8 ช่องทางความสุข

ฟังเป็น เข้าใจ ‘ฅน’

ตอนนั้นพูดอะไรออกไปสักอย่างซึ่งจำไม่ได้แล้ว สิ่งที่จำได้ก็คือ พ่ออึ้งไปเลยจากคำพูดของเรา พ่อเงียบ แล้วหันหลังเข้าบ้าน พ่อไม่ได้พูดอะไร แต่เรารู้สึกทันทีเลยว่าพ่อเสียใจ — นั่นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้รู้สึกว่า อยากเรียนรู้การฟัง อยากเป็นคนฟังเป็น

.

คุณมนัสวรรณ จันทะพงษ์ (พี่แวว) เป็นช่างเย็บผ้าพักอาศัยที่ จ.อุดรธานี เธอลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมฟังสร้างสุข ออนไลน์ ถึง 8 ครั้ง นั่นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ทีมงานอยากคุยกับเธอ พี่แววคิดอะไร ชอบอะไร ติดใจอะไร พี่แววบอกว่า “พี่อยากได้ความรู้ อยากรู้ว่า ‘คนฟังเป็น’ มันเป็นยังไง อยากรู้ว่าการฟังมันยากหรือง่ายยังไงถึงมีการสอนเรื่องนี้”


พี่แววเล่าว่า เธอมักจะรู้สึกอยู่เป็นระยะๆ ว่า พี่แววเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง ทำไมเธอพูดเรื่องหนึ่งหรือถามเรื่องหนึ่ง แต่คนตอบกลับตอบมาอีกเรื่อง “ใหม่ๆ พี่ก็คิดว่ามันเป็นปัญหาที่เขา แต่พอนานๆ เข้าชักเริ่มรู้สึกว่า หรือมันจะเป็นปัญหาที่ตัวเรา (วะ !) ช่วงโควิดเรามีเวลาก็เลยลงทะเบียน อยากเรียนรู้” (ได้ฮากันยกใหญ่)


พี่แววเข้าร่วมกิจกรรมหลายครั้ง ได้คำตอบไหมคะ มีอะไรที่โดนใจบ้างไหม
การเข้าร่วมกิจกรรมการฟัง ทำให้กลับมาเข้าใจ ‘ฅน’ มากขึ้น พอฟังมากขึ้น ก็เข้าใจคนอื่นๆ มากขึ้น บางทีเรื่องของคนอื่นก็สะท้อนกลับมาที่เรื่องของตัวเอง สำหรับพี่ กิจกรรมนี้ช่วยยกระดับจิตใจ ยกระดับความเข้าใจตัวเอง เป็นเรื่องการฝึกจิตฝึกใจ — ไม่ใช่การฝึกจิต ภาวนาในวัด แต่…มันเป็นการฝึกใจรูปแบบหนึ่งนะ


เข้าร่วมกิจกรรมตั้ง 8 ครั้ง เอามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร
โดยทั่วไปพี่เป็นคนตรง พูดตรงๆ มุ่งอยู่กับงาน หลายปีก่อน เคยทำงานอยู่ที่ภูเก็ต เป็นร้านเย็บเสื้อผ้าสตรีมีลูกน้องซึ่งอยู่ในการดูแล ลูกน้องบางคนก็อายุมากกว่าเรา โดยอายุเขาเป็นพี่ แต่เขาก็เป็นลูกน้องด้วย ครั้งหนึ่ง เขาเคยพูดกับเราแบบไม่ค่อยพอใจว่า “อย่ามาสั่งได้ไหม” — ตอนนั้นรู้สึกงงๆ เพราะในใจของเราไม่ได้คิดว่ากำลังออกคำสั่ง หรือใช้อำนาจ เรากำลังทำงาน และอยากให้งานเสร็จ — ไม่ได้โกรธ แต่แปลกใจว่าทำไมเขาพูดแบบนั้น

.

