8 ช่องทางความสุข

การจากลา…ส่วนประกอบสำคัญของชีวิต

เสียงเปิดปิดประตูห้องไอซียูดังขึ้นเป็นระยะ ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และญาติผู้ป่วยแต่ละเตียงมากหน้าหลายตา สลับกันเดินเข้าออกจากห้องอย่างระมัดระวัง

ฉันนั่งสังเกตอยู่หน้าห้องนี้มาเป็นชั่วโมงแล้ว โดยมีแม่ของฉันนั่งอยู่ข้างๆ พวกเราไม่ได้ปริปากเลยตั้งแต่เดินออกจากห้องไอซียูเมื่อหลายชั่วโมงก่อน

เรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าเศร้าหมองของแม่ ซึ่งฉันรับรู้ได้โดยไม่ต้องเอ่ยปากถาม

มันเป็นสภาวะที่แสนอึดอัดในความทรงจำเมื่อราว 15 ปีที่แล้ว ที่ฉันยังเป็นแค่เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คุณตาอาการทรุดหนักด้วยโรคร้าย ท่านไม่ได้ออกจากห้องไอซียูเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ฉันกับพี่สาวและแม่ไปที่โรงพยาบาลกันทุกวัน เมื่อเข้าเยี่ยมผู้ป่วยตามเวลาแล้ว พวกเราก็จะมานั่งกันเงียบๆ อยู่ที่เก้าอี้หน้าห้องไอซียู

ไม่แน่ใจว่านั่งอยู่ตรงนั้นเพื่ออะไร อาจเพื่อทำใจล่วงหน้า

.

.

ฉันในวัย 13-14 ปียังไม่เคยประสบกับการจากลาโดยแท้จริง นั่นคือช่วงเวลาแรกที่ความรู้สึกกลัวการหายไปของใครบางคนหรือของบางสิ่งที่ฉันรักก่อตัวขึ้นจากก้นบึ้งของจิตใจ คล้ายว่ามันค่อยๆ ขยายตัวขึ้นปกคลุมหัวใจฉันจนกลายเป็นสีเทาหม่น

จากนั้นไม่นานคุณตาก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือไว้เพียงความเศร้าโศกของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการสูญเสียบุคคลในครอบครัวที่รักและเคารพครั้งแรกสำหรับฉัน

.

ธรรมชาติของมนุษย์แน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับการจากลาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตาย จนกว่าจะถึงคราวตัวเราเองบ้างที่ต้องเป็นฝ่ายลาโลกนี้ไป

.

ไม่มีใครรู้แน่ว่าชีวิตหลังความตายต้องดำเนินต่อหรือไม่ ณ สถานที่แห่งไหน แล้วยังสามารถเรียกช่วงเวลาหลังความตายนั้นว่า “ชีวิต” ได้อยู่อีกไหม

แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นอมตะนิรันดร์ คงจะจริงอย่างที่คนเขาพูดกันปากต่อปากเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้…ใครๆ ก็บอกว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา

.

ถึงจะมีคติเตือนใจที่ชวนปล่อยวางเช่นนั้น แต่เมื่อต้องเผชิญการจากลาขึ้นมาจริงๆ น้อยคนนักจะมีสติทำจิตใจให้เข้มแข็งได้ในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อดวงใจแตกสลาย แต่ละคนก็มีหนทางเยียวยาตัวเองแตกต่างกันไป ทว่ามีคนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถหาทางออกได้ บางคนอาจเสียสติถึงขั้นมีอาการทางจิตเวช หรืออาจดับทุกข์ด้วยวิธีที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การพึ่งสุราหรือยาเสพติด กรณีอันตรายที่สุดก็อาจทำร้ายตัวเองจนถึงแก่ชีวิต หากผู้เผชิญกับความสูญเสียนั้นถูกความเศร้ากัดกินถึงขั้วหัวใจจนไม่สามารถดึงตนเองกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้

.

แม้กระทั่ง ซิคมุนท์ ฟร็อยท์1 (Sigmund Freud, ค.ศ. 1856-1939) บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ก็ยังเคยต้องเผชิญกับความเจ็บปวดสาหัสทางจิตใจจากความสูญเสียมาหลายต่อหลายครั้ง บุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รักของเขาจากไปทีละคน จนถึงการสูญเสีย ไฮนทซ์ ฮัลแบร์ชตัท หลานชายวัย 4 ขวบครึ่ง เพราะวัณโรค ทำให้ฟร็อยท์เจ็บปวดรวดร้าวกว่าครั้งไหนๆ เขาร้องไห้…

.

