8 ช่องทางความสุข

เชื่อมเจนเชื่อมใจ กระบวนการทางสุขภาวะทางปัญญากับการเชื่อม Generation Gap ที่ขาดหาย

ในวงประชุมประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมาของ ภาคียุทธศาสตร์สุขภาวะทางปัญญา ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เราตั้งโจทย์ “กระบวนการทางสุขภาวะทางปัญญากับการเชื่อม Generation Gap ที่ขาดหาย” เพื่อร่วมแหวกว่ายทางความคิดและความรู้สึกของเพื่อนมิตรหลากวัยในอ่างปลาออนไลน์

.

ก่อน 30 – ดีลกับอำนาจกดทับ

“นานามองว่าไม่ใช่เรื่องความต่างของวัย แต่เป็นความต่างทางวิธีคิด ตอนนี้เยาวชนทุกคนที่นานาทำงานด้วยบอกว่าไม่มีใครฟังเขา ไม่ว่าจะอยู่สังคมไหน ประเด็นคือตอนนี้เราให้คุณค่าต่างกันออกไป เราเชื่อในอำนาจนิยม เชื่อในสังคมที่ต้องเชื่อฟัง หรือเราเชื่อในสังคมที่แลกเปลี่ยนและรับฟังกันได้” นานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง คนวัยยี่สิบปลาย จาก Free Spirit Thailand ที่ทำดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อพูดเรื่องที่สังคมซุกไว้ใต้พรมมาตลอด เปิดบทสนทนาตรงไปที่ประเด็นอำนาจ

    ใกล้เคียงกับ ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ แห่ง Glow Story เอเจนซีการสื่อสารที่ถนัดทำงานกับกลุ่มเป้าหมายอายุน้อยกว่า 30 ปี ปิยพัทธ์ตั้งคำถามกับการใช้อำนาจที่มากับ “ความหวังดี” ที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก ว่านั่นเป็นคำอ้างของการอยากเปลี่ยนอีกฝ่ายให้เป็นอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า

“เราทำแคมเปญ ‘วิชาชีวิต’ ชวนคนมาทบทวนชีวิตตัวเองใน 7 นาที เราพบภาพที่ผู้ใหญ่มองมาที่เด็กต่างจากที่เด็กมองตัวเองมาก ไม่มีเด็กคนไหนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็ก และไม่มีใครเลยที่รู้สึกว่าปัญหาของเขาเป็นเรื่องเล็ก เขามีภาพฝันในอนาคตที่อยากเป็น และเหนื่อยเพราะต้องวิ่งไปหาภาพนั้นตามลำพัง ต่อสู้เพื่อยืนหยัดความเชื่อ ต้องพิสูจน์ตัวเอง ไม่มีใครปลอบประโลม และไม่มีใครเข้าใจเขาเท่ากับที่เขาต้องให้กำลังใจและเข้าใจตัวเอง พอไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครก็มีพื้นที่เพื่อนในโซเชียลมีเดียที่คอยให้กำลังใจ เพราะพื้นที่นี้เองก็พยายามดึงเอ็นเกจเมนต์ด้วยอัลกอริทึมที่เลือกความเชื่อใกล้เคียงกันมาให้เห็น”

ในเมื่อต้องเดินเดี่ยวกับคนรุ่นตัวเอง การเยียวยาตัวเองและช่วยกันเยียวยาในกลุ่มเพื่อนจึงกลายเป็นวิธีการอยู่รอดที่สำคัญของคนรุ่นใหม่

“เราทำงานกับความสับสนของตัวเองเยอะพอสมควร ทำงานหนักเพื่อไขว่คว้าบางอย่าง และกำลังกลับมาหาแกนชีวิตของตัวเอง หาบาลานซ์ให้ตัวเอง เมื่อเจอเพื่อนๆ ในขบวนเดียวกัน ก็รู้สึกว่าทำไมที่เขาเจอมันหนักจังวะ เราต้องฮีลเขา เราต้องเอ็มพาวเวอร์กันตลอด กระบวนการของเพื่อนจึงมีส่วนมากๆ ที่คอยเติมเต็มกัน” เป็นประเด็นสำคัญของ นราธิป ใจเด็จ จาก มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่ทำงานสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับไปอยู่และพัฒนาบ้านเกิด เขาบอกว่า คนรุ่นใหม่ต้องการการสนับสนุน ทั้งจากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน การรับฟังความคิดของคนรุ่นเขา และกำลังใจในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัว เพื่อนบ้าน และชุมชน ที่ยังเชื่อว่า คนที่เรียนจบแล้วกลับมาอยู่บ้านคือคนไม่ประสบความสำเร็จ

.

