8 ช่องทางความสุข

ภารกิจเพื่อจิตอาสารามาธิบดี

เช้าวันจันทร์ ณ ห้องประชุมกลุ่มจิตอาสา โรงพยาบาลรามาธิบดี

“เดี๋ยวน้องคนนี้ไปช่วยงานแผนกพับผ้าสำหรับห้องผ่าตัด ส่วนคนนี้ไปแผนกไปรษณีย์ อีกคนหนึ่งไปห้องอาหารนะคะ”

เสียงคุณธานัท อนินชลัย หรือคุณฝน พยาบาล ผู้ดูแลโครงการจิตอาสา รามาธิบดี กำลังทำหน้าที่แจกจ่ายงานจิตอาสาให้กับอาสาสมัครในโรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่มีคนใช้บริการมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองกรุงเทพฯ เธอเข้ามาทำงานประจำที่โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาโดยเริ่มจากงานสร้างเสริมสุขภาพและร่วมดูแลฟาร์มสร้างสุขเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรแถวรังสิต คลอง13 เลิกใช้สารเคมีก่อนจะย้ายมาดูแลโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินงานมายาวนานกว่าสิบปีจนกลายเป็นภารกิจที่น่าภาคภูมิใจของโรงพยาบาลแห่งนี้ในปัจจุบัน

ลักษณะกลุ่มจิตอาสาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็น “จิตอาสาประจำ” มีจำนวน 70–80 คน หมุนกันมาทำงานสัปดาห์ละ 1 วัน  กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมาทำงาน “จิตอาสาด้วยใจ” แต่มีเวลาจำกัดแค่สัปดาห์ละวันหรือสองวันหรือช่วงปิดเทอม ส่วนกลุ่มที่สามเป็น กลุ่มนักศึกษา “เก็บชั่วโมงจิตอาสา” โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการใบรับรองชั่วโมงฝึกงานในโรงพยาบาลเพื่อสมัครเข้าเรียนแพทย์ กลุ่มนักศึกษา “กองทุนให้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ กยศ. ซึ่งต้องทำงานเก็บชั่วโมงจิตอาสา 18 ชั่วโมงต่อหนึ่งภาคการศึกษา หรือกลุ่มผู้ที่ต้องเก็บชั่วโมงบำเพ็ญประโยชน์ตามความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ขาดเรียน รอลงอาญา เป็นต้น

คุณฝนเล่าว่า กลุ่มจิตอาสาผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังหลักของงานจิตอาสาที่โรงพยาบาลแห่งนี้เพราะเป็นกลุ่มที่พร้อมทั้ง “เวลาและหัวใจ” ด้วยเป็นกลุ่มคนวัยเกษียณที่ลูกๆ ต่างมีครอบครัวกันไปหมดแล้ว การได้มาทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลทำให้พวกเขาไม่ตกอยู่ใน “ภาวะซึมเศร้า” และทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น บางคนเป็นนักธุรกิจมีฐานะร่ำรวยก็ยังแบ่งเวลาสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองวันมาทำงานจิตอาสาคอยบริการคนไข้ที่มีฐานะยากจนกว่า เพราะความสุขจากการให้เป็นสิ่งที่ “เงินซื้อไม่ได้”

จิตอาสากลุ่มที่สองนับเป็นกำลังสำคัญรองลงมา  แต่ด้วยเวลามีน้อยกว่ากลุ่มแรก การกำหนดภาระงานที่แน่ชัดจึงทำได้ยาก ลักษณะงานจึงหมุนเวียนไปตามแผนกที่ขาดคน แต่ทุกคนล้วน “มาด้วยใจ” ไม่ว่าจะให้ทำงานในแผนกใดก็จะพร้อมทำงานอย่างเต็มที่

ทว่า จิตอาสากลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนักศึกษาเก็บชั่วโมงจิตอาสาตามเงื่อนไขกองทุน กยศ. นับเป็นกลุ่มที่สร้างความท้าทายให้ผู้ดูแลโครงการจิตอาสารามาธิบดีมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายเพื่อการเก็บชั่วโมง ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะ “ขาดหัวใจจิตอาสา” เลยสักทีเดียว  คำถามสำคัญก็คือ ผู้ดูแลโครงการนี้จะสามารถสร้าง “กระบวนการสร้างจิตอาสา” ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ได้อย่างไรต่างหากเล่า ?

