ภูเขาน้ำแข็งของดาวเดียวดาย
ผู้ป่วยซึมเศร้าก็ต้องการอะไรแบบนี้แหละ ต้องการใครสักคนที่จะอยู่กับเราอย่างที่เราเป็น ต้องการความจริงใจ บางเรื่อง-บางอย่างแม้ว่าจะช่วยไม่ได้ ไม่เข้าใจ แค่ให้ตั้งใจฟังและอยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็พอแล้ว
•ความเศร้า รู้สึกเศร้า กับ โรคซึมเศร้า ไม่เหมือนกัน เมื่อคนเราเผชิญความสูญเสียก็จะรู้สึกเศร้านั่นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็จะค่อยๆ ปรับตัวได้ แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะออกจากความเศร้านั้นไม่ได้ แต่จะยิ่งดิ่งลงไป
• ปัจจุบันมีแบบประเมินออนไลน์เพื่อคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า ทุกคนสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ (ลิงค์อยู่ท้ายบทความ) เกณฑ์หลักในการวินิจฉัยคือ มีอาการเศร้าต่อเนื่องเกือบตลอดเวลา เกือบทุกวัน และนานกว่า 2 สัปดาห์ และอาจมีภาวะอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ภาวะนอนไม่หลับ มีความคิดฆ่าตัวตาย (ประเด็นนี้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของโรคซึมเศร้า)
• หากตัวท่าน หรือคนใกล้ชิด มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าขอให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ และพวกเราช่วยกันดูแลผู้ป่วยได้ด้วยการยอมรับ ให้ความเข้าใจ และไม่ตีตรา
.
เรื่องราวนี้เป็นบทสัมภาษณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ซึ่งปัจจุบันหายดีจากโรคนี้แล้ว — หมายถึงสามารถฟื้นฟูตัวเองและดูแลตัวเองได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งยา ‘ดาวเดียวดาย’ ผู้เขียนหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง จะช่วยให้พวกเราเข้าใจและเห็นความต้องการของผู้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้น บทสัมภาษณ์นี้อยากจะบอกกับพวกเราทุกคนว่า แม้ว่าพวกเราจะไม่ใช่แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้เป็นนักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด แต่ถ้ารู้จักฟัง รับรู้ และอยู่ตรงนั้นจริงๆ เราจะช่วยเพื่อนได้ อย่างไรก็ดี ดาวเดียวดาย (หญิง) ย้ำว่าหากพบว่าตัวเรา หรือเพื่อนของเราเป็นโรคซึมเศร้า ขอให้ไปพบแพทย์ อย่าคิดเอง อย่าแก้ปัญหาเอง
.
.
หญิงเล่าว่า ตัวเธอมีอาการดิ่งเศร้าเป็นระยะๆ มานานแล้ว แต่เรื่องพีคที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเธออายุ 34 ปี (อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือเรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง) การป่วยนี้เรื้อรัง 7 ปี ซึ่งเป็นภาวะทุกข์ทรมาน ส่งผลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิต — เธอรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4 คน
.
แพทย์สองคนแรกเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐ ในเวลาราชการ มีภาระงานมาก ตรวจคนไข้เยอะมาก แพทย์แต่ละคนมีเวลาให้คนไข้ 5-10 นาทีเท่านั้น (เป็นสถานการณ์จริงเมื่อ 15-16 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว) ในการพบแพทย์ครั้งแรกหญิงได้รับการวินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าระยะรุนแรง แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา แพทย์จึงจ่ายยาหลายขนานแบบ ‘จัดเต็ม’ แล้วส่งไปทำจิตบำบัด — อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของยาและความไม่เข้าใจโรคของตัวผู้ป่วยทำให้หญิงกินยาไม่ต่อเนื่อง หยุดยาเอง ผลที่ตามมาก็คือ “ทุกอย่างอลเวงไปหมด” — หญิงตัดสินใจเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาแต่ไม่ดีขึ้นเนื่องจากยังอยู่ในวังวนเดิม คนไข้เยอะ-แพทย์น้อย ไม่มีเวลา รักษาด้วยยา เธอจึงเปลี่ยนแพทย์เป็นครั้งที่สาม คราวนี้เธอเลือกพบแพทย์นอกเวลาราชการเพื่อจะได้มีเวลาพูดคุยมากขึ้น
.