ใกล้ 40 – ทบทวนตัวเอง

เมื่อชีวิตเดินทางไกลขึ้น ประสบการณ์ของการมีลูก มีเจ้าตัวเล็กอันเป็นที่รักของตัวเอง ทำให้คนวัยนี้ได้ทบทวนและเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่น้อย แม้จะไม่ง่าย ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ แห่ง ชูใจกะกัลยาณมิตร เอเจนซีโฆษณาเพื่อสังคม แชร์ประสบการณ์

“ทุกเรื่องในชีวิตสอดคล้องกันหมด เราสัมพันธ์กับตัวเอง กับที่บ้าน ที่ทำงาน สังคม และการดูแลลูกแบบเดียวกัน ผมเพิ่งมีลูก ลูกเป็นครูเรา เด็กเป็นครูเรา สอนอะไรเราเยอะ ทำให้เราเรียนรู้ ให้สำรวจตัวเองและจัดการตัวเองก่อน แต่ประเด็นคือมันไม่ง่าย สิ่งที่ผมต้องเรียนใหม่คือการต้องรู้จักฟัง รู้จักกลับมายอมรับ ลูกนี่เราต้องฟังเพราะผมรักเขา แต่กับคนที่เราไม่รู้จักกันมันไม่ง่าย เราต้องรับฟังมีดโกนอาบน้ำผึ้งตลอดเวลา ซึ่งเราก็ยังมีตัวตนเยอะ แต่แน่นอนว่าเราก็อยากมีเพื่อนที่ฟังกันได้ คุยกันได้ เปิดใจรับฟังแม้จะมีประสบการณ์ต่างๆ กัน”

ประเด็นที่น่าสนใจของประสิทธิ์คือ ความแตกแยกที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศการสื่อสารที่รุนแรงทางโซเชียลมีเดีย และอัลกอริทึมที่ไม่น่าไว้ใจ

“ผมว่าสังคมที่งดงามคือสังคมที่ให้คุณค่ากับการฟังเสียงเล็กเสียงน้อย โซเซียลมีเดียทำให้เราได้ยินทุกเสียง แต่เราต้องระวังใจในการฟังด้วย เพราะเสียงดังไปหมด แต่ไม่รู้ว่าดังเพราะอัลกอริทึมของเราเองหรือเปล่า เราได้ยินเยอะ แต่ฟังน้อยลง และทำร้ายหัวใจกัน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ความเคารพกันมันน้อยลง ทุกวันนี้ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในสงคราม ตัวหนังสือเหมือนลูกกระสุน ฆ่ากันตายทั้งที่หน้าจอและในสังคมนอกจอด้วย ตัวหนังสือมันไม่มีความรู้สึก งานบนหน้าจอมันไม่ค่อยมีความรู้สึก ไม่มีพื้นที่ในการอธิบาย ทำให้เราทำร้ายกันมากขึ้น”

.

หลัง 50 – ชนขอบของยุคสมัย

ไม่แต่คนวัยเยาว์ ผู้ใหญ่เองก็ต้องกระมิดกระเมี้ยนในโลกออนไลน์ เพราะกลัวกระทบความสัมพันธ์กับคนในกลุ่มสังคมเดียวกัน

“ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเสรีภาพ คนรุ่นเราก็ต้องการเสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเองเหมือนกัน ในเมื่อฉันมีประสบการณ์ชีวิตมาอย่างนี้ ฉันเป็นตัวเองไม่ได้หรือ ฉันต้องทำตัวให้เป็นวัยรุ่นขนาดไหนคนถึงจะยอมรับ สังคมไม่อนุญาตให้คนเป็นตัวเองได้มากพอ สังคมเปราะบางถึงจุดที่ว่า เราจะโพสต์หรือพูดอะไรต้องระวังตัวค่อนข้างมาก” วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธาน กลุ่ม Peaceful Death ที่ทำงานกับคนหลายวัยในประเด็นการตายดี เล่าถึงการปะทะสังสรรค์ทางออนไลน์ ที่ทำให้คนวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้จริงๆ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเห็นด้วยกับความคิดของคนรุ่นใหม่หรือไม่ก็ตาม

