8 ช่องทางความสุข

ของขวัญที่ลูกต้องการ

เด็กๆ ไม่เคยหวังที่จะให้พ่อแม่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้ขอให้พ่อแม่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดโดยสมบูรณ์ เขารู้ว่าพ่อแม่เป็นแบบนี้มานานแล้ว ไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่เปลี่ยนในทันที แต่เขาอยากให้พ่อแม่ได้ยินความต้องการของเขาบ้าง เขาไม่ได้ต้องการพ่อแม่คนใหม่เอี่ยม เขาแค่ต้องการพ่อแม่ที่ได้ยินความทุกข์ของเขาบ้าง พ่อแม่ที่แคร์ความต้องการของเขาบ้าง

.


วัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ หลายครอบครัวเกิดอาการ “ไปไม่เป็น” เมื่อลูกๆ เริ่มก้าวเข้าสู่วัยรุ่น คำปรารภทำนองที่ว่า “ตอนเด็กๆ ก็เชื่อฟังดี ทำไมจู่ๆ ก็เป็นแบบนี้ไปได้” เป็นสิ่งที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ — ในบ้านที่มีวัยรุ่น ไม่มีครอบครัวไหนหรือผู้ใหญ่คนใดอยากเห็นวัยรุ่นก้าวพลาด แต่อะไรคือปราการอันปลอดภัยที่จะปกป้อง คุ้มครองเด็กๆ ในวัยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน พลังเต็มเปี่ยม อยากรู้ และพร้อมลองในสนามที่กว้างใหญ่ที่ไม่ใช่ในรั้วในกำแพง บทความนี้มาจากการสนทนากับ ‘ป้ามล’ ผู้เปรียบเสมือนแหล่งทรัพยากรชั้นดีในงานเพื่อการดูแลวัยรุ่น

.

ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

คุณทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หน่วยงานราชการ ในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ซึ่งดูแลเยาวชนชาย (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ผู้กระทำความผิด โดยมีแนวคิดและระเบียบปฏิบัติที่ต่างไปจากหน่วยงานอื่นๆ ในกรมพินิจฯ ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ เด็กน้อยโตเข้าหาแสง — บทความนี้ไม่ได้พูดถึงการทำงานภายในบ้านกาญจนาฯ มากนัก แต่จะหยิบยกบางกรณีมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่า ครอบครัว พ่อแม่ สำคัญต่อลูกๆ เพียงใด


ป้ามลบอกว่า ถ้าจะหาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุของการก้าวพลาดในวัยรุ่น ก็อาจจะเห็นคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องเพื่อน ยาและสารเสพติด การพกอาวุธ แฟน หรือ…ฯลฯ แต่ถ้ามองดีๆ จะเห็นว่าเหตุเบื้องหลังของการผลักให้เด็กออกนอกบ้านคือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์นี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทำ หรือไม่ทำ ของเยาวชนจำนวนมาก รวมไปถึงการพลิกฟื้นหรือกอบกู้ชีวิตของเยาวชนที่เคยก้าวพลาดให้กลับคืนมา


วิธีการกับเป้าหมาย
ตลอดระยะการทำงานกับวัยรุ่นและพ่อแม่ของวัยรุ่นก้าวพลาดมาหลายสิบปี ป้ามลไม่เคยสงสัยความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ปู่ย่าตายายที่มีต่อหลาน ทุกบ้านมีสิ่งที่เรียกว่า “รัก” — สิ่งที่ทำให้แต่ละครอบครัวแตกต่างไม่ใช่ความรัก แต่คือการเลี้ยงดู — เด็กต้องการทั้งความรักและทักษะ-วิธีการในการเลี้ยงดู และประเด็นนี้ทุกๆ คนในสังคมน่าจะต้องช่วยกันหาทางออก — “ร่างกายของหญิงชายทุกคนมีความสามารถที่จะให้กำเนิด แต่มันไม่ได้แปลว่าเมื่อให้กำเนิด เราเป็นพ่อคน แม่คน แล้วจะเลี้ยงลูกเป็น” — นี่เป็นความจริงที่สำคัญ


