8 ช่องทางความสุข

คุณค่าที่คู่ควร

บางคน การชื่นชมตัวเองเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับบางคน มันไม่ใช่ — ง่ายมากที่จะรู้สึกว่า ฉันไม่คู่ควรเลย — ลึกๆ ด้านหนึ่ง ต้องการความรัก แต่ก็มีอีกด้านที่กลัวการรับความรักด้วย กลัวว่าวันหนึ่งข้างหน้าความรักที่ได้มามันจะไม่เท่าเดิม — ถ้าไม่เคยรับ ไม่เคยมี ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียมันไป

.

การอบรม ผู้นำเพื่อสร้างการฟื้นคืน (Resilience Builder) ซึ่งจัดโดยธนาคารจิตอาสาในเดือน ก.ย.- ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ อาจารย์เบ็น (Benjamin Weinstein) วิทยากรผู้ให้การอบรมในหลักสูตรนี้พูดอยู่เสมอว่า ผู้ที่ทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนอื่น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ทำงานในภาคสังคม ควรมีทักษะ มีการฝึกฝนตัวเอง และจัดเวลา เพื่อให้เกิดการดูแลตัวเองที่ดี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ยังคงอยู่ในวิชาชีพและสายงานนี้ไปได้นานๆ และทำงานในวิชาชีพเหล่านี้อย่างมีความสุขและมีสุขภาวะ เพราะบุคลากรในสายงานเหล่านี้จะต้องรับความทุกข์มากกว่าวิชาชีพอื่นๆ 2 เท่า (ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว)


“ในความเป็นมนุษย์ พวกเราทุกคนมีความเครียด ความกดดัน มีอารมณ์ด้านลบ มีปัญหาส่วนตัว มีเรื่องติดขัดในครอบครัว ฯลฯ เหล่านี้เป็นปกติของชีวิต แต่วิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ นักจิตวิทยา รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ ต่างออกไป นอกจากจะต้องดูแลความทุกข์ของตนเองแล้ว พวกเขายังรับความทุกข์ของบุคคลอื่นเข้ามาเป็นความทุกข์ของตนด้วย เช่น การรับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยของคนไข้ การรับความคาดหวังจากญาติผู้ป่วย ความเป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ฯลฯ ดังนั้น ทักษะการให้ความกรุณาแก่ตนเองเพื่อดูแลความทุกข์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น และสร้างการฟื้นคืนจึงเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์และสำคัญ”

.

บทความนี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับคุณหมอหยก พญ.นวลจันทร์ หวังศุภดิลก อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว การดูแลประคับประคองในชุมชน กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ การพูดคุยนี้ประกอบด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งในการเรียนรู้และการฝึกทักษะในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้พวกเราเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวของเพื่อน และทบทวนความเป็นมนุษย์ในตัวของเรา เชิญอ่านค่ะ


ทักษะการฟื้นคืน กับ สมองที่ไม่ฟังก์ชั่น
ช่วงที่อบรม หยกติดโควิดค่ะ เนื้อหาที่เรียนจึงจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่หยกชอบการอบรมนี้มากๆ — การป่วยโควิดของหยกไม่ได้มีปัญหาในเรื่องระบบหายใจอย่างที่คนส่วนใหญ่เป็น แต่มันส่งผลเรื่องระบบประสาท เช่น การอ่านสไลด์ในการอบรม — เวลาที่มีสไลด์ หยกเห็นตัวหนังสือที่อยู่บนจอ รู้ว่าเป็น ก.ไก่ เป็น จ.จาน เป็นสระ หรือเป็นตัวอักษร A หรือ B แต่หยกประมวลผลไม่ได้ อ่านเป็นคำไม่ได้ หรืออ่านได้แต่เข้าใจไม่ได้ คิดช้า ประมวลผลช้า ลำดับความคิดไม่ดี


