8 ช่องทางความสุข

โคริงกะ…มองเห็นใจตนเองผ่านการจัดดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่น

“การจัดดอกไม้แบบโคริงกะเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตวิญญาณที่อยู่ด้านใน เราจึงต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ตั้งแต่ฝึกฝนวิธีจัดดอกไม้จนเห็นการสื่อสารของพืชและเห็นคุณประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดดอกไม้ จนกระทั่งเราเริ่มเกิดความมั่นใจว่าพลังธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่และสามารถช่วยทำให้คนมีความสุขได้ เราจึงขยับขึ้นมาเป็นวิทยากรสอนคนอื่นต่อไป”

อาจารย์รัตนาภรณ์ ศรีอร่ามมณี หรือครูนุช อธิบายถึงหัวใจสำคัญของการจัดดอกไม้แบบโคริงกะด้วยรอยยิ้มสดใสพร้อมทั้งอธิบายถึงความหมายของคำว่า “โคริงกะ” โดยละเอียดว่า “โค”แปลว่า แสงสว่าง, “ริง” แปลว่า วงกลม ส่วนคำว่า “กะ” มาจากคำว่า ดอกไม้ เมื่อนำสามคำมารวมกันจึงแปลได้ว่า “ดอกไม้แห่งแสงสว่าง”

คุณโมกิจิ โอกาดะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเอ็มโอเอไทยเป็นผู้บัญญัติคำว่า “โคริงกะ” ขึ้นมาเป็นคนแรก โดยท่านกล่าวไว้ว่า ความงามที่เรามองเห็นในธรรมชาติไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความงามทางสายตา แต่เป็นพลังธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่สามารถเยียวยาจิตใจของมนุษย์ได้ เพราะเมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเคยผ่านความทุกข์มามากมาย จึงเริ่มแสวงหาทางเยียวยาจากธรรมชาติด้วยการเริ่มต้นจัดดอกไม้ที่ปลูกไว้ในบ้าน ทำให้ค้นพบว่าพลังธรรมชาติสามารถช่วยให้ผ่านพ้นความทุกข์ได้ ท่านจึงนำประสบการณ์นั้นมาช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์และมีความสุขโดยเผยแพร่การจัดดอกไม้ออกไป

อาจารย์รัตนาภรณ์ ศรีอร่ามมณี หรือครูนุช (เครดิตภาพจากครูนุช)

 

ก้าวย่างของครูสอนจัดดอกไม้

ครูนุชย้อนอดีตให้ฟังว่า เธอไม่ได้เริ่มต้นทำงานที่มูลนิธิเอ็มโอเอไทยในฐานะวิทยากรสอนจัดดอกไม้ แต่เริ่มทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการมาตั้งแต่ปี 2537 และค่อยๆ เรียนรู้ศิลปะการจัดดอกไม้แบบโคริงกะโดยเป็นผู้ช่วยครูคนเก่า จนกระทั่งปี 2549 จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นวิทยากรอย่างเต็มตัว เนื่องจากครูคนเดิมย้ายไปอยู่ทางภาคใต้หลังจากแต่งงานมีครอบครัว นับจากนั้นเป็นต้นมาเธอก็ได้ก้าวเดินบนเส้นทางวิทยากรผู้สอนจัดดอกไม้ที่สถาบันแห่งนี้จวบจนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลา 12 ปี บนเส้นทางที่ก้าวเดินไปอย่างช้าๆ เธอค่อยๆ เก็บเกี่ยวสั่งสมความรู้และประสบการณ์จากผู้คนรอบข้างทีละน้อยจนเกิดความมั่นใจในการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เข้ารับการอบรมมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็น “ครูนุช” วิทยากรสอนจัดดอกไม้โคริงกะที่ผู้เข้าอบรมต่างประทับใจในความรู้ความสามารถในวันนี้

“ทางมูลนิธิเอ็มโอไทยจะสนับสนุนให้บุคลากรพัฒนาตัวเองในกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิโดยให้เข้าอบรมเรื่องพลังบำบัด เกษตรธรรมชาติ และศิลปะ เราจึงมีองค์ความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง เมื่อต้องมารับหน้าที่วิทยากรก็มีผู้ใหญ่ในมูลนิธิคอยให้คำแนะนำทำให้เราค่อยๆ พัฒนาตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ ”

