8 ช่องทางความสุข

ที่มั่นสุดท้าย

“อีลูกกำพร้า…”

ประโยคเดียดฉันท์รุนแรงที่เคยได้ยินจากในละคร พอเจอกับตัวเองในชีวิตจริงมันเจ็บแปลบอยู่กลางอกจนตีหน้าบอกความรู้สึกไม่ถูก

ยิ่งออกจากปากญาติมิตรชิดใกล้ในห้วงยามที่น่าจะเห็นอกเห็นใจกันยิ่งเป็นเรื่องเศร้าซ้อนซ้ำเหมือนฉากในงานเขียนของ ชาติ กอบจิตติ

.

ใช่…มันเป็นความจริงที่ยากจะรับ ว่าเราเพิ่งเป็นลูกกำพร้าหมาดๆ ยังไม่ทันจะครบปีในตอนนั้น เพราะพ่อด่วนจากไปด้วยอุบัติเหตุจึงไม่มีโอกาสได้ล่ำลากัน

แน่นอนว่าไม่มีใครทันได้เตรียมใจ

.

การสูญเสีย แยกจาก แยกย้ายเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของเด็กหญิงคนหนึ่ง หัวใจของเราสองแม่ลูกคงแหว่งวิ่นพอกัน เป็นการแตกสลายที่ไม่ใช่เพียงแต่หัวใจเท่านั้น ด้วยชีวิตเริ่มดำดิ่งสู่ความทุกข์ยาก

.

เราต้องอยู่กับป้าเพราะลำพังแม่คงดูแลไม่ไหว และบ้านป้าก็ยังใกล้โรงเรียนมัธยมฯ ที่มีค่าใช้จ่ายมากมาย จึงเป็นการลดภาระแม่

การแยกกับแม่เป็นการจากที่เข้าใจได้ แต่การจากตายกับพ่อเป็นเรื่องยากจะทำใจ

ความตายในความรู้สึกวัยเด็กจึงเป็นความเศร้าดำมืด และความทุกข์ระทมนั้นปูถนนน้ำตาให้คนข้างหลัง

.

เด็กไปกว่านั้นเคยนึกกลัวความตาย เมื่อได้รู้ความจริงว่าเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ในวันหนึ่งเราจะตายจากกันไปทีละคน จึงพานโทษการเกิด ว่าทำไมเราต้องเกิดมาเป็นคนที่มีเลือดมีเนื้อ มีความเจ็บปวด ทำไมไม่เกิดเป็นต้นไม้ ก้อนเมฆที่มันไม่มีหัวจิตหัวใจ

เด็กๆ จึงมีความฝันประหลาด อยากเป็นท้องฟ้า มีร่างโปร่งใส ไม่มีความเจ็บปวด และก็คงไม่ตาย

.

การเติบโตพร้อมเผชิญความกลัวในชีวิตเป็นเรื่องยากยิ่ง สิบปีแรกนับแต่วันที่พ่อจากไปแล้วไม่กลับ เราทิ้งหัวลงหมอนพร้อมน้ำตาทุกคืน ส่วนกลางวันตอนตื่นก็ยังใช้ชีวิตแต่ดำเนินไปในความหลัง

เหมือนพรุ่งนี้ก็ยังเป็นเมื่อวาน

.

มีกีตาร์ตัวเก่าเล่นเป็นอดิเรก มันเปรียบเสมือนตัวแทนของพ่อ เราจึงพยายามฝึกมัน ถึงจะจับเป็นเพียงสี่คอร์ดเท่านั้น แต่ก็เป็นพื้นฐานของบางเพลง พอให้หัวใจเต้นรำในทำนองเศร้าสร้อย

ช่วงมัธยมฯ เป็นวัยที่ควรจะสดใส แต่กลับมีดวงตาไร้แวว พูดน้อย ไม่มีความคิดเห็น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่รู้ว่าอยากเป็นหรือเรียนอะไรต่อ มองไม่เห็นอนาคต จนท้ายสุดก็เป็นเด็กไม่มีความฝัน ถ่มลมหายใจทิ้งไปวันๆ

.

