8 ช่องทางความสุข

Global Citizen

พวกเราทุกคนเป็นส่วนเล็กมากๆ ของโลกและจักรวาล ธรรมชาติทำให้พบความสงบ ทางสว่าง ความสุขที่เกิดจากข้างใน การได้ทำงานกับชุมชนและกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อคนอื่นจริงๆ ทำให้เรามีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ธรรมชาติ ระบบนิเวศ โลกและจักรวาล เป็นจุดเล็กๆ ที่สามารถสร้างความยิ่งใหญ่อย่างยั่งยืนได้ เริ่มจากเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการบริโภค

.

คุณอมตา จิตตะเสนีย์ (แพร) Makeup Artist และ Beauty blogger ชื่อดังที่มีผู้ติดตามเพจและอินสตาแกรม Pearypie มากถึง 1.4 ล้าน ผู้ติดตาม YouTube : pearypie 3.39 แสนคน

.

คุณแพรเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจ เรียนในมหาวิทยาลัยศิลปะ St.Martins กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โปรดปรานศิลปะการแต่งหน้า อาสาแต่งหน้าให้เพื่อนๆ และนางแบบอยู่บ่อยครั้ง ด้วยใจรักและทักษะด้านศิลปะทำให้ผลงานการแต่งหน้าของเธอโดดเด่นไม่เหมือนใคร หลังเรียนจบจึงได้เป็นหนึ่งในทีมช่างแต่งหน้าลอนดอนแฟชั่นวีค ได้แต่งหน้านางแบบบนรันเวย์ระดับโลก นั่นคือจุดเริ่มต้นของความโด่งดังในแวดวงความสวยความงามระดับโลก เป็นที่มาของชื่อ Pearypie — Makeup Artist และ Beauty blogger

.


Pearypie มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการแฟชั่นนานกว่า 10 ปี จนอายุ 29 ปี ก็รู้สึกอิ่มตัว เริ่มลดบทบาทการเป็น Makeup Artist และ Beauty blogger ห่างหายจากวงการ review สินค้า หมดความหลงใหลในการแต่งหน้า เบื่อหน่าย และเริ่มรู้สึกถึงการกำลังทำลายสิ่งแวดล้อม มองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง ที่สำคัญคือเธอรู้สึกว่าตนเองสุขภาพไม่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ


“อย่างที่ทุกคนทราบกันดี แพรหยุดการทำคอนเทนต์แต่งหน้า เลิกรับงานรีวิวสินค้าทุกประเภทที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม แพรว่าเราถูกครอบงำด้วยแนวคิดของวัตถุนิยมมาโดนตลอดจากสื่อต่างๆ ที่ประโคมโฆษณาเข้ามาโดยการใช้ดาราถือผลิตภัณฑ์ผิวขาว ผมต้องสวย ผ้าต้องหอม เราเคยชินกับการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัวและขาดไม่ได้ ตื่นเช้าแปรงฟัน อาบน้ำถูสบู่เหลว ทาครีมบำรุง แต่งหน้า ซักผ้า ล้างห้องน้ำ ล้างจาน พวกเราสะดวกสบายมากกันเกินไปจนละเลยที่มาที่ไปของสิ่งที่นำเข้าร่างกาย อยากกินอะไรก็สามารถเข้าร้านซื้อได้เลย โดยที่ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าอาหารที่กินอยู่ ต้นน้ำมันมาจากไหน กินเสร็จก็ทิ้งเป็นขยะแต่ไม่รู้ว่าขยะมันไปไหน กลายเป็นนิสัยที่ไร้ความรับผิดชอบจนเป็นเรื่องชิน แพรไม่อยากเป็นหนึ่งใน Influencer ที่รับงานโปรโมท รีวิว สินค้ากลุ่มเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว”


ความงามในวิถีใหม่
แพรเริ่มมองหาคุณค่าใหม่ หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ด้วยความที่อยู่ในแวดวงแฟชั่น ความสวยความงาม จึงเริ่มให้ความสนใจในผ้าทอพื้นเมือง สีธรรมชาติที่หาได้ในท่องถิ่นเช่นสีจากเปลือกไม้ ดินภูเขาไฟ คราม และครั่ง เริ่มลงพื้นที่ ศึกษาวิถีชีวิตจากชุมชน กลายเป็นนักศึกษาวิชาธรรมชาติและนิเวศวิทยาโดยไม่รู้ตัว


