How to เยี่ยมผู้ป่วย
8 ช่องทางความสุข

How to เยี่ยมผู้ป่วย

ผู้ป่วยไม่ได้อยากตายด้วยความรู้สึกว่าตนเป็นผู้พ่ายแพ้ น่าสงสาร เป็นคนโชคร้ายที่จะต้องจากโลกนี้ไป อ่อนแอจนต้องคอยรับกำลังใจจากเพื่อน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เขาไม่ต้องการ — เราต้องฟังและยอมรับความต้องการของเขา เพราะมิฉะนั้นแล้ว แทนที่เราจะเป็นนางฟ้าหรือเทพผู้อารี ก็อาจจะกลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้ป่วยไปเลย

.

  • ผู้ป่วยกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต เขากำลังต่อสู้กับโรคภัย ทุกข์จากความเจ็บป่วย และดิ้นรนกับความตาย การอยู่เคียงข้างเขา คอยรับฟังเขา โดยไม่พยายามตัดสินหรือเปลี่ยนเขาจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก
  • ศิลปะในการอยู่กับคนตรงหน้า หมายถึง การอยู่กับเขาอย่างเต็มใจ โดยไม่คาดหวังสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่อยู่ตรงหน้าเขา รับรู้และสัมผัสกับเขาอย่างแท้จริง โดยไม่ตัดสิน ไม่เอาความคิดหรือความคาดหวังของเราไปครอบงำ
  • ในบริบทของการเยี่ยมผู้ป่วย ศิลปะในการอยู่กับคนตรงหน้า หมายถึง การอยู่กับเขาอย่างเข้าใจ และยอมรับเขาในสิ่งที่เขาเป็น โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงเขาให้เป็นอย่างที่เราต้องการ

.

เมื่อรู้ว่าคนที่เราใกล้ชิด คนที่เรารักหรือผูกพันกำลังป่วยหนัก เราอาจจะทำตัวไม่ถูก แต่นี่คือโอกาสสำคัญที่เราจะได้แสดงความรักและน้ำใจไมตรีต่อกัน และมันอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย


โครงการความสุขประเทศไทยได้พูดคุยกับทีมจิตอาสาผู้ป่วยข้างเตียง (I See U) 4 ท่าน และรวบรวมเป็นขั้นตอนสำคัญ 3 ขั้นตอน ให้พวกเราลองปรับใช้ค่ะ


1.เตรียมตัวของเรา
เวลาที่เราจะไปเยี่ยมผู้ป่วยหนัก เราควรมีความพร้อมทางใจระดับหนึ่ง มีความมั่นคงภายใน และรับรู้ว่าเราไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ใช่ผู้ที่จะทำให้ความเจ็บปวดของเขาทุเลาเบาบาง หรือหายจากการเจ็บป่วย เราไปเยี่ยมเขาและอยู่กับเขาในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์


2.สังเกตและอยู่กับเขา
‘การอยู่กับเขา’ ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีข้อบ่งชี้ตายตัว ขอให้สังเกตและให้ความสำคัญต่อการฟังมากกว่าการพูด — ผู้ป่วยสนใจอะไร อยากทำอะไร อยากคุยเรื่องไหน หรือเขาไม่อยากคุย ฯลฯ — สิ่งสำคัญคืออยู่ตรงนั้นกับเขา ถ้าเขาอยากพูด อยากบ่น อยากระบาย ขอให้รับฟังอย่างแท้จริง ถ้าเขาอยากอยู่เงียบๆ ก็อยู่กับเขาเงียบๆ ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่คะยั้นคะยอให้คุย หรือพยายามชวนคุย อยู่กับเขาแบบที่เขาอยากให้อยู่ด้วย


3.เคารพความต้องการ
บางครั้งผู้ป่วยอาจจะบอกในสิ่งที่เราไม่อยากได้ยิน เช่น เขาอยากพัก เขาอยากอยู่ตามลำพัง เขาไม่อยากให้ถามเรื่องความเจ็บป่วย รวมถึง เขาไม่อยากให้มาเยี่ยม — สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้ตัวเรา (ผู้ต้องการมอบความปรารถนาดี) รู้สึกถูกปฏิเสธ ซึ่งอาจทำให้เราผิดหวัง เสียใจ เสียหน้า โกรธ ฯลฯ ขอให้กลับมาดูแลความรู้สึกของตนเอง ไม่ต่อล้อต่อเถียงกับผู้ป่วย สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ เคารพความต้องการของผู้ป่วย ฟังดูง่าย แต่หลายคนทำไม่ได้ เพราะเข้าใจไม่ได้ว่า “ในเมื่อฉันหวังดีขนาดนี้ ปรารถนาดีกับเธอขนาดนี้ ทำไมเธอจึงปฏิเสธ” การให้ที่ดีที่สุด คือ ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ

How to เยี่ยมผู้ป่วย


ศิลปะในการอยู่กับคนตรงหน้า
สิ่งหนึ่งที่จิตอาสา I SEE U พูดอยู่เสมอก็คือ เอาความคาดหวัง เอาสิ่งที่คิดว่าดี อยากให้เขาทำ เขาควรทำหรือต้องทำ วางเอาไว้นอกห้อง เข้าเยี่ยมผู้ป่วยด้วยความโล่งๆ ถึงที่สุดแล้วผู้ป่วยไม่ได้ต้องการให้เราบอกว่า “เธอต้องสู้” “เธอต้องหายใจ” หรือ “ต้องหายใจเข้าลึก หายใจออกยาว” บางทีผู้ป่วยไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้เลย ลองสังเกตเขาก่อน


ในการอบรมครั้งหนึ่ง พวกเราชวนเล่นบทบาทสมมุติ คนหนึ่งเป็นผู้ป่วย อีกคนเป็นผู้ดูแล และมีน้องที่รับบทบาทเป็นผู้ป่วยสะท้อนว่า “เวลาจิตอาสามาเยี่ยม คำก็ผู้ป่วย สองคำก็ผู้ป่วย ย้ำอยู่นั่นแหละว่าป่วย (ฮากันครืน) ไม่อยากคุยด้วยเลย”


การจะอยู่กับผู้ป่วยอย่างไรไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มี How to ชัดๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่บอกได้ก็คือ ผู้ป่วยไม่ได้อยากตายด้วยความรู้สึกว่าตนเป็นผู้พ่ายแพ้ น่าสงสาร เป็นคนโชคร้ายที่จะต้องจากโลกนี้ไป อ่อนแอจนต้องคอยรับกำลังใจจากเพื่อน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผู้ป่วยไม่ต้องการ


ญาติและเพื่อนของผู้ป่วยจำนวนมากไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยจึงปฏิเสธความปรารถนาดีของเรา — สาเหตุ ความถูกต้อง อาจจะไม่ใช่ประเด็นในตอนนี้ สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องการให้ผู้ป่วยรับความต้องการของเรา หรือ เรายินดีที่จะยอมรับความต้องการของผู้ป่วย — เราต้องฟังและยอมรับ เพราะมิฉะนั้นแล้ว แทนที่เราจะเป็นนางฟ้าหรือเทพผู้อารี ก็อาจจะกลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้ป่วยไปเลย การขอให้พระนำทาง การร้องห่มร้องไห้ อาจจะไม่ได้ช่วยหากผู้ป่วยไม่ต้องการ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นศิลปะ ไม่ใช่ Quick Fix Solution เป็นศิลปะของการอยู่กับคนตรงหน้า อยู่กับปัจจุบันของเขา

.