ในบ้านกาญจนาฯ มีเวิร์คช็อป empowerment สำหรับพ่อแม่และเยาวชน และมีคำถามพื้นฐานสำหรับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายที่เป็นผู้ปกครองของเด็กๆ ว่า “ในวันที่ลูกหลานอายุ 18 ปี พ่อแม่อยากเห็นลูกทำอะไร หรือ เป็นอะไร” คำตอบที่ได้ยินมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานก็จะคล้ายๆ กัน คือ “อยากให้ลูกเป็นคนดี” “อยากให้เรียนหนังสือให้จบ” “อยากให้ลูกรับราชการ” “อยากให้ลูกเป็นทหาร” — หรืออยากให้ลูกทำอาชีพที่เป็นพิมพ์นิยมของสังคมในเวลานั้นๆ ป้าเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “เป้าหมาย” แต่การจะไปถึงเป้าหมายต้องมีวิธีการที่ใช่ ถูกต้อง เหมาะสม — เป้าหมายที่ปราศจากวิธีการเป็นสิ่งที่หวังได้ยาก และเสี่ยงต่อการหกล้มหกลุกระหว่างทาง — นี่คือสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองควรคำนึงถึง


วิธีการที่พ่อแม่จะพาลูกไปถึงเป้าหมายหรือฝั่งฝันโดยไม่พากันล้มลุกคลุกคลานเป็นอย่างไร
อืม..(ป้ามลนิ่งไปนิดหน่อย) ครอบครัวส่วนใหญ่ก็ประสบปัญหานี้ ครอบครัวของเยาวชนในบ้านกาญจนาฯ คือครอบครัวที่ประสบปัญหา แต่นอกเหนือจากบ้านกาญจนาฯ ก็มีครอบครัวอีกจำนวนมากที่ไม่มี ทักษะที่ดี (skillful) ในการเลี้ยงเด็กๆ


ประเทศของเรามีประชากรอยู่ราวๆ 67 ล้านคน หลอมรวมเป็นครอบครัวก็ราวๆ 22,800,000 (ยี่สิบสองล้านแปดแสน) ครอบครัว ในจำนวนนี้ มีบางครอบครัวรู้จักและมีวิธีการที่ดีเรียกง่ายๆ ว่า เขาตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง มีบางครอบครัวที่ พอจะรู้ได้ เข้าถึงความรู้ ผู้รู้ แต่ก็มีครอบครัวอีกไม่น้อยที่มืดตื๊อ มองไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ไม่เคยมีคำถามด้วยซ้ำว่า การเลี้ยงเด็กที่ดีคืออะไร บางครั้งเป็นเพราะตัวเองก็ไม่เคยมีชีวิตวัยเด็กที่ดี บางประเภทก็เข็ดขยาดกับชีวิตวัยเด็กของตัวเอง จึงปรนเปรอทุกสิ่งที่ตัวเองขาดลงไปที่ลูก หรือบางกลุ่มก็ยังคงผลิตซ้ำ ทำในสิ่งที่ตัวเองเคยถูกกระทำแม้มันจะไม่เข้ายุคเข้าสมัยแล้ว เช่นเลี้ยงดูด้วยการดุด่า เฆี่ยนตี หยามเหยียด หรือประเภทสุดท้าย ใครเขาว่าอะไรดีก็ทำตามๆ เขาไป — เลี้ยงลูกแบบมาม่าคัพ เติมน้ำร้อน ปิดฝา แล้วก็คิดว่าทุกอย่างมันจะโอเค


มันเลี่ยงไม่ได้ที่ป้ามักจะถามถึง นโยบายระดับชาติ กลไกของรัฐ ที่จะสร้างพิมพ์เขียวในการดูแลเยาวชนให้แข็งแรงทั้งกายและใจ เท่าทันโลก เท่าทันชีวิต — จะปล่อยให้การเลี้ยงเด็กกลายเป็นชะตากรรมของครอบครัวหรือ ? ถ้าเด็กคนนั้นโชคดีที่เกิดในครอบครัวที่รู้จักวิธีการเลี้ยงที่ดี ก็รอด แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ซวย อย่างนั้นเหรอ ? — แต่เอาล่ะ ตอนนี้ประเทศของเรายังไม่มีนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ พวกเราก็ต้องช่วยตัวเอง หรือช่วยดูแลกันเองไปก่อน