ดังนั้นในระหว่างการอบรมสิ่งที่หยกได้ประโยชน์จึงไม่ใช่การจำ หรือการเข้าใจแบบปกติ แต่เป็นประสบการณ์ที่ฝึกกันจริงๆ ในคอร์ส เช่น การหายใจ กลับมารับรู้ลมหายใจ รู้ว่าลมหายใจเข้าไปตรงไหน อยู่ตรงไหนของร่างกาย ร่างกายรู้สึกอย่างไร — การรับรู้แบบนี้ ร่างกายของหยกรับรู้ได้ รู้สึกได้ มีประสบการณ์ จำ โดยไม่เกี่ยวกับสมองที่ไม่เต็มร้อยเลย


กลับมาอยู่กับมือ แบมือ กำมือ อยู่หัวแม่โป้งเท้า อยู่กับฝ่าเท้า ลองกอดตัวเอง เอามือวางบนหัวใจ ส่งความรักให้ร่างกาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้รับรู้ความรู้สึกผ่อนคลาย เบา-สบาย ไม่ต้องใช้การประมวลผลจากสมอง — ระหว่างที่เรียน หยกอ่านไม่ได้ (อย่างที่เล่าไปแล้ว) ระหว่างเรียนหยกพยายามจดบันทึก แต่พอกลับไปอ่านสิ่งที่บันทึกไว้ก็อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะตอนจดก็ไม่รู้ว่าจดอะไรลงไป สมองมันไม่ปกติ (หัวเราะ) แต่การจำประสบการณ์ที่ร่างกายได้รับขณะที่ฝึก เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากๆ


ปรับอุณหภูมิในบ้านด้วยเรื่องดีๆ
หมอหยกบอกว่า แบบฝึกหัดที่ทำเป็นประจำและขยายผลคือ การเขียน 10 good things การระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในแต่ละวัน


“ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยในบ้านหยกค่ะ คุณแม่เพิ่งเกษียณต้องปรับตัวนิดหน่อย ยังคิดถึงชีวิตการทำงาน และต้องใช้เวลาอยู่กับคุณพ่อวันละ 24 ชั่วโมง 7วัน/สัปดาห์ — ชีวิตที่ผ่านมาคุณแม่ยังไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นเวลาดีที่พ่อแม่ได้อยู่ด้วยกันมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็กระทบกันมากขึ้นด้วย


ชีวิตในช่วงโควิด หยกว่ามันอึมครึมโดยไม่เจตนา ยิ่งมีคนป่วยในบ้าน พลังงานก็อึมครึมขึ้นไปอีก — หลังจากเรียนครั้งแรก อาจารย์เบ็นสอนการทำ 10 เรื่องดี หยกเริ่มสิ่งนี้ในช่วงเช้า คือเริ่มวันด้วยเรื่องดีๆ เช่น อาหารเช้าวันนี้อร่อยจัง เช้านี้ได้รดน้ำต้นไม้สดชื่นดีจัง พอทำแล้วเห็นจริงๆ ว่า เมื่อมีคนคนหนึ่งที่มีพลังงานบวก มันดึงให้พลังงานของคนข้างๆ บวกไปด้วย มันเป็นการเติมกำลังใจให้ตัวเอง


ตอนนี้เวลาที่อยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวมื้อเช้า ก็เลยเป็นช่วงเวลาที่เราจะคุยเรื่องดีๆ ก่อนที่จะเริ่มวัน ตอนแรกเริ่มจากคุยกับน้องเพชร (น้องสาว) เช่น เช้านี้มีเรื่องอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง เมื่อเช้ารดน้ำต้นไม้แล้ว ดีไหม ชวนเริ่มต้นวันด้วยเรื่องดีๆ แม้จะไม่ครบ 10 อย่าง แต่รู้สึกได้ว่าสิ่งนี้ทำให้อุณหภูมิในบ้านเป็นองศาที่สบายๆ เวลาเช้าของครอบครัวสดใสชึ้น สวยขึ้น”


ตอนนี้อยู่ตรงไหน
หมอหยกบอกว่าการเรียนเรื่องพื้นที่ ช่วยให้หมอหยกบริหารใจได้ดีขึ้น — Safe zone คือ พื้นที่สบาย กับ Learning zone – พื้นที่ของการเรียนรู้


