8 ช่องทางความสุข, การฟื้นคืน (Resilience), ความกรุณาต่อตัวเอง

การฟื้นคืนของ เดอะแบก

เมื่อก่อนเราจะเป็นคนแบบว่า ฉันจะต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง แก้ปัญหาให้พนักงานทุกคน ทุกเรื่องเป็นเรื่องของฉัน … การอบรมทักษะการฟื้นคืน (resilience skills) ทำให้ได้เห็นว่าปัญหาทุกปัญหามีข้อจำกัด ที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ

.

บทความนี้เป็นประสบการณ์ตรงของเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบุคคลในองค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งทีมงานของเราตัดสินใจที่จะไม่เปิดเผยชื่อองค์กรและผู้ให้สัมภาษณ์ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของผู้ให้สัมภาษณ์ท่านนี้เป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้อ่าน —- ทีมงานของเราขอขอบคุณการให้สัมภาษณ์และการแบ่งประสบการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าท่านจะได้ประโยชน์ จากบทสัมภาษณ์นี้เช่นกันค่ะ


ความทุกข์ของ เดอะแบก
รู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘เดอะแบก’ (หัวเราะ) คือเรามักจะคิดว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องของเรา ปัญหาทุกอย่างในองค์กรที่เกี่ยวกับคน เป็นความรับผิดชอบของเราทั้งหมด จะมีความกดดันมากในการประชุม — ความเครียดมันค่อยๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ แต่มารู้ตัวอีกทีก็คือ ทุกครั้งที่มีการประชุมเราจะเครียดล่วงหน้า กลัวการเข้าห้องประชุม มีอาการแพนิค กังวลว่าวันนี้จะมีเรื่องอะไรอีกไหม วันไหนที่โดนตำหนิในที่ประชุม หลังประชุมเสร็จก็จะแอบร้องไห้ — กลายเป็นความเครียดสะสม เรื้อรัง ตัวเราซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเครียดจัด ส่งผลให้น้องๆ ในฝ่ายเครียดไปด้วย แทบจะกลายเป็นเบิร์นเอาท์กันทั้งทีม ปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่เราสามารถเก็บมาคิดทุกเรื่อง นอนไม่หลับ อยากลาออก อยากหยุดทุกสิ่ง อยากหนีแต่หนีไม่ได้ เหมือนเจอทางตัน อยากลาออกแต่มีภาระต้องรับผิดชอบ ต้องไปทำงานแต่ก็ไม่อยากไปทำงาน ตัวกลับมาบ้านแต่ใจยังอยู่กับเรื่องในที่ทำงาน บ้านก็ไม่ใช่พื้นที่ของการพัก … เป็นเวลาที่ยากมากเลย


รู้จักคอร์สการฟื้นคืน (resilience) ได้อย่างไร
ผู้บริหารแนะนำค่ะ — ท่านทราบข่าวการอบรมนี้ ท่านส่งรายละเอียดมาให้ ท่านบอกว่ามันน่าจะดีกับตัวเราและทีม ท่านอยากเราให้มาอบรม หลังการอบรมครั้งแรก ท่านก็เข้ามาถามเลยว่าเป็นอย่างไร พอเล่าให้ฟังท่านก็สนใจมาก ท่านดีใจมากที่เราชอบ และได้ประโยชน์จากคอร์สนี้ ตอนนี้ตัวเองรู้สึกว่าได้ฟื้นฟูตัวเองจริงๆ ค่ะ


ความทุกข์ของฝ่ายบุคคล
เราเป็นบุคลากรฝ่ายบุคคล อยู่ตรงกลางระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร ซึ่งองค์กรของเราแตกต่างจากองค์กรอื่นที่ เรามีผู้บริหารที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาเป็นผู้บริหารตามวาระ ฝ่ายบริหารมีวาระ 3 ปี แต่ในองค์กรก็มีคนทำงานในระดับบริหารด้วย อาจจะเรียกว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงซึ่งทำงานตลอดอายุงาน เวลามีนโยบายใหม่ ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 3 ปี ก็จะมีปฏิกิริยาจากฝั่งผู้ปฏิบัติงาน ฝ่ายบุคคลคือพื้นที่รับนโยบาย ความคาดหวังจากผู้บริหาร และรับความกดดัน รับปฏิกิริยา แรงต้านจากฝั่งผู้ปฏิบัติงาน — นี่คือที่มาของความเครียด


ทักษะการฟื้นคืน (Resilience skills) ช่วยได้อย่างไร
การอบรมทักษะการฟื้นคืนทำให้เรากลับมาที่ตัวเองบ่อยๆ กลับมาถามตัวเองว่า “เราให้การดูแลตัวเองอย่างไร เคยดูแลตัวเองบ้างไหม เราดูแลตัวเองเพียงพอหรือยัง” คำถามพวกนี้ทำให้เราพบว่า เราไม่เคยกลับมาที่ตัวเองเลย คอยห่วงความรู้สึกคนโน้นคนนี้ แต่ไม่เคยกลับมาสำรวจ หรือสังเกตว่าแล้วตัวเรากำลังรู้สึกอะไร และจะดูแลความรู้สึกตัวเองอย่างไร อีกเรื่องที่ส่งผลต่อตัวเองมากๆ คือการกลับสู่ปัจจุบันขณะ สังเกตว่าตัวเรามักจะเอาประสบการณ์แย่ๆ ในอดีตมาตัดสินปัจจุบัน พอจะเริ่มทำอะไรสักอย่างก็คิดวน กลับไปกลับมา เพราะเราวางประสบการณ์เดิมไม่ได้ การกลับมาหายใจในตอนนี้ กลับมาดูจริงๆ ว่าตอนนี้มันยังไงกันแน่นะ เริ่มกลับมาสังเกตอารมณ์-ความรู้สึกของตัวเอง ปลอบประโลม ให้กำลังใจตัวเอง มันทำให้เราช้าลง มีกำลังใจมากขึ้น นิ่งขึ้น วางได้


