เพราะความตายไม่มีแผน
8 ช่องทางความสุข

เพราะความตายไม่มีแผน

.

การดูแลความสัมพันธ์ในขณะมีชีวิตอยู่ ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันส่งผลต่อวาระสุดท้าย มีเรื่องเล่ามากมาย และทุกเรื่องราวบอกกับเราว่า อย่าละเลยความสัมพันธ์ จงให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ อย่าทำชีวิตให้ซับซ้อน

.

  • ถ้าเรา‘คิด’ ว่า ความตายเป็นเรื่องเพียงสัจธรรมหนึ่ง แต่ไม่ได้ตระหนักถึงความตายว่ามันเป็นความจริงใกล้ตัว เราก็จะไม่เห็นความสำคัญของความตาย ประมาทในความสัมพันธ์ และพลาดความสุขของชีวิต
  • ความตายกับการมีชีวิต เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน ถ้าใช้ชีวิตอย่างความหมายก็จะเผชิญความตายได้อย่างเป็นสุข ชาวจิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายเรียนรู้ความตายเพื่อปรับปรุงการใช้ชีวิตของพวกเขา
  • เราอาจจะคิดว่า เราออกแบบและวางแผนเพื่อการตายได้ แต่บ่อยครั้งที่ความตายก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน แต่ถึงแม้ว่าเราออกแบบความตายไม่ได้ แต่เราออกแบบการใช้ชีวิตของเราเองได้
  • ความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตประจำวัน คือต้นทุนสำคัญของการตายและการมีชีวิตที่ดี

พี่ชัย อรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาข้างเตียง (I SEE U) บอกว่าคนจำนวนมากเข้าใจความตายในเชิง concept กว้างๆ ประมาณว่า เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสัจธรรม ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกลับมาที่ตัวเองเท่าไหร่นัก — แล้วเราจะข้ามพ้นจากแนวคิด มายังเนื้อหาสาระ หรือแก่นแท้ ของความตายได้อย่างไร มาฟังพี่ชัย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม I SEE U ผู้มีประสบการณ์เยี่ยมผู้ป่วยระยะท้าย มีเรื่องเล่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมากมาย นำมาเล่าสู่กันฟัง


ความตายเป็นความจริง
บางคนอาจจะรู้สึกว่า ความตายเป็นสัจธรรม “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” แล้วยังไงต่อ ? บางคนคิดว่าตายแล้วก็จบ ก็จบๆ กันไป — แต่สิ่งที่คนไม่ค่อยคิดก็คือ ณ จังหวะที่จะต้องตัดสินใจ เขาจะเอายังไง ? ถ้าเป็นชีวิตของเรา เราจะยังไง? ถ้าเป็นชีวิตของคนที่เรารัก เราจะยังไง ?


ดังนั้นคำว่า “ทุกคนต้องตาย” จึงไม่ใช่แค่เรื่องผิวๆ ไม่ใช่การพูดไปงั้นๆ เพราะในชีวิตจริง สถานการณ์จริง ณ ตอนนั้น เราจะต้องอยู่กับมัน และผ่านมันไปให้ได้ ถ้าตลอดเวลาที่ผ่านมาเตรียมตัวเตรียมใจไว้บ้าง มีความสัมพันธ์ที่ดี มีการสื่อสาร ก็จะผ่านไปได้โดยไม่ตื่นตระหนก แต่ถ้าไม่เคยคิดเอาไว้เลย เราจะเผชิญกับความรู้สึกมืดแปดด้าน หาทางออกไม่เจอ — สิ่งที่อยากจะย้ำก็คือ การใช้ชีวิตและความสัมพันธ์เป็นกระบวนการต่อเนื่อง และ ความตายอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราวางแผนเอาไว้


รักนะ แต่ไม่แสดงออก
หลายครอบครัวไม่เคยแสดงความรักต่อกันเลย คิดเอาเองว่าอีกฝ่ายน่าจะรู้ “รักนะ แต่ไม่แสดงออก” ถ้าตอนที่เขามีชีวิตอยู่ เราไม่เคยแสดงความรักให้เขาเห็น แล้วพอถึงวันที่อีกฝ่ายได้จากไปแล้วจริงๆ ไม่กลับมาแล้ว ย้อนเวลาไม่ได้ ต่อให้เสียใจสักแค่ไหนก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว บางครอบครัวไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ต่อกัน แสดงความรักไม่เป็น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอีกฝ่ายชอบอะไร ไม่ชอบอะไร พอถึงระยะสุดท้ายอยากจะให้ความรัก อยากจะแสดงความรัก ฟื้นความสัมพันธ์ มันก็เก้ๆ กังๆ — แล้วในเวลาแบบนี้ จากที่เห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาก็จะไม่ธรรมดาอีกต่อไป

.

