8 ช่องทางความสุข

ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเติบโต

“สนุกกับการได้เจอ ได้รู้ สิ่งใหม่ๆ ทำงานกับจิตใจ สมอง สนุกที่ได้คิด ได้เข้าใจ เห็นการแตกแขนงของความเข้าใจ เห็นความงามของสิ่งที่รู้ และเป็นความงามที่เติบโตขยายตัว ไม่หยุดนิ่ง”

.

.

คุณสุภาวดี หาญเมธี (พี่ติ่ง)  ประธานสถาบัน รักลูกเลิร์นนิ่ง กรุ๊ป (RLG – Rakluke Learning Group) ผู้บริหารหญิงคนเก่งที่มีบทบาทอย่างมากมากในงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว ทีมงานความสุขประเทศไทยสนใจมุมมองต่อคำว่า ‘การเรียนรู้’ ของพี่ติ่ง และ ขอฟัง ‘ความชอบเรียนรู้’ ของพี่ติ่ง ซึ่งพี่ติ่งก็ยินดีคุยกับเราอย่างกระตือรือร้น สดใส

.

คุณสุภาวดี หาญเมธี (พี่ติ่ง)  ประธานสถาบัน รักลูกเลิร์นนิ่ง กรุ๊ป (RLG – Rakluke Learning Group) ผู้บริหารหญิงคนเก่งที่มีบทบาทอย่างมากมากในงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว ทีมงานความสุขประเทศไทยสนใจมุมมองต่อคำว่า ‘การเรียนรู้’ ของพี่ติ่ง และ ขอฟัง ‘ความชอบเรียนรู้’ ของพี่ติ่ง ซึ่งพี่ติ่งก็ยินดีคุยกับเราอย่างกระตือรือร้น สดใส

ขอถามพี่ติ่งด้วยคำถามแบบกำปั้นทุบดินเลยนะคะ พี่ติ่งมองว่าการเรียนรู้ คืออะไร

ทั่วๆไป คนมักใช้คำว่า เกิดการเรียนรู้ เมื่อเราได้รับรู้ รับทราบข้อมูล  แต่ที่จริงแล้ว เมื่อไรที่พูดว่า ‘เกิดการเรียนรู้’ ความรู้หรือข้อมูลเหล่านั้นจะต้องเข้าไปในสมอง ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหลาย  มือจับ หูฟัง ตามอง สูดดม ลองชิม เกิดเป็นการรับรู้ขึ้นก่อน แล้วสมองของเราจะต้องเอาข้อมูลที่รับรู้ ไปประมวลผล เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมที่จำไว้ แล้วนำผลที่ประมวลได้นั้นมาทำการตัดสินใจ กำหนดเป็นพฤติกรรมตนเอง  อย่างเช่น ทุกคนรับรู้ว่าการเล่นหวยนั้น เสียมากกว่าได้  แต่ทำไมบางคนก็ยังซื้อหวยทุกงวด นี่แสดงว่ายังไม่เกิดการเรียนรู้จริงๆ จึงยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

.

เมื่อรับรู้ว่าอาหารที่ดีไม่ควรใส่สารเคมี เราก็หันมากินอาหารเพื่อสุขภาพ  เมื่อรับรู้ว่าขยะกำลังล้นโลก เราก็มาแยกขยะที่บ้าน   เมื่อรู้ว่าพูดจารุนแรงกับลูกจะทำให้เด็กเสียคุณค่าในตนเองหรืออาจติดพฤติกรรมรุนแรงจากเราได้  เราก็อดกลั้น ฝึกตัวเอง หยุดพูดคำร้ายกับลูก  เมื่อรับรู้ว่าความขี้หงุดหงิดมีแต่ทำให้ไม่มีความสุขและอาจเสียความสัมพันธ์  เราก็พยายามลดอาการขี้หงุดหงิดลงให้ได้ เหล่านี้แหละที่เรียกว่า ‘เกิดการเรียนรู้’