เมื่อก่อนเราจะเป็นคนแบบว่า ฉันจะต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง แก้ปัญหาให้พนักงานทุกคน ทุกเรื่องเป็นเรื่องของฉัน … หลาย ๆ เรื่องที่เป็นปัญหาของหัวหน้างานที่เขาต้องแก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยตนเอง เราก็จะต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหมือนเป็นปัญหาของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีหัวหน้าที่ดูแลเขาอีกระดับ

.

ในการอบรมทักษะการฟื้นคืน (resilience skills) เราได้เห็นว่าปัญหาทุกปัญหามีข้อจำกัด ที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ที่สำคัญก็คือ มันควรได้รับการดูแลจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่ใช่ตัวเราที่ต้องเข้าไปทำหรือตัดสินใจแทนเขา สิ่งที่พอจะทำได้ ก็คือ ให้คำแนะนำตามหลักการที่ถูกต้อง จากนั้นก็ต้องวางใจว่าเขาจะ ต้องเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตนเอง


สิ่งที่ได้เรียนรู้มากๆ จากคอร์สนี้คืออะไร

ความยืดหยุ่นทางความคิด เป็นการ์ดที่ยากแต่มันช่วย โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นความคิดที่เรายึดเอาไว้แน่น เช่น เมื่อมีคนบางคนคุยกันไม่รู้เรื่องเราจะต้องเข้าไปจัดการ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้เขาคุยกันให้รู้เรื่อง หรือเข้าใจกันให้ได้ บางเรื่องที่เจ้าของเรื่องเขาไม่ทำ เราก็จะต้องเข้าไปจัดการ เข้าไปทำแทน — การเข้าไปจัดการทุกเรื่อง คิดแทนทุกอย่าง ทุกเรื่องเป็นเรื่องของฉัน มันไม่ใช่ !


การเห็นมุมมองของตัวเองแบบนี้ พาให้เราเปิดมุมมองใหม่ๆ เช่น การทำแทนไม่เป็นผลดีในระยะยาว มันไม่ช่วยให้เจ้าของปัญหาได้ฝึกทักษะในการแก้ปัญหา ถ้าเป็นเรื่องของเขา เขาต้องฝึกที่จะจัดการและแก้ปัญหาเอง วางใจว่าถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือเดี๋ยวเขาก็คงจะสื่อสารเอง — มุมมองใหม่ ทำให้เราจัดสมดุลตัวเองดีขึ้น


พอมองย้อนกลับไป ดูเหมือนว่าตอนนี้เรา ‘ทำ’ น้อยลง แต่ทุกอย่างก็รันไปได้เหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าพอเราไม่ยุ่งแล้วทุกอย่างจะล้ม เดี๋ยวนี้ก็จะสื่อสารมากขึ้น บอกว่าเราต้องการอะไร เขาต้องทำอะไร หรือเขาอยากให้เราทำอะไร มีการ inform มากขึ้นแทนที่เราจะกระโดดเข้าไปทำเอง ทำแทน แล้วก็ถูกมองว่า ‘ข้ามหัว’ จริงๆ ก็ทำเหมือนเดิมที่เพิ่มเติมคือการสื่อสาร สิ่งที่ได้กลับมาคือดีกว่าเดิม ประสิทธิภาพเหมือนเดิมแต่ไม่เปลืองอารมณ์ ดีกว่า


เป็นมิตรกับตัวเอง

ชอบคำนี้มาก มันเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราทำดีกับคนอื่นได้ตั้งเยอะแยะ ทำไมจึงไม่ทำดีกับตัวเองบ้าง ดูแลคนอื่นได้ตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่กลับมาดูแลตัวเองบ้าง” — ทำให้กลับมาสื่อสารกับตัวเอง กอด ปลอบประโลมตัวเอง —-


ไม่รู้สึกเลยว่า การกลับมารักตัวเองจะทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เรารักตัวเองดูแลตัวเอง และก็ยังรักและช่วยเหลือคนอื่นอยู่ ไม่ได้เอาตัวเองเป็นใหญ่ — การเห็นแก่ตัวมันคล้ายๆ กับการเหยียบคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรอด แต่รักตัวเองไม่ใช่อย่างนั้น มันคือการสังเกตตัวเอง สร้างสมดุลให้ตัวเอง


การฟื้นคืน (resilience) ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันที่คุณฝึกอยู่ ทำอย่างไร

  • กลับมาสังเกตตัวเองบ่อยๆ ว่าตอนนี้ตัวเราเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร
  • กลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน พัก หายใจ ช้าๆ
  • ใจดีกับตัวเอง เช่น ยิ้มให้ตัวเอง ปลอบประโลมตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง

……………………………………………………………………………

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save