8 ช่องทางความสุข

สร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยความมั่นคงภายใน

ชัดเจนว่า ชีวิต ความรู้สึก ความพอใจ ความไม่พอใจ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ในอดีต เมื่อเข้าใจและเห็นชัดว่ามันมาจากอดีต เราก็สามารถกลับไป complete และเป็นอิสระจากอดีตได้ปัจจุบันแนนรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้เท่าทันความรู้สึกความต้องการของตัวเอง

.

.

ปรกชล อู๋ทรัพย์ (แนน) ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิถี (BIOTHAI) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารสำหรับชาวไทย เช่น การผลักดันให้ยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง สิทธิในการครอบครองเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนเกษตรเชิงนิเวศ ฯลฯ งานขับเคลื่อนนี้หนักและเหนื่อยไม่ใช่น้อย — แนนทำงานความมั่นคงทางอาหาร แล้วเธอสร้างความมั่นคงให้จิตใจอย่างไร

.

          แนนเดินเข้ามาสมัครงานที่ไบโอไทยเมื่อ 9 ปีก่อน เธอไม่ได้รู้อะไรมากนักแต่ติดตามบทความของไบโอไทยเกี่ยวกับ GMOs ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย และการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผลกระทบจากการทำนาอินทรีย์และเคมีทำให้มีความสนใจที่นี่ (ไบโอไทย) เป็นพิเศษ เมื่อได้เข้ามาทำงานจริงๆ ก็มีความประทับใจคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ (เลขาธิการ BIOTHAI)  ได้ประจักษ์ถึงความท้าทายของงานซึ่งเกินจากความคาดคิดไปมาก

.

ทำความรู้จัก ‘ความรู้สึก’

แนนเข้าอบรมในหลักสูตร Transformative Experience Provider (TEP) โดยธนาคารจิตอาสาซึ่งเป็นคอร์สอบรมสำหรับผู้ทำงานภาคสังคม การอบรมนี้นับเป็นครั้งแรกๆ ที่เธอได้กลับมาทำความรู้จักตัวเองและทำความรู้จักความรู้สึกต่างๆ ที่เธอไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน “ช่วงที่เริ่มทำงานใหม่ๆ แนนมีความกังวลตลอดเวลา กังวลว่าเราจะทำอะไรไม่ถูกต้อง จะพูดผิด จะทำได้ไม่ดี ฯลฯ ที่เห็นชัดมากๆ คือเวลาไปประชุมร่วมกับหน่วยงานภายนอก ต้องประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ แนนจะเครียดเป็นพิเศษ รู้สึกว่าไม่พร้อม ไม่ใช่ที่ทางของเรา รู้สึกว่าเราเป็นเด็ก รู้สึกตัวเล็ก ไม่เชี่ยวชาญพอที่จะแสดงความคิดเห็น เรารู้ว่าเครียดแต่ไม่เคยกลับไปทำความเข้าใจหรือกลับไปดูว่าลึกลงไปกว่าความเครียดมันคืออะไร — เมื่อผ่านกระบวนการ TEP เข้าใจเรื่องภูเขาน้ำแข็ง จึงเปิดใจสัมผัสกับความรู้สึกได้มากขึ้นๆ และเกิด awareness จนรู้ว่า ลึกลงไปจากความเครียด มันคือ ความกลัว กลัวดีไม่พอ — และเมื่อรู้ว่า กลัว เราก็ทำงานกับตัวเองได้ง่ายขึ้น”

.

            “การรู้จักความรู้สึกของตัวเองไม่ใช่การใช้ความคิด แต่มันคือการเผชิญกับความรู้สึกนั้นจริงๆ — มีอยู่ครั้งหนึ่งในที่ประชุม เป็นครั้งแรกที่รู้สึกกลัวจับใจ กลัวมาก แต่พอมีสติแล้วถามตัวเองว่า กลัวอะไร คำตอบก็คือ กลัวเขาเกลียดเรา — จากเหตุการณ์นั้นทำให้เรายอมรับความรู้สึกกลัวได้ จากนั้นก็ค่อยๆ ดูแลความกลัว — ไม่ใช่การทำงานวันเดียว ไม่ใช่การอ่านแล้วเข้าใจเลยทันที มันอาศัยเวลา เริ่มจากการสังเกตความรู้สึกของตัวเองเป็นระยะๆ”

.

