8 ช่องทางความสุข

คนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว

“เร่เข้ามา เร่เข้ามา น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้าของแท้ แบ่งขาย จ่ายน้อย ช่วยลดขยะจ้า ซื้อเท่าไหร่ก็ได้ เข้ามาดูก่อนได้นะคะ ”

เสียงนักศึกษาสาวว่าที่ด็อกเตอร์กำลังตะโกนเรียกลูกค้าเข้ามาใช้บริการร้าน “Refill Station” กลางตลาดนัดย่านธุรกิจใจกลางกรุง ผู้คนที่เดินผ่านหันมามองสินค้าด้วยใบหน้าแปลกใจเพราะบนโต๊ะเรียงรายไปด้วยแกลลอนน้ำยาทำความสะอาดหลากหลายยี่ห้อติดตั้งหัวปั๊มไว้ด้านบนแทนฝาปิด  ใกล้กันมีตาชั่งไว้ให้ลูกค้าชั่งปริมาณน้ำยาที่ต้องการซื้อตามความต้องการ

“เราพยายามหาทางลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันด้วยการนำขวดน้ำหรือขวดพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาเติมน้ำยาทำความสะอาดที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันโดยเราแบ่งขายให้ตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ”

สุภัชญา เตชะชูเชิด หรือ “แอน” นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านศาลายาบอกเล่าความเป็นมาของธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ลองลงมือทำตามความฝันของคนหนุ่มสาวไฟแรง แม้ว่าเธอและเพื่อนจะไม่มีใครเรียนด้านการตลาดโดยตรง แต่แรงบันดาลใจอยากทำสิ่งที่ฝันก็ผลักดันให้คนหนุ่มสาวกล้าลองผิดลองถูกด้วยตนเองเสมอ

“เราเคยเห็นในต่างประเทศมีตู้เติมน้ำตั้งตามที่ต่าง ๆ เขาก็ไม่ต้องซื้อขวดน้ำใหม่ เลยอยากให้เมืองไทยมีแบบนี้บ้าง แต่ว่าถ้าเป็นน้ำดื่มจะยากเกินไป เลยเริ่มต้นที่น้ำยาต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันก่อน แล้วก็ชวนเพื่อนอีกสองคนมาร่วมทำด้วยกัน หลังจากนั้นลองสำรวจตลาดประมาณสามเดือนก็เริ่มทดลองขายจริงตามตลาดนัด ตอนแรกชาวบ้านก็จะงงๆ ถามว่าขายทั้งแกลลอนเหรอ(หัวเราะ)เพราะเขายังไม่เคยเห็นการแบ่งขายแบบนี้”

ร้าน Refill Station เปิดบริการทุกวันอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 77/1 ใกล้รถไฟฟ้าอ่อนนุช ตั้งแต่ 8.00 – 22.00 น.

แก๊งค์หนุ่มสาวหาทางโปรโมทธุรกิจทางสังคมออนไลน์ด้วยการเปิดเพจ “Refill Station ปั๊มน้ำยา” จนกระทั่งมีคนแชร์ต่อไปจำนวนมาก เวลาไปเปิดขายตามตลาดนัดที่ไหนก็จะมีคนถือขวดเปล่าติดตามไปใช้บริการ

“คนแชร์ต่อกันจากเพจของเราในโซเชียลไปเยอะ เห็นได้จากเวลาไปเปิดขายที่ไหนก็จะมีคนถือขวดมาจากบ้านเลยเพราะรู้ข่าวจากเพจ ส่วนคนที่เดินผ่านร้านเราโดยบังเอิญ บางคนก็หันมามองจริงจังแต่ไม่กล้าเข้ามาถาม แรกๆ เราก็มีใบปลิวไปแจก เขาก็เข้าใจมากขึ้นว่าร้านเราขายอะไร ข้อดีของการขายแบบนี้คือทำให้คนกล้าลองสินค้าใหม่ เพราะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ บางคนเห็นยี่ห้อนี้ถูกกว่าของที่เคยใช้ก็กล้าซื้อไปลอง เพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อทั้งขวด เพราะราคาแค่ 10 กว่าบาท”

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้มากกว่าตัวเลขกำไรทางธุรกิจ คือ “กำไรประสบการณ์ชีวิต” ซึ่งไม่มีตำราเล่มไหนสอนได้ดีเท่า