ครูนุชอธิบายความหมายอันลึกซึ้งให้ฟังเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของการจัดดอกไม้แบบโคริงกะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนำดอกไม้มาจัดให้สวยงามเท่านั้น แต่คือการสร้างโลกของความจริง ความดี และความงามเข้าด้วยกัน

ความจริง คือ เราพิจารณาสภาพความเป็นจริงของดอกไม้ พืช หรือแจกันที่เราเลือกมาว่ามีลักษณะอย่างไร ความดี คือ เราใส่ใจในผลงานของตัวเอง เช่น ถ้าเห็นใบมีคราบสกปรกก็เช็ดออก เห็นตอหรือกิ่งที่ไม่เรียบร้อยก็ตัดแต่ง เห็นหยดน้ำบนโต๊ะก็ทำความสะอาด เพื่อให้คนที่มาชมผลงานของเรามีความสุข ความงาม คือ กาย วาจา ใจของเราที่งดงามในขณะที่จัดดอกไม้

หลักสูตรศิลปะและวัฒนธรรมการจัดดอกไม้แบบโคริงกะของมูลนิธิเอ็มโอเอไทยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับพื้นฐาน มุ่งเน้นความสุขในการจัดดอกไม้ของผู้เข้าอบรมเป็นหลัก โดยให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และเพลิดเพลินไปกับความงามของดอกไม้และพืช

ระดับกลาง มุ่งเน้นการพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้นกว่าระดับพื้นฐาน โดยผู้เข้าอบรมจะต้องพัฒนาผลงานให้เป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่นด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนากาย วาจา ใจของตัวเองตามแนวทางที่ท่านโอกาดะเขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ “ตำราเพื่อการพัฒนาจิตใจ” ซึ่งกล่าวถึงเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ความจริงใจ และเรื่องอื่นๆ ให้ได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจตนเอง

ระดับสูง มุ่งเน้นการพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก โดยให้ผู้เข้าอบรมฝึกจัดดอกไม้ในสถานที่จริง เช่น วัดพระบาทน้ำพุ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและสามารถช่วยผู้ป่วยได้ด้วยการจัดดอกไม้ เวลาจัดดอกไม้ในสถานที่จริง ผู้เข้าอบรมจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าห้องนั้นใช้งานอะไร ลักษณะเป็นแบบไหน ดูบรรยากาศทั้งหมดที่อยู่ในชีวิตจริงเพื่อจัดดอกไม้ให้เข้ากับสถานที่และบรรยากาศ

ในสายตาคนทั่วไป การจัดดอกไม้อาจเป็นเพียงแค่การนำดอกไม้มาปักในแจกันแล้วจบกันไป ทว่า ในสายตาของวิทยากรผู้สอนจัดดอกไม้แบบโคริงกะแล้ว แต่ละขั้นตอนของการจัดดอกไม้มีความหมายที่ลึกซึ้งถึง 14 ขั้นตอน ซึ่งจะช่วยพัฒนาจิตใจของผู้จัดดอกไม้ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น ขั้นตอนเลือกดอกไม้ ผู้เข้าอบรมจะถือภาชนะที่บรรจุน้ำอยู่ภายในเพื่อใช้เป็นที่พักดอกไม้ แล้วเดินไปชมดอกไม้ทั้งหมดเพื่อเพลิดเพลินไปกับดอกไม้ตามสภาพความเป็นจริง ให้โอกาสดอกไม้กับตัวเองได้รู้จักกันโดยพิจารณาดอกไม้แต่ละดอกอย่างละเอียด จากนั้นตัดสินใจเลือกดอกไม้หนึ่งชนิดที่ตัวเองชอบมากที่สุดแล้วหยิบดอกไม้นั้นใส่ลงในภาชนะ