เพราะความตายไม่มีแผน

.


หากคุณพ่อคุณแม่ของเราเป็นคนดี อยากยกย่อง เชิดชูท่าน อย่าพูดกว้างๆ เพียงแค่ว่าแม่เป็นคนดี แต่พูดให้เป็นรูปธรรม ที่ว่าแม่เป็นคนดี ดีอย่างไร ดีตอนไหน “ตอนผม 6 ขวบ เข้าโรงเรียนวันแรก แม่เป็นคนพาไปส่งที่โรงเรียน ผมร้องไห้แต่แม่ก็ไม่ดุเลย” “ตอนอายุ 14 ผมหนีเรียนไปเที่ยวกับเพื่อน โดนเรียกผู้ปกครอง แล้วคุณแม่สอนผมเรื่องความรับผิดชอบ คำสอนของแม่ครั้งนั้นเป็นประโยชน์กับตัวผมมาจนถึงตอนนี้” ฯลฯ เวลาบอกคุณงามความดี บอกให้เป็นรูปธรรม ถ้าเราเก็บไว้ในใจ คิดว่าเขารู้แล้ว เราไม่พูด ไม่แสดงออก อีกฝ่ายจะรู้ได้อย่างไรว่าเรารักเขา เราซาบซึ้งกับคุณงามความดีของเขา ดังนั้น คนใกล้ชิด กัลยาณมิตร ควรจะบอกสิ่งเหล่านั้นนี้ตั้งแต่เขายังรับรู้ได้

อ่าน 5 ภาษารัก เพิ่มเติมที่ https://www.happinessisthailand.com/2023/09/04/gifts-words-touch-acts/


ตายอย่างสมศักดิ์ศรี

ลูกๆ ในหลายครอบครัว ดูแลพ่อแม่ตามมาตรฐานสังคม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ก็ดูแลลูกตามมาตรฐานสังคมเช่นกัน พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนหนังสือ ให้เรียนสูงๆ ทำงานดีๆ แต่ไม่เคยรับรู้ความนึกคิด จิตใจของกันและกัน เมื่อถึงระยะสุดท้ายของพ่อแม่ ลูกก็ไม่รู้จะดูแลความต้องการของพ่อแม่อย่างไร เพราะไม่ค่อยรู้จักกัน — ก็ทำตามมาตรฐาน หมอให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น บางทีก็จัดเต็ม “เดี๋ยวคนอื่นจะว่าเราดูแลไม่ดี” อย่างที่มีคำศัพท์เรียกว่า ‘กตัญญูเฉียบพลัน’


ผู้ป่วยทุกราย ต้องการตายอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องจัดเต็มพิธีการ มีดอกไม้ธูปเทียน มีพระสวดข้างเตียง … ไม่ใช่ —แต่หมายความว่า ผู้ป่วยได้รับรู้ว่า ชีวิตของเขาที่ผ่านมามีคนเห็นคุณงามความดี มีคนรักเขาอย่างจริงใจ มีเพื่อน มีกัลยาณมิตรมากน้อยแค่ไหน เมื่อเขาได้ยินหรือได้รับรู้สิ่งเหล่านี้มันเหมือนกับเป็นการรับรอง ได้รับการยืนยัน ว่ามีคนเห็นคุณค่าแล้ว งานของเขาสำเร็จแล้ว สมบูรณ์แล้ว เขาตายได้


