8 ช่องทางความสุข

การให้ในเรือนจำ

‘มนุษย์เราก็เป็นแบบนี้แหละ’ บางทีเขาก็ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับ ยังไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลงเขาอยู่ระหว่างทางซึ่งอาศัยเวลา — การเปิดใจที่จะยอมรับความเป็นเขา ยอมรับความเป็นคน แล้วให้เวลา นี่คือ งานของการสร้างโอกาส

.

พวกเราจะมีความสุขในการทำงานได้จริงๆ ไหม ? ความสุขจากการทำงานเป็นคำที่ฟังดูดี แต่บางครั้งพอนึกถึงคำว่า ‘งาน’ ความสุขก็บินออกหน้าต่างไปแล้ว — แต่ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นความจริงที่ว่า งานกินเวลา(อย่างน้อย) 1/3 ของชีวิต และทุกอาชีพล้วนสร้างประโยชน์และนำพาความสุขและงอกงามมาให้เจ้าของชีวิตได้ทั้งนั้น แต่….ถ้าเป็นงานที่สุดแสนจะท้าทายเช่นการทำงานงานใน ‘คุก’ งานนั้นจะสร้างความสุขและความงอกงามได้จริงหรือเปล่าหนอ ?

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือ ‘ผู้คุม’ เป็นข้าราชการ สังกัดสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีพื้นที่ปฏิบัติงานอยู่ในเรือนจำ หรือทัณฑสถาน — ‘ข้าราชการ’ มีความหมายสูงสุดคือการรับใช้แผ่นดิน เป็นความใฝ่ฝันของคนจำนวนมาก แต่มีคนเพียงน้อยนิดที่รู้จักและเข้าใจว่างานในส่วนนี้จริงๆ เมื่อเริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเข้าไปถามอากู๋ถึง วิชาชีพนี้มานิดหน่อย และได้ความว่า


“เหนื่อยโคตร เครียด อันตราย วันวันจะอยู่แต่กับนักโทษทั้งวันทั้งคืน กิน นอน ขี้เยี่ยวแต่ในคุก เครียดมาก อันตรายมาก ผมทำตั้งแต่อายุ18 พอ 28 แม่ป่วยหนักเป็นมะเร็งเลยต้องลาออกมาดูแลแม่ และก็ทนสภาพงานแบบนี้ไม่ไหวด้วย กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้ายฉุนเฉียว หวาดระแวง เสียงดัง เด็ดขาด หน้านิ่วคิ้วขมวดทั้งวัน จนคนรอบข้างเริ่มทนไม่ไหว มันเป็นผลจากสภาพการทำงาน ชีวิตผู้คุมน่าสงสารนะครับ อยู่ในกำแพงกับความเครียดและกดดัน…”
สมาชิกหมายเลข 4088790 เว็บไซต์ พันทิปดอทคอม https://pantip.com/topic/34205082

.

ผู้เขียนได้พูดคุยกับ คุณยุ้ย – รมย์ชลี คำดวง เจ้าหน้าที่ในทัณฑสถานหญิง เธอมีมุมมองมีทัศนคติต่อการทำงานในวิชาชีพนี้อย่างน่าสนใจ เธอบอกว่า การทำงานนี้ทำให้เธอได้ฝึกตัวเองและได้รู้จักตัวเองมากขึ้นทุกวัน “มาถึงวันนี้ยุ้ยว่า งานนี้เป็นงานที่ดี เพราะงานนี้ช่วยให้ยุ้ยได้กลับมารู้จักตัวเอง ดูแลตัวเองเป็น … ถ้าไม่ได้ทำงานนี้ ยุ้ยก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้เรียนรู้และมีความสุขเหมือนในวันนี้หรือไม่” มาฟังกันค่ะ

.