“จริงๆ ไม่ค่อยได้กำไรเป็นตัวเงิน แต่ลองทำแล้วสนุกดี เราได้เรียนรู้การตลาดจากกลุ่มคนที่บริโภคสินค้าจริงๆ ว่าเวลาคนซื้อสินค้า เขาไม่ได้ดูแค่ราคาถูกกว่าเท่านั้น เพราะบางยี่ห้อ เราเห็นว่าราคาถูกกว่า แต่เหตุผลที่เขาไม่ซื้อเพราะเขาบอกว่า ยี่ห้อที่ราคาถูกถ้าใช้ในปริมาณเท่ากับยี่ห้อราคาแพงล้างจานได้น้อยกว่า เขาเลือกซื้อยี่ห้อที่ราคาแพงกว่าแต่ล้างจานได้เยอะกว่าแทน 

สิ่งที่เราคาดหวังกับการทำ Refill Station คือต้องการเป็นตัวเลือกในสังคม แต่ถามว่าด้วยความที่เป็นธุรกิจ เราก็คาดหวังกำไรเหมือนกัน ไม่ต้องมากนัก แต่เราต้องอยู่ได้ แล้วต่อไปเราคาดหวังจะเห็นร้านแบบนี้เยอะๆ ในเมืองไทย เป็นใครมาทำก็ได้ที่มีกำลังช่วยสร้างตัวเลือกให้กับคนไทย

สาวน้อยภายใต้กรอบแว่นตาถ่ายทอดความตั้งใจผ่านน้ำเสียงสดใสตามวัยหนุ่มสาว ท่ามกลางสังคมยุคดิจิตัลที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยกำลังก้มหน้าอยู่กับจอมือถือจนมองไม่เห็นความฝันของกันและกันผ่านแววตา แต่สาวน้อยคนนี้กลับเลือกใช้ชีวิตแตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกัน  บางช่วงเธอเลือกเดินทางเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อเฝ้าตามหานกนานนับเดือน ฟังเสียงหรีดริ่งเรไรกลางไพรพนาแทนการกดพิมพ์ข้อความสื่อสารผ่านโลกโซเชียล

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงการเลือกเดินบนถนนสีเขียวสายนี้ สาวน้อยนักอนุรักษ์เล่าว่า เธอเกิดมาในครอบครัวที่ใช้ชีวิตในเมือง เริ่มสมัครเข้าค่ายสิ่งแวดล้อม เพราะรู้สึกว่าได้เที่ยวฟรี แต่ถูกมนต์เสน่ห์ธรรมชาติสะกดจิตไว้ทำให้เธอลุ่มหลงจนถอนตัวไม่ขึ้น   ต้องหาทางออกจากเมืองมุ่งสู่ป่าทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เปลี่ยนทางเดินชีวิตจากเด็กเมืองกรุงสู่นักศึกษาสาขาชีววิทยาอย่างเต็มตัว ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกเพื่อก้าวสู่เส้นทางการเป็นนักวิจัยทางนิเวศวิทยาตามที่ฝันไว้

แรกๆ บอกเลยว่าอยากเที่ยวฟรี หลังๆ มันก็หล่อหลอมความรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่ไปร่วมกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อม เราก็จะได้ข้อมูลสะสมมามากขึ้นทีละนิดเลยเริ่มฝันอยากเป็นนักวิจัยและเป็นนักอนุรักษ์ไปด้วยกัน เพราะรู้สึกว่านักอนุรักษ์แบบใช้จิตวิญญาณอย่างเดียวมันไม่ฟังก์ชันแล้วกับสังคมสมัยนี้ ไม่ได้อยากทำงานที่มีเฉพาะอารมณ์ความรู้สึก แต่อยากนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้คนที่ได้รับผลกระทบ

ปัจจุบัน แอนเลือกทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อเกี่ยวกับนกไต่ไม้ใหญ่ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ ทำให้เธอต้องใช้เวลาตามหานกอยู่ในป่าแถวดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ครั้งละหลายวันหรือหลายสัปดาห์ หลังจากนั้นจึงกลับมาใช้ชีวิตในเมืองกรุง ชีวิตจึงเหมือนมีสองด้านที่ตรงข้ามกัน

“ตอนทำวิจัยจะมีช่วงเวลาที่อยู่คนเดียวเยอะ อยู่กับธรรมชาตินั่งเฝ้านกซึ่งไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ สัญญาณมือถือ อินเทอร์เน็ตก็ไม่มี เราจึงต้องเป็นมิตรกับตัวเอง เวลากลับเข้าเมืองจะรู้สึกว่า ตัวตนของเราจะชัดมากขึ้น ทุกคนอยากเป็น somebody อยากให้คนมากดไลค์ กดแชร์ เหมือนเราเป็นใครสักคนหนึ่งที่อยากให้คนอื่นมองเห็น แต่พอไปอยู่กับธรรมชาติ เรารู้สึกว่าเราเป็น Nobody ของธรรมชาติ ได้โฟกัสอยู่กับตนเองจริงๆ  