หน้าที่ของครูนุช คือ เป็นผู้จัดเตรียมดอกไม้ที่ผู้เข้าอบรมสามารถนำมาจัดได้ง่าย ซึ่งมักจะเป็นดอกไม้ที่ค่อนข้างมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวและน่าจะเหมาะสมกับผู้เข้าอบรม แล้วให้ผู้เข้าอบรมมีอิสระเลือกดอกไม้ด้วยตัวเอง เหตุผลของการพิจารณาดอกไม้อย่างละเอียดเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมองสภาพความเป็นจริงของดอกไม้ให้ครบทุกส่วนก่อนตัดสินใจเลือก หากผู้เข้าอบรมบางท่านเลือกดอกไม้มาจัดแล้วรู้สึกอยากเปลี่ยน ครูนุชก็อนุญาตให้เปลี่ยนดอกไม้ได้พร้อมทั้งให้ตั้งข้อคำถามกับตนเองด้วยเช่นกัน

“เราจะบอกผู้เข้าอบรมว่าสามารถเปลี่ยนดอกไม้ได้ แต่ผู้เข้าอบรมควรทบทวนตัวเองก่อนว่าทำไมถึงอยากเปลี่ยน เป็นเพราะตอนที่เลือกดอกไม้ครั้งแรกพิจารณาดอกไม้น้อยเกินไปหรือเปล่า ถ้าพิจารณาน้อยเกินไปรอบหน้าก็ต้องพิจารณาดอกไม้ให้ละเอียดมากขึ้น แล้วผู้เข้าอบรมจะค่อยๆ จัดดอกไม้ได้อย่างสมบูรณ์จากการเรียนรู้ของตัวเขาเอง”

มองเห็นดอกไม้…มองเห็นใจตนเอง

เอกลักษณ์ของการจัดดอกไม้แบบโคริงกะคือไม่มีรูปแบบ จะเน้นความเพลิดเพลินกับความงามของธรรมชาติ และดึงเอาจุดเด่นของธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เวลาเราหยิบดอกไม้ขึ้นมาหนึ่งดอก เราจะพิจารณาส่วนต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจะหาส่วนที่เป็นธรรมชาติที่สุดของดอกไม้ หรือส่วนที่สวยงามที่สุดในความรู้สึกของเรา แล้วใส่ลงแจกันเพื่อถ่ายทอดความงามของดอกไม้ เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียนจัดดอกไม้จะไม่รู้สึกว่ามีกรอบ แต่รู้สึกมีอิสระทางด้านจิตใจที่จะถ่ายทอดความงามออกมาอย่างไรก็ได้

“เราจะใช้ดอกไม้อะไรก็ได้ หรือนำกิ่งไม้ ใบไม้ ต้นหญ้า อะไรที่เป็นธรรมชาติมาจัดลงแจกันได้หมด บางครั้งดอกไม้ดูธรรมดามากเลย แต่พอจัดใส่ลงแจกันก็สวยงามขึ้นมา นั่นเป็นเพราะดอกไม้หรือพืชต่างๆ สวยในแบบของตัวเอง ดังนั้น เวลาเราจัดดอกไม้ เราจะมองความเป็นจริงของดอกไม้หรือพืชที่อยู่ตรงหน้าเรา แล้วถ่ายทอดความเป็นจริงของเขาออกมา”

ครูนุชอธิบายถึงหัวใจสำคัญของการจัดดอกไม้เพื่อพัฒนาจิตใจตนเองอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้นอกจากความสุขจากการจัดดอกไม้ใส่แจกันด้วยสองมือของตนเองจึงไม่ใช่เพียงการมองเห็นความแตกต่างของพืชพรรณที่มีความสวยในตนเอง แต่ยังได้มองเห็นความแตกต่างของจิตใจมนุษย์ที่มีมุมสวยของตนเองซ่อนอยู่เช่นเดียวกัน แม้ว่าในยามอยู่โดดเดี่ยวลำพังอาจไม่มีใครมองเห็นความงาม แต่เมื่อนำมารวมกันในแจกันแล้ว ความงามที่แตกต่างกลับทำให้ดอกไม้และใบไม้ทุกใบสวยมากขึ้นกว่าเดิมได้เช่นกัน

ในการจัดดอกไม้แบบโคริงกะจะเน้นความงามและความจริงของธรรมชาติ ดอกไม้หรือพืชมีความงามอยู่ในตัวเอง เพียงแต่เราต้องพิจารณาและมองหาว่ามุมไหนของดอกไม้ที่สวยงามหรือเป็นธรรมชาติที่สุด ถ้าเราฝึกมองเช่นนี้ได้ เราก็จะหันกลับมามองตัวเราเองและคนอื่นอย่างละเอียดด้วย ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วเลือกมองข้อดีมากกว่าข้อเสียของเขา อีกทั้งเข้าใจว่าตัวเขาเป็นแบบนี้ นี่เป็นธรรมชาติของเขา เราก็จะยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้มากขึ้น

