8 ช่องทางความสุข

เมื่อครูออกจากกรอบ

เราสอนเรื่องไข่แดง-ไข่ขาว หลายครั้ง สอนเรื่องการออกนอกกรอบ การไม่ติดกรอบ แต่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเรากำลังติดกรอบ เช่น กรอบของความเรียบง่าย

.

คุณวรภัทร ไผ่แก้ว หรือใครๆ ก็เรียกติดปากว่า “พี่ปอ” เจ้าหน้าที่คณะทรัพยากรธรรมชาติและที่ปรึกษาชมรมการศึกษาเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ชมรมการศึกษาเพื่อสังคม มีชื่อเล่นว่า ‘ชมรมสอนเด็ก’ เป็นชมรมส่วนกลางของมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาจากทุกคณะเป็นสมาชิก ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก ที่ปรึกษาของชมรมมีหน้าที่ให้คำปรึกษานักศึกษาที่ทำโครงการฯ ในลักษณะออกค่าย การลงพื้นที่ศึกษาชุมชน เมื่อโครงการกิจกรรมของนักศึกษาผ่านการอนุมัติจากมหาวิทยาลัยแล้ว นักกิจกรรมเหล่านี้จะต้องนำเสนองาน วางแผนการดำเนินงาน และรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ กับคุณปอซึ่งเป็นที่ปรึกษาชมรมอีกครั้งจึงจะสามารถไปทำกิจกรรมในพื้นที่ได้

.


ผู้เขียน: น้องๆ เข้ามาที่ชมรมฯ เพื่อนำเสนอโครงการฯ และขอคำปรึกษาเพื่อปรับปรุงแล้วจะได้รับการอนุมัติงบประมาณจากมหาวิทยาลัยใช่ไหมคะ
คุณปอ: ไม่ใช่ค่ะ เพราะโดยส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะอนุมัติงบประมาณสำหรับทำกิจกรรมอยู่แล้ว แต่ถึงแม้จะได้อนุมัติงบประมาณแล้ว แต่ถ้ากรรมการชมรมฯ มาพรีเซนต์งาน แล้วพี่ยังไม่ให้ผ่าน นักศึกษาก็ไปทำกิจกรรมไม่ได้”


— เห็นความสำคัญของเธอไหมคะ —

คุณปอเล่าว่าภาพในอดีตของชมรมฯ และตัวเธอนั้น ‘ขึ้นชื่อลือชา’ เรื่องความเข้มงวด ดุ โหด เป็นสายแข็งตัวจริง กระบวนการให้คำปรึกษาเพื่อออกไปทำกิจกรรมค่ายของพี่ปออาจใช้เวลาตั้งแต่เย็นไปจนถึงเช้าของอีกวัน คุยกันได้ท้ า ง ง ง ง ง ง คืน ซึ่งนักศึกษาทุกรุ่นต้องเจอ

.

“เราจะถามหมดเลยว่าชุมชนที่เขาจะไปออกไปทำกิจกรรมนั้นมีสภาพประชากรเป็นอย่างไร มีเด็กจะเข้าร่วมค่ายกี่คน เป็นเด็กผู้ชายกี่คน เด็กผู้หญิงกี่คน อายุเท่าไร ปัญหาของเด็กๆ คืออะไร นักศึกษาจะไปทำอะไรบ้าง จะเริ่มกระบวนการอย่างไร กระบวนการนั้นจะเวิร์คจริงหรือไม่ ถ้าเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดจะทำอย่างไร ฯลฯ” ถ้าแค่ถามก็ยังพอว่า แต่นักศึกษารู้สึกว่าพรีเซ้นต์ไปก็ถูกด่าไปด้วย เพราะหลายครั้งข้อมูลไม่ครบ ไม่เรียบร้อย ไม่ละเอียดพอตามมาตรฐานที่เธอวางไว้ นักศึกษาเหล่านั้นจะโดนสวดเละ —

.

คุณปอบอกว่าส่วนหนึ่งที่เธอเคี่ยวเข็ญนักศึกษาขนาดนั้นเพราะเธอเป็นคนมาตรฐานสูง กระบวนการทำค่ายของเธอไม่ต่างจากกระบวนการทำงานของเธอซึ่งติดมาตรฐานสูงมากทั้งนี้เป็นเพราะคุณปอเป็น ‘นักกิจกรรม’ ตั้งแต่อายุยังน้อย


“เราคิดว่าเราเจ๋งมากเพราะทำค่ายมาตั้งแต่อายุ 19 ปี เราชำนาญในการทำค่าย ดังนั้นถ้านักศึกษาไม่ฟัง เถียง ดื้อ เราก็จะดุ ตวาด ‘หยุดนะ’ ถลึงตา ใช้สายตา เด็กๆ กลัวก็จะเงียบ — เราค่อนข้างใช้วิธีแบบทหาร สไตล์ค่ายลูกเสือ มีลักษณะของผู้นำเดี่ยว”


“เราเป็นเจ้าแม่ งานเกษตรภาคใต้ยิ่งใหญ่มากเราจัดงานนั้นได้คนเดียว เมื่อเป็นเด็กๆ เราก็เอาแต่ใจตัวเอง เวลาที่ไม่ได้ดั่งใจจะเขวี้ยงของ เอาแต่ใจ เคยไล่ลูกน้องออกเป็นว่าเล่น เป็นคนมั่นใจมากและไม่แคร์เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราสำเร็จมามาก ทำอะไรก็สำเร็จ ได้รางวัลมาเยอะแยะ”