“ถ้าคนที่ไม่ได้ติดตามก็จะดูเหมือนปุ๊บปั๊บ อ้าว…จากแต่งหน้าแต่ทำไมมาปลูกผัก เอาเข้าจริงๆ ก็ 4-5 ปีแล้วที่แพรวางแปรงแต่งหน้า แล้วหันมาหยิบเสียมพรวนดิน — สนุกเหมือนเขียนหนังสือชีวิตเล่มใหม่ค่ะ แพรเริ่มมาสายธรรมชาติด้วยเรื่องผ้าไทยก่อน กลับมาเข้าใจรากเหง้าและวัฒนธรรมของตัวเอง มันสนุกมากเพราะได้เห็นขบวนการทำผ้าตั้งแต่เริ่มต้น ตื่นเต้นกับสีธรรมชาติ นำผ้ามาแปรรูป ตัดใส่จริงในแบบของเรา (แพรชอบแต่งหน้าแต่งตัวมันส์ๆ สนุกๆ) ผ้าไทยมันใกล้กับสายอาชีพที่เคยทำมาก่อน เลยเข้าใจง่ายหน่อย แต่ด้วยพลังความรักของแม่ๆ ที่ไปเรียนตัวตามจังหวัดต่างๆ ที่ละเอียดอ่อน ใส่ใจ และอยากส่งต่อองค์ความรู้ ทำให้เราอยากขับเคลื่อนเรื่องของผ้าพื้นเมืองไปด้วยค่ะ แล้วพอมาเทียบกับ fast fashion ในปัจจุบัน มันว้าว ตื่นเลย ดูสารคดีเยอะมาก ติดตามองค์กร เช่น Green Peace และ Environmental Movement หลายๆ หน่วยงาน อยากเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น แม่ๆ ที่สอนเราเรื่องผ้า ก็สอนให้เราใส่ใจในเรื่องของธรรมชาติไปในตัว”

.

.

จากเรื่องผ้าไทย จึงขยายไปสู่เส้นทางการอนุรักษ์ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันแพรเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้ง Pearypie Smiley Camp ค่ายธรรมชาติที่พาผู้คนไปเรียนรู้สีสันจากธรรมชาติ การเดินป่าและวิถีชีวิตของชุมชน ต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก

“แพรได้มีโอกาสเดินป่าเป็นครั้งแรกที่เชียงดาว ฝึกการรับประสาทสัมผัสทั้งห้า (ตา หู จมูก ลิ้น ผิว) ทำให้เข้าใจตัวเรา เข้าใจธรรมชาติ พี่มล (ดร.จิราวรรณ คำซาว – ผู้ก่อตั้งกลุ่มถิ่นนิยมเชียงดาว) เปิดโอกาสให้แพรได้เข้าใจในเรื่องของฤดูต่างๆ และพืชท้องถิ่นในไทย แพรไปกลับเชียงดาวเกือบทุกสองสามเดือน ได้เห็นการทำเกษตรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบ organic เกษตรพื้นที่ราบ เกษตรบนดอย บนภูเขา ได้ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว เก็บลำไยไปขายที่โรงรับซื้อ มันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราไม่เคยได้ทำมาก่อนและสนุกมาก


การเดินทางขึ้นเหนือลงใต้ ไปอยู่กับ “แม่ๆ” ที่สอนทอผ้า ได้คลุกคลีกับชาวบ้านผู้ผลิตในชุมชนต่างๆ ได้รับอากาศและพลังบริสุทธิ์ ได้กินอาหารสด ปลอดภัย อาหารพื้นบ้าน ผักสดเกษตรอินทรีย์ตามฤดูกาล ได้รู้จักผักผลไม้ที่ไม่คุ้นเคย เห็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านแบบแปลกๆ ได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพากันและกัน แพรถือว่า “แม่ๆ” และชาวบ้านทุกคนเป็นครู และนี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่มีความสุขมาก


“ครูบาอาจารย์สอนให้แพรได้เห็นคุณค่าของตัวเอง คุณค่าของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ คุณค่าของระบบพึ่งพาอาศัยกัน คุณค่าของรากเหง้าความเป็นไทย อยู่ในไทย กินแบบไทย เพราะนั่นคือยาที่ดีที่สุดของร่างกาย และความสำคัญของแหล่งที่มาของอาหาร การเกษตรอินทรีย์และความมั่นคงทางอาหาร”


เมื่อได้คลุกคลีในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่น ได้ศึกษา เรียนรู้ ก็ตระหนักถึงความเป็นจริงของชีวิตชนบท ทำให้เกิดความสนใจถึงคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” และความมั่นคงของชีวิต เกิดเป็นความรู้สึกอยากปกป้องสิ่งแวดล้อม


“เราจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย หากยังมีเหลื่อมล้ำของสังคมอยู่ หากผู้ผลิตอาหารยังโดนกดขี่เรื่องราคา หากรัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญ และหากพวกเราทุกคนยังไม่ลืมตา ตื่นขึ้นมาเข้าใจวีถีการบริโภคของตัวเอง ในที่สุดพวกเราก็จะไม่เหลืออะไร ไม่เหลือป่า ไม่เหลือความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ไม่เหลือดิน น้ำ และอากาศที่ไร้เคมี ใครอยากอ่านเพิ่มเติมตามนี้เลยค่ะ UN sustainable development goals 17 ข้อ”


เกษตรทฤษฎีมั่ว
เดือนเมษายน ปี 2563 ช่วง lock down เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แพรเปลี่ยนดาดฟ้าโล่งๆ บนชั้น 8 คอนโดมิเนียมของครอบครัวมาเป็นพื้นที่สร้างแหล่งอาหารของตัวเอง แล้วชวนสมาชิกทั้งครอบครัวมาช่วยกันทำเกษตรครัวเรือน “ไม่ใช่เกษตรทฤษฎีใหม่ พวกเราเป็นเกษตรทฤษฎีมั่ว” เรียนรู้ ลองผิดลองถูก จนได้ผักสวนครัว และพืชพันธุ์ต่างๆ มากมายกว่า 100 ชนิด
“พืชชนิดแรกๆ ที่ปลูกคือผักสวนครัวที่เราใช้กันบ่อยๆ เริ่มสร้างพื้นที่ให้มีชีวิต มีความเขียว จากนั้นก็เริ่มเป็นพวกผักใบเขียวระยะสั้น ดินเริ่มมีชีวิต เริ่มมีเงาบางๆ จากพืชที่ทนร้อน จากนั้นแพรก็เริ่มทยอยลงเมล็ดอื่นๆ เช่น กระเจี๊ยบ แตงกวา ฟักทอง และอื่นๆ อีกมากมาย เพาะเห็ดกินระหว่างที่รอผักโต เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมจากในอินเตอร์เน็ต ศึกษาวงจรและฤดูการปลูกของพืชทุกชนิด ทดลองผสมเกสรให้พืชชนิดผล ทำยังไงให้ติด hand pollination เพราะช่วงแรกๆ ผึ้งยังน้อย ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมหน้าดินเพิ่มไนโตรเจนให้กับดิน สะสมขยะในบ้านมาทำปุ๋ยหมัก โรยกากกาแฟ เปลือกไข่ เปลือกหอย เพิ่มธาตุอาหารเสริมให้กับดิน เก็บเปลือกกล้วยมาแช่น้ำ ได้โพแทสเซียม อ่านข้อมูลเยอะมากจนทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้วการปลูกผักบนดาดฟ้าเป็นเรื่องปกติ”

.

.

จากเกษตรทฤษฎีมั่วกลายมาเป็น สวนดาดฟ้าพืชหมุนเวียน มีผลผลิตให้เก็บกินได้ทุกวัน เหลือแบ่งปันญาติพี่น้อง เพื่อน และคนรู้จัก รวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดฯ ด้วย

“แพรอยากสร้างพื้นที่ดาดฟ้าตรงนี้ให้เป็น Green community ที่เพื่อนๆ สามารถเข้ามาทำ workshop ได้ เรียนปรุงดิน ทำปุ๋ยจากขยะในครัว ย้อมผ้า หรือสกัดสีน้ำ และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับตึกคอนโดมิเนียมอื่นๆ ที่นักลงทุน เจ้าของตึก และใครก็ตามที่กำลังสร้างตึกอยู่สามารถทำพื้นที่ให้กับลูกบ้านได้”

จากสวนสู่ครัว
ผักเกษตรอินทรีย์ฝีมือตัวเองก่อเป็นความภูมิใจมิใช่น้อย จากคนกินที่ไม่ชอบทำอาหาร แพรขยับสถานะขึ้นมาเป็นแม่ครัวมือใหม่ หัดทำอาหารจากพืชผักที่ปลูกมากับมือ ใช้วัตถุดิบเท่าที่มี ฝึกทำอาหารไทย ทำอาหารกินเองแทบทุกมื้อ ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบกินอาหารพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่นมากๆ

