8 ช่องทางความสุข

ปลูกรัก…ปลูกตัวตนให้เติบโต

คุณรู้หรือไม่ว่า จิตของมนุษย์มีดีเอ็นเอที่สามารถถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว จนกลายเป็น แบบแผนของบุคลิกหรือการเลี้ยงดูที่ถูกส่งต่อจากคนรุ่นก่อนสู่คนปัจจุบัน และบางเรื่องอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาโดยที่คุณไม่รู้จะเริ่มแก้ไขได้อย่างไรจนกว่าจะมีคนถอดรหัสพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อให้คุณค้นพบต้นตอที่แท้จริงของปัญหา ทำให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่ชีวิตที่มีความสุขมากยิ่งขึ้น 

ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ หรือ คุณเอ๋ นักจัดกระบวนการเรียนรู้ (กระบวนกรและอาจารย์อภิฤดี พานทอง หรือ คุณกิ๊ก นักจิตวิทยา ทั้งคู่ร่วมก่อตั้งบริษัทปลูกรัก องค์กรซึ่งทำหน้าที่พัฒนาระดับจิตให้กับผู้คนมายาวนานกว่าสิบปีบอกเล่าถึงดีเอ็นเอของจิตมนุษย์ให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า

ถ้าเรามองชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง เราจะเห็นเป็นสายยาวต่อเนื่องกัน อย่างเช่น สิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ก็มาจากดีเอ็นเอของปู่ย่าตายาย ซึ่งดีเอ็นเอในแง่ของจิตก็เหมือนดีเอ็นเของร่างกายที่ทำให้เรามีตาชั้นเดียว ผมหยิก จิตก็มีดีเอ็นเอของความทุกข์ที่ถ่ายทอดเป็นมรดกกันมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง มันจะเป็นวงจรแห่งความทุกข์ที่ไม่มีสิ้นสุด ตัวอย่างดีเอ็นเอทางจิตของแต่ละครอบครัว เช่น คนที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นประเภท สมบูรณ์แบบ”  เวลามีลูกก็จะคาดหวังให้ลูก สมบูรณ์แบบซึ่งในชีวิตจริงๆ ของคนเราไม่มีอะไร สมบูรณ์แบบ”  เด็กที่เกิดมาในครอบครัวแบบนี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบเพื่อให้ตัวเองมีตัวตนและเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือไปโรงเรียน เขาก็อยากทำทุกอย่างให้เก่งที่สุด

ถ้าเขาเรียนได้เกรดไม่ดี เขาก็จะเสียใจ ถ้าครูพูดถึงผลงานเขาไม่ดีนิดหน่อย เขาก็จะเจ็บปวดได้ง่าย เขาจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ชีวิตมันขาดพร่องไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องการเติมเต็ม พอถึงวัยทำงานก็คิดว่าต้องทำงานให้มากขึ้นเพื่อให้หัวหน้าต้องยอมรับมากขึ้น เมื่อทุกคนมาเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ จึงรู้สึกมั่นใจว่าตนเองมีคุณค่า มันคือการตามหาอะไรสักอย่างในชีวิต

หน้าที่ของบริษัทปลูกรักคือการสร้างความรักความเข้าใจให้กับทุกคนผ่านหลักการจิตวิทยา

สองสามีภรรยาผู้ก่อตั้งบริษัทปลูกรักอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาด้านอารมณ์ตามหลักการทางจิตวิทยาว่า

พวกเราศึกษาเรื่องของจิต แล้วก็ศึกษาเรื่องคู่ขนาน คือ สมองส่วนบน และส่วนล่าง สมองส่วนล่างเป็นตามสัญชาตญาณ ตามอารมณ์ ส่วนบนคือส่วนที่ดูแลเหตุผลหรือความเข้าใจ การวางแผน สมองส่วนบนสำหรับเด็กจะเหมือนบ้านที่หลังคามันเปิด เขาจะเรียนรู้จากการเห็น ซึมซับแล้วสมองส่วนนี้มันก็เติบโตแล้วก็กลายเป็นหลังคาของเขาเอง ซึ่งถ้าตอนเด็กซึมซับสิ่งที่ไม่ดี โตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเหมือนกับบ้านที่หลังคารั่ว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก้าวร้าว เกิดปัญหาภาวะทางจิตใจต่างๆ

