8 ช่องทางความสุข

ความสุขไร้กรอบเพศภาวะของอวยพร เขื่อนแก้ว

เมื่อเอ่ยชื่ออวยพร เขื่อนแก้ว นักสตรีนิยมในสังคมไทยคงคุ้นหูกันดี เพราะผู้หญิงคนนี้ก้าวเดินบนถนนสายนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศมานานกว่าสามสิบปีแล้ว ความสนใจเรื่องประเด็นผู้หญิงของเธอเริ่มขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ตอนที่รัฐบาลออกนโยบายตั้งกลุ่มแม่บ้านทั่วประเทศ ทำให้เกิดคำถามในใจว่า “รัฐบาลตั้งกลุ่มแม่บ้านนี่มันส่งผลต่อชีวิตผู้หญิงไหม คำตอบที่พบคือมันไม่ได้ช่วย แต่มันผลักให้ผู้หญิงไปอยู่ในกรอบการเป็นภรรยาเป็นแม่ที่ดี ไม่ได้สนับสนุนผู้หญิงให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง สังคมและการทำงานที่ดีขึ้น”

นโยบายนั้นจุดประกายให้เธอหยิบหนังสือเกี่ยวกับสิทธิสตรีขึ้นมาอ่าน “นั่นเป็นครั้งแรกที่อ่านหนังสือเฟมินิสต์ พออ่านก็ยิ่งชัด เราเห็นความไม่เป็นธรรมทางเพศมาตั้งแต่เล็กๆ ได้เรียนรู้กับเพื่อนเฟมินิสต์ตะวันตกที่เขาจริงจังเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสิทธิสตรี ซึ่งบ้านเรายังไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องนี้เลย สังคมเรามีการกดขี่ผู้หญิงอยู่ในทุกระบบ”

พอไปอยู่อาศรมวงศ์สนิทได้ศึกษาเรื่องการทำงานบนฐานความเมตตากรุณาแทนการทำงานที่ถูกผลักดันจากความโกรธ ความไม่พอใจที่เห็นความไม่เป็นธรรม คุณอวยพรจึงเริ่มทำงานเรื่องสิทธิสตรีแนวพุทธ

“เราหันมาสนใจการทำงานจากความเมตตากรุณา และพบว่าการทำงานเรื่องความเป็นธรรมแนวพุทธนี้น่าสนใจมาก”

เธอได้เห็นตัวอย่างแนวทางปฏิบัติของหลวงแม่ธัมมนันทา (ภิกษุณีองค์รูปแรกของเมืองไทย เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมกัลยาณี) ที่แก้ไขประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศผ่านการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง โดยที่ท่านเป็นผู้นำแนวหน้าเรื่องสิทธิสตรีในพุทธศาสนาระดับโลก

“เราสนใจเรื่องผู้หญิง เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในพุทธศาสนาเพราะหลวงแม่ทำให้เรารู้ว่าผู้หญิงสามารถตรัสรู้ธรรมได้  ได้เห็นวิธีการที่ท่านทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในศาสนาพุทธ ผ่านการลงมือปฏิบัติเอง ทั้งจากการพูด การเขียน และการออกบวชเพื่อเปิดพื้นที่ทางศาสนาให้แก่ผู้หญิง  เราก็เลยให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาจิตใจแนวพุทธและสตรีนิยมในช่วงนั้นของชีวิต  ต่อมาสองเรื่องนี้เป็นฐานในการทำงานและการสอนเรื่องไม่เป็นธรรมทางสังคม   การทำงานเรื่องความเป็นธรรมเป็นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงแต่คนทำงานก็ต้อง พัฒนาและเปลี่ยนแปรจิตใจตนเองให้พ้นจากความโลภ โกรธ หลงด้วย  การเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในนี้มันต้องผสานสอดคล้องไปด้วยกัน พวกเราเรียกตัวเองว่า บุดดิสท์ เฟมินิสต์ (Buddhist Feminist Activist) หรือนักสตรีนิยมแนวพุทธ”

และเธอยังมองเห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในทุกสถาบันของประเทศไทย รวมทั้งในระบบเศรษฐกิจ “มันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบชายเป็นใหญ่ที่เอาเปรียบคนจน และโดยเฉพาะการเอาเปรียบแรงานผู้หญิง เช่น เรื่องค่าจ้างที่ตำ่กว่าผู้ชาย การไม่จ้างผู้หญิงในหลายอาชีพที่เงินเดือนสูง  ปิดกั้นเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง ไม่มีความปลอดภัยในที่ทำงาน ไม่มีสวิสดิการแก่แม่เลี้ยงเดี่ยวและผู้หญิงท้อง เป็นต้น ”

