่ จึงเกิดเป็น กลุ่มใบไม้ ที่รวมตัวกันจัดกิจกรรมศึกษาธรรมชาติและงานอาสาเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ กว่า 15 ปี ที่ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมในธรรมชาติในพื้นที่จริง

.

  • เมื่อได้อยู่ในธรรมชาติเราควรจะได้สัมผัสถึงความงามของธรรมชาตินั้นนอกจากนี้การได้สัมผัสธรรมชาติในพื้นที่จริงยังทำให้ได้พบกับความจริงด้วย แม้ความจริงนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่คาดหมาย ความจริงอาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถาม และการตั้งคำถามจะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลง
  • งานอาสาเป็นการลงมือลงแรงทำสิ่งที่มีความหมาย และงานอาสาที่ดีนั้นนอกจากเป็นการชวนกันลงมือทำสิ่งที่มีความหมายแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ความหมายใหม่ๆ ให้ชีวิต เมื่ออยู่ในงานอาสาเรากำลังลงทำบางเรื่องร่วมกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน แต่สิ่งที่กระทบกับโลกภายในของอาสาแต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย จึงเป็นสิ่งที่มีพลังและมีความหมายมาก


กลุ่มใบไม้ (www.baimai.org) คือกลุ่มคนหนุ่มสาวที่รวมตัวกันจัดกิจกรรมศึกษาธรรมชาติและงานอาสาเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ แต่เหนียวแน่น เป็นองค์กรอิสะที่ไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย แต่ได้รับความเชื่อถือ เชื่อใจ มากว่า 15 ปีแล้ว เก่ง – โชคนิธิ คงชุ่ม ก่อตั้งกลุ่มใบไม้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล และยังคงทำกิจกรรมนี้มาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ งานอาสาที่สร้างประโยชน์ สร้างความหมาย และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร มาฟังกัน


กลุ่มใบไม้
ผมชอบทำกิจกรรมตั้งแต่มัธยมปลาย พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เห็นโอกาสเยอะขึ้น เริ่มเขียนโครงการ เข้าหาแหล่งทุน ชวนเพื่อนทำกิจกรรม เกิดเป็น กลุ่มใบไม้ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษามหิดล แต่เป็นเพื่อนๆ จากหลายมหาวิทยาลัยที่สนใจธรรมชาติ พอผมเรียนจบก็ยังทำกลุ่มต่อไป เน้นไปที่ งานอาสา งานอนุรักษ์ฯ ในพื้นที่ต่าง ๆ ขอทุนทำโครงการบ้าง รับจัดงานบ้าง กลุ่มใบไม้อยู่มา15 ปีเต็ม (กำลังจะครบ 16 ปี) ในรูปแบบองค์กรอิสระ ความจริงใจและความตั้งใจ คือเครดิตของกลุ่มเรา


กิจกรรมที่กลุ่มใบไม้จัดมีเอกลักษณ์อย่างไร
ตอนที่ทำกลุ่ม ผมคิดแค่ว่า ผมอยากทำอะไร ก็ชวนเพื่อนมาทำด้วยกัน ก็ทำต่อเนื่องทุกเทอม ทำมาเรื่อยๆ เพื่อนๆ ก็จำได้ ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย ถ้าเขามีเวลา และเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เขาก็พร้อมจะเข้าร่วม เมื่อพาคนทำกิจกรรมในธรรมชาติในพื้นที่จริง กลุ่มใบไม้นึกถึงกระบวนการ 3 ส่วน

