8 ช่องทางความสุข

ความสุขของนักเสริมพลังการเรียนรู้เพื่อครูปฐมวัย

ครูเปรียบเสมือนแม่คนที่สองของเด็ก  ครูคนแรกที่เด็กได้เจอหลังจากผละจากอ้อมอกแม่คือครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือครูโรงเรียนอนุบาล  ครูคนนี้ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ “ความรู้” แต่ต้องมี “ความรัก” และ “ความเข้าใจ” พัฒนาการของเด็กในช่วงปฐมวัยมากที่สุด  ทว่า ในสายตาของคนทั่วไปอาจมองเห็นครูเด็กเล็กเป็นเพียงพี่เลี้ยงที่ทำให้เด็กกินอิ่มนอนหลับไปวันๆ เท่านั้น ครูหลายคนจึงขาดโอกาสในการเสริมศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน ทว่าในสายตาของสรวงธร นาวาผล และสายใจ คงทนกลับไม่ได้มองเช่นนั้น ทั้งคู่มองเห็น “พลังความรักในอาชีพครู” ที่ซุกซ่อนอยู่ในหัวใจ และเชื่อว่าหากมีกระบวนการเสริมศักยภาพครูปฐมวัยที่กระตุ้นให้ครูสามารถ “คิดต่างอย่างสร้างสรรค์” ได้ด้วยตนเองหรือมีเครือข่ายครูปฐมวัยให้เรียนรู้ร่วมกัน ครูจะกลายเป็น “ขุมพลังแห่งการเรียนรู้” ที่ทำให้เด็กเติบโตเป็นอนาคตของชาติต่อไปอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

สรวงธร นาวาผล และสายใจ คงทน  ทั้งคู่ทำงานภายใต้องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ชื่อว่า Wearehappy ในตำแหน่งผู้อำนวยการและผู้จัดการโครงการมีประสบการณ์ในการทำงานบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพบุคคลมานานหลายสิบปี หรือที่ครูศูนย์เด็กเล็กมักเรียกว่า “ป้าการ” และ “พี่ไก่” คือ พี่เลี้ยงผู้ริเริ่มโครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 ดีวิถีสุข (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี)” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 – ปัจจุบัน (พ.ศ.2562) ตลอดระยะเวลาห้าปี  โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศผ่านการให้ทุนจำนวนหนึ่งและการพัฒนาเพิ่มทักษะตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการสิบสองเดือน ภารกิจของพี่เลี้ยงไม่ได้แค่ฝึกอบรมอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมของโรงแรมเท่านั้น หากยังต้องเดินทางลงพื้นที่ตามศูนย์เด็กเล็กต่างๆ ทั่วประเทศซึ่งได้รับทุนปีละประมาณ 100 แห่งให้ได้มากที่สุด   ปัจจุบันโครงการนี้ได้สร้างเครือข่าย “ครอบครัวครูมหัศจรรย์ทั้งสี่ภาค” ที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำสื่อสร้างสรรค์ผ่านการอบรมสัมมนา รวมทั้งการสื่อสารออนไลน์ร่วมกัน จนศูนย์เด็กเล็กที่ได้เข้าร่วมโครงการเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งตัวครูเองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวครูอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่ครูบางคนยอมรับว่าทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม รอเวลาส่งเด็กกลับบ้าน กลายเป็นครูที่ทำงานต่อถึงมืดค่ำและวันหยุดก็ยังมาทำงานเพื่อเตรียมสื่อสนุกๆ ให้เด็กๆ

    

ป้าการเล่าถึงกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวครูว่า

กระบวนการที่ใช้เป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติและธรรมดาประกอบเข้ากับการให้โอกาส  รับฟังยอมรับ  และให้ความเชื่อมั่นต่อพลังอำนาจแห่งความมุ่งสำเร็จที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่โดยเชื่อว่าพลังนี้จะถูกนำออกมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เห็นคุณค่าของตนและเชื่อว่าตนเองก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จากจุดเล็กๆที่ตนเองลงมือทำ พลังนี้เองที่จะไปลดอุปสรรคและสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จในงานได้       

“ครูผู้รับทุนไม่น้อยที่เข้าร่วมโครงการด้วยการรับรู้ว่าถูกมองว่าเป็นเพียงพี่เลี้ยงเด็กไปวันๆ หรือครูบางคนเริ่มต้นกับโครงการด้วยความรู้สึกต่อต้านจากภาวะจำยอมจากการถูกสั่งการให้ดำเนินโครงการโดยที่ตนเองรู้สึกเหนื่อยล้าต่อภาระงานที่มากมาย  ซึ่งในกระบวนการทำงานร่วมกันนั้นก็ได้มีการเปิดใจคุยและลงพื้นที่เยี่ยมพร้อมกับมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือ  ดูแลและให้คำแนะนำ  กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการร่วมงานกันของพี่เลี้ยงและครูผู้รับทุนได้ก่อเกิดเป็นสัมพันธภาพที่สวยงาม  ความสัมพันธ์แบบผู้ร่วมงานที่มีหัวใจเดียวกันคือมุ่งพัฒนาเด็กปฐมวัย และครอบครัวนั้นได้ลดช่องว่างระหว่างเราลงโดยสิ้นเชิง  ไม่มีการใช้อำนาจและคำสั่งหากแต่เราต่างร่วมกันทำหน้าที่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน  ครูเองก็ยกระดับตนเองด้วยการทำงานอย่างเต็มที่  ไม่รีรอความร่วมมือซึ่งบางครั้งอาจจะตามมาเมื่อครูลงมือไปแล้วระยะหนึ่ง”

