8 ช่องทางความสุข

การเรียนรู้ที่อยู่ในชีวิต

รู้สึกว่าได้คำตอบในสิ่งที่เคยเป็นข้อสงสัย พอจบคลาสวันนั้นก็ตั้งใจไว้เลยว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องใหญ่ๆ เราจะไม่ออกนอกเส้นทาง สบายใจมากขึ้น มีกำลังใจและ ชัดเจนว่าเราจะใช้ชีวิตไปอย่างไร เพื่อจะได้ไม่เสียใจทีหลัง

สุวัสสา ปั้นเหน่ง (จิ๊บ) เป็นอาจารย์ในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

นอกจากเป็นอาจารย์แล้ว จิ๊บยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในชมรม talk about SEX และเป็นที่ปรึกษาให้งานอนามัยและสุขภิบาลของมหาวิทยาลัย ซึ่งดูแลงานเกี่ยวกับสุขภาพของนักศึกษาทุกด้านซึ่งรวมถึงการดูแลสุขภาพจิตด้วย

.

“ด้วยความที่เราเป็นอาจารย์สอนวิชาทางด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยก็มีความคาดหวังว่าเราน่าจะช่วยแก้ปัญหาทางจิตใจให้เด็กๆ ได้ด้วย — แต่ในระยะหลังมานี้เด็กๆ มีปัญหาด้านจิตใจมากกว่าในอดีต เริ่มมีเคสการพยายามฆ่าตัวตาย แม้จะไม่มากแต่มี หรือเคสเรื่องภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า”

จิ๊บบอกว่า จริงๆ แล้วในมหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่เรียกว่า สถานพยาบาล ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสุขภาพของนักศึกษาโดยตรง มีห้องให้คำปรึกษา (consulting room) แต่ระบบจัดการ ปริมาณบุคลากร กับสภาพปัญหา ยังไม่สมดุลเท่าไรนัก


“การแก้ปัญหาสุขภาพกายกับปัญหาสุขภาพใจ-สุขภาพจิต มันไม่เหมือนกัน ถ้านักศึกษามีปัญหาทางกาย เจ็บป่วยทางกาย ก็เข้าสถานพยาบาล วินิจฉัยโรค จ่ายยา ก็จบ แต่ปัญหาทางใจ หรือทางจิต มันซับซ้อนกว่านั้น ใช้เวลาในการดูแลมากกว่า”

ชมรม talk about SEX ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลสภาพจิตใจของนักศึกษา ให้นักศึกษาได้พูดคุยกัน ดูแลกัน ปรึกษากัน แล้วหากเหลือบ่ากว่าแรงก็ค่อยมาหาอาจารย์เพื่อปรึกษา และหากอาจารย์รับไม่ไหวจำเป็นต้องส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น จิ๊บก็จะต้องทำหน้าที่นี้ด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จิ๊บสนใจการดูแลวัยรุ่นมากขึ้น


นักศึกษามักจะเข้ามาปรึกษาเรื่องอะไร

.

ปัญหารุนแรงที่สุดที่จิ๊บเจอคือ การพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ เจอมา 3 เคสแล้ว ปัญหาอื่นๆ ที่รองลงมาก็เช่น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมันเป็นทั้งความขัดแย้งทางศีลธรรม กรอบวัฒนธรรม และอนาคตที่ดีของตัวนักศึกษาและเด็กที่อยู่ในครรภ์ — ทำหน้าที่ในการช่วยให้เขาเห็นหาทางออกที่เหมาะสม เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป นอกจากนี้ก็เป็นปัญหาที่ทุกคนทราบเช่น ความเครียด ความกดดัน ความซึมเศร้า จิ๊บรู้สึกว่าปัญหามีมากขึ้น สิ่งที่จิ๊บสนใจคือจะทำอย่างไรให้วัยรุ่นได้รู้จักศักยภาพในตนเอง ถ้าทำสิ่งนี้ได้ เขาก็จะใช้ชีวิตอย่างมีทิศทางมากขึ้น และปัญหาการปลิดชีวิตในวัยเรียนน่าจะไม่มี