แรกทำงาน
ยุ้ยเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เมื่ออายุ 27 ปี ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ “อยากรับราชการ” เมื่อสอบติดก็มีความคิดว่างานนี้เป็นงานที่ได้ช่วยคน “มองย้อนกลับไป ยุ้ยโลกสวยมากค่ะ คิดจะไปเปลี่ยนแปลงเขา ถ้าเคยทำผิดก็อยากให้เขากลับตัวเป็นคนดี เหมือนเราชอบฟังเทศน์แล้วก็อยากให้คนอื่นหัดฟังเทศน์เหมือนเรา เพราะมันเป็นสิ่งที่ดี — คิดได้แบ๊วมาก —มีกรอบคิดส่วนตัวว่า ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด แล้วก็กลับตัวกลับใจ คาดหวังให้เกิดการสำนึกผิด ก็เลยผิดหวังเมื่อเขาไม่สำนึก โกรธเวลาที่เห็นการละเมิดกฏ กติกา ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้ได้เรียนรู้ว่า มีเงื่อนไขซับซ้อนมากมายที่ทำให้คนเรา เป็นอย่างที่เป็น เราทุกคนมีจังหวะ มีจุดเปลี่ยน บางคนช้า บางคนเร็ว —มนุษย์ก็คือมนุษย์ คนก็คือคน ตัวเราก็ด้วย ” (หัวเราะ)

.

บุคคลภายนอกอาจจะจินตนาการไปว่า ความเป็นอยู่ในเรือนจำ น่าจะเป็นชีวิตที่เนิบช้า เรื่อยๆ นั่งๆ นอนๆ แต่จริงๆ แล้วชีวิตในเรือนจำเป็นชีวิตที่เกาะติดอยู่กับตารางเวลา กฎ ระเบียบ กติกา “ที่นี่เป็นการอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมาก ข้างในนี้อยู่กัน มากกว่า 2,000 ชีวิต ร้อยพ่อพันแม่ และทุกคนต่างก็มีเรื่องราวในใจ มันเครียดนะคะ”


ยุ้ยบอกว่า เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งเธอเครียดมาก เหนื่อย กดดัน และรู้สึกท้อ สิ่งที่ตามมาคือรู้สึกสับสน ภายในปั่นป่วน ไม่ชอบตัวเอง รู้สึกว่าใจก็ป่วย กายก็ป่วย อยากวิ่งหนี บางทีต้องขับรถไปไกลๆ


โอกาสและการอยู่ร่วม
ยุ้ยเล่าว่า งานของเธอมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ควบคุมดูแลกฏและกติกา เพื่อรักษาข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก งานอีกด้านหนึ่งคือ การสร้างโอกาส

ช่วงแรกยุ้ยหมดพลังไปกับการพยายามรักษากฏ เพราะในชีวิตประจำวันมีการละเมิดกฏตลอดเวลา เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง “เวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราจะรู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ทำงานไม่ได้เรื่อง แล้วถ้าถ้าระเบิดอารมณ์ออกไป ความรู้สึกแย่ก็ยิ่งทวีขึ้นไปอีก เสียงคร่ำครวญในใจที่วนเวียนอยู่กับยุ้ยบ่อยๆ ก็คือ “ทำผิดกฎ แล้วทำไมไม่ยอมรับ ฉันจะต้องทำยังไงกันนี่!”

“เมื่อก่อนเวลาเกิดการละเมิดกฏ กติกา ยุ้ยจะโกรธ เพราะ ‘ก็เราตกลงกันแล้ว ว่าจะต้องอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาเดียวกัน’ และจะยิ่งโกรธมากขึ้นไปอีก ถ้าผู้ละเมิดกฏไม่ยอมรับผิดในการละเมิดเหล่านั้น — แต่ในระยะหลังมานี้ ยุ้ยหันมาทำความเข้าใจและมีมุมมองใหม่ๆ ในการใช้อำนาจ และการให้อำนาจ — ไม่ได้ผ่อนปลน คลายกฏ หรือยินยอมให้ละเมิดกติกา แต่ยุ้ยมีความสามารถใช้กฏ กติกา ได้อย่างเหมาะสมและผ่อนคลาย


