3 เสียง เพื่อการรักตัวเอง
8 ช่องทางความสุข

3 เสียง เพื่อการรักตัวเอง

คนที่รักตัวเองจะไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว รู้ว่าตนเองไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก รู้จักเชื่อมโยงกับคนอื่น สัมพันธ์กับโลก แต่ไม่หลุดลอยหรือถูกพัดพาออกไป คนที่รักตัวเองจะรู้สึกแจ่มใส พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง กลัวน้อยลง มีความสามารถที่จะเข้าถึงความรักที่แท้

.

ทุกวันนี้เราพูดกันมากเรื่องการรักตัวเอง (Self-love) การรักตัวเองไม่ใช่การเห็นแก่ตัว ไม่ใช่การหลงตัวเอง ไม่ใช่การหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง และไม่ใช่การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

.

  • การรักตัวเอง คือความสามารถที่จะเข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น ปลอบโยนตัวเองได้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และปลอดภัย
  • เราสามารถฝึกการรักตัวเองได้ โดยฝึกที่จะกลับมาที่ตัวของเราบ่อยๆ ให้ความสนใจกับร่างกายของเราในขณะนี้ สนใจความรู้สึกของตัวเราในขณะนี้ บอกกับตัวเองว่า “ฉันรู้ว่าเธอกำลังรู้สึกอย่างนี้ ฉันได้ยิน และมันโอเคที่เธอจะรู้สึก” — นี่คือพื้นฐานของการมอบความรักให้แก่ตัวเอง
  • เมื่อเรารักตัวเองมากเพียงพอ เราจะไม่รู้สึกพร่อง จะรู้สึกแจ่มใส พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เราจะกลัวน้อยลงเพราะเรามีความสามารถที่จะเข้าถึงแหล่งพลังงานและความรักที่แท้ได้ ความรักที่แท้นั้น ไม่ได้อยู่ภายนอกแต่อยู่ที่ภายในตัวของเรานี้เอง

3 เสียง เพื่อการรักตัวเอง

.

นี่คือ 3 เสียงที่เราควรฝึกการฟัง เพื่อการกลับมารักตัวเอง

1. ฟังร่างกาย
ร่างกายพยายามสื่อสารและส่งเสียงบอกความเป็นไปกับเราตลอดเวลา แต่เราไม่ได้ยิน (หรือได้ยินแต่ไม่สนใจที่จะฟัง) เวลาที่นั่งนานๆ ร่างกายบอกว่า “ลุกหน่อยเถอะ ขยับได้แล้ว ฉันอยากขยับ บิดตัวหน่อยสิ ฉันเมื่อยแล้ว” “ฉันเมื่อยคอ เธออยู่กับมือถือมากไปแล้ว ฉันเมื่อย” “ฉันอยากเดินเล่น ฉันอยากวิ่ง ฉันอยากว่ายน้ำ เธอพาฉันไปหน่อย” — การเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ เพราะมันช่วยให้เคมีในร่างกายไหลเวียน สูบฉีด


เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร ร่างกายจะเตือนว่า “ฉันหิวแล้ว วันนี้ร้อนฉันอยากได้ผลไม้ ฉันย่อยเบเกอรี่ไม่ไหว” แต่เราได้ยินหรือเปล่านะ บางครั้ง ร่างกายอาจจะบอกว่า “โอ้..สัปดาห์นี้ฉันล้ามากเลย ฉันอยากนอน ฉันอยากพัก ฉันอยากไปอยู่ในธรรมชาติ” ถ้าได้ยินเสียงนี้และเรารักร่างกาย เราก็จะพาตัวเองให้ได้พัก แต่ถ้าไม่ได้ยิน เราอาจจะขังตัวเองอยู่ในห้อง หม่ำขนม ฝังตัวเองไว้กับซีรีส์ — ลองฟังสิ ร่างกายต้องการการพักแบบไหน — ถ้าเราเห็นว่าร่างกายคือเพื่อนสนิทที่แสนดี การดูแลเพื่อนคนนี้คือ ฟังร่างกาย ดูแล ทะนุถนอม ฟังเสียงร่างกายบอก และให้สิ่งที่ร่างกายต้องการ


อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.happinessisthailand.com/2022/10/07/spiritual-resilience-physical-health/

.

2. ฟังความรู้สึก
ความรู้สึกไม่ใช่ความคิด พวกเราจำนวนมากได้ยินเสียงของความคิด จนกระทั่งนึกไปว่าความคิดเป็นทั้งหมดของตัวเรา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ความคิดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเราเท่านั้น ความคิดอาจจะเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความสามารถของมนุษย์ แต่ความคิดไม่ใช่ทั้งหมดของตัวเรา และไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ และ


