8 ช่องทางความสุข

‘การฟัง’ วิชาที่โรงเรียน (ส่วนใหญ่) ไม่เคยสอน (ตอนที่ 1)

silhouette-1082129_1280

โลกเราก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 มาหลายปีแล้ว (ค.ศ.2001 – 2100) นับๆ ดูแล้วมีเรื่องที่มนุษย์ปัจจุบันเราพัฒนาและก้าวไปไกลกว่าสมัยบรรพบุรุษอยู่มาก โดยเฉพาะบรรดาเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

แต่ในทางกลับกัน บางเรื่องมนุษย์ยุคเทคโนโลยีอย่างเรา ก็กลับดูคล้ายจะถอยหลังเข้าคลองไปเสียอย่างนั้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ สุขภาวะทางปัญญา หรือการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างกัน

          จะโดยรู้ตัวหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ปัจจุบันพวกเราทำกันแทบไม่เป็นคือ การฟัง

น่าแปลกใจที่เทคโนโลยีในการสื่อสารยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไร กลับยิ่งส่งผลทำให้คนเราทุกวันนี้พูดกันน้อยลง ฟังกันน้อยลงมากขึ้นเท่านั้น ภาพของครอบครัว เพื่อนฝูง ชุมชนที่จะมาจับกลุ่มเฮฮานั่งล้อมวงไต่ถามทุกข์สุขในชีวิตของกันและกัน กลายเป็นเงาจางๆ ที่พร่าเลือนจนแทบมองไม่เห็น

“ยิ่งเทคโนโลยีมา ยิ่งเหมือนแยกเราให้ออกไปไกลจากกันมากยิ่งขึ้น ต่อให้มีเฟซบุ๊กที่เราเหมือนพูดอะไรดีๆ กันออกมา แต่มันก็ยังฉาบฉวยมากเลย เพราะคนส่งสารส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตกผลึกกับเรื่องนั้น คนรับสารก็รับไปอย่างเร็วๆ ลวกๆ ไม่ได้ตกผลึกกับเรื่องนั้นเช่นกัน ดังนั้นที่เราบอกว่าหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน มันเลยไม่เคยเกิดขึ้นจริงสักที” .น้อง – ธนัญธร เปรมใจชื่น กระบวนกรนักจิตบำบัดโครงการอาสาเพื่อนช่วยฟัง ธนาคารจิตอาสา กล่าวถึงปัญหาการสื่อสารของคนยุคปัจจุบัน
อ.น้อง -ธนัญธร

เมื่อเรา ฟังไม่เป็น สิ่งที่ตามมาคือความเปราะบางแตกร้าวในความสัมพันธ์ของผู้คนตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน ชุมชน องค์กร ไปถึงระดับประเทศชาติ และถ้าเราเกิดมีหูทิพย์ได้ยินเสียงของผู้คนที่กำลังขัดแย้งกันบนโลกนี้ ประโยคหนึ่งที่เราน่าจะได้ยินในทุกที่คือ คำร้องตะโกนอย่างสิ้นหวังว่า “ทำไมไม่มีใครฟังฉันเลย?” มันเกิดขึ้นทั้งๆ ที่คนที่กำลังเรียกร้องให้คนอื่นฟังนั้น แท้จริงก็ยังไม่เคยตั้งใจฟังใคร แม้กระทั่งเสียงของตัวเอง

อาสาเพื่อนช่วยฟัง 3

นัท, อ้น, พลอย คือ 3 คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากจะเรียนรู้เรื่องการฟัง ทั้ง 3 คนสมัครเข้าร่วมเรียนรู้ ‘การฟัง’ ในโครงการอาสาเพื่อนช่วยฟัง และอาสาปฏิบัติการรับฟัง ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารจิตอาสา ทั้ง 3 คนเห็นพ้องตรงกันว่าการฟังเป็นเรื่องที่ต้องฝึก