จากการทำงานอบรมด้านจิตวิทยาเพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายองค์กร ทั้งคู่ได้พบสาเหตุของความทุกข์ในกลุ่มผู้ใหญ่หลายคนว่ามาจากประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงโรงเรียน 

“เราพบว่าสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลทำให้สภาพจิตใจมีความทุกข์คือชีวิตในโรงเรียน โดยแบ่งเป็น กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มคนที่เคยมีประวัติเปลี่ยนโรงเรียนบ่อยจะมีปัญหาเรื่องการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นยาก  สอง กลุ่มคนที่เคยเจอครูเข้มงวดมาก โดยไม่ได้สนใจเรื่องความเป็นมนุษย์ คือจะยึดตามกฏอย่างเดียว คนกลุ่มนี้จะถูกครูทำร้ายจิตใจสูงมาก และกลุ่มที่สาม คือ คนที่ถูกเพื่อนรังแก ซึ่งมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง อันนี้พบมากจากคนที่เราไปทำเวิร์คชอปด้วย”

กิจกรรมของปลูกรักทำให้เกิดความรักและความเข้าใจกันมากขึ้น

นักจิตวิทยาทั้งคู่เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้คนก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จ คือ  “อาหารใจที่แต่ละคนได้รับในวัยเยาว์ และ “Growth mindset”  ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่อาจไม่ได้นึกถึงมากนัก

เด็กต้องการอาหารใจจากพ่อแม่  แต่พ่อแม่มักไม่ค่อยรู้ว่า เด็กต้องการอาหารใจเยอะมาก ความใกล้ชิด การให้ความรัก การให้อิสระ ให้ความมั่นคงปลอดภัย และอีกหลายๆ อย่าง ถ้าพ่อแม่ให้สิ่งเหล่านี้โดยที่ลูกไม่ต้องรอขอ เขาจะมีสุขภาพใจที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ growth mindset คือ เมื่อมีความผิดพลาดและความพยายามลุกขึ้นสู้ เขาไม่ท้อถอย  มองหาการเรียนรู้ที่เขาจะปรับตัว และสามารถฟื้นคืนด้วยตัวเอง นี่คือ concept เรียกรวมๆว่า Growth mindset ซึ่งสองตัวนี้เป็นพื้นฐานสำคัญมาก

คำว่า “Growth mindset” อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า การเรียนรู้จากความผิดพลาดซึ่งพ่อแม่ในสังคมไทยดูเหมือนจะหา เส้นแบ่ง” ระหว่างความรักและการปล่อยให้ลูกเรียนรู้ไม่ชัดเจนนัก  คุณกิ๊ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและปัจจุบันเป็นคุณแม่ของลูกสาววัยประถมอธิบายวิธีฉีด “วัคซีนความเข้มแข็ง” ให้ฟังว่า

เราต้องปล่อยให้เขาก้าวข้ามความท้าทายตั้งแต่เด็กๆ เพราะมันคือส่วนหนึ่งของ  growth mindset  หรือการเรียนรู้จากความผิดพลาด แต่พ่อแม่จำนวนมากมักกลัวความผิดพลาดของเด็กแล้วพยายามปกป้องแทน ซึ่งเราควรจะปล่อยให้ลูกได้รับบทเรียนจากความผิดหวังโดยมีพ่อกับแม่อยู่เคียงข้าง  เราต้องทำให้ลูกเห็นว่า ชีวิตผิดหวังได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ว่าเวลาเราผิดหวัง เราจะข้ามพ้นเรื่องนี้ยังไง อันนี้เป็นการสอนให้เขารู้จักความทุกข์ของชีวิต ยอมรับมัน แต่ไม่ใช่เชิงอธิบาย แต่เป็นโมเมนต์ที่เราอยู่กับลูกในยามที่ลูกผิดหวัง เช่น เวลาเขาผิดหวัง เราอย่าไปบอกว่าอย่าไปเสียใจ เราปล่อยให้เขาเสียใจได้ แล้วให้เขาลองพยายามใหม่อีกครั้ง ซึ่งตรงนี้จะเป็นวัคซีนที่ช่วยให้ลูกเติบโตทางจิตใจที่เข้มแข็งมากขึ้น