ตอนหลังเมื่อพี่ทำเรื่องการส่งเสริมสมอง EF (Executive Functions)*  ก็ยิ่งเข้าใจชัดขึ้นว่า ทุกครั้งที่มีการรับรู้ เส้นใยประสาทจะเชื่อมเข้าหากัน  แล้วมันจะไปเอาข้อมูลความจำเดิมๆ มาประมวลผลแล้วตัดสินใจ ยิ่งทำซ้ำต่อเนื่อง เส้นใยนั้นก็จะเกี่ยวพันก่อรูปเป็นโครงสร้างทางชีววิทยาในสมอง สิ่งปรากฏที่เป็นพฤติกรรมให้เราเห็นก็คือ บุคคลนั้นเกิดการเรียนรู้ ปรากฏเป็นลักษณะนิสัยหรือ ‘สันดาน’ ที่เป็นชิปฝังในสมองนั่นเอง

.

แล้วการเรียนรู้ ให้อะไรกับเราคะ(ตอนนี้ น้ำเสียงของพี่ติ่งกระตือรือร้นมากขึ้น สดใสมากขึ้น มัน(ส์) มากขึ้น)

การเรียนรู้ ทำให้เกิดความงอกงาม เกิดการเติบโตตลอดเวลา เราได้เข้าใจเรื่องใหม่ๆ มากมาย ที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น — ‘มีมุมแบบนี้ด้วยเหรอ’ มันอัศจรรย์ น่าทึ่ง ชวนให้เราไปต่อ แล้วถ้าเราฝึกฝนทำได้  เราก็จะรู้สึกถึงศักยภาพของเรา มั่นใจและเห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ 

การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง เราเคลื่อนตัว ไหลเลื่อน (flow) ไปกับการเรียนรู้ เกิดสภาวะที่เป็นความสุข เพลิน สบายใจ อยากจะตามไปค้นหา สนุก บางที มัน(ส์)  ค้นแล้ว “มัน(ส์)” อยากรู้ต่อ  การเรียนรู้ขยายโลกของเรา ขยายความเข้าใจ เราอยู่ในโลกที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ด้วยความสนุก เพลิดเพลิน

.

การเรียนรู้ มีกี่รูปแบบ — การเรียนการสอน การเลียนแบบ การลองผิดลองถูก ?

พี่คิดว่า การเรียนรู้มีรูปแบบที่หลากหลายมากแล้วก็ให้ผลที่หลากหลายด้วย

อาจารย์มาบรรยาย เลคเชอร์ เราก็เกิดการเรียนรู้ได้นิดหน่อย

เราอ่านหนังสือ อ่านนิยาย อ่านเรื่องราวชีวิตคนอื่น อ่านประวัติศาสตร์ สารคดี สิ่งที่เราเรียนรู้จากการอ่าน ยังไม่มีเรื่องของการลองปฏิบัติ   ข้อมูลจากการอ่านทำงานโดยตรงกับความจำจากประสบการณ์ที่เราสั่งสมมา ก็อาจจะเกิดผลการเรียนรู้ระดับหนึ่ง     ถ้ามีคนมาเล่าให้ฟัง สาธิตให้ดู ก็เกิดผลการเรียนรู้ระดับหนึ่ง 

แต่ถ้าเราเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ถกกัน แชร์กัน ผลการเรียนรู้จะมากกว่า

ยิ่งถ้าได้ลงมือทำ การได้เรียนรู้จากการทดลอง ลงมือ จะทำให้เรามีทักษะ มีความสามารถมากขึ้น

เอาสิ่งที่ได้รับรู้ไปปฏิบัติ  ผลของการเรียนรู้จะดีขึ้นมาก เราจะจดจำเรื่องนั้นได้นานขึ้น

ยิ่งถ้าเราเข้าใจดีจากการปฏิบัติ แล้วเอาไปสอนคนอื่นต่อได้  การเรียนรู้ก็จะตอกย้ำซ้ำให้ลึกลงไปอีก

.

