ครูคณิตจิตอาสานอกรั้วโรงเรียน
ใครทำงานประจำวันจันทร์ถึงศุกร์มักจะอยากให้ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ไวๆ เพื่อหาเวลาพักผ่อนนอนเอกเขนกอยู่บ้านชิลล์ ชิลล์ แต่สำหรับผู้ชายรูปร่างผอมบางใส่แว่นตาที่มีชื่อจริงว่า สิทธิพงษ์ ติยเวศย์ หรือ ครูไก่แจ้ กลับเลือกเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปตามหาความสุขด้วยการเป็น “ครูคณิตจิตอาสา” ให้กับนักเรียน กศน. หรือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
.
เพราะการได้พบกับนักเรียนตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุคือ “โลกใบเล็ก” ที่ซ้อนทับอยู่ใน “โลกใบใหญ่” ของสังคม สังคมของคนเรียน กศน. คือ สังคมของคนที่ “สร้างโอกาสให้ตนเอง” เพื่อชีวิตที่ดีกว่าหรือเพื่อเติมเต็มความฝันวัยเยาว์ที่ขาดพร่องไป ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา เขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยความทุ่มเททั้งหัวใจเท่านั้น หากยังสอน “วิชาชีวิต” ให้นักเรียนทุกคนเห็นคุณค่าในตนเอง วันอาทิตย์ของเขาจึงไม่ใช่วันหยุดพักผ่อนธรรมดา หากเป็นวันหยุดอันมีค่าที่เติมเต็มความสุขในหัวใจทั้งนักเรียนและครูคณิตจิตอาสาคนนี้ด้วยเช่นกัน
.

.
ครูไก่แจ้เริ่มต้นเป็นครู กศน. มาตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ จังหวัดระยอง หลังจากทำงานชุมชนลงพื้นที่จึงได้พบกับความต้องการครูสอน กศน. ในช่วงวันอาทิตย์ จึงเริ่มสอนมาตั้งแต่ปี 2547เป็นต้นมา พอย้ายเข้ามาทำงานที่บริษัท ปตท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ก็ยังมองหาศูนย์ กศน. ที่ต้องการครูคณิตศาสตร์และเดินทางไปสอนให้กับหลายเขต หลายศูนย์อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ตรงกันข้ามหากวันอาทิตย์ไหนงดการเรียนการสอน ครูท่านนี้กลับรู้สึกเงียบเหงาและไม่รู้จะทำอะไรดีในวันหยุดสุดสัปดาห์
.
“การสร้างโอกาสให้คนอื่น” คือเหตุผลของการออกจากบ้านทุกวันอาทิตย์ เป็นเหมือนพลังขับเคลื่อนให้เกิดความกระตือรือร้นในการเตรียมสอนและพยายามให้เวลากับลูกศิษย์ไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนอย่างเต็มที ถ้าลูกศิษย์คนไหนไม่เข้าใจ อยากนัดเรียนเพิ่มเติม ครูก็พร้อมนัดสอนนอกสถานที่ด้วยความเต็มใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
.
สิ่งที่มีความหมายคือ เหตุผลของนักเรียนที่มาเรียน กศน. บางคนมาเรียนเพราะอยากมีวุฒิการศึกษาเทียบเท่ากับคนรักเพื่อไม่ให้ครอบครัวของคนรักดูถูกเหยียดหยามว่าด้อยการศึกษา บางคนมาเรียนตอนวัยชราเพราะทั้งชีวิตที่ผ่านมาทำงานส่งเสียให้ลูกได้เรียนจนจบมีงานทำ ผมมีความสุขที่ได้สอนคนกลุ่มนี้เพราะเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสจากการศึกษาในรั้วโรงเรียน แต่เขาเห็นคุณค่าของการศึกษา เขาจึงขวนขวายมาเรียนด้วยตัวเอง ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อสร้างโอกาสให้กับตนเอง
.
ในคาบแรกที่เจอกัน ครูไก่แจ้จะสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้ผ่อนคลาย ด้วยการเชิญชวนทุกคนช่วยกันตั้งคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับครู เพื่อให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยว่าสามารถตั้งคำถามกับครูได้ หลังจากนั้นครูก็จะเริ่มตั้งคำถามโจทย์ชีวิตกับนักเรียนถึงเหตุผลที่มาเรียน กศน. และอีกห้าปีข้างหน้า อยากให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อไปถึงจุดนั้น ซึ่งการตั้งคำถามเป็นการเปิดโลกทัศน์อย่างหนึ่งให้นักเรียน
.

