8 ช่องทางความสุข

เพื่อน ความรัก และการเสพติด

การเสพติด ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความตั้งใจ แต่เป็นผลมาจากปัจจัยที่ซับซ้อนทั้งทางชีวภาพและสังคม การช่วยเหลือคนที่เรารักเลิกพฤติกรรมเสพติดไม่ใช่แค่การกดดันให้หยุด แต่เป็นการค้นหาความหมายที่ลึกซึ้ง ให้ความเข้าใจ ให้กำลังใจ ดูแลด้วยพลังแห่งความรักและมิตรภาพ

.

  • การเสพติด (addiction) ส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มขึ้นเพราะความตั้งใจ แต่เป็นผลมาจากปัจจัยที่ซับซ้อนทั้งทางชีวภาพและสังคม เช่น การอยู่ในกลุ่มเพื่อนหรืออยู่ในสังคมของนักดื่ม ค่านิยมของกลุ่ม สภาพแวดล้อมในครอบครัว รวมถึงการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่แข็งขึง เข้มงวด ฯลฯ
  • การช่วยเหลือคนที่เรารักให้เลิกพฤติกรรมเสพติดจึงมิใช่เพียงแค่การกดดันให้หยุด แต่คือการค้นหาความหมายที่ลึกซึ้งลงไป ให้ความเข้าใจ ให้กำลังใจ ดูแลด้วยพลังของความรักและมิตรภาพ
  • คำถามสำคัญก็คือ ถ้าคนที่คุณรักยังคงเลิกเสพติดไม่ได้ คุณยังจะรักเขาต่อไปไหม ? ถ้าคนคนนั้นเป็น คุณพ่อ คุณแม่ เพื่อน คนรัก เป็นลูก หรือเป็น หลานของคุณ คุณจะยังมีความรักให้เขาให้หรือไม่ แล้วจะสื่อสารกับเขาอย่างไร


วันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก พวกเราจึงอยากนำเสนอมุมมองเรื่องความสุข และความสัมพันธ์ของสุขภาวะกับภาวะการเสพติด(addiction) บทความนี้จะไม่ได้พูดถึงพิษภัยของบุหรี่ เพราะคงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่หากไม่ทราบก็หาข้อมูลได้จากที่นี่ค่ะ https://www.smokefreezone.or.th/danger.php อย่างไรก็ตามการรู้ถึงพิษภัย ไม่ได้แปลว่าจะหยุดพฤติกรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในภาวะเสพติด


การเสพติดเกิดจากอะไร
•พันธุกรรม
– มีงานวิจัยที่แสดงว่า ประวัติการเสพติดของสมาชิกครอบครัวส่งผลต่อการเสพติดของวัยรุ่นถึง 60 % และพันธุกรรมก็ส่งผลอย่างมาก ดังนั้นขอให้เข้าใจหากวัยรุ่น มันง่ายมากที่จะ ‘ติด’ และขอให้ทราบด้วยว่า แม้จะแก้ไขพันธุกรรมไม่ได้ แต่เราทุกคนแก้ไขพฤติกรรมได้เสมอ
•สารเคมีในสมอง – โดปามีน (dopamine) สารเคมีในสมองของเราจะหลั่งออกมา เมื่อเราทำบางสิ่งบางอย่างแล้วรู้สึกพึงพอใจ ทำให้อยากทำพฤติกรรมแบบนั้นอีก ดังนั้นถ้าสูบหรือดื่มแล้วได้การยอมรับจากเพื่อน จากกลุ่ม ก็มีแนวโน้มที่เราจะทำพฤติกรรมนั้นอีกซ้ำๆ ในทางกลับกัน หากได้ทำพฤติกรรมใหม่ๆ หรือหยุดพฤติกรรมเดิม แล้วได้ความรู้สึกพึงพอใจก็จะช่วยให้หยุดพฤติกรรมเดิมได้เช่นกัน (เช่น หากหยุดดื่ม หยุดสูบ แล้วได้คำชื่นชมจากคนรัก จากสมาชิกในครอบครัว)
•ปัจจัยแวดล้อมด้านสังคม – เพื่อน กลุ่ม และสังคมแวดล้อม เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมากและพวกเราควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจ

.


การพูดและการฟังวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
•อย่าพูดในขณะที่คุณอยู่ในอารมณ์ลบ
เช่น โกรธ หงุดหงิด หรือรำคาญ — ถ้าคุณกำลังมีอารมณ์ด้านลบขอให้กลับมาดูแลอารมณ์ของตนเองก่อน คุณควรพูดเมื่อรู้สึกพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมที่จะฟัง พร้อมที่จะรับปฏิกิริยาที่โต้กลับมา
•พูดคุยด้วยคำถามปลายเปิด แสดงให้เห็นว่าคุณอยากฟังเขา อยากฟังความคิดและทัศนคติของเขา และคุณอยากจะเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อตำหนิ คัดค้าน โต้กลับ ใช้อำนาจ หรือสั่งสอน เช่น “ได้ยินว่าตอนนี้วัยรุ่นฮิตบุหรี่ไฟฟ้า ลูกคิดยังไงกับมัน” หรือ “ช่วงนี้ลูกไปปาร์ตี้กับกลุ่มนี้บ่อย กำลังหัดดื่มอยู่หรือเปล่า มีอะไรจะเล่าให้แม่ฟังไหม” ขอให้ระมัดระวังท่าทีการจับผิด การตำหนิ การสั่งสอน ขอให้พยายามตั้งใจฟังอย่างแท้จริง
•‘เพื่อจะเข้าใจ’ คือคาถา ความสนใจหลักในการฟังคือ เพื่อจะเข้าใจเขา คุณอาจจะถามถึงแรงจูงใจของเขา เช่น เพื่อนๆ ในกลุ่มก็ทำใช่ไหม ถ้าไม่ทำลูกจะดูเป็นตัวประหลาดใช่หรือเปล่า หรือลูกทำเพราะมันเท่
•บอกความห่วงใยหรือความกังวลของคุณ ประเด็นนี้คุณต้องทำการบ้านกับตัวเองมาก่อน คุณเป็นห่วงเขาในประเด็นอะไรบ้าง สุขภาพ การเรียน การเงิน ภาพลักษณ์ อนาคต ฯลฯ เมื่อบอกแล้วขอให้เปิดใจรับฟังด้วยว่า แล้วเขาคิดอย่างไรต่อประเด็นที่คุณเป็นห่วงและกังวล
•ชวนคุยหรือนำเสนอกิจกรรมใหม่ๆ ที่เขาและเพื่อนอาจจะสนใจโดยไม่จำเป็นต้องสูบ หรือดื่ม เช่น กิจกรรมจิตอาสาเท่ๆ การเล่นกีฬา งานอดิเรกหรือกิจกรรมเฉพาะที่เขาสนใจเช่น การถ่ายภาพ ดนตรี งานช่าง หาต้นแบบที่เขาชื่นชมที่ไม่มีภาวะการเสพติด หรือ เคยเสพติดแล้วเอาชนะได้
•บอกความภาคภูมิใจของคุณที่มีต่อตัวเขา และคุณจะภูมิใจยิ่งขึ้นหากเขาตัดสินใจที่จะหยุดพฤติกรรมเสี่ยงและคุณเชื่อมั่นในตัวของเขา
•ช่วยหาวิธีการและแหล่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนพฤติกรรม
•สำรวจตัวของคุณเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรค เช่น การบ่น การตำหนิ การดื่ม-การสูบของคุณหรือผู้ใหญ่ในบ้าน ฯลฯ ข้อนี้คือภาษารักที่ทรงพลังมากที่สุด เพราะมันแสดงให้เห็นว่า คุณก็ทำด้วยเช่นกัน คุณรู้ว่าการหยุดและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจะทำไปด้วยกัน\

.

.


ตัวอย่างการพูดคุยกับวัยรุ่น เพื่อไม่ให้เสียเพื่อน และ ไม่เสียการเป็นตัวของตัวเอง
บ่อยครั้งการเสพติดและพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น เริ่มมาจากการขัดเพื่อนไม่ได้ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ไม่อยากแปลกแยกจากกลุ่ม ความท้าทายที่สำคัญก็คือ จะทำอย่างไรที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ไม่เสียเพื่อน และไม่เสียความเป็นตัวของตัวเอง ต่อไปนี้คือประเด็นเพื่อการพูดคุยกับวัยรุ่น
• เขาคิดว่า เพื่อนแท้ หรือ เพื่อนที่ดี น่าจะเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร
• เขาคิดอย่างไรต่อการปฏิเสธ เช่นการพูดคำว่า “ไม่” — อาจจะชวนเล่นบทบาทสมมุติ เช่น ถ้าเขาชวนเพื่อนทำบางอย่างแล้วเพื่อนปฏิเสธ เขารู้สึกอย่างไร และกลับกัน หากเพื่อนชวนทำบางอย่างที่เขาไม่อยากทำจึงปฏิเสธ แล้วถ้าเพื่อนโกรธ มันสมเหตุสมผลหรือไม่ เขาจะมีวิธีพูด อธิบาย หรือทำความเข้าใจกันอย่างไร

  • เพื่อนที่ดีจะเคารพพื้นที่และกติกาส่วนตัว — เขาเห็นด้วยกับประโยคนี้หรือไม่
  • เขาคิดอย่างไรต่อการมีจุดยืนที่ชัดเจน เขาคิดอย่างไรต่อการสนับสนุนและให้กำลังใจกันในความเป็นเพื่อน
  • ท่าทีที่ดีในการปฏิเสธ เป็นอย่างไรในความคิดของเขา

.

ทั้งหมดนี้เป็นแนวปฏิบัติที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่ที่จะใช้พูดคุยกับลูก หลาน หรือวัยรุ่นในการดูแลของพวกเรา แม้ว่าการเลิกหรือชวนให้เขาหยุดพฤติกรรมเสี่ยงจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญ แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วย เพราะการพูดคุยเหล่านี้จะเปิดเผยอุปสรรค ข้อจำกัด รวมไปถึงชวนให้เราได้เห็นถึงความหวัง ความฝัน แรงบันดาลใจในชีวิตของกันและกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือใจความสำคัญของการมีความสัมพันธ์ต่อกันนั่นเอง

.


…………………………………………………………………


สายด่วนการเลิกสูบบุหรี่ 1600
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ https://www.ashthailand.or.th/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save