ที่พูดมาข้างต้นนั้น เป็นรูปแบบที่มักจะอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน    ซึ่งพี่เข้าใจว่าสำหรับครูอาจารย์ที่ต้องจัดการเรียนการสอน ก็คงจะต้องหาสมดุล ว่าจะเลือกรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไรให้กับกลุ่มผู้เรียนที่แตกต่างกัน เพราะผู้เรียนแต่ละคนก็มี Learning style และ  Learning pace  วิธีเรียนรู้ หรือเข้าถึงการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน 

การเรียนรู้หลายอย่างเกิดขึ้นได้จากการคิดใคร่ครวญอย่างจริงจังด้วยตนเอง  ไม่มีใครมาสอน หรือบางคนเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง  สนใจ ลองทำ ผิด ทำใหม่ ในที่สุดก็จะเข้าใจ เรียนรู้สิ่งนั้นได้ดีขึ้น แต่การเรียนรู้บางอย่างก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อย่างเด็กที่พูดจารุนแรงหยาบคาย เพราะพ่อแม่หรือคนในครอบครัวพูดจาหยาบคาย  เขาก็จะเรียนรู้ซึมซับเลียนแบบไปโดยไม่รู้ตัว   อย่างที่มีคำกล่าวว่า “เด็กเป็นอย่างที่เราเป็น มากกว่าเป็นอย่างที่เราสอน”  สมองของเรามีเซลล์กระจกเงาที่ทำให้เลียนแบบ แล้วเอามาประพฤติปฏิบัติตามโดยไม่รู้ตัว

.

ถ้าการเรียนรู้มีความหลากหลายขนาดนี้ แล้วการเรียนรู้ของพี่ติ่งเป็นแบบไหนคะ

อืมมม…. พี่เป็นพวกเป็ดมั้ง  คิดว่าด้านหนึ่งตัวเองเรียนรู้ได้ดีจากการอยู่กับคนอื่น  ได้พูดคุยฟังกันแลกเปลี่ยนกัน แต่อีกด้าน มีหลายเรื่องที่เรียนรู้ได้ดีจากการคิดอยู่กับตัวเอง  เฝ้าสังเกต ในธรรมชาติในสังคม  แล้วคิด เขียน เอามาพัฒนาเป็นงานต่อ  ส่วนหนึ่งเรียนรู้จากการอ่าน  แต่พี่ก็เป็นคนชอบใช้มือทำงานด้วย  น่าจะพูดได้ว่า การเรียนรู้ของพี่อยู่รอบๆ การพูดคุยสนทนา การอ่าน การเขียน การเดินทางท่องเที่ยว แล้วก็ทำงาน

พออายุมากก็รู้สึกว่าสิ่งที่สะสมในหัวของเราถูกนำมาใช้ในการสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ง่ายขึ้น   เข้าใจเรื่องใหม่ๆ ง่ายขึ้น แต่จำไม่ค่อยแม่นแล้วนะ  จะจำอะไรต้องจดเอา

พอดีไปได้รู้มาว่า การถกเสวนากับคนอื่นที่เราชอบนั้น  สอดคล้องกับที่เขาเรียกว่า  Medici Effect — คือ Medici เป็นตระกูลพ่อค้าวานิชธนกิจในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ช่วงศตวรรษที่ 15  ตระกูลนี้เป็นผู้อุปถัมภ์ ชวนคนเก่งในสาขาที่แตกต่างกัน ทั้งศิลปิน สถาปนิก วิศวกร นักคิด พ่อค้าที่เดินเรือท่องไปทั่วโลก ฯลฯมานั่งคุยกัน ถกกันด้วยพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทำให้ได้มุมมองที่หลากหลาย เป็นการเรียนรู้ร่วมกันจากหลากหลายสาขาวิทยากร  เกิดไอเดียใหม่ ๆ การสร้างสรรค์ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ  จนถึงขั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่แบบก้าวกระโดดของยุคที่เรียกว่า เรอเนซองส์**