เมื่อไม่นานมานี้ ได้เจอประสบการณ์คล้ายๆ อย่างนี้อีกครั้งและทำให้ได้ทบทวน คือ ปัจจุบันนี้เราอยู่ที่อุดร ทำงานในร้านของเพื่อน — ด้านหนึ่งเราเป็นเพื่อนกัน แต่อีกด้านเขาเป็นเจ้าของร้านและเป็นเจ้านาย — นอกจากการเป็นช่างประจำร้าน ตัวเราก็ช่วยทำอย่างอื่นด้วย เช่น ทำกับข้าว ดูแลบ้าน ยิ่งนานวันก็ยิ่งรู้สึกว่า เขาออกคำสั่งกับเรามากขึ้นๆ ในใจเริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ ! นี่เราเป็นเพื่อนกัน หรือเขาเห็นว่าเราเป็นแค่ลูกน้องใต้บังคับบัญชา — โชคดี ที่ได้รู้จักการฟัง มันทำให้ได้ยินรู้สึกของตัวเองเช่น น้อยใจ พร้อมกันนั้นก็เริ่มสังเกตว่า เขากำลังรู้สึกอะไร เขากำลังต้องการอะไร — ถ้าไม่รู้จักการฟัง เราคงไม่ทนและก็คงจะเสียความสัมพันธ์กันไป แต่พอรู้จักการฟัง ได้ยินความรู้สึก ทำให้เราหยุดได้ ยังไม่ต่อความยาวสาวความยืด



จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ย้อนกลับไปเข้าใจเหตุการณ์ที่ภูเก็ต เพิ่งจะได้เข้าใจว่า เพื่อนรุ่นพี่คนนั้นคงจะน้อยใจ เริ่มเห็นตัวเองว่า เราคงมีน้ำเสียง ท่าที ที่ทำให้เขารู้สึกว่า เราสั่งเขา ใช้อำนาจกับเขา ทั้งที่เราไม่มีเจตนา จากประสบการณ์นี้ทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้น ระวังท่าที คำพูด น้ำเสียง มากขึ้นในปัจจุบัน

.

การฟังกับความสัมพันธ์ในบ้าน
พี่ไม่ค่อยฟังพ่อกับแม่ ยิ่งอายุมากขึ้น ออกไปทำงานไกลบ้าน ดูแลตัวเองได้ ก็ยิ่งรู้สึกว่าพ่อแม่พูดอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นรู้เรื่องเลย


มีอยู่ครั้งหนึ่ง ต้องออกไปทำธุระ ออกจากบ้านตั้งแต่บ่ายเศษๆ กลับมาถึงบ้านราวๆ สองทุ่ม ปรากฏว่าพ่อรออยู่หน้าบ้าน หน้าตาขมึงทึง พูดโกรธๆ ว่า “ไปไหนมา กลับซะค่ำมืดดึกดื่น ไม่รู้จักเวล่ำเวลา” — ตอนนั้น จำได้ว่า โกรธปรี๊ด พ่อพูดราวกับว่าเราเป็นเด็กๆ จะทำอะไรก็ต้องรายงานพ่อ ตอนนี้อายุเราจะ 50 แล้ว โตจนจะแก่อยู่แล้ว และนี่ก็เพิ่งสองทุ่ม — เราพูดอะไรออกไปสักอย่างซึ่งจำไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่จำได้ก็คือ พ่ออึ้งไปเลยจากคำพูดของเรา พ่อเงียบ แล้วหันหลังเข้าบ้าน พ่อไม่ได้พูดอะไร แต่เรารู้สึกทันทีเลยว่าพ่อเสียใจ


นั่นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้รู้สึกว่า อยากเรียนรู้การฟัง อยากเป็นคนฟังเป็น — พอได้เรียนรู้เรื่องการฟังมากขึ้นๆ ได้ทบทวนเหตุการณ์นี้ ก็พบว่าที่พ่อพูดแบบนั้นคงเป็นเพราะ พ่อรอเรามานานแล้ว พ่อคงเป็นห่วง เราได้ยินคำพูดของพ่อแต่ไม่ได้ยินความรู้สึก — มิหนำซ้ำ เรากลับได้ยินแต่ความรู้สึกของเราคือ “รำคาญ”