แพทย์คนที่สามมีเวลาให้ครั้งละ 20-30 นาที เป็นผู้หญิงวัยใกล้เคียงกัน เปิดใจหากันได้ง่าย รักษาอยู่ปีเศษๆ ก็อาการดีขึ้น ค่อยๆ ลดยาลง จนกระทั่งหยุดยาได้ แต่ในระยะนั้นแพทย์คนนี้เตรียมไปเรียนต่อ หญิงจึงหยุดการรักษาไปโดยปริยาย ประกอบกับคิดว่าตัวเองน่าจะหายดีแล้ว ถัดจากนั้นไม่นานอาการดิ่ง เศร้า ก็วนเวียนกลับมาอีก แต่คราวนี้บางครั้งเศร้า บางครั้งก็ ‘ดีด’ คือร่าเริงมาก มีพลังมาก ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคไบโพลาร์ แต่เธอไม่รู้ ประกอบกับอยู่ในภาวะตกงาน มีหนี้ ต้องรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด เธอจึงไม่ยอมพบแพทย์ จนกระทั่งอาการรุนแรงมากขึ้น มีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย จึงตัดสินใจไปพบแพทย์อีกครั้งเป็นแพทยคนที่สี่ และเป็นแพทย์คนสุดท้าย
.
แพทย์คนสุดท้าย
“เพียงแค่ได้คุยครั้งแรกก็รู้แล้วว่า เจอแล้ว หมอคนนี้รักษาเราได้” — หมอคนนี้ให้เวลาเพื่อพูดคุยนานมาก ฟัง และ เปิดโอกาสให้ถาม ไม่เน้นการจ่ายยา หญิงเล่าว่าแพทย์คนนี้ต่างจากแพทย์อื่นๆ ที่เธอเคยพบคือ หมอให้เวลาเพื่อพูดคุยมากและให้ความสนใจต่อการกินยาและผลข้างเคียงของยาเป็นพิเศษ มักจะถามว่ากินยาแล้วเป็นอย่างไรและยินดีปรับยาให้เธอ ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นคำถามปลายเปิดเช่น ‘อยากเล่าอะไรให้หมอฟัง’ “เมื่อมองย้อนกลับไป การชวนคุยของหมอเป็นกระบวนการทำจิตบำบัดนั่นแหละ แต่หญิงไม่รู้” บุคลิกที่ชัดเจนของหมอที่หญิงสรุปมี 2 ประการคือ
•เขาเป็นคนที่รังสีของความเมตตา เราสัมผัสสิ่งนั้นได้จริงๆ เรารู้ว่าเขาอยากจะเข้าใจ เขาอยากจะช่วยเรา
•เขาตั้งใจฟัง เขาฟังเราอยู่จริงๆ เขาใส่ใจ ไม่ได้ทำไปงั้นๆ
หญิงเล่าความประทับใจต่อแพทย์ท่านนี้ว่า “หญิงรู้ว่าหมอมีงานเยอะ มีคนไข้ มีลูกศิษย์ มีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แต่ทุกครั้งได้พบ หมอจำเรื่องราวของเราได้ สิ่งที่รับรู้ได้ทุกครั้งก็คือหมอตั้งใจที่จะรักษาเรา — ผู้ป่วยซึมเศร้าก็ต้องการอะไรแบบนี้แหละ ต้องการใครสักคนที่จะอยู่กับเราอย่างที่เราเป็น ต้องการความจริงใจ บางอย่างแม้ว่าจะช่วยไม่ได้ ไม่เข้าใจ แค่ตั้งใจฟังและอยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็พอแล้ว”
.
เมื่อคนไข้วางใจในตัวหมอและรับรู้ได้ว่าหมอก็วางใจในตัวเธอ สิ่งที่ตามมาก็คือ “เชื่อหมอ ทั้งที่โดยพื้นนิสัยแล้วเป็นคนดื้อ แต่กับหมอคนนี้ หญิงเชื่อฟัง ยินดีที่จะไปพบหมอตามที่นัด นั่งรถเมล์ร้อนๆ ไกลๆ ก็ไม่เป็นไร เวลาที่หมอบอกให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไร ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม มีช่วงหนึ่งที่หญิง ‘ติดเกม’ ไม่ยอมนอน (การอดนอนทำให้โรคซึมเศร้าแย่ลง) พอเล่าให้หมอฟัง หมอบอกว่า “เรื่องเกมนี่หมอขอได้ไหม เลิกเถอะ” หมอพูดแค่นี้ ไม่ห้าม ไม่สั่ง แต่เมื่อกลับมาบ้านหญิงก็ลบเกมทิ้งหมดเลย”
.