“การปลูกเอง ปรุงเอง กินเอง เป็นสิ่งที่แพรต้องการเรียนรู้วิธีการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ตัวเองและครอบครัวในพื้นที่อันจำกัด แพรต่อยอดประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากพี่มล (ดร.จิราวรรณ คำซาว) ด้านธรรมชาติ ระบบนิเวศป่า นิเวศเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการพึ่งตนเอง ผลิตอาหารเอง ทดลองออกแบบระบบนิเวศจำลองบนดาดฟ้า และลงมือปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่ ปรุงดิน เลือกชนิดพืชให้เหมาะกับพื้นที่ อากาศ การดูแล ใส่ใจพืชผักทุกชนิด ลงมือทำเกษตร ปลูกเองกินเอง ทำปุ๋ย ผลิตและแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับเพื่อนๆและผู้ติดตาม เแพรอยากเป็นตัวอย่างให้คนในเมืองได้เห็นว่าการผลิตอาหารกินเองนั้น ไม่ยาก เมล็ดพันธุ์ที่แพรปลูกได้มาจากเพื่อนๆ เกษตรกรในท้องถิ่นหลายที่ และหาซื้อได้ตามอินเตอร์เนต แต่กว่าจะสำเร็จเป็นผลลัพธ์ที่สวยงามอย่างที่เห็น อาศัยประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ ความเข้าใจพอสมควร”


พลเมืองอาหาร
ปัจจุบันแพรไม่ใช่เพียงผู้ที่เปลี่ยนจากผู้บริโภคมาเป็นผู้ผลิตที่พึ่งพาตนเอง ปลูกเอง ปรุงเอง กินเอง เรียนรู้การกินดีจากวิถีธรรมชาติเท่านั้น หากยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน สร้างวัฒนธรรมการบริโภคแนวใหม่ที่เข้าใจไปถึงมิติของความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สร้างการบริโภคที่มีความเข้าใจเรื่องราวที่มาของผลผลิต สินค้านั้นๆ ซึ่งเป็นมากกว่าการคิดถึงเฉพาะราคา หรือรูปลักษณ์ภายนอกของสินค้าและวัตถุดิบ การขับเคลื่อนในครั้งนี้แบ่งงานกันทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ


การทำงานต้นน้ำ คือ ทำงานกับทีม ดร.จิราวรรณ คำซาว (เกษตรกร/นักวิจัย) ที่ทำงานเชื่อมโยงเกษตรกรรุ่นใหม่ คนในชุมชนต้นน้ำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หน่วยงานเอกชน โดยบูรณาการความร่วมมือ-การจัดการทั้งอำเภอเชียงดาวเพื่อวางแผนการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากร ดิน ป่า น้ำ เพื่อให้มีใช้ประโยชน์ ใช้เพาะปลูกวัตถุดิบได้ตลอดปีอย่างยั่งยืน รวมถึงการปลูกฝังเยาวชนในท้องถิ่นให้เข้าใจเข้าถึงเกี่ยวกับคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรท้องถิ่นที่มี โดยขับเคลื่อนผ่านกลุ่มเยาวชน “แก๊งถิ่นนิยม”


การทำงานกลางน้ำ คือ การแปรรูป สกัด คัดสรร เพื่อถนอมคุณค่า และเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่ดีเหล่านั้น ในส่วนนี้แพรได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับวิสาหกิจชุมชนถิ่นนิยมเชียงดาว บริษัท ซีเอ็นเอ็กซ์ เฮลท์ตี้ โปรดักส์ จำกัด และเครือข่ายบริษัทเอกชนในชุมชนในฐานะผู้บริโภครุ่นใหม่ นำความคิด ความชอบด้านศิลปะไปต่อยอดพัฒนาวิจัย ยกระดับคุณค่าวัตถุดิบไทย สู่สินค้านวัตกรรม สร้างความแตกต่าง ความน่าสนใจ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างได้รายเพิ่มให้กับชุมชน


การทำงานปลายน้ำ คือ ส่งเสริม สื่อสาร คุณค่าของผลผลิต สร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนในเมือง ให้เข้าใจภาคการผลิตต้นน้ำมากขึ้น ส่วนปลายน้ำนี้ แพรได้ลงมือทำเป็นตัวอย่าง ในการผลิตอาหารเอง เพื่อสื่อสารความเข้าใจ ในขั้นตอนการผลิตอาหารว่ากว่าจะมาเป็นอาหารนั้นยาก-ง่ายแค่ไหน ทำเนื้อหาสำหรับห้องเรียนออนไลน์ใน Social Media ของตนเอง