เมื่อก่อน หยกจะงงๆ กับตัวเอง ในบางสถานการณ์ บางทีก็สั่นๆ ทำอะไรไม่ถูก แล้วก็ไม่รู้ว่าจะยังไงกับตัวเองดี จะสู้หรือจะหนี แต่พอได้เรียนเรื่องนี้จากอาจารย์เบ็น ฝึกสังเกตตัวเองมากขึ้น ชอบที่อาจารย์เบ็นสอนให้เราสังเกตตัวเองและอนุญาตให้ตัวเรา ‘เลือกได้’ ไม่จำเป็นต้องผลักตัวเองให้ไปอยู่ในพื้นที่เรียนรู้ตลอดเวลา พื้นที่สบายเป็นการชาร์ตพลัง ถ้าพร้อมก็เข้าสู่พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ท้าทาย ทำให้กล้าเข้าใกล้สิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย

.

เวลาที่เริ่มสั่นๆ เริ่มกลัว กระสับกระส่าย พอรู้ว่ารู้สึกอย่างนี้ก็ยอมรับความรู้สึก “อ๋อ กำลังรู้สึกแบบนี้” แล้วจึงมาเห็น สถานการณ์แวดล้อมที่เป็นอยู่ แล้วก็รับรู้อีกทีว่า “อ๋อ ที่เราเป็นแบบนี้ เพราะเราอยู่ในพื้นที่เรียนรู้ (challenge zone)” — การรู้ ช่วยให้กลับมาตั้งหลัก รู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหน จะดูแลตัวเองอย่างไร จะหยุด หรือจะไปต่อ — ความจริงประเด็นนี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มีคุณค่ามาก



personal control
เวลาที่หยกตกอยู่ในสถานการณ์บางเรื่องที่ถาโถม หยกมักจะมีสภาพแบบว่า …ไม่รู้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร ….ภาวะนั้นคล้ายกับถูกยึดอำนาจ ถูกอารมณ์ยึดอำนาจ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถูก-ผิด ควร-ไม่ควร จะเริ่มจากตรงไหน จะยังไงดี ในการอบรมบอกว่า เดี๋ยว… ใจเย็นๆ ช้าๆ ก่อน หายใจก่อน แล้วลองดูสิว่าปัญหานี้มันเป็นอย่างไร มันใช่ มันร้ายแรงอย่างที่คิดหรือเปล่า


หยกมักจะเริ่มด้วยการทำ B.E.N. (Breath it, Embrace it, Name it) กลับมาตั้งสติ มาอยู่ที่นิ้วโป้งก่อน หรือมาอยู่ที่ฝ่าเท้าก่อน แล้วจึงค่อยๆ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คืออะไร และอะไรคือสิ่งที่เราทำได้และอยู่บนฐานของความเป็นจริง เพราะหลายๆ ครั้งหยกมักจะคาดหวังสิ่งที่ดีที่สุด หวังสิ่งที่ ‘เริ่ด!’ ลืมไปว่า สิ่งที่ดี เริ่ด อย่างที่หวัง มันอาศัยเวลา มันไม่ได้เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น — เมื่อช้าลง กำกับตัวเองได้ เห็นสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง พร้อมๆ กับรู้สถานการณ์จริงคืออะไร ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ หยกก็จะค่อยๆ มอง ค่อยๆ ลงมือทำ แล้วให้ความสำคัญกับก้าวเล็กๆ และความสำเร็จเล็กๆ (small success)


การชื่นชมกับความสำเร็จเล็กๆ หัดก้าวทีละก้าว ขยับไปทีละนิด ทำให้หยกอยู่กับปัจจุบันเป็น มากขึ้น และอยู่กับปัญหาได้มากขึ้นด้วย ช่วงนั้นมีจังหวะที่หยกรู้สึกว่าตัวเองถูกคาดหวังในงานที่ไม่มีความถนัด ด้านหนึ่งรู้ว่าตัวเองไม่ถนัด แต่ก็ปฏิเสธไม่เป็น โลกภายในเต็มไปด้วยเสียงที่ร่ำร้องว่า “จะเอายังไงดีเนี่ย” ด้านหนึ่งรู้สึกว่าต้องรับคำสั่งจากผู้บริหาร แต่อีกด้านก็รู้สึกว่า เรามีหัวหน้าที่เราอยู่ใต้บังคับบัญชา ถ้าหยกรับมาแล้วโดนหัวหน้าดุจะทำยังไง — นี่คือโลกของความลนลาน

พอตั้งสติได้ก็เริ่มเห็นว่า เดี๋ยวนะ ค่อยๆ ก็ได้ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคืออะไร สิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร สิ่งที่เราจะสนับสนุนเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราจะทำเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้เกิดขึ้น หยกค่อยๆ ทำทีละ step เริ่มจาก ไปคุยกับหัวหน้าก่อน ฟังว่าหัวหน้า พร้อมๆ กับสังเกตความรู้สึกตัวเอง เตรียมการสำหรับตัวเอง

.