.
หลังจากทุกคนเริ่มรู้จักกันมากขึ้น บรรยากาศในห้องเรียนจึงเริ่มผ่อนคลาย นักเรียนกล้าถามสิ่งที่สงสัยกับครู และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียนกันมากขึ้น คณิตศาสตร์ที่เป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน จึงกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะครูไก่แจ้คิดค้นหาเทคนิคการสอนใหม่ๆ มาสร้างความเข้าใจให้นักเรียนอยู่เสมอ จนทุกคนสามารถเข้าใจคณิตศาสตร์และสอบผ่านในช่วงสิ้นภาคการศึกษา
.
“ผมโชคดีที่ได้เรียนรู้สัมผัสผู้คนที่หลากหลาย ผ่านการทำงานพัฒนาชุมชน ก็เลยพยายามนำกระบวนการเรียนรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เกิดการออกแบบห้องเรียนที่ไม่ใช่การสอนคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่มองว่ามันคือการเรียนรู้ของตัวเองด้วย เมื่อก่อนเราคิดว่าเราเป็นครู เราใหญ่มาก อยู่เหนือกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น ยิ่งมีคนชื่นชมก็ยิ่งรู้สึกยิ่งใหญ่”
.
แต่พอถึงจุดหนึ่งเรากลับรู้สึกว่า เราเสียเวลาแค่สามชั่วโมงมาสอนหนังสือ แต่เด็กนักเรียน 10 คน เขาต้องเสียเวลา 30 ชั่วโมง ถ้า 20 คน เขาเสียเวลา 60 ชั่วโมง ถ้า 30 คน เขาเสียเวลารวมกัน 90 ชั่วโมง เพื่อมาฟังเราสอน ดังนั้นการที่เราเป็นครูไม่ได้หมายความว่าเวลาเรามีค่ามากกว่าเด็ก จริงๆ เด็กเขาก็อยากมีเวลาส่วนตัว แต่ก็ยังมานั่งเสียเวลาฟังเราเรื่องการถอดราก หรือแก้โจทย์สมการยากๆ ซึ่งไม่ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันเลย แต่เขายังให้เกียรติเรา มานั่งฟังเรา ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า มันไม่มีความดี ไม่มีการให้ แต่มันคือการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เราไม่ได้เป็นติวเตอร์ที่เก่งกาจ เรามีความสามารถของเราแค่นี้ ที่พอจะช่วยเหลือคนอื่นได้บ้าง เราเป็นจิ๊กซอว์ที่ไปเติมเต็มในส่วนที่เขายังขาด”
.
เอกลักษณ์ของการสอนของครูไก่แจ้ที่นักเรียนทุกคนจะได้ทำ คือ การเขียนบัตรคำบอกเล่าความรู้สึกตัวเองหลังจากเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งครูไก่แจ้เรียกว่า “ปฏิมากรรมคำเขียน” การเขียน มันคือการทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตทำให้เขาอยู่กับตนเอง ค่อยๆ ไล่ลำดับและเขียนออกมา มันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้ค้นพบขุมพลังที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเอง”
.
มีบางประโยคที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาทำให้ครูท่านนี้น้ำตาซึมด้วยความปลื้มใจ
“เขาจะบอกว่า ครูไม่ได้สอนแค่คณิตศาสตร์ ครูสอนให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และมีอยู่คำหนึ่งที่เป็นเสมือนหัวใจของการสอนหนังสือในระยะเวลา 10 กว่าปีของผม มันเหมือนเป็น ส.ค.ส ส่งมาให้ผม นักศึกษาเขียนบัตรคำมาบอกผมว่า ‘ครูสอนด้วยความสุข’ ส.ค.ส ย่อมาจากคำว่า สอนด้วยความสุขนั่นเอง”
.
ผมรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปสอน และเตือนตัวเองอยู่ในใจเสมอ ว่าด้วยบทบาทหน้าที่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ เราจะทำอย่างไรที่จะใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการที่จะไปถึงสุดท้ายปลายทาง ไม่ใช่แค่สอบได้อย่างเดียว แต่ได้คุณค่าของชีวิตติดไปด้วย เพื่อพิสูจน์ความเชื่อที่ว่า ความรู้ไม่ได้มีหน้าที่กดขี่ความเป็นมนุษย์ให้ต่ำลง แต่หน้าที่ของความรู้คือการอุ้มชูมนุษย์ให้งอกเงยขึ้น
นับตั้งแต่ครูไก่แจ้เริ่มทำหน้าที่ครูคณิตจิตอาสามาจนถึงวันนี้ ความสุขในชีวิตก็เพิ่มมากขึ้น เป็นความสุขที่ไม่ได้ต้องการสะสมเงินทองมากมายเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่เป็นความสุขเรียบง่ายใกล้ตัวที่หาได้ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์
.