คุณเอ๋ คุณกิ๊ก และน้องมา เริ่มต้นความรักในครอบครัวตนเองก่อนจะขยายไปสู่ครอบครัวอื่นๆ

ในฐานะเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจเรื่องจิตวิทยาและมีลูกสาวเป็นโซ่ทองคล้องใจ ทั้งคู่ได้ใช้ความรู้ทางจิตวิทยามาทดลองเลี้ยงลูกด้วยตนเองและพบว่าการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง หรือ self esteem ในเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

เรื่อง self esteem จะเกี่ยวเนื่องกับความผูกพันของเด็กกับแม่ก่อนพื้นฐาน ช่วงหนึ่งถึงสองขวบเด็กจะยังผูกพันกับแม่ แม่มีความสุข ฉันมีความสุข แม่ทุกข์ ฉันทุกข์ แต่พอโตจากนั้นอีกนิดนึงก็จะเริ่มแยกความรู้สึกได้ แล้วเมื่อโตถึงประมาณ 8-9 ขวบ เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นก็จะเริ่มแยกห่างเป็นตัวเอง ซึ่งรากฐานของความผูกพันจะค่อยๆ พัฒนาในแง่ของจิตไปเรื่อยๆ 

“ในแง่ของจิตวิทยาช่วงห้าขวบปีแรก ถ้าความผูกพันกับแม่ดีจะส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดีด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อ self esteem แต่ถ้าเริ่มต้นไม่ดี self esteem ก็เหมือนฐานไม่มั่นคง เด็กในระดับประถม ป. 5 ถึง ม. 3 เป็นช่วงของการเริ่มสร้างตัวตน การสร้างความมั่นใจและความไม่มั่นใจ เหมือนเรากำลังสร้างรอยเชื่อมสองจุด จุดที่เขามั่นใจกับจุดที่เขาไม่มั่นใจ เวลาที่ลูกไม่มั่นใจ พ่อแม่ช่วยให้ความมั่นใจมากขึ้นได้ ด้วยการช่วยเพิ่มเติมสิ่งดีๆ เข้าไปจนกระทั่งความไม่มั่นใจลดลงเรื่อยๆ และความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นแทน

ปัจจุบันคุณเอ๋และคุณกิ๊กนับเป็นคู่รักที่ไม่ได้สร้างความรักเฉพาะในครอบครัวตนเองแต่ยังได้สร้างความรักให้กับอีกหลายครอบครัวได้มีคุณภาพความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของการก่อตั้งบริษัทปลูกรักที่ทั้งคู่ก่อร่างสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน  คุณเอ๋เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทปลูกรักให้ฟังว่า

เราเริ่มปลูกรักกันเองก่อนจากการมีความสนใจร่วมกัน ให้คุณค่าบางอย่างร่วมกัน หลังจากนั้นก็พัฒนามาใช้ชีวิตคู่ เราลงไปช่วยที่สึนามิด้วยกันช่วงแรก แล้วพอกลับขึ้นมา เราก็อยากจะมีโปรเจคที่จะช่วยคนอื่นด้วยกัน ผมเองมาในสายจัดพวก  Learning  ส่วนกิ๊กก็มีมิติทางด้าน Counseling ก็เลยมาคุยกันว่าพอเสร็จจากโครงการนี้แล้วทำร่วมกันยังไงได้บ้าง ตอนนั้นมีเพื่อนอีกคนนึงเป็น คนมาช่วยกันคิดทำโปรเจคนี้ เราตั้งชื่อว่า ปลูกรัก’ เพราะเราอยากให้คนกลับมารู้จักตัวเองและรักตัวเองแบบลึกซึ้ง   Concept ของงานปลูกรักจึงเป็นการเอาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาแบบสหวิทยาการมาทำให้เข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง พอเขาเข้าใจตัวเอง ก็จะทำให้เขาเข้าใจคนอื่นได้ แล้วก็มองเห็นคนอื่นในอีกมุมนึง