คุณฝนเล่าว่า ก่อนหน้านี้ตัวเธอก็เคยรู้สึกผิดหวังและท้อใจที่้ต้องทำงานดูแลนักศึกษาที่มีเป้าหมายการทำงานจิตอาสาเพียงเพื่อเก็บชั่วโมงกลุ่มนี้ แต่หลังจากเธอสามารถ “พลิกมุม” ความคิดใหม่ เธอจึงรู้สึกสนุกและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น

เวลาไปประชุมงานจิตอาสาทุกที่มีแต่คนบ่นเรื่องเด็กเก็บชั่วโมง เราเองก็เคยบ่นเหมือนกัน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเจอครูโรงเรียนในการประชุมจิตอาสาระดับชาติ ครูพูดว่าเขาพยายามปูพื้นจิตอาสาให้เด็กแล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีหัวใจจิตอาสาจริงๆ จังๆ หรือพอกลับไปบ้านเจอพ่อแม่ที่ไม่ได้มีหัวใจจิตอาสา เด็กก็ไม่มีใครช่วยกระตุ้นให้อยากทำงานจิตอาสา  วันนั้นเรากลับมาถามตัวเองว่า การบ่นว่าเด็กไม่มีจิตอาสามันไม่ใช่ทางออก แต่คำถามคือใครจะเป็นคนพลิกว่าโลกใบนี้มันมีความดีซ่อนอยู่ ถ้าทุกคนเลิกบ่นแล้วมาช่วยกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

นับจากนั้นเป็นต้นมา คุณฝนก็เริ่มต้น “ปรับหัวใจ” ตนเองให้มีความสุขกับการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีหัวใจจิตอาสามากขึ้น เธอเปรียบตนเองเป็นคนปลูกต้นไม้ที่ต้องช่วยรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้จิตสำนึกนี้เติบโตแข็งแรง

ในทุกเช้าวันจันทร์ คุณฝนจะนัดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาทำงานจิตอาสาพบกันเวลา 8 โมงเช้าที่ห้องประชุม ใครมาสายเกินกว่าเวลาที่กำหนด เธอก็จะทำให้คนที่มาสายรู้ว่า “การรักษาเวลามีความสำคัญมากเพียงใด” โดยเฉพาะการทำงานในโรงพยาบาลซึ่งมีชีวิตคนไข้เป็นเดิมพัน

“งานจิตอาสาของเราจะนัดเริ่มงาน  8 โมง มีเด็กคนหนึ่งมาสาย 1 ชั่วโมงเราเลยให้กลับบ้าน พ่อเด็กโทรมาโวยวายว่า ‘คุณไม่รู้จักคำว่าจิตอาสาเหรอ ?  เขาจะมาเป็นจิตอาสาทำไมต้องไปกำหนดให้เขามา 8 โมงเช้า เขาจะมาเมื่อไหร่ก็ได้เพราะเขาเป็นจิตอาสา’ เราฟังแล้วก็อึ้งๆ ไปเหมือนกันเพราะยังมีคนที่เข้าใจว่าจิตอาสาคือการมาหรือไปเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่หัวใจของการทำงานจิตอาสาที่แท้จริงซึ่งต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ โดยเฉพาะงานในโรงพยาบาลที่มีนาทีชีวิตคนไข้รออยู่ ถ้าใครเป็นหมอ แล้วมาสายเพียงแค่สี่นาที เราอาจเสียคนไข้ไปแล้ว”

สิ่งที่คุณฝนพยายามทำตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา คือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการมาทำงานจิตอาสาให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น รวมทั้งมองเห็นความสำคัญของงานเล็กงานน้อยที่อาจดูไม่ยิ่งใหญ่ในสายตาคนภายนอก แต่เป็นงานที่มีความสำคัญต่อโรงพยาบาลเช่นเดียวกัน

“ทุกหน้าที่ในโรงพยาบาลมีความสำคัญเท่ากันหมด เราต้องทำให้เขาเห็นคุณค่าในงาน เช่น งานโภชนาการล้างผัก พับกระดาษ ปิ้งลูกชิ้น เราจะบอกเด็กทุกคนที่อยากเป็นหมอในอนาคตว่า วันหนึ่งที่คุณเป็นคุณหมอแล้วคุณจำวันที่คุณไปนั่งพับผ้าได้ เขาลำบาก เขาร้อน หมอคนเดียวไม่สามารถทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้ ถ้าไม่มีคนปูผ้าให้คนไข้นอนสบายๆ หมอก็ทำงานไม่ได้เหมือนกัน ถ้าทุกคนมองเห็นความสำคัญในทุกงานที่ทำ เขาก็จะมีความสุขกับการทำงานจิตอาสา ไม่ว่าจะอยู่แผนกไหนในโรงพยาบาล ไม่มีหน้าที่ไหนสำคัญน้อยไปกว่ากัน หรือแม้แต่แผนกพับจดหมายขอบคุณคนบริจาคเงินก็มีความสำคัญ เพราะคนเหล่านี้คือผู้มีพระคุณต่อโรงพยาบาลเช่นกัน”