เหมือนเป็นคนสองขั้ว ขั้วแรก คือชอบเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกขั้วคือชอบเรียนรู้กับคนอื่น   ก็รู้สึกดีนะคะ อย่างเช่น จะสนใจเรื่องอะไรสักอย่าง ก็จะอ่านเจาะเองไปเรื่อย คุ้ยค้นข้อมูลกูเกิ้ลหรือหนังสือไปเรื่อย  เพลิน มันส์  ทำไป-ประมวลความคิดไป ไม่เหนื่อย ไม่หิว อึด จะไปต่อให้ได้  บางทีต้องบอกกับตัวเองว่า หยุดเอาแค่นี้พอนะ  เวลาไม่พอแล้ว — พี่ชอบที่จะเอาเรื่องที่เราสนใจหรือค้นคว้ามา โยนเข้าไปในวง ไม่ว่าในวงที่ทำงาน วงวิชาการ  คืออยากฟังความเห็นว่าคนอื่นคิดอย่างไร บางทีเอาไปเล่าให้คนที่บ้านฟังจนเขาเมื่อยหู

การขับเคลื่อน EF ที่สถาบันรักลูกกำลังขับเคลื่อนอยู่ก็ใช้แนวทางประมาณนี้  คือ เชิญนักประสาท-วิทยา นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักการศึกษา  นักการศึกษาปฐมวัย ครูที่ปฏิบัติอยู่ในห้องเรียน  งานอนามัยแม่และเด็ก  งานพัฒนาชุมชน กับทีมสร้างสรรค์สื่อ  ฯลฯ มาพบกันบ่อยๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 

มนุษย์แต่ละคนไม่มีแพทเทิร์นการเรียนรู้ที่เหมือนกันหรอก เราสร้างร่างแหตาข่ายการเรียนรู้ของตัวเอง ที่ไม่จำเป็นต้องแบบเดียวกัน บล็อกเดียวกัน

มีคนบอกว่าพี่ติ่งคือตัวอย่างของคนที่มี ‘ความสุขจากการเรียนรู้’  

บางทีก็ไม่สุข  ทุกข์เหมือนกันนะ  รู้เยอะแล้วทุกข์ก็มี  บางเรื่องก็ถามว่า จะรู้ไปทำไมวะเนี่ย เป็นภาระจัง (หัวเราะ)

.

พี่ว่ามนุษย์มีความสามารถในการแสวงหาแหล่งความสุขได้หลายมิติ การเรียนรู้ก็เป็นมิติหนึ่ง  สำหรับตัวพี่เอง การเรียนรู้ในเรื่องที่เรารู้สึกว่ามีความหมาย มันจะทำให้เรารู้สึกพึงใจ เพลิดเพลิน เห็นการเติบโต ทั้งมุมมองของเราที่เติบโตขึ้น  ทั้งโลกที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องก็ขยายกว้างขึ้น   ขณะเดียวกันก็เป็นสภาวะ Flow ที่เกิดขึ้นทั้งภายในตัวเรา คนรอบข้าง และในการทำงาน เช่น พอเราเรียนรู้ว่า “ทุกความคิดมีคุณค่า ทุกประสบการณ์มีความหมาย” เราก็ปฏิบัติต่อคนอื่นในแบบที่เคารพมากขึ้น รับฟังมากขึ้น ขัดแย้งน้อยลง ข้ามผ่านหลายเรื่องไปได้ง่ายกว่าที่เคย กับคนในครอบครัว เราก็อยู่ด้วยกันอย่างมีสติมีเมตตามากขึ้น  เมื่อเราเรียนรู้มันจริง ๆ Flow ก็ไม่ติดขัด อะลุ่มอล่วย มองข้ามความต่างที่ทำให้เราหงุดหงิดไปได้  

.

