8 ช่องทางความสุข

ฟาร์มสุข

การสัมผัสกับธรรมชาติแท้ๆ จะเห็นว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น มีความไม่แน่นอน คาดการไม่ได้ แต่นั่นก็คือความแน่นอนและความหวังด้วย มันทำให้เราวางใจและอยู่กับชีวิตจริงๆ ผมทุกข์ใจน้อยลงแม้ว่าจะเหนื่อยมากขึ้น ผมรู้ว่าธรรมชาติคืออะไร ชีวิตคืออะไร และผมจะใช้ชีวิตอย่างไร

.

.

ในวันที่โลกร้อนขึ้น เมืองขยายตัว ทุกสิ่งรอบตัวกระตุ้นและเร้าให้พวกเรา ‘เร็วขึ้นอีกหน่อย’ — ธรรมชาติคือโอเอซีสที่ทุกคนโหยหา แต่ธรรมชาติคืออะไร ? คือสวนสาธารณะ คือท้องฟ้า ทะเล ธารน้ำแข็ง ใบไม้ ดอกไม้ นก หนู งู แมลง หรืออะไรที่มากกว่านั้น ??


ในขณะที่ผู้เขียนยืนคุยโทรศัพท์เพื่อนัดหมายกับ โตโต้ – สมพงษ์ วรกุล เจ้าของเรื่องราวในบทความนี้ ขณะที่กำลังพูดถึง ‘ความสุขในการสัมผัสธรรมชาติ’ จู่ๆ งูตัวโต (และไม่ใช่งูเขียว) ก็โผล่ขึ้นมาทักทายผู้เขียนแบบไม่มีปีมีขลุ่ย ผู้เขียนสะดุ้งเฮือก กรี๊ดเบาๆ กระโดดผึงเดียวเข้าไปอยู่ในบ้าน ละล่ำละลักบอกปลายสายว่า “วางสายก่อนนะ เจองู งูมา งู!” — ตอนนั้น ความรักธรรมชาติเผ่นหนีกระเจิดกระเจิง …เมื่อนึกย้อนกลับไป…หรือว่างูตัวนั้นจะเป็นเทพจำแลง มาแกล้งถามว่า “ที่เธอว่าเธอรักธรรมชาติน่ะ รักจริงๆ ใช่ไหม” — ไม่ยากที่คนจะมีความสุขในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถูกใจ แต่การสัมผัสธรรมชาติแท้ๆ ซึ่งมีทั้งสิ่งถูกใจและไม่ถูกใจจะให้ความสุขแก่เราได้อย่างไร มาฟังกัน

.

โตโต้ เป็นบัณฑิตย์คณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล เขาเคยมีความฝันไกลๆ ว่าเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้าน cell molecular biology แต่ขณะที่เรียนในระดับชั้นปีที่ 3 และ 4 ก็เกิดการทบทวนชีวิตอย่างจริงจังและพบว่า จริงๆ แล้วเขาชอบอยู่ในธรรมชาติมากกว่าห้องปฏิบัติการ ชอบอยู่อาศัยในชุมชนเล็กๆ มากกว่าใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เขาชอบสังคมเกษตรกรรม


“ตอนเด็กๆ ผมได้เรียนวิชาเกษตร ทำแปลง เพาะเมล็ด รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พอถึงวันหนึ่งก็ตัดผักกวางตุ้งกลับไปฝากแม่ที่บ้าน แม่ก็ชื่นใจ อาหารเย็นมื้อนั้นเป็นอาหารที่มาจากมือเรา — สิ่งเหล่านี้เป็นความสุข ตอนที่เป็นเด็กผมไม่ได้รู้สึกพิเศษ แต่พอต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่แบบกรุงเทพ ผมคิดถึงเรื่องราวแบบนั้นมาก ชอบวิถีง่ายๆ แบบนั้น มันมีคุณค่าทางใจ” — นั่นทำให้โตโต้ยุติความคิดที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ แต่หันมาสนใจการทำเกษตร โดยเฉพาะการเกษตรแบบอินทรีย์ หรือ organic farm — ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลง ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ปลูกดอกไม้ไว้ล่อแมลง ในแปลงมีผีเสื้อ ดินดี น้ำสะอาด อาหารธรรมชาติ-ปลอดภัย ทุกคนสุขภาพดี — เหล่านี้เป็น concept สีเขียวเข้มที่ดีมากๆ ทีเดียว โตโต้คลุกคลีเป็นเกษตรกรในวิถีนี้มากว่าสิบปีแล้ว


การทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือกับธรรมชาติ
ตอนที่ผมตัดสินใจแน่วแน่ว่าผมจะเป็นเกษตรกร และจะทำในวิถีเกษตรอินทรีย์ ผมคิดว่านี่คืองานที่ผมทำร่วมกับธรรมชาติ — แต่ความจริงที่พบในช่วงต้นของการเป็นเกษตรกรก็คือ ผมปลูกถั่วและต้นถั่วของผมก็ถูกเพลี้ยรุม ผมใช้มือของผมบี้เพลี้ย ฆ่าเพลี้ย (เพราะไม่ใช้สารเคมี) เพื่อให้ต้นถั่วอยู่ได้ — ผมฆ่าเพลี้ยเยอะมากจนไม่สบายใจ เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ทำไมต้องฆ่าเพลี้ย ในเมื่ออยากอยู่ร่วมกับธรรมชาติ คำตอบที่ได้ก็คือ เพราะถั่วนี้เป็นของผม ไม่ใช่ของเพลี้ย เพลี้ยคือผู้รุกราน คำถามต่อมาก็คือ ถ้าถั่วนี้เป็นของผม และผมต้องการทำงานร่วมกับธรรมชาติ แล้วถั่วนี้เป็นของธรรมชาติด้วยหรือเปล่า ?


นี่เป็นคำถามใหญ่ที่ผมต้องทบทวน — ถ้าผมเชื่อจริงๆ ว่า ผมจะทำงานร่วมกับธรรมชาติ ผมก็ควรจะวางใจใหม่ ถ้าผมต้องการอยู่ในธรรมชาติโดยปลอดภัย ชีวิตอื่นก็น่าจะอยู่ได้โดยปลอดภัยเช่นกัน นั่นเป็นชั่วขณะที่ผมเริ่มรู้สึกว่า ผมเริ่มรู้จักคำว่า ‘อ่อนน้อมถ่อมตน’ — ถ้าเพลี้ยเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เขาก็เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของผม ดังนั้นผมจะไม่ทำลายเขา ไม่ฆ่า ไม่ไล่บี้อย่างทารุณ


โอ้โห…!!
(หัวเราะ) สิ่งที่ผมเล่า ไม่ได้เกิดในวันเดียวนะครับ มันค่อยๆ เกิด ผ่านการทำผิด ผ่านความผิดพลาด ความเสียใจ เป็นกระบวนการช้าๆ ที่อาศัยเวลา มีความคิดที่จะบี้ หดมือกลับมา อดทน อดกลั้น แล้วเมื่อปล่อยผ่านไปสักระยะก็ได้เห็นจริงๆ ว่าธรรมชาติก็เริ่มส่งแมลงเต่าทองเข้ามา ส่งแมลงหางหนีบเข้ามาควบคุมเพลี้ยตามธรรมชาติ — ดังนั้นความคิดเรื่อง การทำงานร่วมกับธรรมชาติจึงพิสูจน์ได้ว่ามันใช้งานได้จริง ประเด็นก็คือผมต้องน้อมตัวเข้าหาธรรมชาติจริงๆ วางใจ สังเกตุ แต่ไม่ใช่การมีอำนาจเหนือชีวิตอื่นๆ


ธรรมชาติในแปลง มีทั้งสิ่งที่ให้ประโยชน์กับเรา เช่นแมลงเต่าทอง แมงปอ แมลงหางหนีบ แต่ก็มีสิ่งที่เกษตรกรรักได้ยากเช่นเพลี้ย ด้วงที่คอยกินรากพืช หนอนที่ทำลายผักผลไม้ของเรา… การรักธรรมชาติคือ รักทั้งหมดทั้งมิตรทั้งศัตรูได้จริงๆ เหรอ


จากประสบการณ์ของผม ความรักธรรมชาติมาพร้อมๆ กับความเคารพและความเข้าใจ สิ่งที่ผมได้คือการวางใจ น้อมใจ น้อมตัวเข้าหา สิ่งที่ได้กลับมาอีกคือผมรู้สึกมั่นคงมากขึ้น กล้ามากขึ้น กลัวน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่กลัวนะครับ