หัวใจการทำงานของพี่เลี้ยงทั้งสองท่านคือ การหลอมละลายภูเขาน้ำแข็งของครูที่มาจากต่างที่ต่างทาง มากกว่าหนึ่งร้อยคนในแต่ละปีให้เป็น  “ครอบครัวเดียวกัน”  สายใจ คงทน หรือ “พี่ไก่”  ของครูศูนย์เด็กมักบอกครูทุกคนเสมอว่าทุกโครงการที่ได้รับทุนไม่ได้อยู่ในสถานะของการแข่งขันชิงความเป็นเลิศ หากเป็น “เครือข่ายครอบครัวมหัศจรรย์” ที่พร้อมจะดูแลกันและกันให้ทุกศูนย์ทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

 “เรามักจะบอกทุกคนว่า เราจะจับมือแล้วเดินไปด้วยกัน เราไม่ได้อยู่ในภาวะของการแข่งขันว่าโครงการไหนดีมากกว่ากัน เพราะไม่ใช่โครงการประกวดสื่อที่แต่ละคนทำ ไม่ต้องมาอายกัน ใครดีไม่ดี  เราจะพยายามตัดความรู้สึกนั้นออกจากครู  นอกจากนี้ในกระบวนการของเราจะให้เขากล้าพูด กล้าบอกความรู้สึก และมีคนในกลุ่มกล้ายอมรับในความรู้สึกเขา”

คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ป้าการและพี่ไก่กลายเป็นพี่เลี้ยงที่ทำให้ครูทุกคนไว้วางใจจนสามารถกอดคอกันร้องไห้ เล่าเรื่องตั้งแต่ปัญหาในครอบครัวไปจนถึงปัญหาเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย และชุมชน นั่นคือความจริงใจที่มีให้กันแบบคนในครอบครัว มิใช่การทำงานแบบเจ้านายลูกน้องที่คอยชี้นิ้วสั่ง

“เราพูดอะไรที่ง่ายๆ ไม่ประดิษฐ์คำ  พูดสิ่งที่เจาะใจ แล้วใช่เลย เช่น หิวก็บอกว่าหิว ชอบไม่ชอบ เบื่อไหม ทั้งหมดจะอยู่ในกระบวนการ  ความรู้สึกเห็นใจที่มีต่อกัน มีการสัมผัสโอบกอด มีความเอาใจเขามาใส่ใจเรา  เราจะพูดกับเขาเสมอว่าเราคือเพื่อนร่วมงาน เราทำโครงการเดียวกัน แค่คนละหน้าที่เท่านั้น ฉะนั้นมีอะไรคุยกับเราได้เสมอ”  พี่ไก่บอกเล่าวิธีการทำงานที่เอาชนะใจครูแบบไม่ต้องอาศัยทฤษฎีซับซ้อน

สิ่งที่สร้างความท้าทายทั้งคู่มากที่สุด คือ การทำให้ครูยอมรับบทบาทของพี่เลี้ยงแบบ “ขอฝันคนละครึ่ง” พี่ไก่อธิบายให้ฟังว่า

 “เราไม่ได้มีอำนาจที่จะไปสั่งเขา ฉะนั้นครูจะทำหรือไม่มาจากใจเขาล้วนๆ เราต้องเป็นเหมือนคนที่กุมหัวใจเขา และให้เขาเห็นด้วยในสิ่งที่เราทำ และเราไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ยาก ในปีแรกมีครูตั้งคำถามกับเราว่า เราเป็นใครมาจากไหน ถึงกล้ามาทำงานกับครูทั้งๆ ที่เราไม่ใช่ครู นี่มันเป็นจุดท้าทายให้เราต้องพัฒนาตนเองและเข้าเป็นพวกเดียวกับเขาให้ได้

เราเลยบอกเขาตรงๆว่า ใช่… เราไม่มีความรู้เรื่องปฐมวัย เราจึงต้องทำงานผ่านครูโดยมีครูเป็นผู้ลงมือทำ แต่เราจะคอยเป็นตัวช่วยที่ให้เขาสามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ในการขอทุน  เป็นคนที่อยู่เคียงข้างเขา เพราะเรารู้ว่าเราไม่ใช่ตัวจริงในการทำงาน ถ้าขาดเขา ให้เราลุยไปทำงานเป็นครูก็ทำไม่ได้  เราต้องยอมรับว่าจุดเปลี่ยนอาจไม่ได้อยู่ที่เรา   แต่มากันคนละครึ่งและเรามีจุดที่เห็นประโยชน์ร่วมกัน  เราจึงขอฝันคนละครึ่ง คือ ที่สุดของครูคือการพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการที่ดี  แต่ในส่วนของเราอยากเห็นสังคมที่ดีขึ้นจากการพัฒนาคนที่จะเป็นอนาคตของประเทศต่อไป เราก็เหมือนฝันคนละครึ่ง”