จิ๊บรู้จักพี่พยาบาลคนหนึ่ง เขาพูดถึงคำว่า ‘ Resilience’ จิ๊บฟังแล้วอยากเรียนรู้เพิ่ม พี่เขาบอกว่า อาจารย์ผู้สอนชื่อ ‘อาจารย์เบ็น’* ให้คอยฟังข่าวว่าอาจารย์เบ็นจะสอนอีกเมื่อไร — เขาบอกว่า อาจารย์เบ็นสอนดีมาก เป็นชาวต่างชาติแต่สอนในภาษาไทย พูดไม่ชัดแต่พวกเราจะเข้าใจได้ — จิ๊บฟังแล้วก็อยากเรียน พอเห็นประกาศก็รีบสมัคร ตอนแรกนึกว่าเป็นคลาสบรรยายเฉยๆ แต่พอเรียนจริงๆ แล้วพบว่าไม่ได้มีแค่บรรยาย มันมีการฝึกในคลาสและต้องฝึกเองในชีวิตด้วย เรื่องนี้เปลี่ยนมุมมองเรื่องการเรียนออนไลน์ไปเลย ยิ่งเรียนก็ยิ่งสนใจ พยายามเข้าเรียนทุกครั้ง ทั้งที่ไม่ค่อยมีเวลา


สิ่งที่มีประโยชน์กับตัวจิ๊บในหลักสูตรนี้ คืออะไรคะ

จิ๊บชอบ การเป็นมิตรกับตัวเอง (to be your own ally) การกลับมาให้กำลังใจตัวเอง กับการเรียกชื่ออารมณ์ (Name it to tame it) โชคดีที่ในช่วงอบรมไม่มีสิ่งกระทบเยอะ ก็เลยพยายามฝึกกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันทุกวัน เช่นเวลาที่เกิดอารมณ์ด้านลบก็กลับมาถามตัวเองว่า ตอนนี้รู้สึกอะไรกันแน่ โกรธใช่ไหม อ๋อ ตอนนี้โกรธนะ เรียกชื่อความรู้สึก อนุญาตให้มีความรู้สึกนั้นได้ ไม่ปัดทิ้ง ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น จิ๊บไม่ได้กอดตัวเองอย่างที่เรียนในคลาส แต่ทำในแบบที่รู้สึกว่าตัวเองถนัด พูดกับตัวเองเหมือนพูดกับเพื่อน “อ๋อ ที่รู้สึกแบบนี้เพราะเหนื่อยใช่ไหม เหนื่อยก็พักได้นะ ร้องไห้ก็ได้นะ ไม่เป็นไร ร้องไห้ก็ได้” — จิ๊บว่า สิ่งเหล่านี้ช่วยจิ๊บ และจริงๆ จิ๊บเองก็เคยทำแบบนี้ในอดีต เคยมีตัวเองเป็นเพื่อนแต่ลืมไป พอได้เรียนก็เหมือนได้กลับมาเจอสิ่งนี้ที่มีอยู่แล้ว เหมือนที่ อ.เบ็นบอกว่า ทักษะแบบนี้มันมีอยู่แล้วในตัวของเรา เพียงแต่เราต้องฝึกบ่อยๆ ทำบ่อยๆ


จิ๊บว่าการได้กำลังใจจากคนภายนอกก็ดี เช่น ชื่นใจเวลาที่เห็นหน้าแม่ เห็นรอยยิ้มของแม่ แต่การให้กำลังใจตัวเองจากพลังภายในเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก โดยเฉพาะเวลาที่รู้สึกแย่ในตอนนั้น มันช่วยได้ในทันที ในตอนนั้นเลย เป็นการฟื้นคืนจริงๆ ไม่ต้องรอเวลา — เวลาที่เราให้กำลังใจตัวเองได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรเราก็อยู่กับสถานการณ์ อยู่กับตัวเองได้ มันมั่นคง”


