8 ช่องทางความสุข

7 วิธี สู่การผู้สูงอายุที่มีความสุข

ลองชวนผู้สูงอายุคุยไปตามหัวข้อเหล่านี้ และถ้ามีโอกาสก็ชวนให้ลงมือทำ แบบฝึกหัดนี้มี 7 ข้อ 10 คะแนน ลองใช้แบบฝึกหัดนี้เป็นการเก็บแต้มรายวัน ลองดูว่า เมื่อได้ลองทำไปสักพัก แบบฝึกหัดนี้จะให้ผลอย่างไร

.

•การก้าวสู่วัยสูงอายุ แม้จะเต็มไปด้วยประสบการณ์ชีวิต แต่ก็อาจแฝงไว้ด้วยความรู้สึกหลากหลาย บางท่านอาจรู้สึกไร้ค่า ขาดความอบอุ่น รู้สึกว่าเป็นภาระ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยรู้สึก ว้าเหว่ ขาดความรัก
•ร่างกายของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไปมาก ความสามารถในการสั่งการและควบคุมร่างกายย่อหย่อนลง มีความเจ็บปวดทางกาย ความติดขัดทางกาย ซึ่งมักจะส่งผลทางจิตใจของผู้สูงอายุด้วย เช่นความหวั่นวิตก กลัว ความอับอาย น้อยใจ หรือแม้แต่ความขึ้งเคียด โกรธเคืองอย่างไม่มีเหตุผล
•คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าผู้สูงอายุเข้าถึงยาก รู้สึกว่าสื่อสารกับผู้สูงอายุไม่ได้ ไม่รู้จะเปิดบทสนทนากับผู้สูงอายุอย่างไร ขอใช้ลองใช้แบบฝึกหัดนี้เป็นการเปิดบทสนทนา


บทความนี้ขอนำเสนอ 7 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่เปี่ยมสุข ถ้าท่านผู้เป็นผู้สูงอายุ ขอให้ลองทำแบบฝึกหัด 7 ข้อนี้ ดู หรือท่านผู้อ่านไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่เป็นคนดูแลผู้สูงอายุ หรือมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ขอให้ลองชวนผู้สูงอายุคุยไปตามหัวข้อเหล่านี้ และถ้ามีโอกาสก็ชวนให้ลงมือทำ แบบฝึกหัดนี้มี 7 ข้อ 10 คะแนน ลองใช้แบบฝึกหัดนี้เป็นการเก็บแต้มรายวัน ลองดูว่า เมื่อได้ลองทำไปสักพัก แบบฝึกหัดนี้จะให้ผลอย่างไร


1 . ลงมือทำอะไรสัก 1 อย่างเพื่อผู้อื่น (2 คะแนน)
วันนี้ ขอให้คุณได้ลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อผู้อื่น ทำอะไรก็ได้ที่คุณสนใจ ไม่ยากจนเกินไป คุณทำไหวและอยากทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต ประเด็นสำคัญคือ ขณะที่ลงมือทำนั้น คุณรู้ว่า “การกระทำนี้เพื่อผู้อื่น เราอยากให้เขามีความสุข” ณ ขณะนั้นคุณกำลังเชื่อมโยงตัวคุณเข้ากับคนคนนั้น ขอให้ทำอย่างเต็มร้อย และอยู่กับขณะนั้นอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อทำเสร็จแล้วขอให้ชื่นชมตัวเองว่า นี่คือการทำเพื่อผู้อื่นด้วยตัวของคุณอย่างแท้จริง ตัวอย่างกิจกรรมก็เช่น ทำอาหารโปรดให้หลาน จัดโต๊ะอาหาร จัดของเพื่อบริจาค เขียนจดหมายถึงเพื่อน กินยาตรงเวลา ทำงานฝีมือเพื่อใครสักคน (เพื่อแพทย์ของคุณ หรือเพื่อคนที่รักคุณ) หรือง่ายๆ ก็คือส่งยิ้มให้เพื่อนบ้านของคุณอย่างแจ่มใส ฯลฯ


2. ทำอะไรสัก 1 อย่างเพื่อตัวคุณเอง
วันนี้ คุณอยากทำอะไรเพื่อตัวของคุณ เพื่อให้รางวัลตัวเอง ขอให้ได้ทำอะไรก็ได้เพื่อจะเป็นความสุขเล็กๆ ที่คุณจะมอบให้ตัวเอง เมื่อเลือกได้แล้วขอให้ทำ และดื่มด่ำกับสิ่งนั้น มีความสุขกับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ เช่น นั่งจิบชาหอมๆ ตักบาตร ออกกำลังกาย จูงหมาไปเดินเล่น เล่นหมากรุกกับเพื่อน หัดเย็บผ้า หัดนั่งสมาธิ จัดแจกัน แต่งตัวสวยๆ ฯลฯ


3. ขอบคุณหรือชื่นชมคนใกล้ตัว และพูดให้เขาได้ยิน (2 คะแนน)
ลองนึกถึงคนใกล้ตัวแล้วกล่าวชื่นชมเขา หรือขอบคุณเขา ขอให้กล่าวชื่นชมอย่างจริงใจ ชื่นชมเขาอย่างที่เป็น หรือชื่นชมในสิ่งที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่สุดที่คุณรู้สึกซาบซึ้งใจ
กิจกรรมข้อนี้อาจจะไม่ง่ายสำหรับบางคน (จึงมี 2 คะแนน) คุณอาจจะซ้อมด้วยการสบตาเขาบ่อยๆ ก็ได้ หรือจะลองหัดพูดคนเดียวก่อน หรือเขียนก่อนก็ได้ เช่น “ไข่ดาวสุกกำลังดีเลย เก่งมาก” หรือ “อาม่ารู้ว่าลื้อเหนื่อย ขอบใจนะ”

.