ทำงานกับโลกภายใน

แนนเล่าว่า เมื่อได้เห็นความรู้สึกของตนเองชัดเจนขึ้นและเริ่มกลับไปทบทวน ทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของความรู้สึกต่างๆ เธอได้พบว่า มีสิ่งหนึ่งที่เธอไม่ชอบและมักจะหลีกเลี่ยงคือ คนพูดจาเสียงดัง คนที่อธิบายสิ่งต่างๆด้วยอารมณ์โกรธ ตะโกน หรือตะคอก เธอพบว่าที่มาของมันคือประสบการณ์ในวัยเด็กของเธอเอง

.

“แนนมีภาพจำว่าแม่เป็นคนดุ พูดเสียงดัง แม่ใจดีกับคนอื่นแต่ไม่ใช่กับสมาชิกในครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์ของแนนกับแม่ไม่ดีเท่าไรนัก คุยกันได้ไม่นาน เมื่อแม่เริ่มเสียงดัง แนนก็จะหงุดหงิดอยู่ข้างใน ไม่อยากฟัง ทำให้บทสนทนาไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก หลายครั้งก็ตัดบทจบเรื่องที่คุยกันไป ทั้งจากตัวแนนเองและแม่ เพราะบรรยากาศในการพูดคุยมันไม่ดีเสียแล้ว ผลที่สะสมก็คือเราจะหงุดหงิดง่ายเมื่อเจอคนเสียงดังและใส่อารมณ์ในการพูด เมื่อต้องอยู่ในที่ประชุมแล้วมีคนเสียงดังเราจะรู้สึกอึดอัด หงุดหงิดกับเสียง ไม่อยากฟังเนื้อหาที่คนคนนั้นกำลังพูด ซึ่งอาจพลาดโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งอาจเป็นประโยชน์”

.

ในหลักสูตร TEP แนนได้เรียนรู้ทักษะการฟังและการอยู่ด้วยกัน 100% กับคนตรงหน้า รวมถึงการชัดเจนกับความรู้สึกและความต้องการของตนเอง สิ่งนี้ส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานอย่างมาก “เมื่อกลับมาจากการอบรม แนนนำทักษะที่ได้มาใช้ในชีวิตทุกวัน และมันได้ผล” ทักษะนี้พาแนนกลับไปทำความเข้าใจตัวเองได้ชัดเจนขึ้นเป็นอย่างมาก ช่วยให้เห็นความต้องการที่แท้จริง อีกทั้งยังได้กลับไปทบทวนประสบการณ์ในอดีต เพื่อจะดำเนินชีวิตในปัจจุบันให้เป็นสุขยิ่งขึ้น

.

“แนนกลับไปคุยกับแม่ กลับไปถามอีกครั้งว่าในวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง — สิ่งมหัศจรรย์ก็คือ ทุกอย่างที่แม่พูดเหมือนเดิม เป็นเรื่องที่เราเคยได้ยินมาแล้ว และแม่ก็พูดด้วยอารมณ์เดิมๆ—คือพูดเสียงดัง ใส่อารมณ์ในการพูด ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเราก็จะไม่อยากฟังและหงุดหงิด แต่ครั้งนี้กลับต่างไป การฟังครั้งนี้เราได้ยินความรู้สึกที่ลึกลงไปของแม่ ได้ยินความเสียใจ ได้ยินความโดดเดี่ยวและความคาดหวังของเขา — พอเป็นแบบนี้เราสามารถฟังต่อไปได้จนจบ เหตุการณ์ไม่เปลี่ยน คำพูดไม่เปลี่ยน ตัวแม่ก็ไม่เปลี่ยน แต่เรายอมรับแม่อย่างที่เป็นได้แล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ความสัมพันธ์ของเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สนิทกันมากขึ้น”

.