การเรียนเรื่องการฟังหลายครั้ง ได้เห็นแพทเทิร์นของตัวเอง มันทำให้รู้ว่า อืม…เราเป็นคนแบบนี้นะ ถ้าไม่แก้ไข ไม่ระวัง เราจะต้องเสียใจเพราะคำพูดของตัวเอง เพราะการตอบโต้ของเรา ‘การฟังเป็น’ อย่างน้อยที่สุดก็เบรกตัวเองเป็น เงียบก่อน กลับมาดูแลใจตัวเองก่อน เอาไว้ใจดีๆ แล้วค่อยพูด ความรู้นี้ช่วยได้มากจริงๆ


เมื่อก่อนเราเชื่อว่า เราเป็นคนตรงๆ แต่พอเรียนเรื่องการฟัง กลับรู้สึกว่าเราอาจจะไม่ใช่คนตรงแต่เป็นคนกระด้าง เพราะคนตรงที่ไม่กระด้างก็มี คนตรงก็มีวิธีการพูดที่นุ่มนวลได้ แต่คนกระด้างจะไม่สนใจความรู้สึกคนอื่น มันไม่ดีเลย ทำร้ายคน และผิดศีลข้อ 4 เลยด้วยซ้ำ พักหลังมานี้พอได้ยิน ได้ฟัง หลายครั้งก็กลับมานิ่งๆ ก่อน ยังไม่พูด ไม่โต้กลับไป ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น

.

การฟังกับการดูแลแม่
แม่ป่วยหลายโรค การกลับมาที่อุดรส่วนหนึ่งก็เพื่อดูแลครอบครัว แต่ปัญหาก็คือเรามีพื้นเป็นคนทำงาน ไม่ใช่คนที่คอยเอาอกเอาใจ ช่วงที่ยังไม่รู้จักการฟัง ปัญหาของเรากับแม่ก็เหมือนปัญหาเรากับพ่อ คือไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกของเขา และรู้สึกว่า “แม่พูดอะไรก็ไม่รู้” เรามีงานต้องทำนะ


แม่ป่วยหลายโรคต้องกินยาหลายขนาน โดนห้ามหลายเรื่อง เราก็พยายามดูแลแม่ตามความคิด ความเชื่อของเรา แต่เราไม่เคยฟังว่า แม่อยากจะดูแลตัวเองอย่างไร แม่คิดอย่างไร — พอไม่มีการฟัง เราก็ทะเลาะกันเป็นประจำ


แม่เป็นคนไม่ชอบกินข้าวแต่ชอบกินขนม แถมยังอยากกินสิ่งที่ไม่มีอยู่ในบ้าน พ่อรักและตามใจแม่มาก ตามใจทุกอย่าง พอแม่บ่นอยากกินขนม พ่อก็สั่งให้เราออกไปซื้อขนมเพื่อบริการแม่ ถ้าเราไม่ไป แม่ก็งอแง พ่อก็บ่น เราก็จำใจออกไปตลาด (ซึ่งเราไม่พอใจ) บางทีได้ขนมกลับมา แต่แม่ไม่ถูกใจ แม่ก็ไม่กิน — ซึ่งเราจะโวยอย่างแน่นอน พอโวยแม่ ลึกๆ ตัวเราก็รู้สึกผิด แม่น้อยใจ งอน บางทีประท้วงโดยการไม่กินข้าว ไม่กินยา เอ้า! เป็นปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก — ห้ามก็ไม่ได้ แต่จะตามใจก็ไม่ใช่เรื่อง


