8 ช่องทางความสุข

ความสุขของอาจารย์สอนภาษาไทยยุคสังคมดิจิทัล

หากถามคนเป็นครูว่าความสุขในชีวิตของการเป็นครูอยู่ที่ไหน คำตอบของคนส่วนใหญ่น่าจะออกมาในทางเดียวกัน คือการได้เห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ความสุขของ ครูเมย์ หรือ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีมากกว่านั้น 

“ความสุขของเราคือการที่ได้มอบประสบการณ์ในห้องเรียนที่ดี ที่น่าจดจำให้เด็ก บางคนเมื่อเวลาผ่านไปเขาอาจจะจำเรื่องที่เรียนไม่ได้ แต่เขายังจำเรื่องราวในห้องเรียนและจำวันที่เขาเรียนเรื่องนั้นได้ จำได้ว่าเขาทำอะไร ถามอะไร คิดอะไร และรู้สึกอย่างไร อันนี้คือความสุขเกิดจากการใช้เวลาเรียนส่งมอบคุณค่าบางอย่างให้เด็กของเรา ความสุขอีกอย่างหนึ่งคือการได้เป็นที่พักพิงทางใจให้เด็กๆ ที่ผ่านมาเราเลือกใช้พื้นที่ในสื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ถ่ายทอดเรื่องราว ความคิด และมุมมองของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา หลายครั้งก็จะแบ่งปันเรื่องที่เราทำผิดพลาดไปและได้เรียนรู้ เล่าในเชิงขำๆ ไม่ได้ระวังรักษาภาพลักษณ์อะไร แต่ก็พยายามจะสื่อสารอย่างสุภาพนะ (หัวเราะ) จนตอนหลังมาพบว่าการที่เราเป็นครูที่ไม่สมบูรณ์แบบนี่ ทำให้เด็กกล้าที่จะเดินเข้ามาหาเรามากขึ้น บางคนเรียนจบไปหลายปีแล้วมีปัญหากลุ้มใจเล่าอะไรให้ใครฟังไม่ได้เลย วันหนึ่งเขาทักถามมาในกล่องข้อความตอนดึกมากแล้วว่า อาจารย์ผมขอคุยได้ไหมผมไม่ไหวแล้ว เออ อย่างน้อยในวันที่เขาไม่มีใคร เขายังรู้สึกว่าเราเป็นคนหนึ่งที่เขาไว้ใจ การที่มีคนให้เกียรติเรา ให้เราเป็นคนที่ได้รับฟังเขา นี่คือความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง”

ในสังคมปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ พื้นที่ทางการสื่อสารเปลี่ยนจากโลกแห่งความจริงไปอยู่บนโลกเสมือน ผู้คนสร้างอวตารของตนเองเพื่อสื่อสารกับอวตารของผู้อื่นทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์  และอินสตาแกรม การสื่อสารทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นดิจิทัลเนทีฟหรือกลุ่มคนที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัล เป็นสิ่งที่ดิจิทัลอิมมิแกรนท์หรือคนที่เกิดและเติบโตก่อนที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะเดินทางมาถึงอย่าง ครูเมย์ ต้องทำเรียนรู้และทำความเข้าใจ

อันที่จริงการสื่อสารกับคนต่างเจเนอเรชั่นไม่ว่าจะเด็กหรือแก่กว่าให้เข้าใจ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียนรู้ภาษาใหม่อีกภาษาหนึ่งนะ เหมือนเราอยากจะพูดภาษาต่างประเทศให้ดี นอกจากจะต้องเรียนภาษานั้นแล้ว ก็ต้องศึกษาด้วยว่าคนชาตินั้นๆ เขาคิดอย่างไร มองโลกอย่างไรเขาถึงเลือกสื่อสารออกไปแบบนั้น ถูกไหม? 

อย่างเราเกิดปี 2524 จะมาคุยกับเด็กที่เกิดปี 2542 เฮ้ย! นี่มันรุ่นลูกเราแล้ว เห็นโลกมาคนละอย่าง ดูหนังคนละเรื่อง ฟังเพลงคนละเพลง กรี๊ดศิลปินคนละคน  คุยกันไม่รู้เรื่องหรอก ถ้าอยากรู้ว่าเขาคุยอะไรกัน เราจะอยู่แต่ในโลกของเราไม่ได้ ต้องพาตัวเองไปอยู่ในโลกที่เขาอยู่บ้าง โชคดีที่เราเป็นคนสนุกกับการได้ทำอะไรใหม่ๆ จาก Hi5 ไป Facebook, Twitter, IG, Tiktok หรือให้ฟังเพลง เล่นเกมที่วัยรุ่นเขาสนใจก็เลยไม่รู้สึกขัดเขินเท่าไรนัก ในอนาคตอาจจะมีวันหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเหนื่อย ไม่ไหว ตามไม่ทันแล้ว พอดีกว่า อาจจะมีวันนั้นก็ได้ แต่ตอนนี้ยังโอเคอยู่”