อดีตสร้างบุคลิกที่ทำให้ภายนอกดูไม่ค่อยเป็นมิตร เราจึงมีเพื่อนน้อยจนนับนิ้วได้เพียงมือข้างเดียว ในเวลานั้นสมุดไดอารีเป็นสิ่งเดียวที่เราเชื่อใจเล่าความนัยให้ฟัง

ความโดดเดี่ยวเลือกเพื่อนสนิทให้เป็นหนังสือในช่วงวัยที่เริ่มค้นหาความหมายของชีวิต

.

.

ประโยคหนึ่งในบางเล่มบอกว่า “ความตายทำให้การมีชีวิตสมบูรณ์” แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าการสูญเสียนั้นเป็นความสมบูรณ์ของชีวิตได้อย่างไร

จึงเริ่มถกถามกับตัวเองถึงความหมายของการมีชีวิต ว่าคนเรานั้นเกิดมา เติบโต เบ่งบาน แล้วร่วงโรยเหมือนดอกไม้ เท่านั้นหรือ

.

บางปรัชญาในหน้าหนังสือหลายเล่มไม่ได้ตอบตรงๆ ในเรื่องที่เราไม่เข้าใจ บอกเพียงหลักการดำเนินชีวิตและมีสติในปัจจุบัน จึงยังคงเป็นสิ่งที่เราค้นหาคำตอบเรื่อยมา กระทั่งในปัจจุบัน

ความตายของพ่ออาจทำให้เรามองเห็นปลายทางของฉากชีวิตเร็วกว่าคนอื่น ว่าท้ายที่สุดแล้วคนเราล้วนมีความตายเป็นของตน

.

การมองข้ามเป้าหมายชีวิตเลยไปฉากสุดท้ายนั้น ทำให้เราตัดสินใจบริจาคร่างกายไว้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เจตจำนงเพียงแค่ไม่อยากตายแล้วถูกยัดร่างเข้าเตาตะกอนเผาเป็นเถ้าไปเท่านั้น มันคงจะดีหากร่างกายของเราจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง

.

เงื่อนไขของการรับร่างที่ทราบหลังบริจาคไปแล้วมีค่อนข้างมาก ต้องมีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ เป็นศพที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ไม่เสียชีวิตด้วยโรค เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน โรคไต และอุบัติเหตุ

ใช่ว่าตายแล้วจะบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ทุกคน

.

ผลพลอยได้ของการมีเป้าหมายในชีวิตเพื่อการบริจาคร่างกาย คือการไม่ใช้ชีวิตให้ก่อโรคต้องห้าม และสิ่งสำคัญคือการใช้ชีวิตไม่ประมาท ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ

หรือแท้ที่จริงแล้วสาระสำคัญของการมีชีวิตนั้น คือการใคร่ครวญ ตระหนักรู้ในปัจจุบัน

.

.

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่พ่อเสีย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านช่วงเวลานั้นมาโดยลำพังได้อย่างไร แต่มันก็หล่อหลอมจนเราเป็นเราในทุกวันนี้

คำพูดฆ่าคนได้ดังที่ใครเขาว่า เราผ่านและได้ยินมามากมาย จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นภูมิคุ้มกันคำคนในตอนโต

.

แน่นอนว่าชีวิตต้องเจอการพลัดพรากจากตายกันอีกหลายต่อหลายครั้ง ความตายของพ่อคงไม่ได้ทำให้เราเสียใจน้อยลง หากมีใครสักคนอันเป็นที่รักต้องจากกันไปอีก แต่อย่างน้อยเราก็ได้เข้าใจและเรียนรู้ที่จะรับมือมากขึ้นในความเจ็บปวดครั้งต่อๆ ไป

.

“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง” เป็นประโยคสัจธรรมที่เราเลือกฝังน้ำหมึกไว้ตำแหน่งใกล้กับหัวใจ ในวันเกิดครบรอบ ๒๗ ปี เผื่อว่าวันหนึ่งร่างกายของเราได้ใช้ศึกษาตามความตั้งใจจริง ก็อยากให้เป็นสารสุดท้าย บอกคนข้างหลังในวันที่เราพูดกับใครไม่ได้แล้ว

.

คงจะดีหากความตายของเราเป็นความตายที่ไม่ได้ตายเสียเปล่า

เรื่องและภาพ : เสาวรัตน์ ปันทจักร์

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save