หยกชอบกระบวนการแบบนี้มาก กระบวนการแบบนี้ safe หัวใจของเรา — ก่อนหน้านี้ ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ หัวใจหยกจะบวมง่าย ช้ำง่าย เป็นหนองง่าย — รู้สึกว่าถูกกดดันบ้าง รู้สึกว่าทำไมทุกอย่างมาลงที่ตู การมีเครื่องมือที่เป็นขั้นเป็นตอนมันช่วย อะไรที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เรารับมือกับอะไรได้แค่ไหน ธรรมชาติของตัวเราเป็นอย่างไร


ทั้งหมดนี้หยกเขียนออกมา ไม่ได้คิดอยู่ในหัวเท่านั้น พอทำให้ความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ อ่าน แล้วให้เวลา ค่อยทำ ก็พบว่าสามารถผ่านสถานการณ์ไปได้ด้วยดี เริ่มมั่นใจว่าเครื่องมือนี้ใช้ได้ ลองทำอีกดีกว่า … หยกคิดว่าตัวเองเห็นร่องเห็นรอย มากขึ้น แต่ยังไม่ได้เอาไปสอนคนอื่นๆ — “รอยไถ” นี้ยังไม่เนียน ยังไม่เป็นธรรมชาติ ยังถ่ายทอดไม่ได้ ยังต้องฝึกอีกระยะหนึ่ง เป็นแบบฝึกหัดสำหรับคนหัดเรียนรู้ (ยิ้ม)


คุณค่าที่รู้สึกว่า ไม่คู่ควร

หยกว่าหยกเป็นคนมีกรรมค่ะ (หัวเราะ) คือ หยกชื่นชมตัวเองยาก ข้างในมักจะรู้สึกอยู่เสมอว่า เราทำดีที่สุดไม่ได้สักที หลายๆ ครั้งคนรอบข้างชื่นชมแล้ว บอกว่าหยกทำได้ดีมากแล้ว แต่หยกก็ยังรู้สึกว่า “มันไม่ได้ดีขนาดนั้น มันก็งั้นๆ แหละ — ก็แค่ เบ ๆ” — เวลาคนไข้เอาของมาฝาก ทำของขวัญแสนพิเศษมาให้ หยกก็ไม่ค่อยกล้ารับไว้ ถ้ารับมาแล้วก็ต้องเอาไปวางไว้ไกลๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควร พี่คนหนึ่งที่เป็นหมอทางจิตเวชบอกว่า ‘หยกมีกรรม’ (หัวเราะ) — หยกก็ว่ามันคงจะจริง (หัวเราะอีกที)


ยังไงคะ
พี่ (จิตแพทย์) บอกว่า หยกเป็นคนที่ต้องการพลังงานทางใจ เป็นคนประเภทที่ต้องการพลังงานแบบนี้มากๆ แต่ครั้นมีคนให้พลังงานแบบนี้ (ให้คำชื่นชม ยกย่อง) หยกกลับปฏิเสธ ไม่เชื่อ รู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควร ไม่ดีพอ — ซึ่ง….เรื่องแบบนี้ เราสั่งสมองไม่ได้ สั่งให้ตัวเราเชื่อไม่ได้ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ


การฟื้นคืนทางจิตวิญญาณ
ช่วงที่เรียนเรื่อง Spiritual resilience อาจารย์เบ็นสอนเรื่อง การให้คุณค่าและความหมายของชีวิต หยกพยายามทำความเข้าใจและฝึการเห็น ความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นและลึกซึ้ง (interconnectedness)