ความสำคัญของความสัมพันธ์ ขณะที่ยังมีชีวิต
การไปเยี่ยมผู้ป่วยทำให้เราเห็นความไม่แน่นอน เห็นว่าองค์ประกอบและเงื่อนไขของแต่ละชีวิตเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะบุคคล ซึ่งไม่เคยซ้ำกัน ดังนั้นการดูแลความสัมพันธ์ในขณะมีชีวิตอยู่ ในชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันส่งผลต่อวาระสุดท้าย มีเรื่องเล่ามากมายและทุกเรื่องราวบอกกับเราว่า อย่าละเลยความสัมพันธ์ จงให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ อย่าทำชีวิตให้ซับซ้อนและมันไม่มีสูตรสำเร็จ ถ้าไม่โอเคก็ให้ยอมรับไม่โอเค ไม่ต้องใช้ธรรมะเข้าข่ม


กรณีตัวอย่าง
สามี-ภรรยา คู่หนึ่งรักกันดี สามีเป็นคนใจดี ตามใจภรรยามาก เพราะภรรยาเป็นคนรอบคอบ คิดและวางแผนอย่างดี ทั้งคู่วางแผนกันว่าหลังสามีเกษียณก็จะไปเที่ยวด้วยกัน จะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างเต็มที่ แล้วจากนั้นก็คงจะย้ายไปต่างจังหวัดใช้ชีวิตสงบๆ ง่ายๆ แบบผู้สูงอายุ


ช่วงโควิด ภรรยาป่วยเลยแยกตัวไปรักษาในโรงพยาบาล อาการไม่หนัก ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ปรากฎว่าสามีซึ่งอยู่ที่บ้านเสียชีวิตตามลำพังในบ้านเนื่องจากโควิดและโรคประจำตัว— ภรรยาช็อกไปเลย เฝ้าแต่เสียใจ ว่าที่ผ่านมาตัวเองไม่ค่อยได้ดูแลสามี รู้สึกว่าตัวเองเอาแต่ใจ ไม่ค่อยสนใจเขา รู้สึกว่าสามีทำเพื่อตนเองมามากมายแต่ยังไม่เคยได้ตอบแทน ยังไม่เคยได้ดูแลเขาเลย มาคิดได้ตอนนี้ก็สายไปเพราะอีกฝ่ายเขาไม่อยู่แล้ว— นี่คือตัวอย่างที่บอกว่าความตายมันไม่มาตามแผน มันไม่เชื่อฟังเรา

ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวของคนหาเช้ากินค่ำ สามีป่วยต้องผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง ภรรยาทำงานแม่บ้านมีรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 350 บาท รายได้ของสามีคือเบี้ยผู้สูงอายุและเบี้ยคนพิการรวมแล้วไม่ถึงสองพันบาท/เดือน


เมื่อไปเยี่ยม สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ คนคู่นี้อยู่และดูแลกันด้วยความรัก เห็นได้จากสายตาของเขาที่มองกัน มันเต็มเปี่ยมไปด้วยรัก ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นสายตาแบบนี้ในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ทั้งที่จะว่าไปแล้วสามีก็เคยเป็น bad boy มาก่อน — ชีวิตของเขาลำบากแต่มีความน่ารัก อาสาสมัครถามภรรยาว่า เขาอยากบอกอะไรกับสามี ภรรยาบอกว่า ขอให้อย่าหึงเขาเลยนะ เพราะเวลาที่สามีเมา สามีมักจะแสดงความหึงหวง (แหม่…) ซึ่ง…จะว่าไปแล้ว ในตอนนี้ คนคู่นี้หมดสภาพด้วยกันทั้งคู่ (พี่ชัยหัวเราะ) แต่มันมีแง่มุมของความสุขที่อธิบายและตีราคาไม่ได้

สิ่งที่อยากบอกทิ้งท้ายและอยากย้ำอีกสักครั้งก็คือ อย่าละเลยความสัมพันธ์ ถ้ารักก็ขอให้แสดงออก ถ้าอยากขอโทษก็ขอให้รีบทำ เพราะความตายไม่สนใจแผนของเรา

………………………………………………………….

ขอบคุณทีมจิตอาสา I SEE U

https://www.facebook.com/iseeumindfulness


พี่ชัย-คุณอรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม, พี่เมี่ยง-วรรณี โล่ห์วนิชชัย, คุณปูเป้-ปวีณา แจ่มจันทร์ และคุณกุง-พัศชอรณ์ พรพิรานนท์

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save