อำนาจภายใน
ยุ้ยบอกว่า จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ในทัณฑสถานที่ยุ้ยทำงานอยู่มีทีมอาสาสมัคร “ของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพง” ซึ่งเข้ามาสอนและให้คำปรึกษาผู้ต้องขังเป็นระยะ โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวและต่อเนื่อง เมื่ออาสาสมัครกลุ่มนี้เข้ามาสอนผู้ต้องขัง ก็เป็นโอกาสที่ยุ้ยจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ นี้ด้วย เช่น กิจกรรมโต๊ะระบายคลายใจ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการรับฟังความทุกข์ ได้ฝึกการฟัง กิจกรรมศิลปะเพื่อการบำบัด กระบวนการในการทำความรู้จัก เด็กน้อยในตัวเรา ยุ้ยได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง การทำงานกับเงา (shadow-ด้านมืด) ในตัวของเรา และ ได้เข้าอบรมในหลักสูตรซาเทียร์

สิ่งสำคัญที่ต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ การเข้าร่วมอบรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะผู้บริหารคือ คุณอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ซึ่งเปิดกว้างและทันสมัย โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วม โครงการ Mind Matters ซึ่งสนับสนุนโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายมิติ ทั้งการเรียนรู้ในมิติด้านใน และประเด็นที่เกี่ยวข้องอยู่ในสังคม เช่น ความเป็นอัตลักษณ์ การเรียนรู้ในเรื่อง อำนาจ ทั้ง อำนาจเหนือ อำนาจร่วม และอำนาจภายใน การฝึกทักษะการให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูพลังของผู้ต้องขังหญิง สิ่งเหล่านี้ทำให้ยุ้ยมีความเข้าใจในตัวเองมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็เข้าใจบริบท ที่มาของความเป็นผู้ต้องขังมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในของตัวยุ้ยอย่างมากมาย ผสมผสานกับการที่ยุ้ยเริ่มฝึกสมาธิทุกวัน


“การเคารพอำนาจภายใน ลึกกว่าการใช้อำนาจแก้ปัญหา และ ถ้าฝึกให้รู้จักอำนาจภายในเพื่อให้เป็นการเรียนรู้และรู้จักการรับผิดชอบด้วยตัวเอง มันลึกกว่าการบังคับให้ทำตามกฏ หรือปฏิบัติตามคำสั่ง

เวลาที่มีการทะเลาะกัน อาจจะแก้ปัญหาได้ 2 วิธี เช่น บังคับให้ขอโทษ หรือ ลงโทษทั้งคู่ เพราะผิดกฏอย่างชัดเจน หรืออาจจะใช้อีกวิธีหนึ่งคือ เรียกมาคุย เรียกมาถาม ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น และถามว่า ถ้าเขาเป็นเราแล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เขาอยากให้ตัดสินอย่างไร อยากให้เราใช้อำนาจอย่างไร — การถามว่าอยากให้ใช้อำนาจอย่างไร ทำให้ยุ้ยเห็นว่า “คำขอโทษ” ออกมาได้ง่ายขึ้น การทำผิดซ้ำลดน้อยลง และตัวของเธอเองรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นด้วย “ยุ้ยว่า นี่คือสมดุลอำนาจ และเป็นการคืนอำนาจสู่ภายในจริงๆ” ยุ้ยเล่าอย่างใคร่ครวญ


การเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้กับทีมอาสาสมัคร ของขวัญจากผู้หญิงหลังกำแพง เป็นการเรียนรู้แบบกลุ่ม ซึ่งยุ้ยเห็นว่า “กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ทำให้เราได้เห็นตัวเองตามความเป็นจริง และยุ้ยว่ามันสำคัญมากเลยค่ะ เราต้องกลับไปดูแลบาดแผลในอดีตของเรา รู้จักการอยู่ในปัจจุบัน รักตัวเอง รู้จักเมตตาตัวเอง”

.