หยกพยายามแกะร่องรอย ติดตามที่มาที่ไปของตัวเอง การประกอบขึ้นเป็นตัวของเรา รวมไปถึงการพิจารณาของขวัญที่อยู่ในมือเรา — มันมาอยู่กับเราได้อย่างไร มีอะไรอยู่ในของขวัญชิ้นนี้ ใครทำมันขึ้นมา เขาใส่คุณค่าอะไรบ้างในของชิ้นนี้ ตัวเราเกี่ยวข้องกับของนี้อย่างไร — อ๋อ…เพราะเราดูแลเขามาจริงๆ เราปลอบประโลมเขา เรารับฟังเขา เราอยู่กับเขา เราช่วยเขา เรามีน้ำใจกับเขา เรากับเขาผ่านความทุกข์ยากบางอย่างมาด้วยกัน ฯลฯ — หยกต้องพยายามใช้กระบวนการนี้เพื่อจะเห็นว่า หยกคู่ควรกับของขวัญชิ้นนี้ — ตอนนี้พยายามฝึกตัวเองแบบนี้อยู่นะคะ


บางคน การชื่นชมตัวเองเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับบางคน มันไม่ใช่ — ง่ายมากที่หยกจะรู้สึกว่า ฉันไม่คู่ควรเลย — ลึกๆ ด้านหนึ่ง หยกรู้ว่าตัวเองต้องการความรัก แต่ก็มีอีกด้านที่หยกกลัวการรับความรักด้วย กลัวว่าวันหนึ่งข้างหน้าความรักที่ได้มามันจะไม่เท่าเดิม — ถ้าไม่เคยรับ ไม่เคยมี ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียมันไป — ย้อนแย้งดีนะคะ

หลังจากเรียนก็พยายามฝึก เอาเรื่องที่เรียนมาใช้ในชีวิต อาจารย์เบ็นสอนว่าให้ตั้งปณิธาน หรือมีคำอธิษฐานส่วนตัว “ฉันรู้ว่าฉันชื่นชมตัวเองได้ยาก แต่ฉันจะฝึกฝน ขอให้วันหนึ่ง ฉันจะชื่นชมตัวเองได้อย่างที่เป็น ฉันจะชื่นชมตัวเองได้อย่างแท้จริง May I appreciate myself as I am”


หยกคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นกลไกทางจิตซึ่งหยกไม่รู้ว่ามันมีมาตั้งแต่ตอนไหน เมื่อไร ที่ทำให้ไม่กล้าที่จะมีความสุข ไม่กล้าที่จะเป็นผู้รับ ไม่แน่ใจว่าเราคู่ควรกับสิ่งนั้นไหม ตอนนี้หยกพยายามที่จะรู้จักชื่นชม ฝึกที่จะให้การชื่นชมเป็นตาน้ำแห่งพลัง ของตัวเอง — จะว่าไป มันเป็นตลกร้าย เพราะในชีวิตการทำงาน หยกชวนคนไข้ให้ทบทวนเรื่องราวชีวิตของตัวเอง เห็น คุณค่าในตัวเองเสมอ ซึ่งหยกทำได้ดี แต่ในชีวิตส่วนตัวหยกกลับทำให้ตัวเองไม่ได้ การเรียนในคอร์สนี้กระตุ้นให้หยกพยายาม ลองทำกับตัวเอง ชื่นชมตัวเอง แม้มันจะยังไม่ได้ หรือทำได้น้อย แต่รู้สึกดีที่ได้เริ่ม แทนที่จะได้ยินแต่เสียงตำหนิตัวเอง ก็เริ่มฟังเสียงชื่นชมบ้าง แม้จะเขินๆ อยู่บ้าง รู้สึกอึดอัดบ้าง — แต่อาจารย์เบ็นบอกว่า ไม่เป็นไร ค่อยๆ ก้าวทีละก้าว หยกพยายามทำแบบนั้นอยู่ ^^


…………………………………………………………….


ผู้อ่านที่สนใจการฟื้นคืน กรุณาติดตามคลิปวีดีโอ และบทความได้ที่
https://www.happinessisthailand.com/mindful-self-compassion/
Spiritual Resilience https://www.youtube.com/watch?v=r5MSPFgjw5s

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save