“2-3 ปีมานี้แนนไม่หงุดหงิดกับการฟังคนที่บ้านเล่าเรื่องต่างๆ ฟังได้เรื่อยๆ สบายๆ ความรู้สึกที่เรามีกับแม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เบาสบายขึ้น ความกังวลในการสื่อสารของแม่กับแนนน้อยลง ครอบครัวของเราไม่ได้อยู่ด้วยกันแต่มีความเข้าใจกันมากขึ้น สามารถสื่อสารได้ตรงไปตรงมา ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร เปิดใจโดยไม่ต้องกังวลว่าอีกฝ่ายจะคิดอย่างไร เวลาแม่ไม่สบายใจ แม่โทรมาคุยหรือร้องไห้กับแนนได้ ซึ่งในอดีตไม่เคยมีปรากฎการณ์นี้ ปัจจุบันนี้แม่วางใจในตัวแนนมากขึ้น แนนก็รู้สึกสบายๆ กับแม่มากขึ้น ที่สำคัญคือแนนสามารถบอกความรู้สึกที่มีต่อแม่ได้โดยไม่เขิน เช่น บอกรัก คิดถึง ห่วงใย เข้าไปกอดหอมแก้มแม่ได้”

.

ให้อดีตอยู่ในอดีต

แนนบอกว่าการสื่อสารที่ดีมีพื้นฐานมาจากการฟังที่ดี และการยอมให้อดีตอยู่ในอดีต “บางทีเราไม่ได้เห็นคนตรงหน้าเป็นคนปัจจุบันอย่างที่เขาเป็นจริงๆ หรอก เราเห็นเขาเป็นใครคนหนึ่งที่เราเคยรู้จักในอดีต เช่น เวลาเราเจอใครบางคนครั้งแรกก็ไม่ชอบ ทั้งที่ยังไม่รู้จักกัน ความจริงแล้วเป็นเพราะเราเคยมีความทรงจำที่ไม่ดีกับคนที่ลักษณะแบบนี้เท่านั้น การยอมให้อดีตเป็นอดีต และเราอยู่กับคนตรงหน้าจริงๆ ในปัจจุบันช่วยได้มาก

บางครั้งเราเห็นบางคนหรือบางการกระทำที่เคยไม่โอเค แต่พอกลับไปสำรวจจริงๆ ก็พบว่าเราตัดสินเขาจากประสบการณ์ในอดีตที่เรารู้จัก —การฝึกที่จะอยู่กับคนตรงหน้า 100% รู้จักฟัง ทำให้เราสื่อสารได้อย่างซื่อตรง”

.

ชัดเจนในความรู้สึก-ความต้องการ อะไรๆก็ง่ายขึ้น

แนนเล่าว่า ทักษะที่ได้จากการอบรม ทั้งการฟัง การรู้จักความรู้สึก รู้จักความต้องการ ทำให้แนนเห็นความรู้สึกและความต้องการของตนเองชัดเจนขึ้น และช่วยให้เห็นความรู้สึกและความต้องการของผู้คนรอบตัวได้มากขึ้นด้วย ก่อเป็นความเข้าใจซึ่งส่งผลมากกับการทำงานโดยเฉพาะกับทีมงาน “เดี๋ยวนี้น้องๆ ใกล้ชิดกับแนนมากขึ้น เดินเข้าไปในที่ทำงานก็จะมีน้องเข้ามาพูดคุย  ขอกำลังใจ หรือถ้าไม่สบายใจก็เข้ามาขอปรึกษาหรือขอกอด สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยเมื่อ 4-5 ปีก่อน”

.

  การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้การคุยกันมีความสบายใจมากขึ้น น้องในทีมลุกขึ้นมาผลักดันงานได้มากขึ้น กล้าคิด กล้าบอก กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ให้ feedback แก่กันและกันได้ ทำให้ทีมเข้มแข็งมากขึ้น ทุกคนเติบโตในแบบที่เป็นตัวเอง เมื่องานมีปัญหาหรือเสร็จไม่ทันเวลา เดิมจะเก็บงำไว้จนถึงวินาทีสุดท้ายเพราะสื่อสารไม่ได้ แต่ปัจจุบันสามารถคุยกันตั้งแต่แรก ถ้าไม่มั่นใจก็ถามซ้ำได้จนกว่าจะเข้าใจ หากต้องการความช่วยเหลือก็บอกได้ตรงๆ การเปิดการสื่อสารทำให้ทำงานง่ายขึ้นและความเป็นทีมก็ตามมา