“คนวัย 50-70 ปี อาจรู้สึกว่าตัวเองสะสมประสบการณ์มามาก และต้องแลกกับอะไรมาเยอะกว่าจะมาถึงจุดนี้ อายุและประสบการณ์ที่มากขึ้นก็เป็นตัวสะสมอัตตาด้วย พอมาชนขอบหรือข้อจำกัดของคนรุ่นตัวเอง ไม่ใช่เขาไม่อยากปรับตัว แต่เขาไม่รู้จะใช้ชีวิตในโลกที่ไม่รู้จักได้อย่างไร พอไม่รู้จักก็มีวิธีตอบสนองสองแบบ คือเกาะอันเดิมให้แน่นเพื่อให้เรายังมีคุณค่าอยู่ หรือพยายามเรียนรู้โลกใหม่ ตอนนี้มีคนสูงวัยจำนวนมากต้องเรียนการใช้ไลน์และซูมเพราะอยากเป็นที่ยอมรับ

 “ความยากในการทำงานเรื่องช่องว่างระหว่างกันไม่ใช่เรื่องช่วงวัย เพราะคนวัยเดียวกันก็ยังทำงานด้วยกันยากมาก คนมีเฉดหลากหลาย โดยเฉพาะเวลาพาเขาไปชนขอบบางอย่างจะยิ่งยาก เวลาคนเดินชนขอบของตัวเองนี่น่าสนใจมาก เขาจะมีปฏิกริยาอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของคุณค่า เป็นเรื่อง Spiritual rank เป็นเรื่องความหมายทางจิตวิญญาณมากๆ”

.

Generetion Gap ไม่ใช่แค่อายุ – จะแหวกว่ายแบบไหนในความแตกต่าง

คำว่า “Spiritual rank” ของ วรรณา ดึงอุณหภูมิของอ่างปลาให้สูงขึ้น อย่างที่เธอบอกว่า ลำดับชั้นทางจิตวิญญาณที่สูงกว่า นอกจากจะเป็นความสามารถที่จะเปิดกว้างรับฟังและตระหนักรู้ในความแตกต่าง แต่บางครั้งก็มาพร้อมอัตตาที่ใหญ่ขึ้น และบางคนก็ใช้ Spiritual rank นี่แหละมาข่มกัน ไม่ต่างจากมาตรวัดความสูงต่ำอื่นๆ

“ทำอย่างไรเราถึงจะภูมิใจกับความเป็นคนรุ่นตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ไปกดทับหรือเบียดพื้นที่คนอื่น ทำอย่างไรจึงจะสร้างสภาพแวดล้อม นโยบาย หรือค่านิยม ที่สามารถทำให้เกิดสันติสุขภายในตนเอง (Peace within)  สันติสุขที่มีต่อผู้อื่น (Peace Between) และสันติสุขในสังคม (Peace Among ) ขึ้นมาให้ได้  ที่สำคัญคือเราเองต้องผ่านประสบการณ์การอยู่กับความแตกต่างให้ได้โดยมี Resilience คือสามารถดูแลตัวเองได้ ปรับตัว ยืดหยุ่น และฟื้นตัวขึ้นมาได้จากปัญหาที่เผชิญ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้ เราจะไปพูดเรื่องนี้กับสังคมได้อย่างไร” วรรณา เสนอ         

วิภาพรรณ รำพึงดังๆ ว่าการฝึกให้ Resilience ได้นั้นยากมาก ไม่ใช่เฉพาะกับคนต่างวัย แต่กับคนวัยเดียวกันด้วย จะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเกื้อหนุนให้คนรุ่นใหม่เติบโต เข้าใจตัวเอง พร้อมรับฟัง และมีท่าทีที่เป็นมิตรกับผู้อื่น

“นี่เป็นอีกเรื่องที่เราต้องฝึก เราปรารถนาดี อยากให้ประเทศนี้ดีขึ้น สังคมดีขึ้น ทำงานกันอย่างราบรื่น แต่เราไม่รู้จะเปลี่ยนความปรารถนาดีของเราไปสู่วิธีการที่ดีต่อใจอย่างไร เพราะทุกคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรงในการสื่อสาร”