“จดหมายของฟร็อยท์แสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดเกินรับไหว…ต่อมาฟร็อยท์ถึงกับเคยพูดว่าเขาไร้ซึ่งความยึดติดใดๆ…ไม่แยแสต่อโชคชะตาของตนเองอีกต่อไป”1

หลังคุณตาลาโลกนี้ไปไม่กี่ปี ครอบครัวเราก็สูญเสียคุณยายด้วยโรคมะเร็งที่ท่านต่อสู้มาเป็นเวลาหลายเดือน

.

ช่วงนั้นฉันกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยต่างเมือง ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ การจับจ่ายใช้สอยจำเป็นต้องประหยัด แม่โทรฯ มาบอกว่าหมอตรวจพบมะเร็งในช่องท้องของคุณยายและเป็นระยะที่ 3 แล้ว ฉันตกใจและเป็นกังวลมาก อยากกลับบ้านที่ต่างจังหวัดไปเยี่ยมคุณยาย แต่ด้วยค่าโดยสารราคาแพง ฉันไม่อาจเดินทางกลับกะทันหัน จึงบอกแม่ว่าจะกลับบ้านเพื่อไปหาคุณยายช่วงปลายเดือน

.

.

สุดท้ายฉันไปไม่ทัน คุณยายรอฉันไม่ไหว…ท่านอายุมากแล้ว

ถ้าฉันกัดฟันอีกนิด อย่างน้อยฉันก็จะได้เจอคุณยายในตอนที่ยังมีลมหายใจอีกสักครั้ง

เหตุการณ์นั้นทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวด และตระหนักว่าสิ่งอื่นใดไม่สำคัญไปกว่าการได้ใช้เวลากับคนสำคัญที่จะบันทึกอยู่ในสมองของฉันไปจนวันสุดท้ายของชีวิต

.

ฉันโทษตัวเองอยู่ลึกๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปตราบที่ฉันยังไม่หมดลมหายใจ

นั่นเป็นสิ่งที่คุณยายสอนฉันเป็นครั้งสุดท้าย…เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าการจากลาจะมาเยือนวันไหน

การจากลานั้นล่องลอยอยู่ทั่วไป และหากสิ่งที่ต้องจากลานั้นสำคัญ มันคงทำให้ความรู้สึกของฉันเหมือนดอกไม้ที่บอบช้ำแห้งโรย

.

อย่างวรรณกรรมเรื่องฮาจิโกะ2 เรื่องราวของสุนัขพันธุ์อากิตะชื่อฮาจิโกะ กับเจ้าของคือศาสตราจารย์เอซาบูโร อูเอโนะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งสร้างขึ้นจากเรื่องจริง ทั้งสองชีวิตมีสายใยแห่งความรักความผูกพันแน่นแฟ้น ต่างรู้สึกว่าอีกฝ่ายนั้นสำคัญ แม้เมื่อศาสตราจารย์เอซาบูโรจากไป เจ้าสุนัขฮาจิโกะก็ยังคงใช้ชีวิตที่เหลือทั้งหมดของมันเพื่อรอคอยการกลับมาของศาสตราจารย์ จนกระทั่งมันจากโลกนี้ไป การรอคอยจึงสิ้นสุดลง

.

.

วรรณกรรมเรื่องนี้ช่างบีบหัวใจ ทำให้ฉันอยากใช้ชีวิตให้ดีเพื่อตัวเอง และเพื่อทุกชีวิตที่รักฉันโดยบริสุทธิ์ เหมือนกับที่ฮาจิโกะรักศาสตราจารย์เอซาบูโร ฉันไม่ต้องการให้พวกเขาต้องเจ็บปวดและรอคอย

ครั้งหนึ่งฉันถามตัวเองว่า สิ่งที่น่ากลัวที่แท้คือการจากลา หรือเป็นจิตใจที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเตรียมพร้อม

.

ในเมื่อเราต่างรู้ดีอยู่แล้วว่าวันหนึ่งเราต้องเผชิญกับการจากลาอย่างแน่นอน หากมีหนทางให้ได้ฝึกเตรียมความพร้อมของจิตใจให้แข็งแกร่งขึ้นก็คงจะดี อย่างน้อยที่สุดในวันที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มันอาจช่วยให้ฟื้นตัวจากความโศกเศร้าได้เร็วขึ้น

.