มาถึงวันนี้ เห็นว่านอกเหนือจากเพศ และความเท่าเทียมด้านอื่นๆแล้ว เราควรหมายรวมถึงเรื่องการเลิกวัฒนธรรมการใช้อำนาจเหนือกว่าด้วย  “ในหมู่เฟมินิสต์หรือนักต่อสู้เรื่องเพศทั้งหลายมักจะพูดเรื่องระบบเพศว่าทำยังไงให้หญิงกับชายและอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ เท่าเทียมกัน แต่เราว่ายังไม่พอ สังคมที่หญิงชายและทุกอัตลักษณ์ทางเพศ มีความเท่าเทียมกันด้านสิทธิ เสรีภาพ โอกาส สถานภาพ และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในครอบครัวและสังคมคือการสร้างวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปันและการใช้อำนาจร่วม  แต่ในหมู่ผู้หญิงกับผู้หญิง(และคนทุกเพศ) ด้วยกันก็ต้องใช้อำนาจแบบใหม่ เลิกการใช้วัฒนธรรมอำนาจเหนือ เรารู้สึกว่าเฟมินิสต์บ้านเราหลายคนไม่เอาเรื่องอำนาจมาจับเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตของตนเอง เรื่องการปรับเปลี่ยนอำนาจระหว่างเพศนี้เป็นสิ่งที่ดีดี แต่ยังไม่พอ วัฒนธรรมอำนาจร่วมมันควรจะเกิดขึ้นในทุกที่”

ในขณะที่สังคมมองว่านักสิทธิสตรีส่วนใหญ่ทำงานเรียกร้องให้ผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชาย แต่คุณอวยพรมีมุมมองที่พัฒนาไปไกลกว่านั้น ผู้หญิงกับผู้หญิงก็ควรเท่าเทียมกันด้วย “ใช่ เขาจะมองอยู่บริบทเดียว แต่แว่นที่เราใช้เราไม่ได้ใช้เพศ เพศวิถีเท่านั้น เราใช้เรื่อง เช่น ชนชั้น เรื่องชาติพันธ์ อายุ ระดับการศึกษา  ถิ่นที่อยู่ เราใช้หลายเรื่องมาวิเคราะห์แม้กระทั่งเรื่องนิเวศวิทยา   เห็นโครงสร้างทั้งหมดในสังคมที่สร้างความทุกข์ต่อคนชายขอบหลากหลายกลุ่ม ส่งผลต่อธรรมชาติ สรรพสัตว์   ผ่านมา 30 ปีเราคิดว่าเราเป็นนักสตรีนิยมแบบนี้ (intersectional feminist)

เราคิดว่าตัวเองไม่ใช่แค่เฟมินิสต์ เพราะเราไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจกดข่มกดขี่และความรุนแรงทุกรูปแบบ (anti-oppression)    การที่เรามองเห็นความเป็นธรรมที่ทับซ้อนนี้เพราะตัวเราเองผ่านประสบการณ์การถูกกดขี่หลายรูปแบบ  และถ้าเราไม่สนใจเรื่องจิตวิญญาณเราจะไม่ใส่ใจเรื่องการรู้เท่าทันความโลภ โกรธ หลง ภายในจิตใจตนเอง  เราอาจจะกลายเป็นคนทำงานความเป็นธรรมทางสังคมที่ทำเพื่อตัวเอง เพื่อความร่ำรวย เพื่อชื่อเสียง การยอมรับและการมีสถานภาพในสังคม  การพัฒนาจิตวิญญาณแนวพุทธจึงเป็นฐานช่วยให้เกิดการตื่นรู้ภายในในขณะที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องภายนอกตัว

ความกล้าพูด กล้าวิจารณ์ ทำให้หลายคนมองว่าเธอแรง “เราเคยถูกวิพากษ์ว่าเป็นเฟมินิสต์แรง  และนี่เป็นการตอบโต้ที่เฟมินิสต์ทั่วโลกจะเจอ  เพราะพวกเราไม่ใช่ภาพของผู้หญิงไทยที่ผู้คนคุ้นเคยแล้วเค้าก็รับไม่ได้  ในระบบเพศบ้านเราผู้หญิงถูกหล่อหลอมความเป็นหญิง (ผ่านหลากหลายสถาบันทางสังคม socialization) ว่าต้องอ่อนโยน เป็นผู้ฟัง ผู้ตามที่ดี อ่อนหวานและเรียบร้อย แต่(พวกเรา)ไม่ใช่ผู้หญิงแบบนั้น  อีกอย่างคือเมื่อเราค้นพบตัวตนและเลือกแล้วว่าเราเป็นเลสเบี้ยน(หญิงรักหญิง)เราก็เลยไม่ได้สนใจว่าผู้ชายจะคิดยังไงกับบุคลิกภาพของเรา คือไม่เคยคิดที่จะต้องปรับตัวให้เป็นตามแบบฉบับหญิงไทยเพียงเพื่อจะให้ผู้ชายมาชอบหรือยอมรับ”