เราจะไม่พูดถึงการเลี้ยงเด็กให้เติบโตทางกายภาพ แต่กำลังพูดถึงการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงทั้งกายและใจ ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาจะผ่านชีวิตวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้ด้วยดี มีภูมิคุ้มกัน


ความสำคัญของความผูกพัน (bonding)
ปัจจัยหนึ่งของปัญหาวัยรุ่นที่ในบ้านกาญจนาฯ คือ พ่อแม่จำนวนมากไม่ได้เลี้ยงลูกเอง อาจจะเพราะความจำเป็นเรื่องการทำงานต่างถิ่น ปัญหาปากท้อง การเป็นมนุษย์เงินเดือน สาวโรงงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้พ่อแม่ต้องส่งลูกไปอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ก้มหน้าก้มตาทำงานแล้วส่งเงินค่าเลี้ยงดูไปให้ — แต่เงินไม่ได้ไปพร้อมกับความรู้สึกผูกพัน (bonding)


เด็กเติบโตขึ้นทุกวัน พร้อมกับช่องว่างเล็กๆ ทีนะนิด แม่รู้ว่าเด็กคนนี้เป็นลูกของเรา (และแม่ก็รักลูก) — แต่ลูกชอบอะไร ลูกไม่ชอบอะไร เขากินอย่างไร นอนอย่างไร เวลามีปัญหาลูกมีพฤติกรรมอย่างไร เขาคลี่คลายได้อย่างไร เหล่านี้แม่ไม่รู้ เพราะไม่ได้เลี้ยงกันมา อาการรู้จักชื่อลูก รู้จักหน้าตาลูก แต่ไม่รู้จักใจลูกจึงตามมา


ในฝั่งของลูก เด็กรู้ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นแม่ ผู้ชายคนนี้เป็นพ่อ แต่ถามว่าคุ้นไหม ไม่คุ้น จะแสดงความรักต่อกันต้องทำยังไง ไม่รู้ ไม่เคย เราต้องนั่งคุยกันแล้ว จะเริ่มบทสนทนายังไง ไม่รู้ — อึดอัด เคอะเขิน ทำไม่เป็น จากช่องว่างเล็กๆ ก็ค่อยๆ กลายเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ในวันที่เขาเป็นวัยรุ่น และยิ่งกว้างขึ้นไปอีกในวันที่เกิดอุบัติเหตุของชีวิต


ดังนั้น ถ้าในวันนี้ลูกของเรายังเล็ก ขอให้เริ่มสร้างสายสัมพันธ์กับลูก ถ้าในวันนี้รู้สึกว่าห่างกับลูกเหลือเกิน และฉันก็ไม่รู้จักวิธีการที่ดี ไม่มีความรู้ ไม่มีตัวช่วยอะไรทั้งนั้น ขอให้เราระลึกไว้เสมอว่า …พวกเราทุกคนล้วนผ่านวันคืนที่เคยเป็นเด็ก เรารู้ว่าตอนที่เป็นเด็กมีอะไรที่น่าหวาดกลัว มีหลายสิ่งที่เราไม่ชอบ— ลูกหลานก็เหมือนกันกับเรา — ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็ก ดังนั้นหากเราจะสื่อสาร สั่งสอน หรือลงโทษ ขอให้ตั้งหลักให้ดี


ระยะห่างระหว่าง Gen
เมื่อไม่นานมานี้ในบ้านกาญจนาฯ มีการนำกล่องฟิล์มฟูจิ ฟิล์มโกดัก และม้วนฟิล์ม มาจัดไว้ในห้องโถงของบ้านแล้ว นั่งคุยกัน ถามเด็กๆ ว่า มีใครรู้จักสิ่งเหล่านี้บ้าง ซึ่งเด็กจำนวนมากไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้เลย แต่เมื่อนำมาให้ผู้ปกครองดู —พ่อแม่ ปู่ย่าตายายทุกคนรู้จักมันเป็นอย่างดี รู้ว่ามันคืออะไร ใช้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร — คำถามก็คือ ผิดไหมที่เด็กๆ ไม่รู้จักในสิ่งที่เรารู้จักเป็นอย่างดี ? ลูกหลานของเราโง่หรือเปล่าที่เขาไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้

.