พอเริ่มเรียนรู้เรื่องการฟัง ก็พยายามฝึกฟังที่บ้าน อลุ้มอล่วยมากขึ้น แม่อยากกินขนมก็ยอมตามใจบ้าง แต่ก็บอกด้วยว่า แม่กินเยอะไม่ได้นะ จุดเปลี่ยนสำคัญคือ พอได้อยู่ด้วยกันมากขึ้น ได้สังเกต ก็ต้องยอมรับว่า ร่างกายแม่เป็นของแม่ เราต้องให้แม่มีสิทธิ์ในการเลือกเพื่อดูแลร่างกายของเขาเอง เราคิดแทนไม่ได้ทั้งหมด ในฐานะลูกเราบอกว่า อะไรควร อะไรไม่ควร แต่ก็ต้องฟังเจ้าของร่างกายด้วย
ประเด็นที่สองคือ เห็นจริงๆ ว่า ตอนนี้เวลาในชีวิตของแม่เหลือไม่มาก ดังนั้นอะไรที่มันเป็นความสุขของแม่ ยอมได้ก็ยอม ความเป็นจริงทางกายภาพก็คือ ตอนนี้ต่อให้ทำดีที่สุดตามที่หมอบอกร่างกายก็จะไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก ดังนั้นแทนที่จะเพ่งเล็งแต่การดูแลกาย เราหันมาดูแลแม่ทางใจให้มากขึ้นจะดีกว่า ก็คือฟังแม่มากขึ้น


แม่เป็นคนดื้อ แม่ไม่ชอบกินยา ไม่ชอบไปหาหมอ ในวันที่หมอนัดจะต้องเหนื่อยหนักทุกที เพราะแม่ไม่อยากไป พอไปถึงเราก็โดนหมอดุว่าดูแลแม่ไม่ดี (หมอไม่ดุคนไข้) แม่กินยาไม่ตรงเวลา แม่หยุดยาเอง พอเราโดนหมอดุ เราก็หงุดหงิด กลับมาถึงบ้านก็ทะเลาะกันอีก … เป็นวงจรความทุกข์อีกวงจรหนึ่ง


พอเริ่มฟังแม่มากขึ้น ก็ได้ยินมากขึ้น — แม่ไม่อยากไปหาหมอจริงๆ นั่นแหละ แม่เบื่อ เหนื่อย แม่ไม่อยากกินยาเยอะๆ ไม่อยากที่จะต้องตื่นมากินยาตามเวลา ต้องตั้งนาฬิกา และตัวเราเองก็เริ่มเห็นจริงๆ ว่า แม่กินยาเยอะมากจริงๆ — เริ่มเห็นใจแม่ เข้าใจความรู้สึกของแม่ ทำให้มองหาที่ปรึกษาใหม่ๆ เช่นกลุ่ม Peaceful Death เริ่มปรึกษาหมอด้านการรักษาแบบประคับประคอง (palliative care)

.

เมื่อก่อนแม่ต่อต้านมาก ส่วนหนึ่งคงเพราะแม่รู้สึกว่าเราไม่ฟัง ซึ่งเราก็ไม่ฟังจริงๆ นั่นแหละ (หัวเราะ) เมื่อก่อนรู้สึกว่าเรื่องที่แม่พูดมันไม่มีสาระ อะไรก็ไม่รู้ เรามีเรื่องที่ต้องทำ — เราไม่ฟังแม่ แม่ก็ไม่ฟังเรา ต่างคนต่างไม่ยอม

พอฝึกฟัง แม่ได้เล่าเรื่องที่อยากเล่า บางทีก็เล่าความฝัน บางทีก็เล่าเรื่องในอดีต — เราถือว่านั่นคือการให้เวลากับแม่ ฟังไปเรื่อยๆ ไม่แทรก ไม่ขัดคอ เท่านี้แม่ก็พอใจ