ติดหมอ
ช่วงแรก หมอนัดทุก 2 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้น ลดยาได้ หมอก็บอกว่า “คุณดีขึ้นแล้ว นัดห่างออกไปก็น่าจะได้แล้วนะ” ซึ่งหญิงก็รับปาก แต่พอนั่งรถเมล์กลับบ้านก็รู้สึกเศร้ามาก ร้องไห้ เมื่อถึงนัดครั้งใหม่จึงเล่าอาการให้หมอฟัง และบอกว่า “มันนานเกินไป รู้สึกเศร้า” ซึ่งหมอก็รับฟังและกลับมานัดทุกสองสัปดาห์ แต่หมอให้ข้อสังเกตไว้ว่า “ถ้าวันหนึ่งคุณไม่อยากมาหาหมอ คุณไม่กระตือรือล้นที่จะพบหมอ นั่นจะเป็นสัญญาณที่ดีนะ แสดงว่าดูแลชีวิตตัวเองได้แล้ว”
แล้วเป็นอย่างที่หมอพยากรณ์เอาไว้ไหมคะ
ใช่ค่ะ ความรู้สึกตอนที่ป่วยซึมเศร้าก็คือ เรามีหมอเป็นเพื่อนอยู่คนเดียว ยังอยากได้เจอทุกๆ สองสัปดาห์ ต้องการเท่านี้ เมื่ออาการดีขึ้น มีเพื่อนใหม่ ได้ทำกิจกรรม รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า ก็ห่างจากหมอ ไม่ติดหมอ ยังรักและเคารพหมอเหมือนเดิม แต่ไม่ติดหมอแล้ว
จากบันทึกส่วนตัว สู่หนังสือขายดี
หญิงเป็นคนชอบเขียนบันทึก ทุกครั้งที่ได้คุยกับหมอก็กลับมาเขียนบันทึก หรือบางครั้งเมื่ออยู่คนเดียว มีเรื่องในใจก็บันทึกเพื่อจะได้คุยกับหมอ การเขียนเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกว่า “คุณจับประเด็นเก่ง เก็บประเด็นได้ดี บันทึกนี้น่าจะตีพิมพ์นะ” — ในช่วงนั้นหญิงไม่มีงาน ไม่มีรายได้ จึงเรียบเรียงบันทึกนี้แล้วส่งให้บรรณาธิการท่านหนึ่งพิจารณาซึ่งก็ได้คำตอบว่า “มันไม่ตลาด คงจะขายไม่ได้หรอก”
หญิงกลับมารายงานผลกับหมอ แต่หมอยังคงยืนยันว่า “ผมยังเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ มันจะขายได้ หญิงจะประสบความสำเร็จได้” ทำให้หญิงพยายามอีกครั้งและในที่สุดหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมนายอินทร์อวอร์ด ปี 2557 (ปัจจุบันตีพิมพ์ 16 ครั้ง) “เป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตหญิง” — เธอสรุป
สู่โลกแห่งความเป็นจริง
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าหาย (หมายความว่าเธออยู่ร่วมกับโรคได้โดยไม่ต้องใช้ยา รู้จักโรค อาการ และดูแลตัวเองได้) ซึ่งหมายความว่า หญิงไม่ต้องมาพบหมอ ด้านหนึ่งก็คล้ายกับว่าเธอขาดที่พึ่ง เธอมีความกลัวว่าโรคนี้อาจจะกลับมา เธออยากได้ความมั่นใจจากหมอ หวังว่าหมอจะอวยพรถึงแต่สิ่งดีๆ แต่หมอกลับบอกว่า
“การมีชีวิตนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่เรื่องดีๆ การอยู่ในโลกของความเป็นจริงหมายถึง จะต้องเจอทั้งเรื่องดีและไม่ดี มันเป็นปกติของชีวิต มันต้องเกิดขึ้น ขอให้ยอมรับ ยอมรับว่านี่คือธรรมชาติ โลกไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ ที่จะเกิดกับเรา แต่หมอเชื่อมั่นว่า ต่อให้เกิดอะไรขึ้น คุณก็จะไม่กลับไปแย่ขนาดนั้นอีกแล้ว หมอการันตีไม่ได้ว่าคุณจะเจอแต่เรื่องดีๆ แต่หมอมั่นใจว่า แม้คุณจะเจอเรื่องที่ไม่ดี ก็จะไม่ดิ่ง ไม่แย่ลงไปแบบเดิมอีกแล้ว”
ฟังแล้วใจแป้วไหมคะ