อีกเรื่องที่ชอบและเป็นจุดเปลี่ยนคือ การให้คุณค่านำทาง (Value Clarity and Action) — เมื่อก่อนจิ๊บเป็นคนที่ให้เกียรติตัวเองมาก มีความภูมิใจในตัวเอง รู้สึกมีเกียรติ เพราะเราเป็นลูกที่ดี เรียนดี แต่พอโตขึ้นมาเรื่อยๆ จิ๊บรู้สึกว่าคุณค่าด้านนี้ค่อยๆ ลดน้อยลงไป อาจจะเพราะเป็นวัยรุ่นฮอร์โมนว้าวุ่นไปตามประสา บางทีก็เหลวไหลไปกับเพื่อนๆ ความรู้สึกภูมิใจลดลงไป แต่สิ่งที่กระทบกับชีวิตมากที่สุดคือตอนที่เรียนจบ เข้าทำงานและเห็นการคอรัปชั่นในองค์กร และการคอรัปชั่นนี้แทบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย ‘ใครๆ เขาก็ทำ’ เราเป็นพนักงานใหม่ ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ควรจะพูด หรือไม่ควรจะพูด จะมีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไรกันแน่ ‘ถ้าอยากได้รับการยอมรับ เราต้องไม่พูดเหรอ เราต้องทำตามๆ เขาไปหรือเปล่า หรือยังไงดี’ เหล่านี้เป็นคำถามที่คาใจแม้จะลาออกจากที่นั่นหลายปีแล้ว


ให้คุณค่าที่แจ่มชัดนำทาง
จิ๊บเล่าว่าตอนที่เรียนเรื่อง การให้คุณค่านำทาง จิ๊บเลือกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาพิจารณา และในแบบฝึกหัดนั้นทำให้เธอเห็นว่า เธอจะใช้ “ความภูมิใจและการให้เกียรติตัวเอง” เป็นคุณค่าที่เธอจะใช้เพื่อดำเนินชีวิต


“พอทำแบบฝึกหัดก็เริ่มมีกำลังใจ เริ่มเห็นทิศว่าเราจะมีมุมมอง ท่าที และการปฏิบัติต่อสิ่งที่เราให้คุณค่าได้อย่างไร การมีคุณค่าที่แจ่มชัดในการดำเนินชีวิต เป็นแบบฝึกหัดที่เปิดทางให้จิ๊บมากค่ะ — รู้สึกว่าได้คำตอบในสิ่งที่เคยเป็นข้อสงสัย ‘ใครจะทำก็เรื่องของเขา แต่เราจะดำเนินชีวิตด้วยคุณค่าภายในของเรา ที่เรายึดถือ’ — พอจบคลาสวันนั้นก็ตั้งใจไว้เลยว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องใหญ่ๆ เราจะไม่ออกนอกเส้นทาง มันทำให้สบายใจมากขึ้น มีกำลังใจและ ชัดเจนว่าเราจะใช้ชีวิตไปอย่างไร เพื่อจะได้ไม่เสียใจทีหลัง — จิ๊บเชื่อว่าถ้า ตระหนักได้ว่าเรามีเกียรติ เราก็จะให้เกียรติกับผู้อื่นด้วย จะเคารพตัวเองได้ ซึ่งก็น่าจะช่วยให้เป็นคนที่มีความสุขตลอดเวลา จิ๊บเชื่อแบบนั้น การเรียนเรื่องนี้ก็เลยได้นำมาใช้บ่อยๆ ได้ทบทวนเรื่อยๆ ดูเป็นนามธรรม แต่จิ๊บใช้ทุกวัน

ตอนที่พูดนี่ดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วมันมีแรงเสียดทาน มีกรอบวัฒนธรรมในพื้นที่ที่เราใช้ชีวิต จิ๊บพยายามจัดสมดุลตัวเองใหม่ มี space จัดสมดุลความสัมพันธ์ให้ชัดเจน จากที่เคยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากจนเสียคุณค่าภายใน ตอนนี้ก็จัดสมดุลใหม่ ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน พร้อมๆ กับดูแลความสัมพันธ์ภายนอก — ไม่ง่าย แต่ก็พยายามค่ะ”

.


การฟื้นคืนทางกายภาพ
อีกเรื่องที่จิ๊บอยากเล่าก็คือ การฟื้นคืนทางกายภาพ “จิ๊บเป็นอาจารย์ด้านสุขภาพ รู้หมดนั่นแหละว่าต้องกินอาหารดี ต้องออกกำลังกาย ต้องพักผ่อน แต่รู้ไม่ได้แปลว่าเราจะทำ (หัวเราะ) พออาจารย์เบ็นสอนเรื่องนี้ มันเป็นการกระตุกที่มีพลังมาก ทำให้ตื่นจริงๆ (หัวเราะ)