คุณธานัท หรือคุณฝนกำลังพานักศึกษาที่อยากเรียนแพทย์เดินไปส่งที่แผนกห้องยาในโรงพยาบาลรามาฯ ระหว่างทางจะแนะนำให้เด็กรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของทุกหน้าที่ในโรงพยาบาล

หลังจากเปลี่ยนมุมมองใหม่ คุณฝนก็พบว่า ทุกๆ วันของการทำงานกับจิตอาสารุ่นใหม่ คือ “การสร้างโลกใบเล็กของคนทำงานจิตอาสา” ได้ด้วยสองมือของเธอเอง

เราพบว่าเราสามารถสร้างโลกใบเล็กใบใหม่ให้เด็กๆ ได้มาสัมผัส เรียนรู้คำว่าจิตอาสา เรากำลังสร้างคนรุ่นใหม่ที่เขาได้ถูกจัดสรรให้เรามาเจอกัน แล้วเราได้ทำหน้าที่เป็นปุ๋ยเติมสารอาหารให้พวกเขาเติบโตแข็งแรง เราบอกเขาว่า คุณเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดี ถูกเลี้ยงมาอย่างดี เราแค่เป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมคุณให้เติบโตงอกงาม วันหนึ่งที่คุณพร้อม คุณก็จะกลับมาช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น ทุกๆ วันศุกร์ เราจะนัดทุกคนมานั่งสรุปร่วมกัน เราจะขอให้น้องๆ เก็บความรู้สึกนี้ไว้ บางทีอีกยี่สิบปีผ่านไป เขาอาจนึกถึงมันก็ได้

ปัจจุบันคุณฝนมีหน้าที่ตั้งแต่รับสมัคร สัมภาษณ์และแจกจ่ายงานไปยังแผนกที่มีความต้องการคนช่วยงาน โดยต้องคัดเลือกจิตอาสาที่ไม่ไป “เพิ่มภาระ” กับแผนกนั้นด้วยเช่นกัน

“การสมัครมี  3 ช่องทาง  หนึ่ง บนเว็บโรงพยาบาล สอง ยื่นใบสมัครที่นี่เอง สาม ส่งมาทางอีเมล์ หลังจากนั้นจะมีการนัดมาสัมภาษณ์หรือสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพื่อให้รู้เป้าหมายของเขา ช่วงปิดเทอมเด็กจะมาสมัครจะเยอะ เราจะดูตามภาระงาน ว่ามีงานอะไรบ้าง เพราะเรามีจิตอาสาประจำแล้วส่วนหนึ่ง เราไม่ต้องการจำนวนคนเยอะแต่อยากได้คุณภาพมากกว่า เราจะประเมินก่อนว่าหน่วยงานที่เขารับคุณ เขาต้องมีความสุขด้วย ไม่ใช่คุณมีความสุขอยู่คนเดียวแล้วเขาทุกข์ เราต้องตกลงตั้งแต่เบื้องต้นว่าเขาจะช่วยงานอะไรบ้าง”

สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่มาทำงานจิตอาสาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ คือ เสื้อจิตอาสารามาธิบดีสีฟ้าซึ่งทุกคนจะได้ใส่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แบ่งเป็นสองแบบ คือ แบบเสื้อคลุมแขนสั้นสำหรับจิตอาสาที่ทำงานเป็นประจำติดต่อกันหลายปี ทางโรงพยาบาลจะมอบให้เป็นของส่วนตัวและนำมาสวมเป็นเสื้อคลุมเวลาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคนที่ได้รับจะรู้สึกภาคภูมิใจเหมือนเป็นเสื้อเกียรติยศเลยทีเดียว และแบบเสื้อกั้กสวมทับเสื้อปกติสำหรับจิตอาสาที่มาเป็นครั้งๆ คุณฝนกล่าวถึงความภาคภูมิใจของจิตอาสาที่ได้สวมเสื้อตัวนี้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ว่า