หรืออย่างเรื่อง ทักษะสมอง EF (Executive Functions) ที่พี่กับมิตรสหายสนใจ และ กำลังขับเคลื่อนรณรงค์อยู่อย่างเอาจริงเอาจังตอนนี้   พี่ก็รู้สึกขำๆ ตัวเองว่า พอเรียนรู้แล้วเราก็อินเหลือเกิน เกิดแรงบันดาลใจมากมาย  ทุกๆวันที่ได้พบเจอข้อมูลใหม่ๆ ได้รับฟังความคิดมุมมองใหม่จากคนที่เกี่ยวข้องกับ EF  ก็ตื่นตัวตื่นเต้น  คิดถึง EF ทุกวัน  จนคนที่บ้านแซวว่า หายใจเข้าออกเป็น EF   อีเอฟเป็นลูกคนที่สาม  —เขาเป็นห่วงว่าทำงานเยอะเกินไปหรือเปล่า แก่ประมาณนี้แล้ว  พี่ก็บอกเขาว่า งานหนักอยู่แต่มันไม่เหนื่อย ไม่รู้แรงมาจากไหนเหมือนกัน  ทำไปก็มีความสุขไป เรียนรู้วิชาการบ้าง เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่มาร่วมทำงานบ้าง ไม่ว่าเรื่องดีเรื่องปัญหา  ได้เรียนรู้ทุกวัน ได้คิดหาทางออกใหม่ๆทุกวัน ก็สนุกดีพี่เป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยว ไปที่ไหนก็จะรับหน้าที่ไปหาข้อมูลความรู้  มีความสุขมากในตอนหาข้อมูล สุขพอๆ กับตอนไปเที่ยวเลย  เพราะอย่างนั้นในช่วงโควิดแม้จะไม่ได้เที่ยวจริงแต่พี่เที่ยวทิพย์ ลองค้นหาข้อมูลที่นั่นที่นี่ก็มีความสุขไปครึ่งหนึ่งแล้ว อยากรู้ที่มาที่ไป อยากรู้ความคิด ความรู้สึกของผู้คน  อยากเข้าใจรากเหง้า วัฒนธรรมของเขา อยากคุยกันผู้คนของเขา อยากฟังเสียงที่มีคนพูดถึงเขา ฯลฯ  แล้วเที่ยวที่ไหนก็จะเดินทางกันเอง จัดการเอง  ตอนทำอะไรๆ เองนี่ก็มีความสุข

เกือบลืมพูดถึงอีกประเด็นสำคัญ พี่ว่า ‘การเรียนรู้ทำให้เรามีอิสระ’ เมื่อเรียนรู้แล้วเราจะจัดการตัวเองได้ เรามีอิสระ ตรงนี้เองก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่นำมาซึ่งความสุขสองชั้น   ชีวิตที่เป็นอิสระ ที่ปล่อยวางจากภาระ ตัวเบา ปลดพันธนาการที่ไม่จำเป็นไปได้เยอะอยู่  

สำหรับพี่ การเรียนรู้เป็นทั้ง Growth ทั้ง Flow เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราอิ่มเอิบ ทำให้เรามีความสุข ทั้งสร้างความสุขปลายทางและระหว่างทาง  มันอาจจะไม่ใช่สุขสมบูรณ์ แต่มันก็เป็นสุข

ตลอดการสนทนานี้ พี่ติ่งบอกเป็นระยะ ๆ ว่า ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ของตัวเองจะเรียกว่า “ความสุข” ได้หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรการเรียนรู้ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกปีติสุขจริงๆ

“มนุษย์เราควรฝึกที่จะตั้งคำถามต่อการเรียนรู้ของตัวเอง เป้าหมายการเรียนรู้ในชีวิตของเราอยู่ตรงไหน กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับเราเป็นอย่างไร ผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นแต่ละก้าวนั้น เรารู้สึกอย่างไร เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆขึ้นมาบ้าง  ….สะสมไปเรื่อยๆ   ภาวะ flow ก็คงจะปรากฏตัวพร้อมกับความรู้สึกเป็นสุขที่หล่อเลี้ยงอยู่ทุกวัน”

………………………………………………………………….

*EF (Executive Functions)  เป็นกระบวนการทำงานในสมองส่วนหน้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ 

**ยุคเรอเนซองส์ (Renaissance) ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในยุโรป ครอบคลุมศตวรรษที่ 15 และ 16

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save