มันเป็นความจริงที่ว่า คนยุคดิจิตอล กับ คนยุคอนาล็อก ต้องปรับตัวเข้าหากัน แต่ในมิตินี้ใครน่าจะปรับตัวหรือยืดหยุ่นได้มากกว่า? … ผู้ใหญ่ที่เห็นสิ่งต่างๆ มามาก เคยผ่านวันคืนของการเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น เราจะปรับตัวเข้าหาเด็กๆ ที่เขาผ่านประสบการณ์น้อยกว่าได้บ้างไหม ?

การที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายเรียกร้องให้เด็กๆ เข้าใจและเข้าหาเราฝ่ายเดียว คงจะยาก ทางที่แจ่มคือ เปิดช่องให้เข้ามาทำความรู้จักและเข้าใจกันและกัน …และป้าขอย้ำอีกครั้งว่า รัฐไม่ควรจะมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาส่วนตัว หรือเป็นปัญหาในเชิงปัจเจก นี่เป็นปัญหาร่วมของพวกเราทุกคน

.


อะไรคือตัวผลักให้เยาวชนออกนอกบ้าน

ป้าขอยกตัวอย่างนะคะ เด็กคนนี้มาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ ด้วยคดีฆ่า เมื่อฟังเขาเล่าชีวิตของเขาทำให้รู้ว่าพ่อแม่ของเขาไม่มีวิธีการที่เลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง เหมาะสมเลย พ่อก็ดื่ม แม่ก็ดื่ม พอดื่มหนักๆ เข้าก็ทะเลาะกัน เสียงดัง ใช้กำลังแม้ว่าการใช้กำลังนั้นจะไม่ได้ทำกับลูก แต่ลูกเห็นการใช้กำลังของพ่อแม่เป็นประจำ — เขาเล่าว่า ตอนเด็กๆ เขาเคยคิดว่าอยากจะหายตัวได้เพราะเบื่อสภาพแวดล้อมแบบนั้น แต่ในชีวิตจริงมันไม่มีวิชาหายตัว ครั้นเมื่อโตขึ้น ถึงวันที่สามารถเดินออกจากบ้านได้ เขาก็เดินออกมา ช่วงแรกๆ ก็คิดแค่ว่าออกไปสักพักให้พอสบายใจ แล้วจะกลับ แต่เมื่อออกไปบ่อยๆ ก็เป็นโอกาสของการไปเชื่อมกับสิ่งอื่น โลกอื่น เรื่องอื่นๆ และบางคนเข้าสู่วังวนของสถานพินิจ — เขาอาจจะไม่เคยถูกตี หรือถูกพ่อแม่ใช้กำลังโดยตรง แต่เขาเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำ มันง่ายมากที่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง มีพละกำลังมากขึ้น เขาจะใช้กำลังกับผู้อื่น