ดูเหมือนว่า ความเห็นร่วมข้อหนึ่งของวงสนทนาคือ ช่องว่างระหว่างกันของคนแต่ละช่วงวัยที่มากไปกว่าตัวเลขอายุ

“วัยอาจไม่ใช่ช่องว่างเดียวที่เป็นปัญหา ความเชื่อและความสนใจที่ต่างกันก็เป็นช่องว่าง การยอมรับและฟังกันโดยที่ใจเราเปิดกว้างเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า” จิราภรณ์ กมลรังสรรค์ จาก สสส. ให้ความเห็น

สอดคล้องกับ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “ปัญหาอยู่ที่แต่ละกลุ่มเข้าถึงชุดความรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้ตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน อย่างคุยกับพ่อแม่ก็จะเจอข้อมูลแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่รู้ว่าเขาไปฟังจากไหน แต่ถ้าคุยกับเพื่อนจะไม่ค่อยมีอะไรใหม่ เหมือนเขาอยู่ในสื่อเดียวกับเรา กับนักศึกษาก็อีกแบบ คนแต่ละคนในแต่ละรุ่นจะมีกรอบของตัวเอง ทำให้ผมต้องถามตัวเองเสมอว่า ชุดความเชื่อ ความรู้ ที่เราได้รับมามันจริงไหม มันเหมือนเราอยู่ในกะลาที่มองไม่เห็น และไม่รู้ด้วยว่าเป็นกะลาใหญ่เล็กขนาดไหน เพราะแต่ละคนไม่เห็นกะลาของตัวเอง

“ประสบการณ์หลายอย่างก็ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่จะนำทางเด็กได้เพราะเจอพร้อมกันอย่างเรื่องการเรียนผ่านซูม แต่ในห้องเรียนเรามีอำนาจมากกว่า แล้วกติกาที่ตั้งจากมุมของเรา มันจะโอเคไหมในมุมของนักศึกษา ผมว่าการรับฟังกัน การเปิดกว้างมากๆ เป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ”

ยุวดี งามวิทย์โรจน์ จาก สสส. แชร์ประสบการณ์ของการรับฟังข้ามรุ่นในบ้าน “นึกถึงเรื่องของทักษะภายในที่พัฒนาได้ พอเราเจอเหตุการณ์อะไร ทักษะนี้จะขึ้นมารับมือทันที ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่การฟัง การเรียนรู้ภายใน การมีสติ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  อย่างที่บ้านมีคนหลายเจนอยู่ด้วยกัน และเคยไม่เข้าใจกันมากๆ พอถึงวันที่อาม่าเราเสียไป เราก็เสียใจ และเป็นเรื่องค้างคาใจที่เราพยายามไม่ให้เกิดซ้ำกับพ่อแม่เรา ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น และความเข้าใจกันและกันมีส่วนช่วยในเรื่องการลดความขัดแย้งหรือความเห็นต่างได้ดี”

และเสริมด้วย ญาณี รัชต์บริรักษ์ จาก สสส. ผู้ชื่นชอบนิยายจีนพีเรียด “ในเรื่อง มังกรหยก ของกิมย้ง ตัวละครสองตัวคือ อึ้งเอี๊ยะซือหรือมารบูรพา เป็นเจนเบบี้บูมเมอร์ และเอี๊ยะก๊วย อยู่เจนวาย ทั้งคู่เป็นสหายกันเพราะเขาทลายจารีต ทลายกรอบประเพณีและขอบของแต่ละเจนที่เขาโตมา กิมย้งเองก็ตั้งคำถามกับเรื่องยุคสมัยนั้น เลยคิดถึงรูปธรรมของการสมานฉันท์ที่มีการรับฟังและเข้าใจความคิดที่แตกต่างกัน”

ส่วน อารี อาภรณ์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ช่วยเติมประเด็นคมๆ ที่ขาดหาย “ในวงเราไม่ค่อยพูดถึงเรื่องโครงสร้างอำนาจที่อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในบ้านเมืองตอนนี้ ถ้าเราพูดแค่เรื่องความแตกต่างระหว่างรุ่น หรือพูดเฉพาะมิติด้านจิตใจ แต่ไม่แตะเรื่องโครงสร้างอำนาจ การเมือง ผลประโยชน์ หรือการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ทั้งคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ต่างถูกโฆษณาชวนเชื่อใช้เป็นเครื่องมือมาหลายยุคสมัย คนที่กระทำกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่ไม่รู้ ถ้าเราไม่แตะตรงนี้ก็ข้ามปัญหาไม่พ้น แต่ถ้าพลิกตรงนั้นนิดเดียว เชื่อว่าทุกอย่างจะเปลี่ยน” 