เดิมจิ๊บคิดว่าเรื่องการฟื้นคืน (resilience) น่าจะเป็นเรื่องใจ-ใจ ไม่คิดว่ามีเรื่องทางกายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พออาจารย์เบ็นสอน ได้ทบทวน มันก็จริงอย่างที่อาจารย์พูด กายกับใจมันเชื่อมกัน ตอนนี้ก็เลยมีวินัยเรื่องกายมากขึ้น ให้เวลาสำหรับการเคลื่อนไหว”


จิ๊บได้นำทักษะที่เรียนรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นบ้างหรือยัง
ยังค่ะ อยากฝึกกับตัวเองให้ชัดเจนในตัวเองก่อน ให้คล่อง ให้เป็นตัวเรา คิดว่าถ้าทำได้แล้วพอถึงเวลาก็คงจะได้เอาไปใช้ หรือนำไปถ่ายทอดได้อย่างเป็นธรรมชาติ กลัวว่าถ้าเอาไปใช้แบบจำๆ เอา อาจจะไม่ค่อยดี


อย่างไรก็ตาม จิ๊บเล่าว่า ในชีวิตประจำวันเธอมีการปะทะกับเจ้าลูกคนเล็กวัย 7 ขวบ อยู่เป็นระยะ “ช่วงที่เรียนมานี้ จิ๊บพยายามเรียกชื่ออารมณ์แบบที่อาจารย์เบ็นสอนค่ะ พอเริ่มจะทะเลาะกับเจ้าตัวเล็ก เริ่มโกรธ เริ่มหงุดหงิด พอได้สติก็จะกลับมาสังเกตตัวเอง เรียกชื่อความรู้สึก ดูแลอารมณ์ อาจารย์เบ็นให้เรากลับมา ‘กำกับตัวเอง’ แทนโต้ตอบกับภายนอก (ในที่นี้คือเจ้าตัวเล็ก) มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจ้าตัวเล็กบอกว่า ‘ช่วงนี้แม่ดูแปลกไปนะ’ — ก็ไม่รู้ว่าการสะท้อนแบบนี้แปลว่าอะไรกันแน่ แต่ดูเหมือนจะเป็นความรู้สึกด้านดีนะคะ” จิ๊บเล่าปนหัวเราะ


ชอบอะไรในการเรียนรู้ครั้งนี้
จิ๊บชอบการถาม-ตอบ คนตอบมีหลายคนทำให้เห็นหลายมุมมอง อาจารย์เบ็นเป็นชาวต่างชาติ บางคำถามอาจารย์อาจจะไม่เข้าใจบริบทของคนไทยก็จะตอบตามกรอบองค์ความรู้ หรือมุมมองของคนนอก ซึ่งเราไม่เคยนึกถึงมาก่อน อาจารย์คนอื่นๆ ที่เป็นคนไทย เข้าใจคนไทยด้วยกัน ช่วยตอบทั้งในมุมของผู้ที่เริ่มฝึก และบริบทของสังคมที่เราอยู่ วัฒนธรรมไทย มันให้ความชัดเจนมากขึ้น รู้สึกว่ามันเอามาใช้ในชีวิตได้จริงๆ


อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบคือ session นอกเวลาเรียน การแบ่งปันประสบการณ์ในกลุ่มย่อย เพื่อนๆ แบ่งปันประสบการณ์การฝึก ได้เห็นว่าแต่ละคนเอาไปฝึกอย่างไร บางเรื่องก็ทำให้เห็นว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้นจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่ตัวเราที่กำลังเผชิญและหาทางออกไม่ได้ บางคนเป็นหมอเขาก็เผชิญเรื่องยากๆ หาทางออกไม่ได้เหมือนกัน มันไม่ได้มีแค่เรา ทำให้เห็นว่า เออ..ความทุกข์ก็เป็นเรื่องปกติ ชีวิตก็เป็นแบบนี้ เราก็แค่กลับมารับรู้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ดูแลอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วค่อยๆ หาทางออก


สุดท้ายนี้ จิ๊บอยากให้มีกิจกรรมหรือมีพื้นที่ที่จะขอความช่วยเหลือได้ถ้าประสบปัญหาในการฝึกค่ะ นอกจากนี้ก็ขอบคุณมากๆ ที่มีคอร์สนี้ ขอบคุณอาจารย์เบ็น ขอบคุณธนาคารจิตอาสา และผู้จัดทุกคนเลย


……………………………………………………


*Benjamin Weinstein, PhD
Clinical Psychologist, Certified Teacher of Mindful Self-Compassion

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save