.

4.ขอบคุณอวัยวะในร่างกายของเรา 1 อย่าง
ร่างกายของเราในขณะนี้ไม่เหมือนกับร่างกายของเราในวัยหนุ่มสาว แต่อย่างไรก็ตามร่างกายก็ยังคงทำงานให้เราอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ขอให้คุณลองสำรวจร่างกายของคุณในขณะนี้ แล้วเลือกอวัยวะสักหนึ่งอย่างที่คุณจะกล่าวคำขอบคุณอย่างจริงใจ ขอให้คุณส่งใจไปถึงอวัยวะนั้น รับรู้การมีอยู่ของอวัยวะนั้น แล้วกล่าวคำขอบคุณแบบที่ออกมาจากใจของคุณจริงๆ

.


5. ลงมือทำอะไรสัก 1 อย่างเพื่อมอบความสุขให้ร่างกาย
ร่างกายกับคุณอยู่ด้วยกันมาหลายปีแล้ว เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมายาวนาน วันนี้คุณจะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบแทนเพื่อนคนนี้ ลองฟัง ลองสื่อสารกับร่างกายของเราสิว่า ร่างกาย (หรืออวัยวะของคุณ) ส่วนไหนที่อยากได้อะไรจากคุณ เช่น ขาอาจจะบอกว่า เราออกไปเดินเล่นกันเถอะ ปอดอาจจะอยากชวนไปหายใจใต้ร่มไม้ ดวงตาอาจจะบอกว่า มาพักสายตาจากหน้าจอมือถือสักครึ่งชั่วโมงดีไหม ฯลฯ ลองฟัง แล้วลงมือทำ เพื่อร่างกาย

.

6. สำรวจสิ่งที่ตัวเอง ‘มี’ ตอนนี้เลย (2 คะแนน)
หากท่านเป็นผู้สูงอายุ ท่านอาจจะรู้สึก ‘ไม่มี’ หลายอย่าง เช่น ขาดรายได้ ขาดเพื่อน เงินน้อย ฯลฯ แต่ลองหันมาสำรวจสิ่งที่คุณ ‘มี’ ในตอนนี้สักหน่อยสิคะ ตอนนี้คุณมีอะไรบ้าง มีอยู่จริงๆ ในตอนนี้เลย ลองเขียนหรือนับนิ้วมือก็ได้ ลองนับให้ครบ 10 อย่างนะคะ


7. ยิ้มให้ตัวเองอย่างจริงใจ 1 ครั้ง
ทำแบบฝึกหัดมาแล้ว 6 ข้อ น่าจะค้นพบอะไรมากมายหลายอย่างเลยนะคะ แบบฝึกหัดข้อนี้เป็นข้อสุดท้ายแล้วค่ะ ขอให้หลับตา มองเห็นใบหน้าของตัวเองด้วยตาใน แล้วยิ้มให้คนที่เป็นเจ้าของใบหน้านี้ ยิ้มอย่างจริงใจ ยิ้มขอบคุณและให้กำลังใจเขา ยิ้ม


ท้ายแบบฝึกหัด
ลองเลือกสัก 1 ข้อ ที่คุณจะลองฝึกทำอีกในวันพรุ่งนี้ หรือถ้าคุณฟิตมาก จะทำซ้ำทั้ง 7 ข้อเลยก็ได้ค่ะ ทำแล้วเป็นอย่างไร เขียนมาเล่าให้ฟังบ้างก็ได้ ทีมของเราอยากฟัง


ทำครบ 7 ข้อแล้ว ได้กี่คะแนนคะ ? แบบฝึกหัดนี้ไม่ใช่ข้อสอบวัดผล ไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเต็มสิบ เราไม่ต้องทำให้ได้เกรดสี่ก็มีความสุขได้ ขอแค่ลองทำ — แม้จะทำสัก 1 ข้อ ได้หนึ่งคะแนน หรือสองคะแนน แล้วเรารู้สึกดีมากๆ นั่นก็เท่ากับได้สิบคะแนนแล้ว


หรือ ถ้าผู้ดูแลได้ใช้แบบฝึกหัดนี้คุยกับผู้สูงอายุ ได้ฟัง รับรู้ของความต้องการขอท่าน ได้ใช้เวลาด้วยกัน นั่นก็เต็มสิบแล้ว


หมายเหตุ:
• บทความนี้สามารถปรับใช้กับบุคคลทุกวัย
• คะแนนในแบบฝึกหัดเป็นเพียงตัวช่วยในการสังเกต ไม่จำเป็นต้องยึดติด


……………………………………………………………

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save