ยุ้ยเริ่มฝึกตัวเอง ได้เห็นตัวเอง เข้าใจตัวเอง รู้จักเมตตาตัวเอง จากนั้นเวลาเกิดเหตุในที่ทำงาน เกิดเหตุการณ์ที่เราเคยโกรธ เคยโมโห ยุ้ยเริ่มเห็นเขาในมุมใหม่ เห็นว่า ‘มนุษย์เราก็เป็นแบบนี้แหละ’ บางทีเขาก็ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับ ยังไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เขาอยู่ระหว่างทางซึ่งอาศัยเวลา — เริ่มเปิดใจที่จะยอมรับความเป็นเขาได้มากขึ้น ยอมรับความเป็นคน แล้วให้เวลา — จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หรือไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของเขา เราทำอะไรไมได้ ไม่ได้ละเลยทิ้งขว้าง แต่ทำใจเป็น — ยุ้ยว่านี่คืองานของการสร้างโอกาส



เห็นตามจริง
ยุ้ยเล่าว่า หลักสูตรหนึ่งที่เธอได้เรียนและชอบมากๆ ก็คือ การโค้ช ชอบการสร้างกำลังใจ การ empower การผลักตัวเองไปข้างหน้า พยายามคิดดี คิดบวก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ประสบการณ์ส่วนตัวที่ยุ้ยพบช่วงหนึ่งก็คือ เวลาที่เกิดอารมณ์โกรธ เธอพยายามปัดทิ้ง ปฏิเสธอารมณ์ด้านลบ อย่าโกรธสิ โกรธมันไม่ดีนะ — แต่กลับกลายเป็นว่า รู้สึกผิดกับตัวเองมากขึ้น รู้สึกแย่ รู้สึกว่ายิ่งฝึกก็ยิ่งเป็นคนไม่น่ารัก รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ — แล้วหลังจากนั้นความโกรธยิ่งแรงกว่าเดิม พฤติกรรมแย่ลงกว่าเดิม แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ไม่ชอบตัวเอง


โชคดีที่ ยุ้ยมีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการและทักษะที่ร่วมสมัยอื่นๆ ด้วย และไม่ทิ้งการภาวนา ซึ่งมักจะมีประโยคที่บอกอยู่เสมอว่า “เห็นตามความจริง ยอมรับตามความเป็นจริง”


“เมื่อก่อนที่ยุ้ยเป็นบ่อยๆ คือ รู้สึกไม่ชอบตัวเอง รู้สึกผิดตลอดเวลา อยู่ตรงไหนก็ไม่ได้ — จริงๆ แล้วมีคนพยายามบอกเรื่องการเห็นตามจริงมาเป็นระยะๆ โกรธได้ ให้ยอมรับ — แต่ยุ้ยไม่เชื่อ จะให้ยอมรับอารมณ์ด้านมืดเนี่ยนะ! มันไม่ใช่ป่ะคะ เราต้องคิดดีสิ เป็นคนดี มีสิ่งดีๆ” (หัวเราะ) ยุ้ยต้องการด้านเดียว จึงรังเกียจอีกด้านหนึ่งของมัน รักด้านสว่าง รังเกียจความมืด แต่ยิ่งรังเกียจสิ่งนั้นกลับยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งมีพลัง สิ่งที่ตามมาก็คือ ปะทะกับคนอื่นมากกว่าเดิม รู้สึกผิดหนักกว่าเดิม ผิดหวังในตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่า เราดูแย่ในสายตาคนอื่น ควบคุมตัวเองไม่ได้”

รักตัวเอง รักคนอื่น
เมื่อภาวนาบ่อยมากขึ้น มีทักษะในการยอมรับการเป็นตัวเองมากขึ้น ยุ้ยก็พบสิ่งที่เรียกว่า “รักตัวเองอย่างที่เป็น”

