8 ช่องทางความสุข, การฟื้นคืน (Resilience)

รู้ปัจจุบันของคนธรรมดา

การรับรู้ตัวเองได้บ่อย ๆ รับรู้อย่างตรงไปตรงมา การกลับมาสังเกตเป็นระยะๆ เป็นการฝึกสร้างตัวเลือกให้ตัวเองว่าเป็นแบบไหน รู้สึกแบบไหน อยู่แบบไหน ที่เรารู้สึกว่ามันคุ้มสำหรับเรามากกว่ากัน — การเหยียบคันเร่งยาว 8 ชั่วโมงโดยไม่พัก เครื่องยนต์จะพังเร็ว

.

คุณปพิชญา ลีลาไว ( เบลล์ ) ร่ำเรียนมาทางด้านสุขภาพจิต เป็นนักจิตบำบัด ปัจจุบันเธอสวมหมวกสองใบ ทำงานในสองบทบาท คือ เป็นเจ้าหน้าที่บุคคลและพัฒนาบุคลากรในบริษัทเอกชนซึ่งดูแลบุคลากรในสายงานจิตวิทยา พร้อมๆ กับสวมบทบาท นักกิจกรรมบำบัดในศูนย์สุขภาพจิต Let’s Talk โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน

.

เบลล์เข้าอบรมทักษะการฟื้นคืน (resilience skills) โดยโครงการความสุขประเทศไทยและธนาคารจิตอาสา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรื่องราวในบทความนี้จะบอกว่า ทักษะการฟื้นคืนช่วยเติมพลังในตัวของเรา ทำให้แบตเตอรี่ในตัวของเราก้อนใหญ่ขึ้นนั้น อึดมากขึ้น ทำงานได้นานขึ้นโดยไม่ต้อง ‘ กัดฟันทน’ มันเป็นไปได้อย่างไร


อยากฟังประสบการณ์ของเบลล์ในการฝึก resilience ในชีวิตประจำวันค่ะ
เบลล์รู้สึกว่าตัวเองใจเย็นขึ้น รับรู้สิ่งรอบตัวได้ละเอียดขึ้น กลับมาสังเกต ‘ ปัจจุบัน’ ของตัวเองได้บ่อย ๆ เวลาหงุดหงิด ปวดหัว ไม่สบายใจ เหนื่อยจัง แย่จังเลย วันนี้ไม่ใช่วันของเรา — เวลาเป็นแบบนี้ก็หยิบการ์ด (หัวเราะ) อีกอย่างที่สังเกตได้ก็คือ เบลล์ว่า เบลล์นอนดีขึ้น หลับดี ตื่นแล้วสดชื่น


ในฐานะที่เบลล์เป็นนักจิตบำบัด อยากถามว่า การหยุดเพื่อรู้อารมณ์ตัวเอง สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ระหว่างวัน — ที่เบลล์เรียกว่า ‘การรู้ปัจจุบันขณะ’ มันช่วยสร้างการฟื้นคืนได้อย่างไร เมื่อเทียบกับการที่เราทำงานไปเรื่อย ๆ ตามปกติ ไหลไปกับงาน เป็นอย่างที่เป็นอยู่ เพราะถ้าเปรียบตัวเราเป็นเครื่องยนต์ที่เหยียบคันเร่งไปเรื่อยๆ ขับยาว 8 ชั่วโมงโดยไม่ต้องพัก กับ การหยุดพักเป็นระยะ ๆ วิธีการหลังมันน่าจะช้า


มันช้ากว่าค่ะ แต่ทำงานได้ดีกว่า … การเหยียบคันเร่งยาว 8 ชั่วโมงโดยไม่พัก เครื่องร้อน เครื่องยนต์มันจะพังเร็วกว่าค่ะ ( หัวเราะ)

.

สำหรับเบลล์ การรับรู้ตัวเองได้บ่อย ๆ รับรู้อย่างตรงไปตรงมาว่า กำลังรู้สึกแย่นะ มันทำให้ได้พัก เหมือนการเหยียบเบรค เราไม่ได้รู้เพื่อจะหาทางหนีทีไล่ แต่รู้ “เพื่อให้เราเลือกได้ ว่าจะปล่อยความรู้สึกแย่ ๆ นั้นไป หรือจะอยู่กับความรู้สึกนั้นต่อ” การกลับมาสังเกตเป็นระยะๆ เป็นการฝึกสร้างตัวเลือกให้ตัวเองว่าเป็นแบบไหน รู้สึกแบบไหน อยู่แบบไหน ที่เรารู้สึกว่ามันคุ้มสำหรับเรามากกว่ากัน