“งานนี้ทั้งยาก ทั้งเหนื่อย ใช้เวลาเยอะในการทำงาน แทบจะกินเวลาเกือบทั้งหมดของเรา แต่ที่เรายังรู้สึกมีความสุขกับมัน คือ เวลาเราเห็นรอยยิ้มคุณครู เรารู้สึกว่าเรามีความสุข  ในการทำงานจะมีทั้งทุกข์ และสุข เราก็จะกอดกันเพื่อให้กำลังใจ เรามีความรู้สึกว่าเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถเล่าความรู้สึกสุขทุกข์ได้เสมอ มันทำให้เกิดการเกื้อกูลกัน รวมไปถึงเวลาเราไปศูนย์เด็ก เราเห็นรอยยิ้มของเด็ก ก็เหมือนเราถามครูว่าครูรู้สึกยังไง ครูก็บอก ครูมีความสุขที่เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ที่เขาไม่ร้องไห้ เราว่ารอยยิ้มของครูและเด็กมันทำให้เรามีค่ามาก เรารู้สึกยังอยากทำโครงการนี้อยู่”

ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา ทั้งป้าการและพี่ไก่เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ทั่วทั้งสี่ภาคและทำงานร่วมกับครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาไม่น้อยกว่า 500 แห่งจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนหรือมีเวลาส่วนตัวเหมือนคนทำงานประจำทั่วไป เมื่อถามถึงสิ่งที่ทำให้ยังทำงานอยู่ตรงนี้ได้ ป้าการตอบว่า

ส่วนป้าการนับเป็นพี่เลี้ยงที่รวมบุคลิก “โหด มัน ฮา” ไว้ในคนเดียวกัน ครูคนไหนไม่สนใจฟัง ไม่ตั้งใจทำกิจกรรม ป้าการจะพูดออกไมค์แบบตรงไปตรงมาจนครูสะดุ้งกันเลยทีเดียว และสิ่งนี้กระมังที่ทำให้ครูต่างรักป้าการเหมือนกับแม่ครูคนสำคัญ และป้าการเองก็รู้สึกมีความสุขเมื่อได้ใช้ความเป็นตัวของตนเองเพื่อทำให้คนอื่นประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น 

“เรามีความรู้สึกว่าในงานนี้ เรามีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง  ได้ใช้ศักยภาพที่มีอีกด้านหนึ่งเพื่อร่วมพัฒนาผู้คน  ปกติเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง  มองว่าตัวเองแปลกแยก  ชอบตั้งคำถามกับคำสั่ง  ไม่มีความสุขเมื่อต้องกำหนดให้ใครๆ ทำตามเรา   ชอบทำงานกับความรู้สึกแต่ต้องมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ  มีกรอบในบางอย่าง แต่ขณะเดียวกัน บางครั้งก็อิสระไม่มีกรอบอะไรเลย  งานนี้ทำให้เรามองเห็นคุณค่าในตนเองเช่นกัน  งานนี้จูงเราออกจากโลกส่วนตัว  ไม่ต้องปรับตัวเองให้เป็นใครสักคนเพื่อรับการยอมรับ เรายังคงมีอิสระในการใช้อารมณ์ของตัวเองเหมือนเดิม เมื่อเรามีโอกาสเป็นตัวของตัวเองในโครงการนี้ จากผลสะท้อนกลับมาที่ทำให้เราเห็นว่าความเป็นตัวตนของเราเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเราต่างมีความสุขจากการทำงาน แต่อาจจะในแง่มุมที่ต่างกัน

สำหรับเราแล้ว ความสุขในการทำงานคือการได้รับการยอมรับในความเป็นตัวเองและมีผลสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่ชี้ว่าวิถีกระบวนการที่มีความเป็นตัวเองของเราใส่ลงไปนี้มีส่วนทำให้ครูผู้ร่วมโครงการพัฒนาตัวตนสู่การพัฒนางานจนประสบผลสำเร็จได้ไม่ต่างกันที่เราเองก็ได้รับพลังจากครูและผู้เกี่ยวข้องมากมาย  ทำให้เรามีความเชื่อมั่นและอยากทำงานที่สามารถนำแง่มุมด้านอารมณ์  ด้านจิตใจมาเป็นฟันเฟืองในการดึงพลังสมองเพื่อร่วมพัฒนาสังคมต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ

ทุกวันนี้ป้าการและพี่ไก่ของครูโครงการมหัศจรรย์ฯ ยังคงมีความสุขกับการเดินทางไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศเพื่อสานความฝันคนละครึ่งทางร่วมกับครูที่เข้าร่วมโครงการให้ทำงานของตนเองจนสำเร็จเพราะผลประโยชน์สูงสุดของโครงการนี้จะตกอยู่กับเด็กในวันนี้ที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้าต่อไป

ขอบคุณภาพจากโครงการ Wearehappy มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ความสัมพันธ์

ป้าการ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save