การมีตัวตนในโลกออนไลน์ยังช่วยให้ ครูเมย์ สามารถเข้าถึงเรื่องราวชีวิตอีกด้านหนึ่งของนักศึกษาได้ เรื่องราวชีวิตที่คนเป็นครูอาจเข้าไม่ถึงผ่านการพบเจอกันอย่างผิวเผินในห้องเรียนสัปดาห์ละไม่กี่ชั่วโมง

“เหมือนคนชอบเผือกเนอะ (หัวเราะ) การเป็น “เพื่อน” กับเด็กในสื่อโซเชียลทำให้เราด่วนตัดสินเขาน้อยลง อย่างบางคนในห้องเรียนเขาอาจจะเงียบๆ ไม่ค่อยคุยกับใคร แต่ในอีกด้านหนึ่งของชีวิตเขาชอบแต่งคอสต์เพลย์และมีสังคมของเขา บางคนไม่เข้าเรียน ไม่ส่งงาน เออ! เขาไปทำงานอยู่ เขากำลังสับสนชีวิตอยู่

ถามว่าแคร์ไหม แคร์มาก อาจจะมากเกินไปด้วยมั้ง ถึงขนาดไปตามเด็กที่ร้านเหล้าให้กลับมาเรียนหนังสือก็ทำมาแล้ว (หัวเราะ) ที่จริงเป็นคนที่อยากจะจำเด็กให้ได้ เมื่อก่อนนี้ภูมิใจมากจำชื่อและนามสกุลเด็กได้ เดี๋ยวนี้ก็แย่ลง อาจจะจำชื่อได้ไม่ทุกคนเพราะสอนเยอะประกอบกับอายุมากขึ้นด้วย แต่ก็จะจำ story ของเด็กได้” 

ด้วยตาที่เปิดกว้างและใจที่เปิดรับทำให้เธอพยายามจะทำความรู้จักและเข้าใจนักเรียนของตนเองให้มากขึ้น เพราะตระหนักว่าแต่ละคนมีเรื่องราวและรายละเอียดที่แตกต่างกัน 

“มีอยู่เทอมหนึ่งเราสอนเยอะมากและทำงานบริหารด้วย จนบางคลาสเดินไปเข้าแล้วมองเด็กเป็นก้อนๆ แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร สอนเสร็จก็เดินออกมา คือเราไม่มีเวลาและพลังพอจะเห็นเขาเป็นคนแต่ละคนที่แตกต่างกันได้ เทอมนั้นเป็นเทอมที่เฟลมาก จนบอกกับตัวเองว่า ไม่เอาแล้ว!” 

เพราะความที่สอนวิชาเกี่ยวกับการพูด ครูเมย์ จึงมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวที่หลากหลายจากนักศึกษา ซึ่งบางครั้งเรื่องราวที่คนเป็นครูรู้สึกประทับใจและจดจำได้ก็มีประโยชน์กว่าที่คิด

“เวลาสอนการพูด มีหลายเรื่องที่นักศึกษาเลือกหยิบยกมาถ่ายทอดในชั้นเรียนได้อย่างน่าประทับใจ แต่ก็จะมีบางเรื่องที่จดจำได้ดีเป็นพิเศษ เช่นเรื่องของนักศึกษามุสลิมคนหนึ่งที่เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ตอนเขาเรียนจบชั้นประถมที่บ้านส่งให้ไปเรียนมัธยมที่จังหวัดนราธิวาส ทำให้ต้องเรียนรู้และปรับตัวในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมอย่างมาก คือ ปกติเราจะได้ยินเรื่องของเด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ แต่นักศึกษาคนนี้กลับกัน ก็เลยจำได้แม่น

หลายปีผ่านไปเราได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรพูดสร้างแรงบันดาลใจเรื่องการใช้ภาษาไทยให้สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ขณะกำลังคิดว่าจะสื่อสารกับเด็กๆ อย่างไรดี เรื่องราวที่นักศึกษาชายคนนั้นเคยเล่าก็แว้บขึ้นมาในหัว ถ้าเด็กๆ เขาไม่กล้าพูดภาษาไทยเพราะกลัวพูดแล้วติดสำเนียงถิ่น ก็ชวนคนที่เคยถูกล้อเพราะพูดภาษามลายูไม่ชัดมาแบ่งปันประสบการณ์ในมุมกลับให้ฟังบ้างน่าจะดี จะได้เห็นว่าการออกจาก comfort zone นั้นเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกคนไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไร ก็เลยติดต่อชวนเขาให้ไปพูดด้วยกันเป็นวิทยากรร่วม

การบรรยายในวันนั้นได้รับเสียงตอบรับดีมาก คนฟังแฮปปี้ เจ้าตัวเองก็แฮปปี้ เขามาถามทีหลังว่า ‘อาจารย์จำเรื่องราวของผมได้อย่างไร’ อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราอยากมองนักศึกษาที่เรียนกับเราแล้ว ‘เห็น’ และ ‘จำ’ พวกเขาแต่ละคนให้ได้แบบนี้ไปนานๆ อย่างน้อยก็เท่าที่พอจะมีแรงทำไหว”  