ตัวเราฝึกฟังแม่มากขึ้น แม่อยากพูดอะไร อยากคุยอะไรก็ฟังไปเรื่อยๆ ซึ่งก็พบว่า แม่ก็แค่อยากเล่าเรื่องทั่วๆ ไป เราฟัง แม่ก็สบายใจ ความสัมพันธ์ดีขึ้น แม่งอนน้อยลง และแม่ก็ฟังเรามากขึ้นด้วย เวลาเราบอก เราแนะนำแม่ก็ไม่ต่อต้าน — เมื่อก่อนแม่ต่อต้านมาก ส่วนหนึ่งคงเพราะแม่รู้สึกว่าเราไม่ฟัง ซึ่งเราก็ไม่ฟังจริงๆ นั่นแหละ (หัวเราะ) เมื่อก่อนรู้สึกว่าเรื่องที่แม่พูดมันไม่มีสาระ อะไรก็ไม่รู้ เรามีเรื่องที่ต้องทำ — เราไม่ฟังแม่ แม่ก็ไม่ฟังเรา ต่างคนต่างไม่ยอม


พอฝึกฟัง แม่ได้เล่าเรื่องที่อยากเล่า บางทีก็เล่าความฝัน บางทีก็เล่าเรื่องในอดีต — เราถือว่านั่นคือการให้เวลากับแม่ ฟังไปเรื่อยๆ ไม่แทรก ไม่ขัดคอ เท่านี้แม่ก็พอใจ — อืม… แม่คงต้องการการดูแลแบบนี้แหละเนาะ แค่อยากให้เราฟัง การดูแลที่แม่ต้องการคงเป็นทำนองนี้ ไม่ใช่การพาไปหาหมอ — พอแม่ได้พูดจนพอใจ หมดเรื่องที่อยากเล่า สบายใจ เราก็ไปทำอะไรของเราต่อ


เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยทะเลาะกัน รู้สึกว่าแม่ไม่ค่อยเรียกร้องเหมือนแต่ก่อน เมื่อก่อนแม่เรียกร้องความสนใจมากๆ แม่มีอาการนั้น อาการนี้ นี่ฉันป่วยอยู่นะ ฉันเป็นโรคนี้นะ ฉันต้องการอย่างนั้นนะ ฯลฯ … ยิ่งเราไม่อยากฟัง แม่ก็ยิ่งบ่น เดี๋ยวนี้แม่ดูสบายใจขึ้น — เมื่อก่อนเวลาที่รบกับแม่มากๆ บางทีก็รบกับพ่อด้วย เพราะพ่อรักแม่ พ่อเข้าข้างแม่ตลอดเลย — เหนื่อยมาก (หัวเราะ) จริงๆ ตอนนี้แม่ก็ยังป่วยอยู่นะ แต่แม่เลิกบ่นว่าเป็นคนป่วยแล้ว


การฟังกับการสื่อสาร
เราสื่อสารกับหมอที่ดูแลแม่ได้มากขึ้น ตอนนี้แม่โอเคกับหมอด้าน palliative care แต่บางทีมีเหตุฉุกเฉินไปโรงพยาบาลก็ต้องพบหมอเดิม ซึ่งเขาก็มีวิธีรักษาอีกแบบ เช่นต้องกินยาเยอะๆ บางทีหมออยากให้แอดมิดซึ่งแม่ไม่ยอม การฟังทำให้รู้ว่า หมอก็คงอยากดูแลคนไข้ตามแบบกระแสหลัก แต่แม่เราชอบแบบทางเลือก ก็ต้องสื่อสารความต้องการของแม่ให้หมอเข้าใจ การฟังจนได้ยินทั้งคำ ทั้งความรู้สึก ทั้งของเรา ทั้งของเขา มันช่วยให้สื่อสารดีขึ้น แต่ก็คิดว่าต้องทำไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ นี่เป็นเหตุที่หากมีเวลาก็ยังพยายามลงทะเบียนเรียนอยู่


ตอนนี้แม่หยุดกินยามาพักใหญ่แล้ว อาการทรงๆ แต่แม่สบายใจมากขึ้น ส่วนใหญ่แม่ได้เลือกการดูแลตัวเอง พี่คิดว่าการฟังดีหลายอย่างจริงๆ มันคือการฝึกใจ


ติดตามกิจกรรม ฟังสร้างสุขได้ที่ ความสุขประเทศไทย

ความสัมพันธ์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save