ผมมีความกลัวและกังวลเยอะแยะมากมายในช่วงที่เริ่มทำเกษตร ในช่วงต้น…สิ่งที่จะช่วยให้ผมรู้สึกปลอดภัยก็คือ การอ่านหนังสือ การหาความรู้จากคู่มือเกษตรทั้งหลายก่อนลงมือทำ ผมควรจะวางแผนอย่างไร ผมควรจัดการวัชพืชในแปลงอย่างไร ถ้าเพลี้ยลง เกิดโรคระบาดผมจะทำอย่างไรฯลฯ แล้วผมก็พบว่า หลายเรื่องที่เผชิญไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนในหนังสือ หลายครั้งมันซับซ้อน และหลายครั้งปัญหาก็เข้ามาแบบถาโถม ตอนที่เห็นผักตายคาแปลงเยอะๆ ผมกลัว ผมไม่กล้าเริ่มใหม่ ทั้งๆ ที่ผมเตรียมแผนไว้แล้วว่าจะต้องชำกล้า แต่ก็พักต้นกล้าไว้อย่างนั้น เพราะผมกลัว ความกลัวเป็นอะไรที่……


แต่ในวิถีชีวิตของเกษตรกร ผมไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ไม่ใช่ว่าไม่กลัว แต่ผมต้องตัดสินใจและนำมาสู่ที่ว่า “เอาเถอะ ถ้ามันตายก็ทำใหม่ ไม่รอดก็หว่านใหม่” ระหว่างนั้นก็พยายามหาวิธีใหม่ๆ หาความรู้ใหม่ๆ ลองใช้ฟางกลบสิ ลองทำวิธีนี้สิ วิถีของการทำเกษตรธรรมชาติเป็นพื้นที่ของการออกจากความคิดไปสู่การลงมือทำ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็รอดู เมื่อประสบการณ์หนักแน่นมากขึ้นก็ไม่มีอะไรให้กลัวมากไปกว่านี้


ผมมีความคุ้นเคยกับวิธีคิดแบบนักเรียนวิทยาศาสตร์ สมัยที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เช่น ถ้าเราเจ๋งจริง ลงกล้า 100 ต้น ต้องรอด 80 ต้น นั่นแปลว่าได้ A — แต่เราใช้ชุดความคิดแบบนี้ไม่ได้ในการเกษตรแบบธรรมชาติ


สมัยที่เป็นนักศึกษาเราวางแผนได้ว่า ถ้าอ่านหนังสือเท่านี้ ทำข้อสอบได้แบบนี้ ผลลัพธ์ก็น่าจะเป็น A หรือ B — วางแผนได้ ประเมินได้ แต่ในวิถีของธรรมชาติ เราใช้ชุดความคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะจากประสบการณ์ของผม ต่อให้ทำทุกอย่างอย่างดี เต็มร้อย หรือเกินร้อย ก็ไม่สามารถรับประกันผลที่จะเกิดขึ้นได้ ทางที่ดีก็คือวางใจว่าเราทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้แล้ว และพร้อมเริ่มใหม่เสมอ …

ฟังอย่างนี้ คนทั่วๆ ไปคงไม่มีใครอยากทำเกษตรธรรมชาติ มันเสี่ยงต่อความสูญเปล่า
ไม่มีความสูญเปล่านะครับ — ทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาด มีความเสียหาย การเรียนรู้ก็เกิดทุกครั้ง ทำวิธีนี้ไม่เวิร์ค ทำอย่างนี้ผักตาย ทำอย่างนี้ก็ยังไม่รอด หรือทำอย่างนี้แล้วดีขึ้น — ไม่ใช่ความผิดหวัง หรือความล้มเหลวทั้งหมด มันมีการเรียนรู้และการค้นพบอยู่ด้วย ความท้อก็มี เหนื่อยก็มี แต่แรงที่จะไปต่อก็มีด้วย


การสัมผัสกับธรรมชาติแท้ๆ จะเห็นว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น มีความไม่แน่นอน คาดการไม่ได้ แต่นั่นก็คือความแน่นอนและความหวังด้วย “ต้องพร้อมที่จะเริ่มใหม่นะ” “เราทำดีที่สุดแล้วนะ” มันทำให้เราวางใจและอยู่กับชีวิตจริงๆ มากขึ้น ผมทุกข์ใจน้อยลงแม้ว่าจะเหนื่อยมากขึ้น บางวันผมปวดไปทั้งตัวแต่ใจสบาย ผมรู้ว่าธรรมชาติคืออะไร ชีวิตคืออะไร และผมจะใช้ชีวิตอย่างไร