เบลล์เป็นนักบำบัด ดังนั้นเบลล์ถูกฝึกมาว่า การคิดแบบไหนดี คือ healthy สำหรับเรา หรือ การคิดแบบไหนที่มันไม่ดี มันไม่ healthy สำหรับตัวของเรา การรับรู้ตัวเองได้อย่างชัดเจน บ่อย ๆ กลับมาสังเกตปัจจุบันได้บ่อย ๆ จะทำให้เราชั่งน้ำหนักได้ว่า เรามักจะคิดและแสดงออกแบบไหน แบบไหนที่มันจะดีกับเรา ดีต่อสุขภาวะ คิดแบบนั้นเราจะสบายตัวไหม ถ้ามันทำให้เราไม่สบายตัว งั้นวางก่อนไหม หรือ เราจะคิดอย่างนั้นต่อไป หรือเราจะตั้งหลักอย่างไรดี การหยุดเพื่อกลับมาสังเกตมันช่วยให้เรามีตัวเลือก มีทางเลือก มากขึ้น


แล้วถ้าไม่กลับมาสังเกตความรู้สึกเป็นขณะ ๆ จะเป็นยังไง
เราก็จะทำไปตามอัตโนมัติค่ะ เป็น auto pilot – ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตามความเคยชิน เช่น เราจะโวยวาย ตอบโต้ไปแบบที่เคยทำ (แม้จะไม่อยากทำ) หรือกดเอาไว้ ยังคงหงุดหงิด ไม่สบายตัวต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี เพราะเราไม่เห็นทางเลือก ไม่รู้ว่ามันช้อยส์ …. เวลาที่เราไหลไปเรื่อยๆ เหมือนควบคุมตัวเองไม่ได้ ด้านหนึ่งเราจะรู้สึกแย่


เบลล์ฝึกตัวเองในชีวิตประจำวันอย่างไรคะ
เบลล์มีการ์ดใบที่เบลล์ใช้บ่อย ๆ คือ การ์ดลมหายใจที่ผ่อนคลาย ส่วนหนึ่งเพราะการ์ดใบนี้เป็นเครื่องมือหลักของการบำบัดอยู่แล้ว — เวลาที่บำบัดคนไข้เรามักจะสอนเทคนิคการหายใจ หรือที่เรียกว่า breathing exercise ให้คนไข้ทำ การมีการ์ดเป็นไกด์ไลน์ มีข้อความที่ชัดเจนที่เราใช้กับตัวเองสม่ำเสมอ มันช่วยให้เราไกด์คนไข้ได้ละเอียดมากขึ้น ตอนหลังมานี้คนไข้ของเบลล์จะจำข้อความ ถ่ายรูปการ์ด แล้วเขาก็เอาไปฝึกใช้ที่บ้านด้วยค่ะ

.


อีกใบที่เบลล์ชอบและชวนให้คนไข้ทำบ่อย ๆ ก็คือ การดูแลร่างกาย การ์ดใบนี้ชวนให้เราค่อย ๆ ดูร่างกายไปทีละส่วน ตอนที่เบลล์ฝึก การ์ดใบนี้ทำให้เบลล์หายปวดหลังได้เลยนะคะ พอไปบอกคนไข้ว่า “การ์ดใบนี้ช่วยให้เบลล์หายปวดหลังเลยนะ จริงๆ ลองทำดูนะ” เขาก็ชอบ ลองทำบ้าง จนตอนนี้คนไข้เบลล์ขอซีร็อกซ์การ์ดกลับไปใช้ที่บ้านแล้วค่ะ ( หัวเราะ) จริงๆ แล้วเขาขอการ์ดเลย แต่เบลล์ให้ไม่ได้ เพราะ มันLimited ค่ะ เบลล์ก็มีอยู่ชุดเดียวและก็ไม่มีขายด้วย (หัวเราะ)

.


ไหนๆ ก็พูดถึงคนไข้แล้ว งั้นเล่าให้ฟังหน่อยค่ะว่า เบลล์ชวนให้เขาฝึกทักษะการฟื้นคืนอย่างไร
คนไข้ของเบลล์เป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นและการจัดการอารมณ์ เบลล์ก็จะชวนดูการ์ด เลือกการ์ด ตัวการ์ดมันมีรูปซึ่งช่วยให้เขานึกออก การมีรูปนี่เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ค่ะ เวลาที่ดูการ์ดด้วยกัน เขาก็จะบอก “ใบนี้หนูว่าหนูทำได้นะ แต่ใบนี้หนูน่าจะทำไม่ได้แน่ ๆ เลย” ก็เป็นบรรยากาศที่น่ารักและสบายๆ ดีค่ะ จริงๆ แล้วเขาอยากจะขอซีร็อกซ์ทั้งชุดเลย แต่มันเยอะ เบลล์เลยให้เขาเลือกซีร็อกซ์แค่ใบที่ชอบจริง ๆ อยากเอาไปฝึกก่อน มันเยอะค่ะซีร็อกซ์ไม่ไหว ( หัวเราะร่วน)