        

เป็นสุขกับปัจจุบัน

“ค่อนข้างชัดเจนว่า ชีวิต ความรู้สึก ความพอใจ ความไม่พอใจ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ในอดีต เมื่อเข้าใจและเห็นชัดว่ามันมาจากอดีต เราก็สามารถกลับไป complete และเป็นอิสระจากอดีตได้ปัจจุบันแนนรู้จักตัวเองมากขึ้น มีความสัมพันธ์กับตัวเองในแบบที่รู้ว่าเราเป็นใคร รู้เท่าทันความรู้สึกความต้องการของตัวเอง จึงเลือกสร้างชีวิตแบบที่เราอยากจะเป็นได้อย่างอิสระและมีพลังมากๆ”

เมื่อย้อนกลับไปมองความกลัว — กลัวไม่ดีพอ กลัวว่าเขาจะเกลียดเรา แนนบอกว่าความรู้สึกแบบนี้น้อยลงไปมาก เธอเห็นความสบายๆ ในตัวเองมากขึ้นทุกวัน สามารถสื่อสารแสดงความคิดเห็นโดยไม่กังวลกับความคิดของคนอื่น

.

            “เมื่อได้ฝึกทบทวนตัวเองบ่อยๆ ว่า เราต้องการอะไร เราทำงานนี้ไปเพื่ออะไร ก็ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นความรู้สึกและยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อก่อนเวลาถูกตำหนิ หรือเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในที่ประชุมแรงๆ จะเสียใจมาก ทั้งเสียใจและเสียความมั่นใจ แต่ปัจจุบันนี้เราเห็นความเป็นจริงได้มากขึ้น ทำให้เราเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น เช่น ได้เห็นว่าเขาไม่ได้วิจารณ์ตัวเราแต่เขาวิจารณ์งานของเราและที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเขากับเรามีจุดยืนต่างกัน หรือมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ซึ่งถ้าทำความเข้าใจได้ก็ทำ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่โกรธตัวบุคคล พูดกันด้วยจุดยืน ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง — สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามั่นคง และสบายใจ มีครั้งหนึ่งเราอยู่ในห้องประชุมที่ ‘ผิดที่ผิดทาง’ เราไม่รู้ว่าเขาเชิญเราไปประชุมด้วยทำไมเพราะเราพูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง โกรธ หงุดหงิด พอได้กลับมาตั้งสติดีๆ มองไปรอบๆ เห็นหน้าของแต่ละคน เห็นหน้าประธานในที่ประชุม เห็นความไม่ได้ดั่งใจ เราก็เข้าใจสถานการณ์ พอเข้าใจก็ยิ้มออกมา แล้วทันทีที่เรายิ้ม ประธานก็ตบโต๊ะเปรี้ยง โกรธขึ้นมาอีก แต่เราไม่โกรธเขา เราเข้าใจเขาและเข้าใจสถานการณ์ เป็นชั่วขณะที่สัมผัสได้ถึงความมั่นคงภายในของตัวเอง — เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากเลยเมื่อเทียบกับตัวเราในอดีต”

.

ความรู้สึกขอบคุณ

          อีกทักษะหนึ่งที่แนนได้จากการอบรม TEP และยังคงนำมาฝึกกับตัวเองเป็นประจำคือการขอบคุณตัวเอง ขอบคุณเพื่อน ระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน “ในอดีต เราจะจมง่ายมากกับความคิดลบๆ คำตำหนิที่มาจากตัวเอง หรือคำตำหนิที่มาจากคนอื่นซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น การกลับมาเห็นความจริงทั้งหมด ให้ความสำคัญกับสิ่งดีๆ มันช่วยมากขึ้น”

แนนทิ้งท้ายว่า ภารกิจงานของเธอนั้นจะว่าไปก็ยิ่งใหญ่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่เธอหวังก็คือ เธออยากให้สำนักงานเล็กๆ ของเธอนั้นเป็นพื้นที่ทำงานที่มีพลังเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และเป็นพื้นที่ของการสร้างความมั่นคงทางใจและสร้างความสุขให้ทีมงานด้วย

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save