แต่เพราะเรามีชีวิต อารมณ์เหล่านี้จึงเป็นธรรมชาติ แต่มันจะมีอานุภาพรุนแรงหรือไม่อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยของปัจเจกบุคคล วุฒิภาวะทางจิตใจ (maturity) ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ “เป็นการบรรลุถึงความพร้อมในการควบคุมอารมณ์และการใช้เหตุผล”3 ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองและฝึกฝน แต่ละคนจะมีสิ่งนี้มากหรือน้อยก็ไม่ได้ขึ้นกับอายุ คนอายุน้อยอาจมีวุฒิภาวะทางใจในระดับสูงกว่าคนอายุมากกว่าได้

.

หากตอนนี้จิตใจยังอยู่ในสภาวะปกติ การเตรียมความพร้อมทางจิตใจเอาไว้ล่วงหน้าก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย

สุดท้ายเมื่อต้องเผชิญกับการจากลาในหลากหลายรูปแบบที่รู้สึกว่ายากเกินรับมือไหว ฉันจะลองค้นหาเพื่อนร่วมประสบการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อช่วยให้เข้าใจกลไกทางอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย

.

ฉันได้อ่านเรื่องราวของฟร็อยท์ ได้เรียนรู้ว่าแม้แต่ผู้ที่รู้เท่าทันจิตใจของมนุษย์ยังไม่อาจต้านทานความโศกเศร้าได้ในบางครา รวมถึงเรื่องราวของ “ฮาจิโกะ” ยังสอนให้ฉันอยากใส่ใจคนที่ฉันรักและสัตว์เลี้ยงให้มากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องจากกันวันไหน

.

ฉันใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์โดยการค้นหาข้อมูลของสิ่งที่อาจช่วยฟื้นฟูจิตใจ ได้ค้นพบคนที่เคยมีประสบการณ์เดียวกัน ดีกว่า แย่กว่า หลากหลายประสบการณ์ให้เรียนรู้แตกต่างกันไป และเรื่องราวของเขาเหล่านั้นสอนอะไรบางอย่างให้ฉันเสมอ นอกจากนี้การหาข้อมูลช่องทางอื่นๆ อย่างร้านหนังสือหรือห้องสมุดก็เป็นทางเลือกที่ดี

.

การปรึกษาหารือระบายเรื่องราวให้คนสนิทฟัง หลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดชั่วคราว พักทำกิจกรรมต่างๆ ผนวกกับการพยายามมีอารมณ์ขันบ้าง สิ่งเหล่านี้ช่วยชีวิตฉันไว้ในวันที่ผ่านไปแสนยาก

.

สิ่งต่างๆ ที่รอโอบกอดความรู้สึกของฉันรายล้อมอยู่รอบตัว (เช่นเดียวกับการจากลา)

เพียงแค่ลองพิมพ์บนแป้นค้นหา หรือออกไปข้างนอกบ้าง ฉันก็จะพบมัน

.

ฉันตระหนักเสมอว่า ชีวิตคนไม่มีทางหลีกหนีหรือหลุดรอดไปจากเงื้อมมือของการจากลาได้ สิ่งนี้จะอยู่คู่กับเราเสมอ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ

เพียงแค่ลองตระหนักถึงมัน ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวสิ่งใด ไม่มีรูปแบบตายตัวใดๆ

มาเตรียมความพร้อมของจิตใจกันเอาไว้เถิด

เพราะทุกอย่างที่เราได้ประสบพบเจอมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของคำว่า “ชีวิต”

.

อ้างอิง

  1. รูธ เชพพาร์ด, ฟรอยด์: บิดาแห่งจิตวิเคราะห์,แปลโดย พฤฒิ กาฬสุวรรณ, (กรุงเทพฯ: ยิปซีกรุ๊ป, 2563), หน้า 116.
  2. หลุยส์ พรัทส์, ฮาจิโกะ,แปลโดย รัศมี กฤษณมิษ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พิคโคโล, 2564).
  3. ยุราวดี เนื่องโนราช, จิตวิทยาพื้นฐาน (Foundation to Psychology),(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2558), หน้า 71

.

เรื่อง : นภธวัล ค่อยประเสริฐ

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save