แม้ว่าดอกไม้บางดอกอาจไม่ได้สวยงามร้อยเปอร์เซ็นต์ บางกลีบมีรอยช้ำบ้าง บางกลีบขาดวิ่นบ้าง แต่ถ้าเราลองมองดอกไม้ให้รอบด้านก็อาจเจอมุมที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ต้นหญ้า หรือคนเรา ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีมุมสวยงามที่ซ่อนอยู่ เพียงแค่เรามองให้รอบด้านก็จะเจอมุมที่สวยงามนั้นด้วยตนเอง

การจัดดอกไม้ไม่เพียงแต่ทำให้เราพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดมากขึ้น ยังทำให้เรามองเห็นสภาพจิตใจของตัวเองที่สะท้อนออกมาจากดอกไม้ที่จัดด้วยเช่นกัน โดยครูนุชเล่าให้ฟังว่า

“ในขณะที่จัดดอกไม้ ผู้เข้าอบรมบางท่านอาจจะพูดปัญหาขึ้นมาเอง ตัวอย่างเช่น บางท่านกำลังอยู่ในภาวะเครียดหรือมีปัญหารุมเร้า ดอกไม้ที่เขาจัดจะเยอะมาก มีหลายชนิดมาก ใส่ลงไปในแจกันเท่าไหร่ก็ไม่พอ เมื่อจัดเสร็จแล้วถอยห่างออกมาดูก็พบว่ามันไม่สวย แต่ก็ไม่รู้ว่าไม่สวยเพราะอะไร เราจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นมาค่อยๆ ทำพร้อมกันนะคะ ให้เขาเอาดอกไม้ทั้งหมดที่อยู่ในแจกันออกมา แล้วค่อยๆ หมุนดอกไม้ไปทีละดอกเพื่อพิจารณาและหามุมที่สวยแล้วใส่ลงในแจกัน ให้เขาเลือกดอกไม้ที่ตัวเองชอบมากจริงๆ ก่อน แล้วดอกไม้ที่เหลือก็นำกลับไปคืนได้

“ผลปรากฏว่าเขาลดจำนวนการใช้ดอกไม้ลง และพูดปัญหาที่อยู่ในใจออกมาว่า ตอนนี้จิตใจของเขาไม่สงบเลยเพราะมีปัญหาจากที่บ้านและที่ทำงาน เขารู้สึกว่าปัญหาถาโถมเข้ามา แต่พอมาจัดดอกไม้แล้วรู้สึกผ่อนคลายขึ้นและใจของเขาก็เบาลงด้วย ส่วนใหญ่เหตุการณ์ในตอนที่จัดดอกไม้จะพาไป โดยที่แต่ละท่านอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะเอ่ยปัญหาออกมา แต่ก็มีบางท่านเหมือนกันที่ตั้งใจ”

จัดดอกไม้เปลี่ยนชีวิต

“หลังจากเรียนการจัดดอกไม้แล้วรู้สึกสดชื่นขึ้น จากที่เคยเป็นคนใจร้อนมากก็กลายเป็นคนใจเย็นลง และมองคนอื่นอย่างเข้าใจโดยไม่ต้องไปถามว่าทำไมเขาถึงทำบางสิ่งบกพร่อง หรือทำบางอย่างผิดพลาด มันก็เหมือนกับการที่เรามองดอกไม้ที่ไม่สามารถพูดกับเราได้ ทำให้เราใช้ชีวิตตามธรรมดาหรือธรรมชาติได้ และความคิดของตัวเองได้ถูกจัดระเบียบเพราะการจัดดอกไม้แบบโคริงกะมีขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม สี่ ชีวิตของเราก็เป็นหนึ่ง สอง สาม สี่ มีระเบียบและสะอาดไปเองโดยธรรมชาติ”