How to เยี่ยมผู้ป่วย


กรณีตัวอย่าง
1.) มีผู้หญิงคนหนึ่งใช้ชีวิตในอเมริกาและประสบความสำเร็จมากในด้านเรียลเอสเตท จนอายุราวๆ 60 ก็ทราบว่าตนป่วยเป็นมะเร็ง รักษาที่อเมริกาไม่ดีขึ้นจึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทย เล่าโดยย่อก็คือ คนในครอบครัวถูกกันออกไปทั้งหมด ผู้ป่วยไม่ยอมให้ใครพบและเข้าเยี่ยม ในวันที่ญาติติดต่อจิตอาสา I SEE U นั้น ร่างกายผู้ป่วยบ่งบอกว่านี่เป็นสัญญาณสุดท้ายแล้ว เล็บมือ เล็บเท้าดำหมดแล้ว เมื่อจิตอาสาไปถึงก็พบว่า ญาติรวมตัวกันอยู่ด้านนอกเพราะผู้ป่วยปฏิเสธ แต่เมื่อพยาบาลบอกผู้ป่วยว่ามีจิตอาสาอยากจะเยี่ยม ผู้ป่วยก็ยอม จิตอาสากลับมาเล่าให้ฟังว่า ในตอนแรกผู้ป่วยดูเหมือนไม่อยากคุย แต่สักพักก็เชื่อมโยงกันได้ เพราะตัวอาสาฯ ก็เคยใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา จึงกลายเป็นว่าทั้งคู่คุยกันเรื่องการใช้ชีวิตในอเมริกา ไม่ได้พูดถึงความเจ็บป่วย ไม่ได้คุยเรื่องการรักษา จากผู้ป่วยที่กระวนกระวายด้วยความเจ็บป่วยกลายเป็นคนปกติ เล่าถึงเพื่อนฝูง การงาน การไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ พออาสาฯ สังเกตว่าผู้ป่วยเริ่มเหนื่อย ก็ร่ำลากัน แล้วก็บอกว่าพรุ่งนี้จะมาเยี่ยมใหม่ ออกมาจากห้องญาติก็กรูกันเข้ามาถาม จิตอาสาว่าทำไมผู้ป่วยถึงยอมคุยด้วย แล้วพอตีห้าของวันรุ่งขึ้นผู้ป่วยก็จากไป จากไปด้วยท่าทีใหม่ที่สงบ สบาย ไม่ขึ้งเครียดบึ้งตึงเหมือนกับก่อนหน้านี้


2.) เด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุยังไม่มาก จู่ๆ ก็รู้ว่าตนเองป่วยระยะสุดท้าย เขาปิดข่าว ไม่บอกเพื่อน ไม่ต้องการให้เพื่อนมาเยี่ยม เมื่อเพื่อนพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างให้ เขาปฏิเสธทั้งหมด กรณีอย่างนี้ เพื่อนอาจจะเสียใจมากและอาจจะต้องการการเยียวยา ในกรณีนี้ เป็นไปได้ว่าผู้ป่วยเป็นคนขี้เกรงใจ เป็น ‘ผู้ให้’ ที่ไม่ต้องการ ‘ผู้รับ’ อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่เวลาของ ‘ความถูกต้อง’ แต่เป็นเวลาของการให้ในสิ่งที่เขาต้องการ เราควรให้ความสำคัญต่อความต้องการของผู้ป่วยมากกว่าความต้องการของเรา (ซึ่งเป็นผู้เยี่ยม)


3.) ผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นหญิงโสดตัวคนเดียว เธอเลี้ยงหมาตาบอดเอาไว้ตัวหนึ่งในบ้าน วันหนึ่งที่เธอออกจากบ้านจู่ๆ ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลแบบฉุกเฉิน แอดมิด และเป็นการป่วยระยะสุดท้าย ระหว่างที่นอนพักโรงพยาบาล (ราวๆ หนึ่งสัปดาห์) ผู้ป่วยมีความกระสับกระส่ายมาก จนกระทั่งมีจิตอาสาไปเยี่ยม เมื่อพูดคุยจึงทราบว่าเธอกระสับกระส่ายเพราะเป็นห่วงหมาตาบอดที่เธอเลี้ยงไว้ มันอาจจะหิว ไม่มีอาหาร มันอาจจะรอ และเธอพูดเรื่องนี้กับใครไม่ได้เพราะไม่มีใครสนใจจะฟัง พยาบาลก็ไม่รู้ โชคดีที่อาสาก็เป็นคนรักหมาเช่นกัน เมื่อเยี่ยมผู้ป่วยเสร็จก็ขับรถไปเยี่ยมหมาที่บ้าน (ผู้ป่วยให้กุญแจบ้านกับจิตอาสา) จิตอาสาถ่ายรูปตอนให้อาหารหมา ถ่ายรูปตอนหมาได้กินอาหาร ผู้ป่วยก็สบายใจขึ้น รู้สึกว่าตายได้


……………………………………………………………………………


ขอบคุณทีมจิตอาสา I SEE U

https://web.facebook.com/iseeumindfulness


พี่ชัย-คุณอรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม, พี่เมี่ยง-วรรณี โล่ห์วนิชชัย, คุณปูเป้-ปวีณา แจ่มจันทร์ และคุณกุง-พัศชอรณ์ พรพิรานนท์

บทความที่เกี่ยวข้อง

https://www.happinessisthailand.com/2023/10/25/spiritual-relationship-life-learning/

https://www.happinessisthailand.com/2023/10/20/spiritual-volunteer-relationship-family/

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save