ความเชื่อฝังหัวของผู้หญิงไทยในเรื่องเพศและความไม่เท่าเทียมทางเพศ ยังส่งผลให้พวกเขาควบคุมและกดข่มกันเองด้วย “ในโซเชียลมีเดียเราจะเห็นตัวอย่างเยอะมากที่ผู้หญิงจะดูถูก ตีตรา วิพากษ์ผู้หญิงด้วยกันเอง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย กิริยามารยาท อย่างเช่นคำว่า ผู้หญิงดีจะต้องไม่ทำแบบนั้น หากแต่งตัวรัดกุมจะไม่ถูกข่มขืน ผู้หญิงจะกำกับตรวจตรา(Policing)กันเองตลอด และเราจะเห็นการแข่งขันและการกดข่มระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง”

ในบ้านเราผู้หญิงเองยังไม่สนใจสิทธิสตรีเพราะแนวคิดและวิถีชีวิตแบบเฟมินิสต์มันไม่ใช่แนวคิดกระแสหลักหรือมีพลังต่อสังคมไทย เราไม่ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้จากที่ไหนหรือสถาบันไหนเลย  ดังนั้นผู้หญิงในสังคมเรายังวนเวียนอยู่ภายใต้กรอบเพศที่ตอกย้ำภาพลักษณ์และบทบาทหน้าที่เดิมๆของผู้หญิงที่แคบมากคือ เป็นการเด็กผู้หญิงที่น่ารัก การเป็นผู้หญิงสวย เชื่อฟังพ่อแม่ อ่อนหวาน เรียบร้อย เป็นผู้ตามที่ดี สิ่งเหล่านี้ที่ฝีกฝนไปก็เพื่อวันหนึ่งเธอจะเจอผู้ชายที่รักและนี้จะทำให้ชีวิตเธอสมบูรณ์” หลังจากนั้นคือการทำหน้าที่การเป็นเมียและแม่ที่ดี คือเอาอกเอาใจให้เกียรติยกย่องสามี  ทำงานบ้านและเลี้ยงลูกเป็นเรื่องใหญ่   “ดังนั้นผู้หญิงที่มีพ่อดี มีสามีดี เขาก็จะสนใจแต่เรื่องเลี้ยงลูก ดูแลผัวให้ดี ดูแลพ่อแม่และทำงาน  ตัวเขาก็จะมองไม่เห็นหรือไม่ถูกกระทบจากความรุนแรงทางเพศหรือความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มันดำรงอยู่ในระบบต่างๆ ของสังคม ที่ผู้หญิงจำนวนมากมายประสบอยู่

จากการทำงานมาตลอด 30 ปี คุณอวยพรมองเห็นว่างานด้านความเท่าเทียมทางเพศยังขาดการรวมพลัง “มันไม่มีการเชื่อมที่จะให้เราเห็นเป็นคลื่นหรือเป็นกระแสทีทำให้คนในสังคมรับรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิ่งนี้  สิ่งที่เราต่อสู้คือระบบต่างๆในสังคมที่มันให้อำนาจผู้ชายอย่างล้นท้นแล้วมันไม่เคยเปลี่ยน แล้วบ้านเราไม่เคยมีคนหรือองค์กรที่จะทำขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องเพศให้เกิดขึ้น  ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลหรือองค์กรมากกว่า จึงทำให้งานนี้ในตอนนี้มันกระจัดกระจายกันไปหมด ไม่มีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง”

 เธอพบว่า วิถีพุทธช่วยปรับจิตใจให้รับปัญหาและฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมได้

ใครก็ตามที่ทำงานเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม  ถ้าไม่เดินทางข้างในก็ไม่มีทางที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยใจที่เบิกบานและมีพลัง  เพราะเราก็จะจมจ่อมอยู่กับความโกรธ ความไม่พอใจ ความเครียดและภาวะสิ้นหวัง  เงินทุนก็น้อย แต่เราอยู่กับปัญหาสังคมที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