“ที่นี่มีจิตอาสามากว่า  10 ปี  มันถูกสะสมความดีงามในตัวเอง คนในโรงพยาบาลจะให้ความชื่นชมคนที่สวมเสื้อจิตอาสาตัวนี้ ร้านค้าบางร้านจะลดราคาสินค้าให้ หรือถ้ามีคนไข้มาโรงพยาบาลจะเลือกเข้ามาขอความช่วยเหลือคนที่สวมเสื้อจิตอาสามากกว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเสียอีก  เราจะย้ำกับน้องๆ เสมอว่า เสื้อตัวนี้รุ่นพี่ๆ เขาสะสมความดีงามมาตลอด ถ้าสวมแล้วขอให้พวกเราช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ความดีงามเอาไว้ด้วยเช่นกัน อย่าคิดแค่ว่าเรามาทำงานเก็บชั่วโมงแล้วจบไป ให้หาคุณค่าในแต่ละงานให้เจอเพราะจิตอาสาทำได้ทุกที่ทุกเวลา”

เสื้อจิตอาสารามาธิบดีเป็นเสื้อที่สั่งสมความดีงามมากว่าสิบปี ทุกคนที่สวมใส่เสื้อตัวนี้จะมีความภาคภูมิใจ

สิ่งที่ทำให้คุณฝนรู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุดในการดูแลจิตอาสาก็คือการได้เห็นพลังดีๆ ของคนทุกเพศทุกวัยเข้ามารวมกันอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้ และได้เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในใจของทุกคนให้เติบโตงอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป แม้ว่าเธอจะลาออกจากการทำงานประจำที่โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา แต่ทุกวันนี้เธอก็ยังแวะเวียนมาเป็นจิตอาสาช่วยงานโรงพยาบาลสัปดาห์ละสองวันเหมือนเช่นเดิม  เพราะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาได้เติบโตงอกงามในหัวใจของเธอมานานหลายปีจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแห่งความสุขกับเธอในวันนี้เช่นกัน

จิตอาสามันเริ่มได้ตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดคือ คุณดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงไม่เป็นภาระใคร หน่วยที่ใหญ่ขึ้นไปอีกคือ การดูแลคนรอบข้าง เวลาขึ้นรถเมล์ เราช่วยถือของ ลุกให้คนแก่นั่ง นี่คือจิตอาสา และหน่วยที่ใหญ่ขึ้นไปอีกคือ การช่วยเหลือสังคมเท่าที่เราจะช่วยได้ เราคิดว่าทุกคนสามารถเป็นจิตอาสาได้ตลอดเวลา เช่น  การประหยัดน้ำที่บ้าน การใช้กระดาษรีไซเคิล นั่นคือการช่วยโลกให้น่าอยู่มากขึ้นเช่นกัน

“การทำงานตรงนี้ตัวเราเองก็เหมือนเติบโตไปด้วย ในขณะที่เราบอกว่าเราขัดเกลาคนอื่น เราก็ต้องขัดเกลาตัวเราเองไปด้วยเช่นกัน  จากที่เคยเป็นคนเจ้าระเบียบ เข้มงวด ไม่ผ่อนปรน และไม่ปล่อยวาง เราก็ค่อยๆ ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปดังใจเราได้มากขึ้น เพราะไม่อย่างงั้นเราก็คงมีเรื่องให้หงุดหงิดทุกวัน ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น พอเราปล่อยวางมากขึ้น เราก็มีความสุขมากขึ้น และคิดถึงทุกวันศุกร์ เวลาที่เขาตอบว่าเขาได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานจิตอาสาที่นี่เพราะฟังแล้วชื่นใจ เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรใหญ่โต เพราะการเปลี่ยนแปลงคนๆ หนึ่งต้องใช้เวลายาวนาน เราแค่ทำให้ดีที่สุด ได้แค่ไหนก็แค่นั้น”

คุณฝนจะแวะทักทายจิตอาสาที่มาทำงานประจำจนกลายเป็นความผูกพันระหว่างกัน ในภาพเป็นวันเกิดของจิตอาสา คุณฝนจึงแวะเอาของขวัญมาให้ระหว่างการพาจิตอาสาไม่ประจำไปส่งตามแผนกต่างๆ

 

 

 

งานจิตอาสา

จิตอาสารามาธิบดี

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save