จริงๆ แล้วการที่ไม่มีเราอยู่บนโลกออนไลน์ตรงนั้นมันก็ไม่มีผลอะไรด้วยซ้ำ นกก็ยังร้อง พระอาทิตย์ก็ยังขึ้นทุกวัน ต้นไม้ก็ยังโต พอไปเจอธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ทำให้รู้สึกว่าเราตัวเล็กนิดเดียว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเป็น somebody ก็ได้ ธรรมชาติทำให้เรารู้สึกสันโดษมากกว่าสังคมเมือง

มหาวิทยาลัยอาจสอนความรู้ในตำราให้กับนักศึกษาทุกคนได้เท่ากัน แต่สิ่งที่นักศึกษาแต่ละคนมีโอกาสได้รับแตกต่างกัน คือ “บทเรียนชีวิต” นอกห้องเรียน ใครสนใจทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากเท่าไหร่ โอกาสของการแสวงหา “ความหมายของชีวิต”  และ “การเติบโตทางจิตวิญญาณ” จึงมีมากกว่าคนที่เลือกจมอยู่กับกองหนังสือในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ เพียงอย่างเดียว

ชีวิตของเรามีสองแบบ แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าแบบไหนจะต้องดีกว่ากัน รู้สึกว่าชีวิตของตนเองมีสมดุล อยู่ในเมืองก็อยู่ได้ หรืออยู่ในป่าก็ได้ เพราะถ้าอยู่ในเมืองนานๆ ก็จะรู้สึกอึดอัด หรือถ้าอยู่ในป่านานๆ ก็จะอึดอัดเหมือนกัน คำว่าความสมดุลของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน มันเป็นความสุขในแบบที่เราเลือกแล้ว ซึ่งคนอื่นอาจไม่ได้อยากมีความสุขแบบเรา บางคนบอกว่า อยู่ในเมืองมีหม้อหุงข้าวสบายอยู่แล้ว เราไปตั้งไฟหุงข้าวในป่าลำบากไปหรือเปล่า แต่เราคิดว่าความลำบากมันทำให้เรารู้สึกรักและเห็นคุณค่าของสิ่งที่เคยมีมากขึ้น

“อย่างเช่นเวลากลับมาบ้านแค่ได้นอนเตียงนุ่มๆ ก็รู้สึกดีมากแล้ว เพราะตอนอยู่ในป่าต้องนอนบ้านพักที่มีแค่ไม้กระดานแข็งๆ เท่านั้น การได้สัมผัสความรู้สึกว่าความขาดมันเป็นยังไง แม้ว่าจะแค่ชั่วคราว แต่มันก็ทำให้เราสัมผัสได้ว่าการมีอยู่ของสิ่งเดิมมันดีจริงๆ หรือเวลาเราไปเดินป่า เราจะเอาของไปให้น้อยที่สุด เพราะขี้เกียจแบกหลังแอ่น แต่เวลาอยู่ในเมือง เราจะรู้สึกอยากซื้อของให้เยอะที่สุด เพราะมันคือความสุขของคนเมือง”

ว่าที่ด็อกเตอร์สาวนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสรุปบทเรียนชีวิตที่ได้จากธรรมชาติทิ้งท้ายว่า

“ธรรมชาติทำให้อีโก้เราลดลง แต่ก่อนเราเป็นเด็กเรียนเก่งได้ที่หนึ่งของห้องไม่ค่อยฟังใคร แต่พอเราต้องเข้าไปเดินป่าที่เราไม่คุ้นเคย เราต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านที่นำทางเรา เพราะเขาเป็นคนพื้นที่จริงๆ แม้ว่าเขาจะมีการศึกษาน้อยกว่าเรา แต่เราก็ต้องฟังความคิดเห็นของทุกคน ทำให้เราเป็นมิตรกับคนอื่น เข้าหาคนอื่นได้ง่าย 

เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เราคาดการณ์อะไรล่วงหน้าไม่ได้เลย ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ จู่ๆ ฝนตก จู่ๆ แดดออก เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องไปคาดหวัง ธรรมชาติคือธรรมชาติ ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร เราก็ต้องเจอธรรมชาติแบบเดียวกันทั้งนั้น

ขอบคุณภาพประกอบจากเฟสบุ๊ค ANN SUPATCHAYA

การสัมผัสธรรมชาติ

สุภัชญา เตชะชูเชิด

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save