  • ความงาม – เมื่อพาคนไปอยู่ในธรรมชาติ เขาควรได้พบความสวยงาม เห็นคุณค่าของธรรมชาติ บางครั้งอาจจะมีโมเมนต์พิเศษเช่น ได้เห็นนกเงือก แต่ สิ่งสำคัญคือชวนให้เขาสัมผัสถึงความงามและคุณค่าของธรรมชาติ อาจจะเป็นกิจกรรมที่เรียบง่ายก็ได้ เช่นพาไปเดินลำธาร ชวนดูแมลง ดูผีเสื้อ
  • ความจริง – ข้อดีของการสัมผัสธรรมชาติในพื้นที่จริง (ไม่ set up) คือจะได้เห็นทั้งด้านที่อยากเห็นและด้านที่ไม่อยากเห็น เช่น การเปลี่ยนไปของพื้นที่ ลำธารแห้งไม่มีน้ำ หรือเจอปัญหาเช่นไปป่าเพราะอยากเห็นนกเงือก แต่กลับเจอกวางกำลังกินขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ — ผมคิดว่าการเจอความจริงก็เป็นเรื่องที่ดี อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจ “เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อธรรมชาติ เพื่อเพื่อนสัตว์ป่าของเรา”
  • ความหมาย – ผมมักจะชวนคนทำกิจกรรมอาสาสมัคร ลงพื้นที่จริงในชุมชน เช่น การเก็บตาข่ายดักปลาในฤดูปลาวางไข่ งานแบบนี้เหนื่อย ร้อน เจอฝน สกปรก ต้องสละเวลาหรือทุนทรัพย์ส่วนตัว ฯลฯ ทุกคนที่ได้ร่วมกิจกรรมแบบนี้จะรู้สึกได้จริงๆ ว่าเขาได้ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อธรรมชาติ ได้ช่วย และมันเป็นสิ่งที่มีความหมาย ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง กิจกรรมแบบนี้สร้างการเติบโตภายใน เกิดการเรียนรู้เยอะมาก บางครั้งไม่ได้พบคำตอบ แต่เกิดการตั้งคำถามซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ


ปกป้องปลาในฤดูวางไข่
งานอาสานี้เกิดเพราะมีปัญหานี้อยู่จริงๆ เรารู้เพราะทำงานใกล้ชิดชุมชน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับกรมประมง เขาต้องการคนช่วย เรามีอาสาสมัครที่อยากจะช่วย


ในฤดูน้ำหลาก ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ นี่เป็นธรรมชาติที่ชาวบ้านรู้ และชาวบ้านก็รู้ด้วยว่าการวางตาข่ายดักปลาในฤดูนี้ผิดกฎหมาย แต่บางคนก็คิดแค่ว่ามันเป็นโอกาสของการดักปลา มีรายได้ ไม่ได้คิดไปถึงว่า มันทำลายความมั่นคงทางอาหารของตนเอง เขารู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่ากำลังทำลายอาหารในอนาคต


พวกเรา (กลุ่มใบไม้) เก็บตาข่ายดักปลาเพื่อให้ปลาได้วางไข่ บางครั้งอาสาสมัครอาจจะมีคำถามว่า “เอ๊ะ! นี่เรากำลังรังแกชาวบ้านหรือเปล่า” ผมก็ชวนคุย ชวนหาคำตอบไปด้วยกัน เพราะผมกำลังชวนเพื่อนไปทำกิจกรรมด้วยกัน เมื่อเจอสิ่งที่ไม่คาดหมายมันก็ไม่กดดันตัวผมมากนัก เพราะผมไม่ใช่หัวหน้ากรุ๊ปทัวร์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ล้วนเป็นการเรียนรู้ของกลุ่ม


บางครั้งอาสาสมัครก็มีคำถามว่า “แล้วจะต้องมาช่วยกันรื้อตาข่ายอย่างนี้ไปอีกกี่ปี เมื่อไรเขาจะเข้าใจสักที” ผมก็ชวนคุยว่า “งั้นพวกเรามาช่วยกันสื่อสารสิ” แล้วเรานั่งคุยเรื่องวิธีที่จะสื่อสาร —นี่คือวิถีทางที่พวกเราจะโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่งานที่ทำแล้วฟิน แล้วก็เลิก


ทำงานมานาน เคยสงสัยหรือตั้งคำถามต่อ “ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง” ไหม
ข้อดีของการทำกลุ่มอิสระก็คือ ไม่มีความกดดันที่จะต้องเห็นผลลัพธ์ (outcome) เร็วๆ ผมเคยรับทุนทำงานในกรอบเวลา 1 ปี พอครบปีก็ต้องรายงานผลลัพธ์แล้ว แหล่งทุนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจะเห็นผลลัพธ์อาจจะใช้เวลานานกว่านั้น ผลลัพธ์อาจจะแสดงผลใน 3 ปี หรือ 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ในระยะหลังนี้ กลุ่มใบไม้ไม่ได้รับทุน ก็ไม่รู้สึกเร่งร้อนที่จะต้องเห็นผลลัพธ์เร็วๆ ผมคิดว่างานอาสาที่กลุ่มเราทำเป็นการติดตั้งอะไรบางอย่างเข้าไปในตัวของคน