ผมมีความสบายใจมากขึ้นนะครับ เมื่อเทียบกับในอดีต เป็นความสบายใจลึกๆ ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ตามกำลังความรู้ความสามารถของเรา สิ่งที่ตามมาอีกหน่อยคือ ผมมีความสุขง่ายมาก เป็นความสุขที่ไม่ต้องผ่านการคิด ไม่ต้องรอผล ดายหญ้าเสร็จแล้ว มีความสุข ลงกล้าเสร็จแล้ว มีความสุข มีความสุขในตอนนั้นเลย ง่ายมาก


ได้ฟังความสุขแบบใจ-ใจ มาพอสมควร มีความสุขแบบโลก-โลก บ้างไหม
สองปีที่ผ่านมานี้ ผมอยู่ในสวนตลอดเวลา เมื่อก่อนยังแว้บไปเรียนบ้าง ไปเป็นอาสาสมัครบ้าง แต่ใน 2 ปีมานี้ ผมเป็นเกษตรกรในวิถีเกษตรแบบอินทรีย์แบบ 24 ชั่วโมง/วัน และ 7 วัน/ สัปดาห์ เช้าก็เห็น เย็นก็เห็น ความทุกข์อยู่ในนี้ ความสุขก็อยู่ในนี้


ถ้าย้อนกลับไปดูรูปเมื่อ 2 ปีก่อน ดินตรงนี้แดง แห้ง เหมือนผิวดาวอังคาร แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ดินและไม่มีสารอาหารเลย ผมปลูกผัก ผักก็ไม่ค่อยโต พอโตก็ขมมาก สิ่งที่ทำในปีแรกคือบำรุงดิน ผมรอหญ้าขึ้นแล้วดายหญ้าเพื่อหมักกลับลงไปในดิน พอหญ้าขึ้นใหม่ก็ดายใหม่ แล้วหมักลงไป ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เหนื่อยมาก บางวันท้อ บางวันเสียใจ ผ่านไปหนึ่งปีเต็มๆ จึงค่อยๆ เห็นว่า หน้าดินเปลี่ยน ดินมีสีดำ นุ่ม มีความชุ่มชื้นมากขึ้น เมื่อขุดลงไปจะพบไส้เดือน ถ้าแหวกหญ้าน่าจะเจอแมลงเล็กๆ — นี่คือดอกผลจากความเหน็ดเหนื่อยที่ทุ่มลงไปในปีแรก

ตอนนี้ปีที่สอง เห็นได้ชัดว่านกเยอะขึ้น ในดินมีไส้เดือน กิ้งกือ มดเยอะขึ้น เมื่อก่อนผมโดนมดกัดอยู่ชนิดเดียว เดี๋ยวนี้ มดที่กัดผมมีทั้งมดดำ มดแดง มดแดงตัวเล็ก มดแดงตัวใหญ่ เฉพาะมดผมคิดว่าน่าจะสัก 7 ชนิด


เดี๋ยวนะ ! จากที่โดนมดกัดอยู่ชนิดเดียว แล้วกลายเป็นมด 7 ชนิด ที่จะมากัดเราเป็นความสุขใช่ไหม
(หัวเราะร่วน) ใช่ครับ มันน่าดีใจนะครับที่เห็นความหลากหลายของมดมากขนาดนี้ แสดงว่าที่นี่มีอาหาร มีความอุดมสมบูรณ์กว่าแต่ก่อน แม้แต่วัชพืชก็หลากหลายชนิดแล้ว เริ่มมีหญ้าที่มีดอก มีวัชพืชแบบที่เราเก็บกินได้เช่นผักโขมไทย เห็นเลยว่าในเวลา 2 ปี ความสมบูรณ์ของธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากจริงๆ ผมไม่ได้คิดไปเอง — พอได้เล่าอย่างนี้ก็เป็นความสุขนะครับ นี่เป็นความสุขโลกๆ ของผม (ฮ่า)


หญ้าเยอะ เกษตรกรควรดีใจใช่ไหม
ใช่ครับ (หัวเราะ) เพราะหญ้าเป็นที่อยู่ของแมลง รักษาความชื้นในดิน ตอนนี้ผักก็ดีขึ้น ผักอร่อยแล้ว


สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เพียงพอที่จะทำให้ผมมีความสุข แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นสำหรับผมคือ ด้านในของผมเปลี่ยนไปจริงๆ เมื่อก่อนผมไม่ค่อยพอใจในตัวเอง บ่นตัวเอง ดุ ว่า วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ผมเรียกร้องให้ตัวเองสมบูรณ์แบบอย่างที่อยากจะเป็น ในระยะหลังๆ มานี้ ผมค่อยๆ เรียนรู้ด้านดีและไม่ดีของตัวเองได้ กลับมามองและเรียนรู้ธรรมชาติของความเป็นตัวเรา ว่าเราเป็นคนแบบนี้นะ ถ้าเป็นต้นไม้ เราเป็นต้นไม้ชนิดนี้ใช่ไหม เราควรบำรุงต้นไม้นี้อย่างไร — ปัจจุบันเสียงภายนอกมีผลกับผมน้อยลงมาก


การเติบโต การเรียนรู้ที่ได้อยู่กับธรรมชาติ คือการที่ได้เห็นว่าความสุขที่มีอยู่ของผมไม่ใช่แค่ความสุขเพียวๆ เท่านั้น แต่ระหว่างทางของความสุข มีความท้อแท้ เหนื่อยหน่าย เศร้า เหงา ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของความสุขในปัจจุบัน มีต้นไม้ใบหญ้า ผักในแปลง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ประกอบด้วย กลายเป็นความสุขที่เรียกว่ามีความเข้าใจ มีการเติบโตภายในเกิดขึ้นมากจริงๆ จากการใช้ชีวิตวิถีนี้ วิถีที่ใกล้ธรรมชาติมากๆ ได้เห็นความต่อเนื่องของความเป็นจริงในชีวิตที่ไม่ปรุงแต่งมากนัก เป็นความสุขที่ไม่ปรุงแต่ง

ก่อนหน้านี้ผมเลี้ยงห่านไว้ 7 ตัว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จู่ๆ ก็มีหมาบุกเข้ามาในสวน กัดห่านของผมตายไป 5 ตัว เหลือ 2 ตัว ตัวหนึ่งโดนฟัดยับไปทั้งตัวแต่ไม่ตาย ส่วนอีกตัวขาหัก เดินไม่ได้ ระหว่างที่ผมดูแลมันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าผมขาหัก ถ้าผมต้องอยู่ในสภาพนี้ผมจะเป็นอย่างไร ผมคงเศร้า ทุรนทุราย ความดราม่าคงมาเยอะแยะ แต่สำหรับห่าน มันก็พยายามใช้ชีวิตของมัน ถ้าหิวมันก็พยายามกิน มันเดินไม่ได้ (และคงจะเจ็บปวด) มันก็นอน พัก มันจัดการตัวเองโดยไม่มีดราม่ามาเกี่ยวข้อง ดูชีวิตของมันสงบสุขดี … สงบสุขแม้ว่ามันจะเจ็บปางตาย สงบสุขในขณะที่มันไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข … งงไหมครับ .. ดังนั้น ด้านหนึ่งชีวิตตามธรรมชาติก็ง่ายๆ แบบนี้ เหนื่อยก็พัก ผิดก็เริ่มใหม่

ถัดจากนี้อยากทำอะไร หรืออยากบอกอะไรให้คนใกล้ธรรมชาติมากขึ้น
ผมเป็นเกษตรกรที่อยู่ในวิถีธรรมชาติ ได้ยินเสียงธรรมชาติเตือนมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็อยากจะส่งข่าวบอกกับสังคมว่า ผมกำลังเผชิญสิ่งนี้อยู่นะ พวกเราช่วยกันดูแลธรรมชาติได้นะ — ผมพยายามสร้างการมีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผมอยากให้แยกขยะ โดยเฉพาะการแยกเศษอาหาร เวลาที่ผมไปขายผักในตลาดก็พยายามสื่อสารว่า ใครมีเศษอาหารก็เอาเศษอาหารมาแลกไข่ไก่จากผมได้ หรือใครมีขยะ reuse ก็เอาแลกไข่ไก่ได้ อะไรทำนองนี้ ตอนนี้หลายคนเก็บกระจาดขนมจีนมาให้ผมใช้ใส่ผักเอาไว้ขาย บางคนเก็บแผงไข่มาให้ผมฟรีๆ แต่เศษอาหารไม่ค่อยมีคนเอามาแลกครับ (หัวเราะ) คงรู้สึกว่ามันสกปรกมั้ง — ผมว่านี่เป็นเรื่องที่เราจะร่วมมือกันได้ ดูแลธรรมชาติได้ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันครับ

การสัมผัสธรรมชาติ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save