ความรู้สึกไม่ใช่ความคิด การฟังเสียงของความรู้สึก คือกลับมาที่ตัวเองในตอนนี้ แล้วถามตัวเองว่า “ตอนนี้ฉันกำลังรู้สึกอะไร” หรือ “ในสถานการณ์นี้ฉันรู้สึกอย่างไร” เราอาจจะได้ยินเสียงของร่างกาย (เหนื่อย ร้อน ง่วง เพลีย เมื่อย ปวดหัว อืด) และขอให้ฟังเสียงของความรู้สึกทางใจด้วย (ฉันเบื่อ ฉันหงุดหงิด ฉันโกรธ — เซ็ง เศร้า เฉยๆ ปลื้ม ตื่นเต้น ฯลฯ) ขอให้เราฟังอย่าเพิ่งปัดทิ้ง ขอให้ได้ยินความรู้สึกของตัวเรา และให้เวลาเพื่อดูแลเขา หายใจกับความรู้สึก ยิ้มให้ความรู้สึกนั้น


ทุกความรู้สึกต้องการสื่อสารกับตัวเรา เขาอยากให้เรารับรู้ — ความโกรธ อาจจะสื่อสารว่า “เรื่องนี้ไม่ถูกต้องนะ มันผิดปกติ ฉันอยากให้มันถูกแก้ไข” — ก่อนที่เราจะสื่อสารกับโลกภายนอก ขอให้เราได้ยินเสียงความรู้สึกที่อยู่ภายใน ถ้าหากเรามีความสามารถที่จะหยุด ฟัง ความรู้สึกของเรา ได้ยินความรู้สึกของเรามากพอ เราจะดูแลความรู้สึกของเราได้ดีขึ้น ให้ความรักแก่ตัวเองได้มากขึ้น เราจะให้ความอบอุ่นอุ่นและดูแลตัวเองได้ และกลับมาเป็นคนที่แจ่มใส ยิ้มง่าย และเบิกบาน

.

3. ฟังความปรารถนาในส่วนลึก
เสียงที่สามนี้เป็นเสียงที่อยู่ลึกลงไปในจิตวิญญาณ เป็นเสียงของความปรารถนาหรือความต้องการในส่วนลึกของเรา ภาษาจิตวิทยาเรียกเสียงนี้ว่า yearning หากเราได้ยินหรือค้นพบเสียงนี้ เราจะรู้สึกผ่อนคลาย ได้การเยียวยาไป


เสียงของความปรารถนา เป็นเสียงเรียกจากห้วงลึกที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน เช่น การเป็นที่รัก ได้การยอมรับ ความปลอดภัย ความมั่นคง ความกล้าหาญ การเยียวยา การเป็นคนสำคัญ ฯลฯ — หากเราได้ยินเสียงของความปรารถนาในส่วนลึกนี้ในตัวของเราแล้ว เราจะรู้สึกมีพลัง พบที่หมาย พ้นจากความรู้สึกเคว้งคว้างล่องลอย ซึ่งจะทำให้เราได้ตั้งหลักและ กลับมามอบให้สิ่งนั้นแก่ตัวของเราเอง เช่น หากได้ยินหรือได้ค้นพบว่า “ฉันต้องการเป็นที่รัก” เราจะเริ่มกลับมาให้ความรักแก่ตนเอง รู้จักที่จะเติมความรักให้ตนเอง โดยไม่ต้องวิ่งออกไปหาความรักจากคนอื่น หรือจากภายนอก หรือ “ฉันต้องการเป็นที่ยอมรับ ฉันอยากให้ใครๆ ยอมรับตัวฉันอย่างที่เป็น” เราจะเริ่มสำรวจว่า ตัวเรามีอะไรบ้างที่น่ารัก หรือ ในตัวของเรามีอะไรบ้างที่เรายังยอมรับตัวเองไม่ได้เต็มที่ เราจะเริ่มปรับปรุงตนเองเพื่อให้เรายอมรับตัวเองได้ การแส่ส่าย ไขว่คว้าที่ข้างนอกจะลดน้อย เราจะรู้สึกเต็มที่ภายใน กลายเป็นความมั่นคง ภาคภูมิ สงบ ซึ่งจะส่องประกายออกมาที่ภายนอก


หลายคนอาจจะดูพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แต่รู้สึกว่างเปล่าอยู่ภายใน ต้องการอะไรสักอย่างมาเติมให้รู้สึกเต็ม แต่ไม่รู้ว่า ‘อะไร’ ที่ว่านั้น คืออะไร ขอให้เราจัดเวลาสำหรับตัวเอง แล้วฟังเสียงเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ บางครั้งเสียงนี้จะดังขึ้น หรือชัดเจนขึ้นหากได้มีเวลาอยู่กับธรรมชาติ เชื่อมโยงกับธรรมชาติ หรือมีเวลาให้ตัวเองได้นิ่งสงบ หรือมีเวลาได้เชื่อมโยงกับผู้คน การทำกิจกรรมจิตอาสาก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เสียงนี้ดังชัดเจนยิ่งขึ้น


คนที่รักตัวเองจะไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เขารู้ว่าตนเองไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก คนที่รักตัวเองจะรู้จักเชื่อมโยงกับคนอื่น สัมพันธ์กับโลก แต่ไม่หลุดลอยหรือถูกพัดพาออกไป คนที่รักตัวเองจะกลับมาทำความรู้จักตัวเองและให้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ ดูแลตนเองเป็น เสริมความต้องการของตนเองได้ เยียวยาตนเองและเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ จึงเป็นคนที่มั่นคง สงบและแจ่มใส


…………………………………………………………………

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save