กลุ่มใบไม้ทำงานมาเกือบ 16 ปีแล้ว บางคนมาร่วมกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม แล้วก็หายไปเลย 6 ปี แล้วจู่ๆ วันหนึ่งเขาก็ติดต่อกลับมาถามว่า “มีอะไรให้เขาช่วยทำไหม ตอนนี้พร้อมแล้ว” เขาทำงานมีเงินเดือนแล้ว — มันแปลว่าที่หายไป 6 ปี เพราะเขาไปจัดการชีวิตส่วนตัว — นี่คือการเปลี่ยนแปลง ช้า รอเวลา รอเงื่อนไข


บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจ มาร่วมกิจกรรมเพราะมีเวลา ไม่ได้คิดอะไรมาก อยู่มาวันหนึ่งที่โรงแรมของเขามีนกมาทำรัง วางไข่ เขาทำป้ายติดบริเวณนั้นว่า “ขอกันพื้นที่ตรงนี้ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของนกที่กำลังวางไข่ 2 เดือนนะ อย่ารบกวน” — แสดงว่าวิธีคิดบางอย่างในกิจกรรมของเราถูกติดตั้งในตัวเขาเรียบร้อยแล้ว — เหล่านี้เป็นผลลัพธ์ ซึ่งผู้ให้ทุนไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะในตอนที่กลุ่มใบไม้ส่งรายงาน ผลลัพธ์ยังไม่ปรากฎ (ฮา)


สิ่งสำคัญของงานอาสาและการลงพื้นที่คือ เราไปด้วยกันเป็นกลุ่ม เราเรียนรู้บางอย่างร่วมกัน แต่เรื่องที่กระทบกับโลกภายในของเรามันไม่เหมือนกันหรอก บางครั้งสำหรับบางคนได้เจอบางอย่างที่ไม่ได้ให้คำตอบกับเขาเลย แต่มันได้สร้างคำถามที่ดีมากขึ้นมาในใจของเขาเช่น “เรามาเสียเวลาทำสิ่งนี้เพื่ออะไรวะ” นี่คือการเรียนรู้ที่สำคัญมากและจะสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ


คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปบ้างไหมคะ
(อืม… คิด) ผมเห็นธรรมชาติเป็นเพื่อนอยู่เสมอ ธรรมชาติให้ความสุขทางตา ทางประสาทสัมผัส ทางใจ ผมไม่เคยเหงาเลย เพราะมองไปทางไหนก็เห็นเพื่อนเต็มไปหมด (หัวเราะ)


สิ่งที่ผมเปลี่ยนก็คือ หลังๆ มานี้ ผมอยากเล่าความเจ๋งของเพื่อนผม (หมายถึงธรรมชาติ) ให้เพื่อนมนุษย์ฟัง — ผมเพิ่งไปเดินริมโขง ได้เห็นดอกไม้เล็กๆ ซึ่งสวยงามมาก มีอยู่เพียง 2-3 จังหวัดนี้เท่านั้นในโลกใบนี้ แสนจะมหัศจรรย์ — ผมอยากแชร์เรื่องของเพื่อนต่างสปีชีส์ให้เพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกันกับผมให้รับรู้มากขึ้น เวลาที่เห็นภาพสัตว์ป่าถูกล่า ต้นไม้ถูกทำลาย สัตว์ป่ากินพลาสติก ผมรู้สึกรู้สาเพราะเขาเป็นเพื่อนของผม



การงานที่สร้างความหมายให้ชีวิต
ผมเคยคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าเมื่อไรได้เจอ “เช้าที่อยากตื่น คืนที่ไม่อยากนอน” ก็หมายความว่า เราเจอทางของเราแล้ว — ‘เช้าที่อยากตื่น’ คือ อยากตื่นขึ้นมาทำสิ่งนั้นเร็วๆ ‘คืนที่ไม่อยากนอน’ ก็เพราะยังอยากจะทำสิ่งนั้นอยู่ — ผมได้เจอแล้ว


ผมได้เจองานที่ผมรัก ผมชอบที่ได้เห็นศักยภาพในตัวคน ได้ทำหน้าที่เชื่อมจุดแต่ละชุด (Connecting the dot) มันให้ความสุขและมีความหมาย


ติดตามกิจกรรมของกลุ่มใบไม้ https://baimai.org/public/fishery-patrol-reinforcement-project/

การสัมผัสธรรมชาติ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save