ไม่เพียงพาตัวเองไปอยู่ในโลกใบเดียวกันกับผู้เรียน เวลาว่างจากการสอนหนังสือ ครูเมย์ ยังผันตัวเองเป็นนักเรียนไปเรียนรู้เทคโนโลยีและเครื่องมือและใหม่ ๆ ทางการสื่อสารของคนในสังคมดิจิทัล เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้ เพิ่ม “ทางเลือก” ให้แก่ผู้เรียน

“การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกห้องเรียน อย่างในห้องเรียนเราก็พยายามเชื่อมโยงกับโลกข้างนอกเข้ามา ตอนนี้ข่าวไหนดัง เรื่องไหนที่ติดเทรนด์ในโซเชียล ก็ลองหยิบยกมาคุยมาถกกันในห้องเรียน บางทีมีสื่อการสอนใหม่ ๆ น่าสนใจเราก็พยายามไปเรียนหรือฝึกทำด้วยตัวเอง อย่างพวกอินโฟกราฟิก อนิเมชั่น บอร์ดเกม เรียนแล้วก็ลองนำมาปรับใช้กับวิชาที่เราสอน ขณะเดียวกันก็พยายามส่งเสริมให้นักเรียนได้มีช่องทางการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย อย่างทุกวันนี้ก็ทั้งเขียนบล็อก ทำเพจ ทำแชนแนลในยูทูป ทำพอดคาสต์ คือบางเรื่อง เด็กบางคนอาจจะยังไม่ได้อยากรู้ ณ เวลาที่เราสอนเขาในห้องเรียน แต่วันหนึ่งเมื่อเขาอยากรู้เขาจะได้มีสื่อพวกนี้ช่วยสนับสนุน 

ในแง่หนึ่งก็เป็นตัวอย่างให้เขาดูด้วยว่าในยุคนี้เป็นยุคของ User Generated Content แล้วนะ ถ้าเขาสนใจเรื่องอะไรก็สามารถสร้างช่องทางการสื่อสารของตัวเองขึ้นมาได้ ไม่ต้องเขียนจดหมายไปถึงกองบรรณาธิการแล้วโดนขยำทิ้งลงตะกร้าแบบสมัยก่อน อย่างเราเรียนเอกภาษาไทย จบไปสมัครงานปุ๊บเขาถามหาประสบการณ์ ก็สามารถใช้งานพวกนี้เป็นพอร์ตได้”

เพราะมุ่งมั่นที่จะ “ทำให้ดู” และทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ครูเมย์ จึงพยายามทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นห้องเรียนภาษาไทยจากปรากฏการณ์ใกล้ตัว ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อาจารย์เมย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล” (https://www.facebook.com/MayChanokporn) และงานเขียนที่เผยแพร่ผ่านนิตยสารออนไลน์ยอดนิยมในหมู่นักอ่านรุ่นใหม่อย่าง The Cloud และ Way Magazine ชวนให้หลายคนอยากเป็นศิษย์นอกห้องเรียนกับเธอ เช่น บทความเรื่อง “เรื่องเหี้ยๆ ปรากฏการณ์ทางภาษาของคำว่า ‘เหี้ย’ คำด่ายอดนิยมตลอดกาลของคนไทย” (https://readthecloud.co/scoop-12meaningsofhia/) และ “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ และอื่นๆ –  อ่านการเมืองข้างถนน ถอดรหัสภาษาไทยในป้ายหาเสียง” (https://waymagazine.org/author/may/) เป็นต้น

ครูเมย์ ยังใช้พื้นที่บนโลกเสมือนเป็นห้องเรียนสอนวิชาการที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตให้กับนักเรียน บางครั้งกรุ๊ปลับเล็กๆ ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้ลูกศิษย์ทั้งเก่าและปัจจุบันที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่แต่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่แพงเกินได้มีโอกาสหาความรู้ เช่น การทำ SEO หรือการตัดต่อวิดีโอ ที่ครูเมย์จะเป็นผู้สอนเองด้วยความรู้ที่เธอใช้เงินตัวเองไปเรียนเพิ่มมา บางเรื่องก็เชื่อมต่อถึงกันออนไลน์ บางเรื่องก็นัดเจอกันเพื่อสอนให้นอกเวลาเรียน 

แบบอย่างการสอนของครูเมย์ ทำให้เห็นว่าความสุขของการเป็นครูในยุคดิจิทัลไม่ได้อยู่ที่เพียงการได้สอนหรือเห็นความสำเร็จของผู้เรียน หากอยู่ที่การได้เรียนรู้ซึ่งเป็นวิถีที่สำคัญในการพัฒนาตนเองในโลกที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา 

“ตัวเราเองก็ต้อง unlearn และ relearn ให้เป็น ไม่หยุดตัวเองไว้แค่สิ่งที่เราเรียนมา แต่ต้องท้าทายตัวเองด้วยการแสวงหาความรู้และวิธีการสอนใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเราสอนแต่เรื่องเดิมๆ แบบเดิมๆ เด็กก็ไม่ทันโลก เราก็ไม่เติบโต ถ้าเราจะสอนเขาเรื่อง life-long learning การทำให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง”

ขอบคุณภาพจาก ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save