ตอนแรกก็คาดหวังนึกว่าจะได้ยินสิ่งที่เราอยากฟัง แต่เมื่อหมอพูดอย่างนี้ ยิ่งทำให้หญิงรู้สึกดีมากจริงๆ คือรู้สึกว่า หมอไม่โกหก ยิ่งตอกย้ำว่า คนคนนี้ไม่โกหกเรา เขาไม่เคยโกหก เขาพูดความจริงเสมอ เราเชื่อได้
มีเรื่องขำขันที่หมอเล่าให้หญิงฟังว่า เมื่อหนังสือเล่มนี้ได้รางวัลและเป็นข่าว ก็มีคนไข้ของคุณหมอคนนี้ไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาและคุยกับหมอว่า “หมอคนที่รักษานักเขียนคนนี้ เป็นหมอในโรงพยาบาลนี้แหละ ฉันว่าจะเปลี่ยนไปรักษากับหมอคนนี้นะ” หมอจึงบอกว่า “ผมนี่แหละคือแพทย์ที่รักษานักเขียนคนนี้” หญิงถามว่า “ทำไมหญิงกับคนไข้คนนั้นถึงดีขึ้นไม่เท่ากันทั้งๆ ที่เขารู้จักหมอก่อนหญิง” หมอตอบว่า “การรักษาโรคจิตเวชเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นการทำงานร่วมกันของหมอกับคนไข้ รวมไปถึงครอบครัวและคนแวดล้อม สิ่งสำคัญคือตัวของคนไข้เอง คุณดีขึ้นเพราะมีความยืดหยุ่นทางความคิด การจะพึ่งเฉพาะหมอ ยา หรือใครคนใดคนหนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก”
.
หลักคิดและวิธีปฏิบัติ 4 ประการ
ปัจจุบันหญิงเป็นวิทยากรและอาสามัครที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชให้มูลนิธิสายใยครอบครัว หญิงฝากข้อคิดถึงผู้ที่สงสัยว่าตัวเองอาจจะกำลังป่วย หรือมีคนใกล้ชิดที่อาจจะกำลังป่วยว่า:
•ถ้ารู้ตัวหรือสงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าขอให้ไปหาหมอ ขอให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
•ขอให้สังเกตว่าอะไรที่พาให้เราซึมเศร้าได้ง่ายๆ (เพลงบางประเภท พระอาทิตย์ตก หนังสือบางประเภท ฯลฯ) อย่าพยายามพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น อย่าพยายามเจอหรืออยู่กับสิ่งนั้น
•ถ้ารู้ว่ากำลังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่โอเค ขอให้พาตัวเองออกมา — นี่ไม่ใช่การหนี แต่คือการพัก ชาร์ตพลัง เมื่อพลังดีขึ้นค่อยกลับไปแก้ปัญหา อย่าเพิ่งคิดว่าการถอยคือการยอมแพ้
•ยอมแพ้บ้างก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องชนะทุกเวที ทุกสนามหรอกนะ
ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน ทั้งการดูแลเพื่อน ดูแลผู้ใกล้ชิด รวมถึงการดูแลตัวเอง การรับฟัง มิตรภาพ การทำกิจกรรมสาธารณะที่ดีต่อใจ เป็นทั้งการเยียวยาและป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ การบ่มเพาะความสุขเล็กๆ น้อยประจำวัน การออกกำลังกาย อยู่ในธรรมชาติ ฝึกเป็นคนยิ้มง่าย จะช่วยให้เรามีความสุขง่ายและสุขภาพดี
……………………………………………….
แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล: https://www.rama.mahidol.ac.th/th/depression_risk
แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ร.พ.มนารมย์: https://www.manarom.com/test/depression_thai.html
หมายเหตุ:
ผู้เขียนบทความนี้ และผู้ให้สัมภาษณ์ ขอสงวนนามแพทย์ผู้ทำการรักษาและโรงพยาบาลต้นสังกัด และงดตอบคำถามในประเด็นนี้ เพื่อเคารพจรรยาบรรณและความเป็นส่วนตัวของแพทย์