ในวันที่พ่อแม่-ลูก ได้มาเจอกัน ลูกบอกว่าถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงและเขาขอได้ เขาขอให้ในบ้านไม่มีความรุนแรง — ในตอนนั้นพ่อแม่ไม่ยอมรับ ไม่คิดว่าตัวเองก็เป็นปัญหา คิดว่าปัญหาอยู่ที่ลูก อย่างไรก็ตามป้าขอให้เขาได้ยินเสียงของลูก การที่พ่อแม่ได้ยินเสียงของลูกมีความสำคัญมาก — ป้าคุยให้พ่อแม่ของเด็กๆ ฟังว่าเมื่อลูกของเขามาอยู่ที่นี่ ลูกได้รับการกล่อมเกลาได้ทำกิจกรรมสาธารณะ มีระบบคิดแล้ว มีมุมมองต่อชีวิตใหม่ เด็กๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่จะคุยกับพ่อแม่และชี้ชวนให้พ่อแม่เห็นว่าลูกเปลี่ยนไปอย่างไร ลูกคิดอะไรสนใจอะไร ลูกกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง รู้จักคิดแล้วพ่อแม่พร้อมจะสนับสนุนให้ลูกเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืนไหม และ พ่อแม่จะปรับตัวเองเพื่อลูกได้บ้างหรือยัง


ของขวัญที่ลูกต้องการ
ในความเป็นมนุษย์ ป้ารู้ว่าพ่อแม่ทุกคนมีจุดอ่อน (และพวกเราทุกคนมีจุดอ่อน) แต่พร้อมกันนั้น พ่อแม่ทุกคนก็มีจุดแข็ง คือทุกคนอยากได้ลูกที่น่ารัก อยากได้ลูกที่แข็งแรง ถ้าลูกพลาดก็ขอให้พลาดเพียงเท่านี้ —

.

ในวันที่ลูกถูกจับ เป็นข่าว ถูกสังคมประนาม ลูกตกนรก พ่อแม่ก็ตกนรกไปพร้อมๆ กับลูกแม้จะไม่ได้พูดออกมา ดังนั้นเมื่อเริ่มเห็นแสงสว่างที่จะพาให้ลูกออกจากความดำมืด พ่อแม่ทุกคนล้วนอยากทำ ดังนั้น เมื่อพ่อแม่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูก ก็เริ่มมีความหวัง สิ่งนี้เป็นพลังผลักดันให้พ่อแม่อยากจะทำอะไรก็ได้เพื่อสนับสนุนลูกเช่นกัน — ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือว่า ในวันที่ลูกกลับบ้าน พ่อแม่ดื่มให้น้อยลงได้ไหม เพราะถ้าไม่เมา ลูกจะคุยกับพ่อแม่รู้เรื่อง — ก็จะค่อยๆ เห็นว่า พ่อแม่พยายาม และลูกก็พยายาม ทั้งคู่พยายามปรับเข้าหากัน พยายามที่จะเป็นของขวัญของกันและกัน


จริงๆ แล้วเด็กๆ ไม่เคยหวังที่จะให้พ่อแม่สมบูรณ์แบบ เขาไม่ได้ขอให้พ่อแม่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดโดยสมบูรณ์ เขารู้ว่าพ่อแม่เป็นแบบนี้มานานแล้ว — เคยมีคุณพ่อคนหนึ่งแข็ง-ตึง มากๆ mindset ของคุณพ่อคือ ‘ลูกต้องทำสิ่งที่พ่อบอกให้ทำ’ — ในวันที่ทำ empower ครอบครัว ลูกชายของเขาเลือกการ์ด ‘ตีเส้น ตีกรอบ’ “พ่อช่วยเอาเรื่องนี้ออกไปจากบ้านให้ผมด้วย” พวกเรา (เจ้าหน้าที่ในบ้านกาญจนาฯ) ต้องทำงานกับคุณพ่อคนนี้พักใหญ่ กว่าที่พ่อจะเห็นได้ว่า วิธีคิดแบบนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกไม่อยากอยู่ในบ้าน ในที่สุด เมื่อพ่อเห็นปัญหานี้จริงๆ สิ่งที่คุณพ่อพูดก็คือ “ให้เวลาพ่อหน่อยนะลูก พ่อเป็นแบบนี้มานานแล้ว พ่อเปลี่ยนไม่ได้ในทันที แต่ตอนนี้พ่อรู้แล้ว” — และทันทีที่พ่อพูดแบบนี้ เด็กบอกกับป้าว่า “ผมโอเค ผมได้พ่อกลับมาแล้ว” — เด็กไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่เปลี่ยนในทันที แต่เขาอยากให้พ่อแม่ได้ยินความต้องการของเขาบ้าง เขาไม่ได้ต้องการพ่อแม่คนใหม่เอี่ยม เขาแค่ต้องการพ่อแม่ที่ได้ยินความทุกข์ของเขาบ้าง พ่อแม่ที่แคร์ความต้องการของเขาบ้าง เมื่อลูกเปลี่ยน นั่นเป็นกำลังใจของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เปลี่ยน นั่นเป็นกำลังใจของลูก ทั้งสอง empower ซึ่งกันและกัน