กรรณิกา ควรขจร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เสริมประเด็นนี้ “เราอยู่ในโครงสร้างของอะไรบางอย่างมานานมากแล้ว เราหาทางออกกันมามาก และต้องมีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ เราควรให้ความสำคัญกับช่องว่างระหว่างคนที่แตกต่างกัน ระหว่างความรวยความจน การเข้าถึงความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกคลุมอยู่และมีผลกับพวกเราทุกคน

“แล้วในฐานะส่วนตัวที่เป็นคนเจนเบบี้บูม และมีลูกวัย 28 แม้เราจะเป็นคนที่ฟังมาก เปิดมาก แต่บางมุมเราก็ไม่เข้าใจความลึกซึ้งของความคิดความรู้สึกของเขา ซึ่งทำให้เกิดข้อผิดพลาดในความสัมพันธ์ได้ เราต้องเท่าทันสิ่งที่เป็นตัวเรา สิ่งที่เราพูดหรือแสดงออกที่มันอาจจะอยู่คนละคลื่นกับอีกฝ่าย สิ่งสำคัญของชีวิตคือคำว่า การภาวนา และสติ การมีสติรับรู้ มีสติเท่าทัน เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนทุกวัน ต้องทำให้มากขึ้น”

.

เรื่องที่ไม่ลงเอยง่ายๆ

การสนทนาดำเนินมาจนคล้ายจะหาทางออกจากเรื่องวุ่นๆ ร่วมกันได้ระดับหนึ่ง ก่อนที่ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์  จาก Free Spirit Thailand คนรุ่นเล็กของวงจะเอ่ยขึ้นเรียบๆ ถึงวิกฤตการณ์ดำรงอยู่ของคนรุ่นเยาว์ ที่เหมือนโยนวงสนทนาเข้าไปในจักรวาลอีกใบ 

“ระหว่างที่เราพูดเรื่องชีวิตที่มีคุณค่าอยู่ คนรุ่นใหม่หลายคนที่ทำงานด้วยและกำลังเติบโต ไม่ได้เชื่อว่าชีวิตต้องมีคุณค่า ไม่เชื่อในชีวิตที่มีความหมาย และไม่เชื่อว่าชีวิตที่ต้องมี Passion อาจเป็นเพราะ Existential crisis ที่ปะทะกับเขาเร็วขึ้น เพราะการเข้าถึงสื่อตะวันตกที่มากขึ้น หรือการมีชีวิตที่มีความหมายมันเหนื่อยเหลือเกิน เลยเกิดคนกลุ่มใหญ่ๆ นี้ขึ้นมา คนที่ใช้ชีวิตแบบไม่มีความหมายก็ได้ ความท้าทายของเราคือ เราจะอยู่ร่วมบ้านเดียวกับคนที่ไม่เชื่ออะไรเลยได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้และเรายังมีสิ่งหนึ่งร่วมกัน คือเราต่างพยายามใช้ชีวิตอยู่ให้ไม่ต้อง Mental Breakdown และความพยายามแบกชีวิตที่มันใช้ยากเหลือเกินภายใต้กรอบทุนนิยมและกรอบของสังคมนี้เอง เป็นทักษะที่ผมเรียกว่า Self Resilience คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องพยายามหาความหมายให้ชีวิตก็ได้ แต่เราในฐานะคนทำงานด้านการสื่อสารและสุขภาวะ เราจะสร้างนิเวศอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกว่า กำลังแบกชีวิตไว้คนเดียว การช่วยกันลดแรงกดดันในชีวิต ให้ไม่กระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะนั้น เป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนเพื่อเห็นแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน”

นั่นสิ จะทำอย่างไร ….. เรื่องนี้ยังไม่ลงเอยง่ายๆ แบบนี้ ต้องมีวงสนทนาภาคต่อไปแน่ๆ

.

ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา

เรื่อง: จารุปภา วะสี  ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save