8 ช่องทางความสุข

ป้ามล…ไม้ขีดไฟแห่งความหวังของเยาวชนผู้ก้าวพลาด

ปลายเดือนเมษายน 2560

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งคดีสะเทือนขวัญ เยาวชนอายุ 18 ปีชื่อเล่น “หมูหยอง”  ฆ่าคนแล้วให้สัมภาษณ์ว่า “เหมือนฆ่ามด” 

ป้ามล หรือ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หรือ บ้านกาญจนาฯ ติดตามสถานการณ์ข่าวด้วยความห่วงใยลึกๆ ในใจเชื่อมั่นว่า หมูหยองคงจะมีบาดแผลมากมายในชีวิตที่ผลักดันให้เขาสามารถฆ่าคนและให้สัมภาษณ์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้น ประสบการณ์สิบห้าปีในฐานะ “แม่คนที่สอง” ของเยาวชนผู้ก้าวพลาดส่งเสียงดังก้องในหัวป้ามลว่า “ไม่มีเด็กคนไหนใฝ่ฝันอยากเป็นฆาตรกร”  และ “มนุษย์ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้”

ไม้ขีดไฟแห่งความหวัง

“เมื่อเราเดินทางมาถึงตรงนี้ ประสบการณ์ที่ผ่านมายืนยันตอกย้ำกับเราว่ามนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ  ต่อให้เด็กซึ่งดูเหมือนเขาจะผ่านเรื่องร้ายๆ และลงมือต่อยอดเรื่องร้ายๆ จนทำให้ชีวิตของเขาเสมือนดำมืดสนิทไปแล้วก็ตาม เราเชื่อว่า เมื่อมีปัจจัยผลักดันเขาออกไปเป็นซาตานก็ต้องมีปัจจัยผลักดันให้เขากลับเป็นคนดีได้เหมือนกัน แต่มันต้องการเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อทำให้ด้านดีของเขาแข็งแรงกว่าด้านร้าย”

ท่ามกลางหุบเหวลึกอันมืดมิด  “แม่” ของเยาวชนผู้ก้าวพลาดยังคงมองเห็นแสงสว่างแห่งความหวังอยู่เสมอ ป้ามลหาทางติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่ควบคุมหมูหยองเพื่อขอเข้าเยี่ยมทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยมีเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกสี่คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนที่เคยอยู่กับหมูหยองที่บ้านเมตตาและวันนี้ยังอยู่กับป้ามลที่บ้านกาญจนาภิเษก ส่วนอีกสามคนเคยต้องคดีฆ่าคนตาย แต่วันนี้สามารถกลับไปเป็นกำลังของครอบครัวและไม่เป็นภาระของสังคมอีกต่อไป ทั้งหมดเดินทางไปเยี่ยมหมูหยองด้วยกัน

“ป้ามีความเชื่อว่า หมูหยองยังมีด้านดีอยู่ แต่ด้านดีของเขาอาจฝังกลบอยู่ในส่วนที่ลึกมาก เราจึงอยากไปพบเขา ไปพูดคุยด้วยตัวเราเอง แต่ด้วยความที่หมูหยองไม่เคยรู้จักป้า เขาก็ยังงงว่ามาทำไมกัน ป้าจึงให้หมูหยองพูดคุยกับเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกที่พลัดหลงเข้าไปในซุ้มมือปืนรับจ้างและมีเหยื่อหลายคนซึ่งเขายืนยันกับหมูหยองว่า ในรูปคดีผมเลวกว่าหมูหยองอีก แต่ในที่สุดผมก็เปลี่ยนแปลงได้ ผมมาที่นี่เพื่อจะบอกหมูหยองว่า คนอย่างผมยังเปลี่ยนได้ คนอย่างหมูหยองต้องเปลี่ยนได้ แล้วที่เคยให้สัมภาษณ์อะไรที่แย่ๆ ไป ผมก็เคยเป็นแบบนี้ ผมรู้ว่าเราพูดเพราะอะไร บางครั้งเรารู้สึกเกลียดชังตัวเราเอง รู้สึกไม่มีความหวัง ไม่มีใครเข้าใจเราหรอก แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็อยากลงจากหลังเสือ วันหนึ่งหมูหยองก็จะมาถึงอารมณ์นี้แต่ตอนนี้อย่าซ้ำเติมตัวเองนะ”