พ่อแม่ต้องเห็นชนวนระเบิด จึงจะนำไปสู่กระบวนการถอดชนวน และขอให้รู้ว่ากระบวนการถอดชนวนต้องใช้เวลา และอาศัยความนุ่มนวล ถ้าถอดชนวนสำเร็จเด็กๆ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน กลับเข้าสู่เส้นทางปกติ

.

ถ้าในบ้านมีความกลมเกลียวกันดีแล้ว แต่ยังมีเสียงซุบซิบจากเพื่อนบ้านหรือในชุมชนจะส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

เมื่อก่อนป้าก็เคยสงสัยเรื่องนี้ แต่เท่าที่พบ แทบไม่มีปัญหานี้เลย — มีครอบครัวหนึ่งที่รู้สึกอับอายมากในช่วงที่ลูกก่อคดีและเป็นที่รับรู้ของชุมชน เนื่องจากที่บ้านเปิดร้านขายของชำ พ่อแม่แทบจะต้องปิดร้านหนี แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย พ่อแม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของลูก ความสัมพันธ์พ่อแม่-ลูกดีขึ้นตั้งแต่ลูกยังอยู่ในบ้านกาญจนาฯ พ่อแม่มักจะเอารูปลูกที่ไปทำกิจกรรมขยายใส่กรอบติดโชว์ในร้าน ประกาศความดีงามของลูก แล้วเมื่อถึงวันปล่อยตัว พ่อแม่ไม่แคร์เลยว่าเพื่อนบ้านจะมองครอบครัวเขาอย่างไร และในความเป็นจริงก็คือ ไม่มีใครว่าอะไร เพื่อนบ้านหลายคนยินดีด้วยซ้ำที่เด็กกลับสู่เส้นทางสายหลัก ยินดีกับพ่อแม่และยินดีกับเด็ก สิ่งนี้เป็นกำลังใจสนับสนุนด้วยเหมือนกัน เพราะเด็กคนนี้เป็นคนใหม่ เขาไม่ใช่เด็กคนเดิมแล้ว


การลงทุนเพื่อลูก
ป้าอยากจะบอกคนเป็นพ่อแม่ทุกคนว่า เราทุกคนที่เป็นพ่อเป็นแม่เราย่อมมีความรักให้ลูก สิ่งนี้ป้าไม่สงสัยเลย ถ้าโชคดีเราได้เลี้ยงดูลูกของเราเอง ขอให้มีเวลาที่จะทำกิจกรรมที่มีความสุขร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีด้วยกัน เพราะหากวันหนึ่ง จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ มันเกิดอุบัติเหตุในชีวิตของลูก เขาก้าวพลาด — ความรักที่ลูกเคยประจักษ์ ความสัมพันธ์ที่เคยมีมา จะช่วยให้เรากู้ชีวิตลูกกลับคืนมาได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ภาพความทรงจำดีๆ ที่ทำให้ใจฟูเป็นพลังวิเศษ นี่เป็นเรื่องจริง — ดังนั้นขอให้พ่อแม่สะสมทุนแบบนี้ใส่บัญชีเอาไว้ให้ลูก

.