“ผมมักบอกกับนักเรียนเสมอว่า ไม่ได้อยากได้อะไร แต่ถ้าคุณอยากให้ แค่วันนี้ที่บ้านทำจับฉ่าย คุณห่อใส่ถุงมาให้ครูก็พอ แค่นั้นจริงๆ อย่างเช่นมีคุณป้าชอบซื้อของกินมาให้ หรือนำของพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่ในบ้านมาให้ แค่นั้นก็พอ ไม่ได้ต้องการให้เรี่ยรายเงินซื้อสิ่งของมาให้ ด้วยหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงคำว่า ‘ให้’ อันทำลายกรอบข้อจำกัดของฐานะ ความรู้ ยศตำแหน่ง การมีเงินหรือไม่มีเงิน แต่ราทุกคนสามารถหยิบยื่นในสิ่งที่เรามีศักยภาพ ตามความสามารถที่เราเป็นอยู่ ซึ่งมีความหมายและคุณค่าทางจิตใจมากกว่าเงินทอง”
.
อยากจะบอกว่า พวกเขาต่างหาก คือ ‘ของขวัญ’ ที่พิเศษสุดสำหรับชีวิตการเป็นครูของผม ถ้าผมเป็นต้นไม้ พวกเขาเปรียบเสมือนสายฝนที่หยดลงมา ทำให้หัวใจของความเป็นครูเจริญงอกงาม มันเป็นความชื่นใจ เป็นชีวิตที่อุดมด้วยความเกื้อกูล ส่งทอดความปรารถนาดีให้แก่กันและกัน

.
“ผมตาสว่างมากขึ้น เริ่มมองเห็นว่า เกียรติยศ ชื่อเสียง คำชื่นชม มันคือสิ่งที่อุปโลกน์สร้างขึ้นมาเอง ถ้าไม่มีคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้เกิด ถ้าเราไม่มีความรู้ ถ้าที่ทำงานไม่เปิดโอกาส ประตูแห่งโอกาสก็ไม่มี และที่สำคัญถ้าไม่มีนักศึกษามานั่งเรียน แล้วจะสอนให้ใครฟัง ทุกสิ่งมันประกอบกันขึ้นมาทำให้เข้าใจว่าแท้จริงมันไม่มีอะไรเลย คนเป็นครูไม่ได้แปลว่าเป็นคนที่ถูกที่สุด ครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งใดที่ครูทำผิดพลาด ทำให้ไม่สบายใจ ครูก็ยกมือไหว้เด็กเพราะคิดว่าลูกศิษย์ก็เป็นครูของตนเช่นกัน เหมือนเนื้อไม้สอนช่างไม้ฉันใด การสอนศิษย์ย่อมเป็นครูฉันนั้น
.
“ด้วยเหตุนี้ยิ่งได้สอนหนังสือมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเราเล็กลง เพราะก้อนหินไม่อาจกลมได้ด้วยตัวของมันเอง จะต้องผ่านการกระทบกระแทก ขัดเหลา จากสิ่งต่างๆ จนทำให้ขนาดเล็กลง แค่เลือกทำให้สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ทำแล้วเรารู้สึกว่าทุกข์น้อยที่สุด เท่านั้นเอง เวลาที่เจอเพื่อนชมว่าคือผู้เสียสละ ผมก็จะขอบคุณเขา และตอบว่าทุกคนก็สามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยสองมือของเราเอง”
.
ถ้าความดีเป็นเหมือนดอกไม้ ย่อมเบ่งบานตามเวลาและวาระที่แตกต่างกันไป เมื่อใดที่เราเข้าใจได้ว่า ดอกไม้นั้นไม่ได้เบ่งบานเพื่อใคร เราก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งสำคัญของความดี คือคุณได้เรียนรู้อะไรจากการกระทำ โดยไม่ต้องให้ใครมานิยามว่า มันคือความดี”
.
(ขอบคุณภาพประกอบจากครูไก่แจ้มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)