คุณกิ๊กเล่าว่า ช่วงที่เริ่มทำสถาบันปลูกรักเมื่อเกือบสิบห้าปีที่แล้ว ตอนนั้นสังคมไทยยังไม่ค่อยมี workshop เหมือนในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเปลี่ยน ผู้คนโหยหาสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจมากขึ้น หรือการมองหาความหมายบางอย่างในชีวิตให้กับตนเองมากขึ้น ทั้งคู่เล่าถึงความฝันที่อยากทำต่อไปในอนาคตว่า

จริงๆ ตอนเริ่มต้นเราไม่ได้อยากจะทำเป็นด้านธุรกิจ แค่คิดว่าอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย  อันนี้เป็นเจตนาแรก แล้วก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่อยากทำในอนาคต คือ การมี Center ให้คนมาบริหารจิตให้แข็งแรง เหมือนกับ Fitness Center บริหารร่างกายให้แข็งแรง อยากให้เรื่องการเข้าใจตัวเองเป็นวิถีชีวิตด้วยเหมือนกัน เราอยากเปิดรูปแบบบริการแบบนี้ ให้คนได้รู้ว่าการเริ่มต้นเข้าใจตัวเองต้องเริ่มจากตรงไหน เรื่องความเป็นครอบครัว ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ เหมือนเป็นการบูรณาการของชีวิตเข้าไป เราอยากจะทำเหมือนมาซื้อคอร์สฟิตเนสสำหรับ เครื่องบริหารจิต” และสอนให้เขาสามารถกลับไปทำเองได้ที่บ้าน อยากมี Center ให้คนเข้ามาพึ่งพิงยามมีความทุกข์บ้าง

หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อทำความเข้าใจตนเอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีความรักและความเข้าใจกันมากขึ้นในครอบครัว

ปัจจุบันสถาบันปลูกรักยังคงทำงานอบรมในระดับองค์กรและระดับปัจเจกเพื่อสร้างกระบวนการเข้าใจตนเองและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพจิตใจของแต่ละคนให้มีความสุขในชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งคุณเอ๋และคุณกิ๊กต่างมีความหวังว่าจะได้เห็นสังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการได้รับวัคซีนคุ้มกันจิตใจจากความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน เพราะยิ่งภูมิต้านทานน้อยลง โอกาสที่ผู้คนจะป่วยทางจิตก็จะเพิ่มมากขึ้น และนั่นหมายถึงสังคมไทยโดยรวมก็จะมีคุณภาพชีวิตที่น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

“เมื่อภูมิคุ้มกันเราไม่ดี นอนน้อย ทำงานหนัก กินอาหารไม่ดี เวลาเราเจออากาศแปรปรวนก็จะป่วยง่าย เป็นหวัดง่าย จิตใจก็เหมือนกัน เราก็จะมีความเครียด รู้สึกกังวลอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่อาการหนักมากขึ้น เป็นอาการซึ่งเราไม่อยากจะให้เขาไปถึงจุดนั้น เราพบว่าเมื่อไปถึงจุดตรงนั้น การเยียวยามันใช้เวลา ใช้ทรัพยากรเยอะมาก 

 

ทำไมเรามีวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือโรคต่างๆ ได้ แต่เราไม่เคยมีวัคซีนของจิต ที่ฉีดแล้วเราจะมีภูมิต้านทานความผิดหวัง เมื่อเวลาเราเจอสถานการณ์เจ้านายกดดัน หรือไปสอบแล้วเราไม่ได้ เราจะมีภูมิต้านทานที่เราจะยอมรับความจริงนี้ แบบที่ไม่ใช้สมอง แต่ใช้ใจยอมรับ นี่คือวัคซีนที่เรารู้สึกว่าให้เขาได้ฉีดเข้าไปในจิตของคน เพื่อให้คนมีสุขภาพจิตดีขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นพื้นฐานของหลายๆอย่าง อาทิ ครอบครัวดี เกิดการเติบโตทางจิตใจและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญมาก

ขอบคุณภาพประกอบจากคุณเอ๋และคุณกิ๊กมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ความสัมพันธ์

ปลูกรัก

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save