คุณแอม หนึ่งในผู้เคยเรียนการจัดดอกไม้แบ่งปันประสบการณ์ให้เราฟังว่าชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีของการทำหน้าที่ครูสอนจัดดอกไม้แบบโคริงกะ ครูนุชได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของผู้เข้าอบรมมากมากมายจนนับไม่ถ้วน คู่รักบางคู่เกือบเลิกรากันไปแต่เมื่อได้ผ่านการเรียนจัดดอกไม้ ความรักความเข้าใจกันก็เพิ่มมากขึ้นจนตกลงปลงใจสร้างครอบครัวร่วมกันและมีสมาชิกตัวน้อยเป็นพยานรักตัวน้อยในวันนี้ ในฐานะครูผู้สอนการจัดดอกไม้แล้ว ความสุขที่เกิดขึ้นจึงประเมินค่ามิได้เลยทีเดียว

“น้องผู้หญิงคนหนึ่งมีแฟนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นิสัยดีทุกอย่าง ชอบทำกับข้าว ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน แต่มีสิ่งที่ฝ่ายหญิงรู้สึกไม่ชอบใจ คือ ความเป็นคนไม่กุ๊กกิ๊กหรือไม่ค่อยเอาใจใส่ในความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้หญิงต้องการจนฝ่ายหญิงคิดอยากจะเลิกคบ ในชั่วโมงการจัดดอกไม้ น้องคนนี้เลือกหยิบกิ่งไม้แห้งๆ และดอกไม้ดอกหนึ่งมาใส่แจกัน เธอสะท้อนออกมาว่า เห็นแล้วนึกถึงชีวิตตัวเอง กิ่งไม้แห้งๆ ก็คือแฟนของเธอ ส่วนดอกไม้เล็กๆ กระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักคือตัวเธอ แต่พอทั้งสองอย่างนี้มาอยู่ในแจกันใบเดียวกัน เธอกลับรู้สึกว่ามันสวยงามและเข้ากันอย่างลงตัว หลังจากนั้นจึงตัดสินใจแต่งงานกับแฟนคนนี้ ตอนที่ท้องก็ยังมาเรียนการจัดดอกไม้ระดับสูงที่จังหวัดลพบุรี ส่วนแฟนก็ขึ้นมาจากภาคใต้เพื่อตามมาดูแลและคอยช่วยเป็นลูกมือ ตอนนี้ลูกสาวอายุประมาณห้าขวบแล้ว”

ครูนุชอธิบายว่า ขั้นตอนการอบรมจัดดอกไม้ที่สูงขึ้นจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 7 ประการในเวลาต่อมา คือ ด้านจิตใจ คำพูด ร่างกาย พฤติกรรม ครอบครัว ชีวทัศน์ (การมองชีวิต) และโชคชะตา พร้อมกับยกตัวอย่างครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ดีขึ้นให้เราฟัง

“ผู้เข้าอบรมท่านหนึ่งเป็นคุณแม่ที่บงการลูกทุกอย่างทั้งที่ลูกโตแล้ว ลูกจึงรู้สึกไม่ค่อยชอบ แต่พอแม่มาเรียนจัดดอกไม้ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นโดยคนเป็นแม่ไม่รู้ตัว แม่เริ่มรู้สึกว่าลูกเข้ามาหามากขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อนลูกไม่อยากมาพบแม่เลยเพราะแม่ขี้บ่น แม่ก็เลยถามลูกว่าทำไมช่วงนี้ถึงมาพูดคุยกันบ่อยขึ้น ลูกบอกว่าแม่บ่นน้อยลงและเข้าใจตัวเขามากขึ้น อย่างเช่น เมื่อก่อนเวลาไปทานข้าวนอกบ้าน ลูกอยากทานอันนี้ แม่ก็จะบอกว่าทานอันนี้ดีกว่า ลูกก็ต้องฝืนทนทานอาหารที่ตัวเองไม่ชอบ แต่เดี๋ยวนี้เวลาไปทานข้าวนอกบ้าน แม่จะบอกว่าใครชอบทานอะไรก็สั่งที่ตัวเองชอบเลย ซึ่งคนเป็นแม่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งลูกมาเล่าสะท้อนให้ฟัง บางครั้งเราอาจมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มันอาจเชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่นในครอบครัวได้”