วันนั้นป้ามลฝากหนังสือเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของเด็กบ้านกาญจนาฯ ที่สามารถกลับตัวเป็นคนดีไว้ให้หมูหยองอ่าน ด้วยหวังว่าหนังสือจะเป็นหนึ่งในแสงสว่างเล็กๆ ที่ช่วยสั่นคลอนและขัดเกลาด้านร้ายในตัวเขาให้อ่อนแอลงและเสริมด้านดีให้แข็งแรงขึ้น

“ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้ป้าไม่มั่นใจว่าหมูหยองจะมีแรงจูงใจ มีความพยายามอ่านหนังสือที่เราให้หรือเปล่า ขณะนั่งรถกลับจากเรือนจำชัยภูมิลูกหลานคนหนึ่งที่เคยติดเรือนจำเพิ่มอีก 3 ปีด้วยคดีเก่าที่ต่อเนื่องบอกว่า ‘ป้าไม่ต้องห่วงครับ เขาจะอ่านทุกเม็ด ผมจำได้ตอนป้าไปเยี่ยมผม ไม่ว่าป้าฝากอะไรไป ผมจะอ่านหมด ผมยังอ่านให้คนอื่นฟังด้วย เพราะในโลกแคบๆ ตรงนั้นไม่มีอะไรให้เราทำ แล้วอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่าง เราก็อยากไขว่คว้ามันไว้”

การได้พบกับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันแสดงความห่วงหาอาทรทำให้แววตาแข็งกร้าวของเด็กหนุ่มผู้ก้าวพลาดเริ่มอ่อนโยนลงภายในเวลาสองชั่วโมงที่ได้พบกัน ก่อนลาจากกันป้ามลตัดสินใจทำบางอย่างที่เขาไม่คาดคิดมาก่อน

ป้าเดินไปหาหมูหยองบอกว่า ป้าจะกลับแล้วนะ ป้าอยากจะกอดผมสักครั้งหนึ่ง เหมือนที่ป้าเคยกอดพี่ๆ บ้านกาญจนาฯ ระหว่างที่ป้ากอดเขาก็ไม่ได้รู้สึกถึงอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น แค่รู้สึกเหมือนลูกหลานเราคนหนึ่งเท่านั้นเอง พอป้าไปเยี่ยมหมูหยองรอบที่สอง สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อหมูหยองยกมือขอกอดป้าตอนผู้คุมปล่อยเขาเข้ามาในห้องเยี่ยม

 

เรือน้อยกลางทะเลมรสุม

ตลอดระยะเวลาสิบห้าปีของการเป็น “แม่” เยาวชนผู้ก้าวพลาดในบ้านกาญจนาฯ  ป้ามลต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านของสังคมหลากหลายทิศทาง เปรียบเสมือนเรือลำน้อยล่องลอยท่ามกลางทะเลฤดูมรสุม การนำพาเรือชีวิตเยาวชนผู้ก้าวพลาดมุ่งหน้าเข้าหาฝั่งจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลายาวนานกว่าสังคมจะยอมรับและเข้าใจ

“ป้าไม่อยากโทษสังคมหรอกนะ เพราะสังคมก็ยังไม่มีแว่นที่เหมาะสมในการมองเด็กเหล่านี้ ที่สำคัญนี่เป็นงานของเราและเด็กๆ บ้านกาญจนาฯ รวมทั้งเด็กเก่าที่ออกไปแล้วด้วย ถ้าลูกหลานของเราสามารถทำให้คนในสังคมเห็นความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาได้ มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการยอมรับของผู้คนในสังคม เพราะครอบครัวเหยื่อเขาก็บาดเจ็บจากความสูญเสีย เราคงจะไปบังคับให้เขาเชื่อไม่ได้ แต่มันต้องมาจากการพิสูจน์ของพวกเราก่อน หลังจากนั้นป้าคิดว่ามุมมองของสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเอง เหมือนนาทีนี้ไม่เหมือนกับเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว

“ช่วงสามปีแรกของการเข้าไปเป็นผู้อำนวยการในฐานะคนนอกของป้า (บ้านกาญจนาภิเษก คือ 1 ใน 19 สถานควบคุมที่ใช้ผู้อำนวยการในระบบ  Outsource หรือ ไม่ใช่ข้าราชการตามกฎเกณฑ์เดิม) ป้าเคยถูกกล่าวร้ายในพื้นที่สาธารณะเยอะรวมถึงการร้องเรียน เช่นเคยมีจดหมายพร้อมชื่อสนับสนุนมากมายส่งไปถึงอธิบดีกรมพินิจฯ…ให้ตักเตือนคุณทิชา สาเหตุมาจากป้าให้เด็กออกไปขี่จักรยานในยามเย็นอย่างอิสระหรือให้ออกไปโทรศัพท์สาธารณะตามเวลาที่ตกลงกัน (ตอนนั้นบ้านกาญจนาภิเษกยังไม่ได้ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะ)  ซึ่งต้องผ่านบ้านพักของเจ้าหน้าที่รัฐและชาวนาชาวสวน กลุ่มที่เข้าชื่อร้องเรียนรู้สึกว่าชีวิตเขา ลูกหลานเขา ทรัพย์สินเขาไม่ปลอดภัย  ป้าก็ชี้แจงกลับไปว่า ถ้าจดหมายฉบับนี้ถูกเขียนโดยชาวนาหรือชาวสวนแถวนี้ ป้าจะชวนเด็กๆ เดินไปขอโทษและให้ความมั่นใจกับเขาว่าเราจะอยู่อย่างสงบ เราจะไม่ทำให้ลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนเดือดร้อน  แต่เมื่อจดหมายฉบับนี้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคุณได้บอกกับสังคมว่าช่วยให้โอกาสเด็กเหล่านี้ ให้เขามีที่ยืนในวันคืนกลับสู่สังคม แต่เบื้องหลังเบื้องลึกคุณไม่ไว้ใจพวกเขา คุณยังรู้สึกระแวงพวกเขา  แต่คุณกลับขอให้คนอื่นไว้ใจ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น ป้ายืนยันไปว่าป้าไม่ปรับและเจ้าหน้าที่รัฐต้องทบทวนวิธีคิดของตัวเองด้วย”

การทำหน้าที่เป็น “แม่” ของเด็กหลายร้อยคนในแต่ละปีของบ้านกาญจนาฯ ซึ่งไร้กำแพงสูงขวางกั้นนับเป็นงานที่เสี่ยงและท้าทายการใช้อำนาจแนวดิ่งแบบเดิมในคุกอื่นๆ ของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ผู้เป็นแม่จึงต้องแสวงหาเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อลดด้านร้ายขยายด้านดีในตัวลูกๆ วัยรุ่นที่เคยก่อคดีให้แข็งแรงมากขึ้น

เราเชื่อว่า เราไม่มีอำนาจจะเปลี่ยนแปลงใคร หน้าที่เราก็คือดึงอำนาจในตัวเขามาเปลี่ยนแปลงตัวเขาเอง เราไม่มีอำนาจชี้ถูก ชี้ผิด เมื่อเรารู้ว่า เราไม่ใช่ผู้วิเศษคนนั้น เราก็ต้องหาเครื่องมือสารพัด  ด้วยฐานคิดนี้แม้แมลงวันหนึ่งตัวบินผ่านหน้าก็เป็นครูได้ สำหรับป้าเครื่องมือคือสิ่งที่อยู่รอบตัว ตรงนี้หรือเปล่าที่คนบอกว่า การทำให้คุกอื่นเป็นแบบบ้านกาญจนาฯ ยาก เพราะคุณต้องการสูตรสำเร็จ สูตรตายตัวซึ่งเราไม่มี  เราต้องยอมรับว่าเราต้องหมุนไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุด พลวัตรของสังคมเป็นเครื่องมือที่อัพเดทที่สุดแล้ว