สิ่งที่ป้าเห็นตลอดระยะเวลาที่ทำงานมายาวนาน ป้าพบว่า เด็กๆ ที่มีแม่ผู้ยังคงกอดลูก หอมลูก ลูกยังกอดแม่ หอมแม่ เด็กเหล่านี้เมื่อมาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ เมื่อป้าและพี่ๆ (เจ้าหน้าที่ในบ้านกาญจนาฯ) พูดถึงการแคร์พ่อแม่ การแคร์ป้ามล การแคร์คนอื่นๆ นึกถึงใจเขาใจเรา เขาจะเข้าใจ นึกออก แต่มีเด็กหลายคนที่เมื่อคุยเรื่องแบบนี้ เขาจะงง “มันแปลว่าอะไรครับ” เขานึกไม่ออก เพราะเขาไม่รู้จัก เขาไม่เคยได้รับ ไม่เคยได้ความสนใจใยดี — ก็ถ้าเขาไม่เคยได้ เขาก็ให้ไม่เป็น


ขอให้พ่อแม่มั่นใจว่าต้นทุนที่ดีจะไม่หายไปไหน ต้นทุนความสัมพันธ์ที่ดีจะเลี้ยงลูกของเรา … ถ้าไม่มีอุบัติเหตุชีวิตก็ไม่มีอะไรเสียหาย หรือหากมีอุบัติเหตุชีวิต สิ่งนั้นจะกลับมาช่วยลูกของเรา เรื่องยากก็จะง่ายขึ้น ที่หนักก็จะเบาลง

.

……………………


บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เป็นประสบการณ์จริงจากเยาวชนซึ่งเคยข้องเกี่ยวกับอาวุธ ความรุนแรง เข้าออกสถานพินิจหลายครั้ง ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง


สิ่งที่ผมจำได้ตั้งแต่เด็กๆ คือบ้านผมฐานะไม่ดี พ่อแม่ทำแต่งาน ผมอยู่ด้วยตัวเอง เราอยู่ด้วยกันแต่ผมไม่ค่อยได้เจอเขา(พ่อแม่) บางทีตื่นตอนเช้าก็เจอเงินวางไว้ให้ บางคืนผมเข้านอนโดยที่เขายังไม่กลับ วันที่อยู่ด้วยกันพ่อแม่ก็ทะเลาะกัน ผมอยากเล่าแต่ก็ไม่มีคนฟัง เขาทะเลาะกันบ่อย— บ้านร้อนนิดนึง อีกเรื่องที่ผมไม่ชอบคือ พ่อแม่ชอบเปรียบเทียบผมกับญาติคนอื่นๆ ผมไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็ฟังคนอื่นมาว่าผมอีกที ไม่เคยฟังเลยว่า จริงๆ แล้วผมคิดอะไร


ผมมีน้องคนแรกห่างจากผม 9 ปี ป้าเอาน้องไปเลี้ยง จากนั้นผมก็มีน้องตามมาอีกหลายคน น้องได้รับการดูแลดีกว่าผม กับน้องเขาให้ได้ แต่กับผมเขาไม่ให้ เวลาโดนดุ โดนตี ผมโดนอยู่คนเดียว รู้สึกมาเรื่อยๆ ว่า พ่อแม่ไม่รักเรา… พอเข้ามัธยมมีเพื่อนมากขึ้น อยู่กับเพื่อนแล้วสบายใจกว่าเยอะเลย เพื่อนฟังทุกเรื่อง มีปัญหาเพื่อนก็ช่วยแก้ปัญหา แต่พ่อแม่ไม่เคยอยากรับรู้ มันทำให้ผมไม่อยากอยู่ในบ้าน


ผมถูกจับครั้งแรกอายุ 13 พ่อแม่ตามมาด่า เรียกว่ามาเยี่ยมแต่เอาจริงก็มาทะเลาะกัน พูดเรื่องเดิมๆ เก่าๆ พูดซ้ำๆว่าผมมันเปลี่ยนไม่ได้ ฯลฯ ผมเข้าๆ ออกๆ สถานพินิจหลายครั้ง รู้สึกตลอดเวลาว่าพ่อแม่ไม่ได้อยากให้ผมกลับไปอยู่ด้วย