มีการ์ดใบไหน หรือ ทักษะไหนที่อยากเล่าให้ฟังเป็นพิเศษอีกไหมคะ
ในทีม Let’s Talk ที่เราทำงานด้วยกันมีทั้งพยาบาล นักบำบัด และ จิตแพทย์ค่ะ ซึ่งพวกเราจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ หรือ ความรู้ให้เพื่อนในทีมเดือนละครั้ง คิวของเบลล์ อยู่ในจังหวะใกล้เคียงกับที่เบลล์กำลังเรียนและฝึกเรื่องนี้อยู่พอดี ก็เลยได้นำเครื่องมือชุดนี้ (Resilience Deck) มาชวนคนในทีมเล่นด้วยกัน เป็นการเรียนรู้ฉบับย่อ


หลักๆ ก็คือให้ความรู้เบื้องต้นว่าการฟื้นคืน (resilience) คืออะไร จากนั้นก็แจกการ์ดซึ่งมี 6 หมวดคือ พื้นฐานของการสร้างการฟื้นคืน (foundation of resilience) การฟื้นคืนทางกาย (physical resilience) การฟื้นคืนทางอารมณ์ (emotional resilience) การฟื้นคืนทางจิตใจ (mental resilience) การฟื้นคืนทางสังคม (social resilience) และการฟื้นคืนทางจิตวิญญาณ (spiritual resilience)


ทีมของเราเป็นทีมเล็กๆ เบลล์แบ่งการ์ดตามหมวด แล้วก็ให้แต่ละคนเลือกการ์ดใบที่ตัวเองชอบที่สุดในหมวดที่ได้ขึ้นมาคุยกับเพื่อน ดังนั้นทุกคนก็จะได้ฟังมุมมองของเพื่อน ได้เรียนรู้ครบทุกหมวดไปพร้อม ๆ เพื่อน พอได้แบ่งปันกันครบทุกคน ก็แลกเปลี่ยนการ์ดระหว่างหมวด จากนั้นก็ชวนสะท้อน (reflection) ในวงใหญ่เป็นการปิดท้าย


วันที่เราทำกิจกรรมนั้น เบลล์มีคนไข้ที่มารอการบำบัดอยู่ เบลล์ก็เลยออกมาเพื่อดูแลคนไข้ก่อน ให้ทุกคนเล่นการ์ดกันต่อ ไม่ต้องรีบเก็บ พอกลับเข้าไปอีกทีก็เย็นมากๆ แล้ว มีโน้ตจากพี่จิตแพทย์แปะไว้บนกล่องบอกว่า “อยากให้เบลล์ทำกรุ๊ปฝึกทักษะนี้ให้กับคนไข้ OPD อยากให้ทำเรื่องนี้ต่อเนื่อง” — ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการเตรียมทีม อบรมทีมค่ะ เมื่อพร้อมก็จะได้นำเครื่องมือชุดนี้ไปใช้กับคนไข้


ตัวเบลล์เองใช้เครื่องมือชุดนี้บ่อยๆ ทั้งใช้สำหรับตัวเองและใช้ดูแลคนไข้ ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ถ้าเห็นว่าสถานการณ์เหมาะสม เครื่องมือชุดนี้เป็นสื่อที่ฝึกทักษะได้เป็นรูปธรรม ฝึกตามได้ง่าย ตอนนี้ในหน่วยงานของเรากำลังขอการ์ดเพิ่มเพื่อใช้ในหน่วยงานค่ะ บางทีพี่พยาบาลก็อยากทำกลุ่มเพื่อคุยกันเอง หรือ พี่หมอจิตแพทย์อยากจะเอาไปใช้กับคนไข้ เขาก็จะได้หยิบไปใช้ได้


ท้ายนี้เบลล์อยากขอบคุณทีมงาน ทีมอาจารย์ที่มาอบรมให้พวกเราค่ะ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ และ ขอบคุณธนาคารจิตอาสาและสสส.ที่สนับสนุนการ์ดชุดนี้ด้วยค่ะ เบลล์อยากชวนให้พวกเราลองหยุดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน


……………………………………………………………


ผู้ที่สนใจเครื่องมือฝึกทักษะชุดนี้ ขอให้อดใจรอสักนิด และติดตามเว็บไซต์ของราอีกหน่อยนะคะ

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save