หลักธรรมของศาสนาพุทธ ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และช่วยไม่ให้ท้อแท้หมดไฟ  “เวลาเราสอนเรื่องพุทธกับเฟมินิสต์ เราก็จะเอาหลัก อริยสัจสี่มาทำความเข้าใจเรื่องความไม่เป็นธรรม เช่นเอามาวิเคราะห์เรื่องเพศ หรือเรื่องชนชั้น ว่ารูปแบบการกดขี่ทางเพศหรือการกดขี่ทางชนชั้นมันปรากฏให้เห็นอย่างไรบ้างในสังคม สาเหตุมันมาจากปัจจัยอะไรบ้าง สภาพที่การกดขี่มันหมดไปคือภาพของสังคมอย่างไร   และแนวทาง ยุทธศาสตร์อะไรบ้างที่จะทำให้สังคมลดการกดขี่และมีความเท่าเทียมกัน  เราจะใช้พรหมวิหารสี่ มาเป็นแนวทางในกระบวนการทำงาน  คือเมตตาตัวเองและเมตตาคนอื่น   มีความกรุณาคือปรารถนาให้เราและคนอื่นๆเป็นสุข  มุทิตา คือความเบิกบานยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีซึ่งมันจะทำให้เราไม่อิจฉาและตัวเราเองต้องบ่มเพราะความเบิกบานยินดีในชีวิตประจำวัน  จากนั้นก็ใช้อุเบกขาเมื่อเราแก้ปัญหานั้นๆยังไม่ได้เราก็ปล่อยวางความคาดหวังหรือเป้าหมายนั้นๆลง     เราก็จะค้นพบว่าเราจะไม่หมดไฟ ไม่มีอาการท้อแท้สิ้นหวังในการทำงานเพื่อสังคมที่ดีขึ้นตั้งแต่ที่ตั้งศูนย์มาช่วงแรกๆจนถึงวันนี้”

ความสนใจในทางพุทธศาสนา ยังทำให้คุณอวยพรมีความสุขจากการรู้จักตัวเองมากขึ้น “และเท่าทันกับมันมากขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะรู้ทีหลังหนึ่งวันหรือสามชั่วโมงอย่างน้อยก็รู้ว่าเมื่อกี้ไปพูดจากดข่มใคร แต่ละวันเวลาไปสอนใครพูดกับใคร แน่นอนเรารู้ว่าต้องสอนคนอื่นๆว่าคุณอย่าสนับสนุนความไม่เป็นธรรม ความรุนแรง มีจิตใจเมตตากรุณา แต่ถ้าผู้เรียนไม่สนใจเรื่องนี้ หรือถึงขั้นต่อต้านท้าทาย เราจะโอบอุ้มเขายังไงโดยไม่ไปกดข่มหรือดุด่าตั้งท่ารังเกียจเขา ถ้าเราภาวนาทุกวันเราจะดึงตัวเองอยู่ เราจะเย็นลง เราจะเห็นและยอมรับสถานการณ์อย่างที่มันเป็นได้  เราเจอผู้เรียนที่ไม่สนใจเรื่องความเป็นธรรมเลย และบางคนเรารู้ได้ว่าเขาเป็นคนที่ทำร้าย แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและกดข่มผู้อื่นที่ร่วมเรียนด้วยกันด้วย  หากเราไม่ภาวนาแผ่เมตตาให้เขาเรารู้เลยว่าเราจะไม่สงบเย็นพอที่จะโอบอุ้มเขาตอนที่เขามานั่งอยู่ในห้องเรียนเรา”

เมื่อพบความสุขจากการดูแลจิตใจตัวเองแล้ว เธอก็พยายามแบ่งปันให้คนอื่นด้วย

หลักสูตรเราต้องมีเรื่องฝึกสติผ่านโยคะ  ส่วนตัวคิดว่าเราเป็นพุทธสายมหายานมากกว่า คือการเดินบนหนทางที่จัดการแก้ปัญหาความโลภโกรธหลงที่อยู่ในระบบต่างๆของสังคม และเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ภายในตัวเองไปพร้อมๆ กัน  คิดว่าโยคะมันเหมาะกับผู้เรียนเพราะมันคือการฝึกจิตใจผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย โยคะมันให้มากกว่าเรื่องสุขภาพเพราะมันสอนให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นภายจิตใจตัวเอง

มันเป็นความสุขที่ต่างไปจากความหมายของสังคมทั่วไป อย่างที่เธออธิบายว่า “ความสุขมันเป็นสิ่งที่มาจากข้างใน ความยินดีจากการเฝ้าดู รับรู้ลมหายใจและร่างกายที่เคลื่อนไหว มันเป็นความเบิกบานที่ไม่พึ่งพิงสิ่งใดๆจากข้างนอกตัว ข้างนอกกายใจของเรา ไม่ใช่ความสุขจากการมี การได้หรือการเป็นโน่นนี่ ความเบิกบานจากข้างในมันทำได้ง่ายและยั่งยืนกว่า”

ขอบคุณภาพถ่ายจากคุณอวยพร เขื่อนแก้วมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save