“จำเป็นที่เราจะต้องกลับไปทำความเข้าใจและดูแลบาดแผลของเราเอง รู้จักการอยู่ในปัจจุบัน เห็นตามความเป็นจริง และเมตตาตัวเองให้เป็น —การเห็นตามความเป็นจริงนี้สำคัญมาก

ต้องกลับมาเห็นสิ่งนี้ก่อนและมากๆ พอเรียนรู้ว่า โกรธได้นะ ยอมรับว่าความโกรธที่กำลังเกิดขึ้น พอยอมรับได้มันกลับดับเร็ว แทบจะอัตโนมัติ น่าแปลกใจมาก —


แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ก็ฝึกอยู่พักใหญ่นะคะ มันง่ายที่เราจะสั่งตัวเองว่า “อย่าโกรธนะ ห้ามโกรธ” จนมาถึงขั้นที่บอกว่า “อ้อ ไม่เป็นไรๆ” ถัดมาคือค่อยๆ ค่อยๆ เห็นว่าความโกรธอยู่ตรงไหนของร่างกาย — เวลายุ้ยโกรธ มันมักจะพุ่งไปที่หัว หัวร้อน รับรู้ได้ ต่อมาก็สื่อสารได้คือบอกกับคนอื่นได้ว่า ‘เออตอนนี้หัวร้อนนะ ขอเวลาแป๊บนึง อย่าเพิ่งพูด ขอเวลาส่วนตัวแป๊บนึง ตอนนี้หัวร้อน’ — พอบอกได้ คนอื่นเขาก็เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราก็หลบ หาเวลาส่วนตัวสักแป๊บนึง ถัดจากนั้น พอเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา เราจะหยุดทัน หยุดตอบโต้ หยุดตัวเองได้ไวมากขึ้นๆ ซึ่งมันทำให้ความรู้สึกผิดที่เกิดจากการกระทบกระทั่งกับคนอื่นลดลงไปโดยปริยาย


พอดูแลอารมณ์ด้านลบได้มากขึ้น บ่อยขึ้น เราก็รู้สึกดีกับตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มมาจากการยอมรับตามความเป็นจริง — โกรธก็ยอมรับว่า ตอนนี้โกรธ ไม่ได้เริ่มจากการห้ามโกรธ— นี่คือการเรียนรู้ที่วิเศษที่สุดเลย” (ยิ้ม)


ปัจจุบันยุ้ยเข้าใจตัวเองและดูแลอารมณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับยุ้ยดูแลตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกว่าตัวเองสมดุลมากขึ้น คงเส้นคงวา เสถียร และสิ่งนี้ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ของเธอกับผู้คนแวดล้อม

“น้องๆ สะท้อนว่า ยุ้ยฟังมากขึ้น รู้สึกถึงความเมตตาได้มากขึ้น เขากลัวยุ้ยน้อยลง ตัวยุ้ยเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีแรง มีพลังที่จะทำงานมากขึ้นด้วย มีความสุขกับตัวเองมากขึ้น มีตัวเองเป็นเพื่อนได้ อุ่นๆ อยู่ข้างใน ยอมเจอกับความจริงได้มากขึ้น พร้อมสำหรับการทำงาน ยุ้ยว่างานที่ยุ้ยทำเป็นงานที่ดี เป็นงานที่สร้างความสุขให้ตัวเองได้ เป็นโอกาสที่ได้รู้จักตัวเอง และสร้างโอกาสให้ผู้อื่นด้วยค่ะ” — ยุ้ยกล่าวปิดท้าย


มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากจะบอกกับผู้อ่านว่า พวกเราก็น่าจะลองฝึกแบบยุ้ยได้ อนุญาตให้ความเป็นจริงได้เป็นตัวของมัน ไม่ปฏิเสธ แต่ไม่ยอมตาม แล้วชีวิตประจำวันของเราก็คงมีความสุขขึ้นเหมือนยุ้ย ^^


…………………………………………………………….

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save