“ทั้งหมดนี้ที่ทำมาเพราะแพรหวังว่าคนรุ่นใหม่ที่ติดตามแพร จะเข้าใจและหันมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการบริโภคแนวใหม่ที่ใส่ใจถึงความมั่งคงของอาหาร การพึ่งตนเอง ไปพร้อมกับการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้วย”


“ความมั่นคงทางอาหาร ต้องเริ่มจากการที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มั่นคงและอุดมสมบูรณ์เพียงพอในการผลิต ดังนั้นการที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายให้อาหาร เราต้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้วย”


แพรเชื่อว่าการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์เป็นหน้าที่ของทุกคน สิ่งแวดล้อมดีจะส่งผลเป็นฤดูกาลตามปกติ เมื่อสภาพภูมิอากาศปกติ การเพาะปลูก กระบวนการผลิตอาหารก็จะปกติ สมบูรณ์และหลากหลาย เมื่อมีอาหารหลากหลาย รู้ที่มาที่ไปของอาหารที่กิน กินตามฤดูกาล สุขภาพของเราก็จะสมดุล แข็งแรง


“แพรเชื่อศาสตร์เรื่องการกินอาหารให้เป็นยา เราสามารถผลิตยาได้ด้วยตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง เริ่มจากการเพาะปลูก ผลิตอาหารที่ดี ปลอดภัย หรือใครที่ผลิตเองไม่ได้ ก็สามารถส่งเสริม สนับสนุน ผลผลิตจากเกษตรกรที่เพาะปลูกโดยระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นเกษตรอินทรีย์ หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ขอไปเรียนรู้ นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ การส่งเสริมการเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสิ่งหนึ่งของการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่เกษตรกร สู่ชุมชน และหมุนเวียนไปสู่การช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่การผลิตนั้นและยังเป็นการรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและพืชท้องถิ่นให้อยู่กับไทย ส่งต่อให้กับลูกหลาน ส่งเสริมอาชีพ เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ วนกลับมาเป็นเรื่องของการดูแลประเด็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ ลด carbon footprint จากการนำเข้าจากต่างประเทศ”


“เราแชร์โลกเดียวกัน เราเกิดมาทั้งที เราควรช่วยกันดูแลและรับผิดชอบร่วมกันตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร มลพิษ คุณค่าและหน้าที่ของตัวเอง ตระหนักถึงความเชื่อมโยงและการพึ่งพาอาศัยกันในระดับโลกแบบยั่งยืน เพราะว่าสุดท้ายแล้ว We All Connect และ เราไม่ได้เป็น Top of The Food Chain และ ทรัพยากรทางธรรมชาติมันถึงขีดสุดท้ายแล้ว”


Activist and Citizen
ด้วยความรักในการเรียนรู้ ประกอบกับการลงมือทำจริง ทำให้แพรเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการสาธารณะหลายๆ โครงการ เช่น โครงการฟื้นฟูป่าบนดอย ป่าชายเลน การอนุรักษ์ใต้น้ำและแนวปะการังกับมูลนิธิและกลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น มูลนิธิราชพฤกษ์ BIG Trees Project มูลนิธิสติ Reef Guardian Thailand มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ชุมชนถิ่นนิยมเชียงดาว และเครือค่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ

.

“แพรถือว่าเราเกิดมาครั้งหนึ่ง เราต้องใช้ชีวิตให้คุ้มและถ้าเป็นไปได้มีประโยชน์และมีคุณค่า นั้นคือเป้าหมายหลักๆของชีวิตค่ะ”


จากบล็อกเกอร์ด้านความงามผันตัวเองมาเป็น Urban Gardener ปัจจุบันแพรนิยามตัวเองว่า เธอเป็น Global Citizen ประสบการณ์ชีวิตเมื่อเธอตัดสินใจเดินเข้าหาธรรมชาติ ทำให้เธอมีสติมากขึ้น เชื่อมโยงกับตัวเอง เปิดรับความจริงและเข้าใจว่า พวกเราทุกคนเป็นส่วนเล็กมากๆ ของโลกและจักรวาลเท่านั้น ธรรมชาติทำให้พบความสงบ ทางสว่าง ความสุขที่เกิดจากข้างใน พบเป้าหมายที่ไม่เคยมองเห็น การได้ทำงานกับชุมชนและกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อคนอื่นจริงๆ ทำให้เรามีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ธรรมชาติ ระบบนิเวศ โลกและจักรวาล

.

เริ่มจากตัวเอง เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการบริโภค สนใจเรื่องผักผลไม้อินทรีย์ ปลูกเอง ปรุงเอง กินอย่างรู้ที่มา สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน



……………………………………………..

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save