ครูนุชเปรียบบทบาทตนเองเหมือนเป็น “พี่เลี้ยงเด็ก” เมื่อเห็นผู้เข้าอบรมมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็พลอยรู้สึกอิ่มเอมใจไปกับพวกเขาด้วยและมีกำลังใจในการทำงานเป็น “พี่เลี้ยงเด็ก” ดูแลผู้เข้าอบรมให้เติบโตงอกงามทางด้านจิตใจต่อไปอย่างมีความสุขทุกครั้ง เมื่อถูกถามว่าตลอดเส้นทางการเป็นวิทยากรสอนจัดดอกไม้สายนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง วิทยากรคนเก่งตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและอ่อนน้อมถ่อมตนว่า

“เราไม่ใช่ครูของนักเรียน แต่นักเรียนคือครูของเรา”

นี่เป็นคำกล่าวของท่านโอกาดะ และเป็นสิ่งที่ครูนุชยึดถือมาโดยตลอด ผู้เข้าอบรมซึ่งถือเป็นนักเรียนทำให้ครูนุชได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือมีมุมมองที่กว้างขึ้น

“ผู้เข้าอบรมบางคนจัดดอกไม้แบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนเลย ทำให้รู้ว่าเขาจัดแบบนี้ก็เพราะเขาคิดแบบนี้ ถ้าเขาพูดปัญหาออกมา และเราตั้งใจรับฟังก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขาด้วย บางสิ่งที่เขาพูดมาก็ทำให้เราหันกลับมาทบทวนชีวิตของตัวเองด้วย”

หน้าที่สำคัญของครูนุชจึงไม่ใช่ “ผู้แนะนำ” แต่เป็น “ผู้รับฟัง” เมื่อผู้เข้าอบรมบางคนระบายปัญหาออกมาให้ฟัง

เวลาสอนเราจะใส่ใจในบรรยากาศของห้องเรียนเพื่อให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกดี หรือเมื่อบางคนไว้ใจและเล่าปัญหาที่อยู่ในใจให้ฟัง เราก็รู้สึกว่าเป็นภารกิจที่เราต้องรับฟังและใส่ใจเขา อีกทั้งคอยติดตามว่าชีวิตของเขาเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงแนะนำปรัชญาของท่านโอกาดะที่จะช่วยให้จิตใจของเขาดีขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้จิตวิญญาณที่อยู่ในใจของเราเติบโตตามไปด้วย เมื่อจิตวิญญาณของเราเติบโตขึ้นเราก็จะสามารถช่วยคนอื่นได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การสอนจัดดอกไม้ทำให้ครูนุชปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีมากขึ้น เพราะผู้เข้าอบรมแต่ละคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป

“ผู้เข้าอบรมบางคนเป็นคนที่แข็งๆ ไม่ยิ้มทักทาย เราก็จะเรียนรู้ว่าควรจะรับมือกับคนแบบนี้อย่างไร หรือถ้าเราพูดและปฏิบัติแบบนี้ แล้วผู้เข้าอบรมมีปฏิกิริยากลับมาด้วยความรู้สึกที่ไม่ค่อยพอใจ เราก็จะรู้ว่าสิ่งที่เราทำยังใช้ไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีพูดหรือวิธีปฏิบัติของตัวเราเอง อันนี้คือการมองตัวเองโดยผ่านผู้เข้าอบรม ซึ่งส่งผลให้ตัวเราเองพัฒนามากขึ้น

“ถ้าเราปรับตัวตามผู้เข้าอบรมไม่ทัน เราก็จะรู้สึกโกรธหรือรู้สึกไม่ดีกับเขา เราต้องทำความเข้าใจว่าตัวตนของเขาเป็นแบบนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้เขารู้สึกดีมากขึ้น สุดท้ายเขาจะเป็นฝ่ายเข้ามาขอคำแนะนำจากเราเอง นี่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ และทำให้รู้ว่าถ้าเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความจริงใจ และมีความปรารถนาดี ก็จะนำพาสิ่งดีๆ เข้ามาหาเรา เราจึงได้เรียนรู้ธรรมชาติจากคน เหมือนเรียนรู้ธรรมชาติจากดอกไม้นั่นเอง”

หมายเหตุ – ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดดอกไม้แบบโคริงกะได้ที่เฟซบุ๊คเพจ มูลนิธิ เอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation)

การภาวนา

จัดดอกไม้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save