เยาวชนที่กลับตัวเป็นคนดีจะกลับมากราบ “แม่คนที่สอง” ในวันสู่เหย้า 16 สิงหาคมของทุกปี

หัวอกของ “แม่คนที่สอง”

อาจกล่าวได้ว่า ความสุขของคนเป็นแม่คงไม่มีสุขใดไหนเท่ากับการได้เห็นลูกกลับตัวเป็นคนดีของสังคม  ทุกครั้งที่ได้ข่าวคราวของลูกๆ ที่พ้นโทษออกไปจากบ้านหลังนี้เติบโตก้าวหน้าในอาชีพการงาน เป็นลูกที่ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ และหัวหน้าครอบครัวที่พึ่งพิงได้ แม่คนนี้ก็อิ่มเอมใจเสมอ

“ป้าไม่ได้คาดหวังอะไรจากเด็กๆ ทุกครั้งที่เด็กส่งข้อความมาให้ ป้าก็รู้สึกดีหมด เด็กๆ เขามีการติดต่อช่วยเหลือตอบแทนกลับมาในรูปแบบต่างๆ ป้าก็ขอบคุณที่เขาไม่เคยลืมบ้านหลังนี้ ป้าคิดว่าถ้าเขาไปดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวเขาได้ แม้ว่าเขาจะไม่ย้อนกลับมาที่นี่เลยด้วยเหตุผลส่วนตัวของเขา เช่น ไม่อยากให้เมีย พ่อแม่ฝ่ายหญิง หรือคนในที่ทำงานรู้ประวัติของเขา ซึ่งมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หน้าที่ของเราคือวางๆ ไว้บ้าง บางคนแสดงตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนแสดงตัวไม่ได้ หลายคนสามารถเติบโตก้าวหน้าในอาชีพการงานจนได้เดินทางไปต่างประเทศ ในฐานะคนสำคัญขององค์กรเพราะสิ่งที่เขาทำมันดีงามและนำพาเขาเดินไปไกลจนไม่มีใครคิดตรวจสอบประวัติย้อนหลัง เด็กบางคนเลือกเป็นเจ้านายตัวเองในกิจการเล็กๆ ที่ไม่มีใครคอยติดตามอดีตที่ผ่านมาของเขา”

ทว่า สิ่งที่ยากและต้องทำใจยอมรับสำหรับเยาวชนผู้ก้าวพลาดคือ การได้รับการให้อภัยจากครอบครัวของเหยื่อ โดยเฉพาะคดีที่ตกเป็นข่าวดังหรือคดีที่เหยื่อเป็นคนมีชื่อเสียงในสังคม

“ถ้าเราสามารถไปถึงตัวผู้เสียหายและทำพิธีขอขมาได้ เราจะกระทำ แต่ความจริงคือเราทำเช่นนั้นไม่ได้ทุกกรณี ยกตัวอย่างคดีเด็กปาก้อนหินเข้าไปในรถตู้โดนตลกร่างเล็กเสียชีวิต พอเราได้ทำงานกับเด็กคนนั้น เราได้เห็นแสงสว่างเล็กๆ ในตัวเขา เหมือนที่เคยเห็นจากเด็กทุกคนที่เคยทำผิดพลาด แต่เมื่อเขาถูกสื่อพาดหัว เขาก็อยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีใครลืมเขา ดังนั้นทุกครั้งที่มีการปาหินเกิดขึ้นในประเทศไทย สื่อก็จะย้อนกลับมาเอ่ยถึงเด็กคนนั้นเสมอ มันเหมือนกับเขาถูกทำให้คนจดจำในฐานะตำนานการปาหินและนำไปสู่การตอกย้ำว่าเขาเป็นคนดีไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นโจทย์ของเราด้วยในฐานะผู้เยียวยา”

ด้วยความเป็น “แม่” และด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในฐานะผู้รับผลไปแล้วและรอรับผลอีกครั้ง เธอจึงดิ้นรนทุกทางที่ช่วย“ปลดล็อค”ให้กับทุกคน แม้ว่าหนทางนั้นจะดูมืดมนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยก็ตาม