“มันต้องฝึกนะคะ ก่อนหน้านี้ตอนฟังเราอาจคิดว่าเราให้เวลากับเขา กำลังฟังเขาอยู่ แต่บางครั้งเราฟังแล้วก็คิดในใจไปด้วย อย่างเพื่อนมาร้องไห้เรื่องแฟน ตอนฟังเราก็คิดในใจเลยว่า ก็ไม่ยอมเลิกสักทีก็เป็นแบบนี้แหละ คือตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งใจฟังเขาด้วยซ้ำว่าเขาไม่สบายใจเรื่องอะไร จริงๆ แล้วเราควรจะใช้เวลานั้นอยู่ข้างๆ เขา รับฟังเขา พลอยว่ามันสำคัญนะ ฟังแบบตั้งใจฟัง ฟังที่แบบนั่งอยู่ตรงนั้นด้วย มันต่างจากฟังธรรมดา” พลอย  – สลิลทิพย์ ดำรงมหาสวัสดิ์ ตอบคำถามว่าการฟังจำเป็นต้องฝึกหรือไม่

“ตอนแรกรู้สึกว่าทุกคนก็ฟังเป็นอยู่แล้ว ทำไมต้องมาฝึกอีก” นัท – ณัฐพล ศรีพธูราษฎร์ เอ่ยเสริม “ครั้งแรกผมแค่อยากมาเรียนรู้ประสบการณ์ที่คนอื่นจะเล่าให้ฟัง เรานึกว่าการเรียนรู้มันอยู่ตรงนั้น แต่สิ่งที่เราได้กลับมามันยิ่งใหญ่มากกว่าการรู้เนื้อหาที่เขาพูดมาเสียอีก ผมได้รู้ว่าจริงๆ แล้วการเรียนรู้มันคือการฟัง

“ส่วนผมเข้ามาฝึกเพราะรู้สึกว่า เราอยากทำอะไรสักอย่างให้คนตรงหน้าของเราดีขึ้น” อ้น – ณัฐกฤต กฤตมโนรถ แบ่งปันความรู้สึกในมุมของตนเอง “เพียงแต่ว่าผมไม่ใช่คนที่จะไปพูดสนุก พูดเล่น พูดตลกให้เขาหัวเราะได้ สิ่งที่ผมทำได้คือนั่งข้างๆ เขา อะไรที่หนักๆ ขอให้แบ่งมา จะช่วยถือให้ แบ่งเบาให้ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าเราสามารถทำได้ดี ก็เลยอยากทำ”

พลอย

การฟังเป็น 1 เครื่องมือในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งนำไปสู่การสร้างความสุขภายในที่ลึกและยั่งยืนที่สุดของคนเรา ระหว่างการเรียนรู้เรื่องการฟัง เราจะเกิดแรงบันดาลใจบางอย่าง ที่จะลุกขึ้นมาสร้างสิ่งดีๆ ในชีวิตให้กับตัวของเราเอง

ปัญหาหลายๆ เรื่องเกิดจากการที่เรารับฟังไม่เป็น ไม่ใช่แค่ฟังคนอื่น แต่ไม่เคยฟังตนเอง ไม่เคยได้ยินเลยว่าเมื่อกี้ฉันพูดอะไรออกไป หลายๆ แบบฝึกหัดจึงเน้นให้คนหยุดเพื่อกลับมาได้ยินมากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่เราได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง คุณจะเข้าใจตัวคุณมากยิ่งขึ้น แล้วเมื่อคุณเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น คุณถึงจะดูแลสิ่งที่คุณจะต้องทำได้ดีขึ้น

เราจะกลับมาเรียนรู้เรื่องของพลังแห่งการฟัง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตของ อ้น, นัท, พลอย หลังการเรียนรู้เรื่องการฟังกันต่อในครั้งหน้า….’การฟัง’ วิชาที่โรงเรียน (ส่วนใหญ่) ไม่เคยสอน (ตอนที่ 2)

 


 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล : โครงการอาสาเพื่อนช่วยฟัง, โครงการปฏิบัติการรับฟัง ธนาคารจิตอาสา

ภาพ : pixabay.com

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save