ที่สุดท้ายคือผมมาที่บ้านกาญจนาฯ ซึ่งเอาจริงๆ พ่อแม่ก็ไม่ให้ความร่วมมือ แม่ห่วงแต่งาน ห่วงลูกค้าของเขา ผมมีความรู้สึกว่าผมพร้อมจะปะทะกับพ่อแม่ตลอดเวลา ผมไม่ยอมเขาและเขาก็ไม่ยอมผม ผมใช้ความรุนแรงกับตัวเองหลายครั้ง ผมเอาหัวโขกกำแพงจนหัวแตก ต่อยตู้โทรศัพท์จนต้องเข้าเฝือก


ระหว่างที่อยู่ในบ้านกาญจนาฯ ผมได้ทำกิจกรรมอาสา ได้เห็นอะไรใหม่ๆ เริ่มรู้สึกอยากกลับบ้าน ผมรู้สึกว่าผมพร้อมแล้ว แต่รู้ว่าพ่อแม่ไม่พร้อม วันหนึ่งผมบอกกับครูว่า “ตัวผมพร้อมแล้ว พร้อมจะกลับบ้านแล้ว แต่ไม่รู้ว่าระหว่างพ่อแม่ กับ ครู ไม่รู้ว่าใครจะถอดใจก่อนกัน”


จุดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือกิจกรรม empower ครอบครัว วันนั้นผมกับพ่อแม่ก็เถียงกัน ผมบอกว่า “ผมเก็บกดเพราะพ่อแม่ชอบเปรียบเทียบผมกับคนอื่น ไม่มีเวลาให้ผม ไม่เคยฟังผม” แต่เขาไม่เชื่อ บอกว่าไม่ใช่เพราะเขา โชคดีที่ตอนนั้นมีป้า (ป้ามล) มีครู (เจ้าหน้าที่ในบ้านกาญจนาฯ ) ที่ช่วย ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจผมในมุมที่เขาไม่เข้าใจสักที ผมเองก็ได้มองย้อนกลับไปว่าผมก็ไม่ค่อยได้มองพ่อแม่ในด้านบวกเช่นกัน — หลังจากกิจกรรม empower มีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เวลาพ่อแม่มาเยี่ยมก็ไม่ค่อยทะเลาะกันแล้ว มันมีทิศทางที่ดีขึ้น


ทุกวันนี้ผมออกมาจากบ้านกาญจนาฯ พักใหญ่แล้วครับ กลับมาอยู่กับบ้านก็ทะเลาะกันอยู่บ้าง แต่ผมถอยเป็น ไม่เอาอารมณ์ไปปะทะกับเขา ไม่รบกับเขา เบาให้เป็น บทเรียนที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือที่บอกว่าผมควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร พยายามรักษาแผลของตัวเรา ผมรู้ตัวมากขึ้น มากกว่าในอดีตที่ผมไม่ค่อยรู้ตัว


ในฐานะของผู้ที่เคยผ่านสมรภูมิยากๆ น้องมองความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างไร
ผมว่า ครอบครัวเป็นมากกว่าความอบอุ่น มันยิ่งใหญ่กว่านั้น มากกว่าความรัก มากกว่าการที่เราจะรักผู้หญิงสักคน หรือผู้ชายสักคน — ความรู้สึกแบบนี้มัน…. ผมพูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ..(เงียบ)..ความรักที่ไม่เคยรู้สึกว่ามันมี แต่มันมี เป็นสิ่งที่บรรยายไม่ได้เลยครับ ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไร มันเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตของผม มีราก มีพลัง

.

ผู้เรียบเรียงบทความนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะช่วยผู้ใหญ่ทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย ให้มีทักษะที่เพิ่มพูน มีความสามารถในการให้การดูแลเด็กๆ เยาวชนของเราในวันนี้ พวกเราทุกคนเคยเป็นเด็ก ขอให้เรากลับไปสังเกตความรัก มองความสุขและความทุกข์ของตัวเราที่ผ่านมา เพื่อจะดูแลเด็กๆ ของเราได้ในวันนี้


……………………………………………………….

ติดตามเรื่องการเข้าอกเข้าใจกันได้ที่ อ่านมนุษย์ https://human.happinessisthailand.com/

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save