ในที่สุดเราตัดสินใจไปพบเหยื่อการปาหินซึ่งเป็นภรรยาของตลกร่างเล็ก ตอนแรกเธอก็ไม่ชอบเรา แต่เราก็เข้าใจและรับได้นะ แต่หลังจากหนึ่งปีของการทำงานผ่านไป เราก็ได้ยินสิ่งที่ไม่คาดฝัน เมื่อเธอบอกว่า “หนูอยากพบเด็กคนนั้น อยากให้อภัยเขา”  วันแห่งการขอโทษและการให้อภัยจึงเกิดขึ้นท่ามกลางแสงเทียนและพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ เธอโอบกอดเด็กหนุ่มคนที่ปาหินใส่สามีเธอจนเสียชีวิตพร้อมกับบอกว่า “พี่ให้อภัยนะไปใช้ชีวิตดีๆ” นับจากวันนั้นไม่ว่าสื่อจะพูดถึงเด็กหนุ่มที่เคยผิดพลาดคนนั้นว่าอย่างไรก็ไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว เพราะความรู้สึกของเขาได้รับการให้อภัยโดยเหยื่อแล้ว

นาทีอันยิ่งใหญ่ของชีวิตเยาวชนผู้ก้าวพลาดเมื่อได้รับการให้อภัยโดยภรรยาตลกร่างเล็กที่สูญเสียสามีจากถูกปาหินใส่รถตู้

ขณะเดียวกันหลังการให้อภัยผู้กระทำผิดที่เป็นบาดแผลลึกในใจของผู้สูญเสียมานานหลายปี ภรรยาของตลกท่านนี้ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการคนค้นคนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า “ก่อนให้อภัยเรานอนไม่ค่อยหลับ ชีวิตไม่มีความสุข เวลาก้าวเดินเหมือนเท้าจมอยู่ในโคลน แต่หลังจากให้อภัยแล้ว เวลาก้าวเดินรู้สึกเบาขึ้น”  ด้วยเหตุนี้ คุณค่าของการให้อภัยจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้กระทำผิดได้รับการปลดปล่อยจากความผิดบาปในใจเท่านั้น หากครอบครัวของเหยื่อก็ได้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนอดีตด้วยเช่นกัน เยาวชนผู้ก้าวพลาดที่ได้รับการให้อภัยจึงนับเป็นหนึ่งในคนโชคดีไม่กี่คนที่ได้รับการให้อภัย เพราะไม่ใช่ครอบครัวเหยื่อทุกคนจะทำใจยอมรับและให้อภัยได้

“ถ้าครอบครัวเหยื่อไม่พร้อมให้อภัย เราก็ต้องกลับมาคุยกับลูกหลานของเราว่า ผมเข้าใจใช่ไหมครับว่าบางครอบครัวต้องเผชิญกับความสูญเสียที่ยากจะทำใจ หนึ่งในนั้นคือเคสที่ลูกหลานของเราไปก่อคดียิงน้องชายดาราชื่อดังจนเสียชีวิต ครอบครัวเหยื่อทำใจไม่ได้และไม่ยอมรับการติดต่อจากป้า หลังพ้นโทษลูกหลานเราคนนี้ตัดสินใจบวชเพื่อไถ่บาปที่ตนเองก่อไว้โดยไม่มีกำหนดสึกจนถึงวันนี้”

แม้ว่าในสายตาของสังคมจะมองว่า ป้ามลมีบุคลิกเข้มแข็ง กล้าเดินหน้าพิสูจน์ความเชื่อของตนเองแบบไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ แม้อำนาจรัฐ แต่ในยามที่ต้องเผชิญคลื่นลมมรสุมแรงกล้า น้ำตาของหญิงแกร่งก็รินไหลออกมาเพื่อปลอบประโลมตนเองไม่ต่างจากมนุษย์ปุถุชนทั่วไปเช่นกัน

ป้าเป็นมนุษย์ธรรมดาก็ต้องท้ออยู่แล้ว ป้าร้องไห้เก่ง แต่ระหว่างที่ร้องไห้ป้าก็จะบอกตัวเองเสมอว่า ไม่มีปัญหาไหนอยู่กับเราตลอดไป เดี๋ยวมันก็แก้ได้ แม้เหตุการณ์บางอย่างมันอาจดูแย่ในวินาทีที่เรากำลังรับมือกับมัน แต่อีกปีสองปีต่อมามันจะเป็นบทเรียนที่มีค่า จนทำให้เรารู้สึกอยากขอบคุณทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา ที่นี่มันเป็นงานร้อน ป้าก็สุขๆ ทุกข์ๆ สลับกันไป ดังนั้นเราต้องไม่ประมาทกับความสุขและความทุกข์เมื่อเราออกแบบดีที่สุด อะไรจะเกิดขึ้นเราก็พร้อมรับมือกับมันได้ จากนั้นหาบทเรียน ปรับตัว เริ่มใหม่ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

“ป้าพยายามทำในสิ่งที่เชื่อและศรัทธาอย่างจริงจัง ทุ่มเท งานแบบนี้มันมีความเป็นพลวัตรที่สูงมาก แต่ขณะเดียวกันป้าคิดว่ามันก็มีพลังมากเช่นกัน แม้ว่าจำนวนเด็กที่บ้านกาญจนาฯ รับเข้ามาปีละ 100 – 120  คนจะเป็นสเกลที่เล็กมากเมื่อเทียบกับเด็กที่กระทำผิด 3 – 4 หมื่นคนต่อปี แต่ป้าเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้วลูกหลานของเราที่กลับตัวได้นอกจากไม่เป็นภาระของสังคมพวกเขาจะกลายเป็นแรงเหวี่ยงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอนาคตอีกหลายมิติ…ใช่!คนกลุ่มเล็กๆ ที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้”

ณ งานคืนสู่เหย้าบ้านกาญจนาฯ

ทุกๆ วันที่ 16 ส.ค.ของทุกปี รุ่นพี่ที่เคยผ่านการใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้จะกลับมาร่วมงานกันอย่างคับคั่งเพื่อให้ “แม่คนที่สอง” ได้เห็นหน้าคลายความคิดถึงและอิ่มเอิบใจที่ได้เห็น “จุดเปลี่ยน” ที่งดงามในชีวิตของลูกๆ ที่พ้นโทษออกไป หากดูสถิติที่ผ่านมาสิบห้าปีของบ้านหลังนี้จะพบว่า เด็กที่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำมีไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าจำนวนเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ได้กลับคืนสู่เป็น “คนต้นน้ำ” ของสังคมไปแล้ว การได้พบรุ่นพี่ในงานนี้จึงนับเป็นช่วงเวลามีค่าสำหรับรุ่นน้องที่ได้สัมผัส “ประจักษ์พยานที่มีชีวิต” เป็นต้นแบบของการคืนกลับเพื่อเป็น “พลังของสังคม” ด้วยตาของตนเอง  การบ้านของเด็กรุ่นน้องในวันนี้คือพูดคุยกับรุ่นพี่และเขียนบันทึกเรื่องราวของพี่ๆ อย่างน้อยสองถึงสามคนเพื่อเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงตนเองต่อไป

ค่ำคืนนี้เยาวชนผู้ก้าวพลาดทุกคนคงจะได้นอนหลับฝันถึงอนาคตที่สวยงาม…อนาคตที่มีแสงจากไม้ขีดไฟก้านเล็กที่ “แม่คนที่สอง” จุดประกายความหวังเอาไว้ให้ด้วยความเชื่อมั่นว่า “มนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้” และ “ไม่มีเด็กคนไหนใฝ่ฝันอยากเกิดมาเป็นขยะสังคม”

……………………………………..

ขอขอบพระคุณภาพถ่ายและข้อมูลเพิ่มเติมจากบันทึกป้ามลด้านล่างมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 

งานจิตอาสา

ทิชา ณ นคร

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save