วิธีโหดเหล่านี้ ในอดีตคุณปอไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหา ใครจะว่าเธอดุ เธอก็ไม่เห็นว่าเป็นสาระ เพราะเธอเชื่อมั่นว่าเธอกำลังมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้นักศึกษา สังคมและชุมชน การซักไซร้ การเคี่ยวเข็ญ ดุ ว่า เป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและมุ่งหวังให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุดในการทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษา และพร้อมกันนี้ก็เป็นการฝึกนักศึกษาไปในตัว นั่นคือภาพอดีต พี่ปอคนปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปแล้ว หลังจากที่เธอเข้าอบรมในหลักสูตรกระบวนกรสร้างเสริมสุขภาวะ (TEP)

กรอบที่มองไม่เห็น
คุณปอเล่าว่าสิ่งที่ได้จากการอบรม TEP ช่วงแรกคือการจดบันทึก จดอย่างละเอียด บันทึกคำพูด บันทึกขั้นตอน กระบวนการ แต่เธอไม่ได้เข้าใจถึงการเป็นกระบวนกรสุขภาวะจริงๆ (คุณปอมาเห็นสิ่งนี้ภายหลัง) ในขณะที่อยู่ในกระบวนการ TEP นั้นคุณปอพยายามเรียนรู้ จดจำเนื้อหาและกระบวนการเพื่อจะนำไปใช้ในงานของตนเองและเมื่อเสร็จสิ้นจากงานอบรม ก็นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ จดบันทึก ไปทดลองใช้ในงานของตัวเองอย่างที่เรียกว่า Copy & Paste ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไรนัก จนกระทั่ง อาจารย์ธนัญธร เปรมใจชื่น (อ.น้อง) มาทำงานที่ภาคใต้ ได้พบได้คุยกัน คำพูดที่อ.น้องกระตุกคุณปอคือ “การรักผู้อื่นควรเริ่มจากการรักตัวเองให้ถูกต้อง” ประโยคนั้นทำให้คุณปอกลับมาทบทวนตัวเองและเห็นข้อจำกัดในบางเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

.

โชคดีที่พี่ปอได้ทำกระบวนการอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการทบทวนได้บ่อยๆ จึงค่อยๆ เห็นข้อจำกัดของตัวเองเช่น “กระบวนการของเราคงไม่สนุก” “เด็กๆ คงอยากเต้นและเล่นแบบวัยรุ่น” ฯลฯ จึงค่อยๆ ปลดและเปลี่ยนจากการ Copy & Paste มาสู่การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงจากภายใน จัดกระบวนการอย่างเป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้ประโยชน์จากกระบวนการเหล่านี้แล้ว ตัวคุณปอ-คนนำกระบวนการ ก็ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้มากเช่นกัน

.

“เราสอนเรื่องไข่แดง-ไข่ขาว (พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เสี่ยง — ผู้เขียน) หลายครั้ง สอนเรื่องการออกนอกกรอบ การไม่ติดกรอบ แต่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเรากำลังติดกรอบ เช่น กรอบของความเรียบง่าย — คนเรียบง่ายต้องไม่นุ่งกระโปรง ไม่แต่งหน้า ต้องลุย กินง่ายอยู่ง่าย เราติดอยู่ในกรอบนี้และพยายามทำให้คนอื่นๆ อยู่ในกรอบของเรา เราแอนตี้คนแต่งหน้า คนนุ่งกระโปรง คนชอบแต่งตัว ถ้าเป็นนักศึกษาในการดูแล เราตำหนิเขาทันที ถ้าเป็นคนอื่นเราจะเห็นว่าเขาไม่ใช่พวกเรา

.

เราถูกสอนและอบรมมาว่า ต้องเป็นคนตรงไปตรงมา หรือคนเก่งควรกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าเถียง กล้าแสดงความเห็น เราเองก็พยายามทำอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น กลายเป็นว่าเราติดกรอบโดยไม่รู้ตัว เราไม่ให้คุณค่ากับคนเงียบๆ คนที่ไม่ inter-act (โต้ตอบ) คนที่ไม่คิดตาม คนขี้อาย เราเป็นคนเป๊ะเพราะเราเชื่อว่าความเป๊ะนำไปสู่ความสำเร็จ เราจึงควบคุมทุกอย่างเพื่อจะได้ไม่พลาด เราไม่มีพื้นที่สำหรับความผิดพลาด ที่เคี่ยวเข็ญก็เพราะไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด ใครจะมองว่าดุก็ไม่แคร์ เหล่านี้เป็นเรื่องการติดกรอบทั้งนั้น”

.

.

เปิดพื้นที่สำหรับความผิดพลาด
เมื่อพี่ปอได้เห็นกรอบของตัวเอง เห็นอาการติดกรอบ เห็นกำแพงของตัวเองที่ก่อไว้ จึงเริ่มกลับไปสำรวจตัวเองอย่างจริงจัง แล้วค่อยๆ ทลายกำแพงของตัวเองลง ผ่อนปรนมากขึ้น ใจดีมากขึ้น นุ่มนวลมากขึ้น ช้าได้ และยอมให้ผิดพลาดได้บ้าง


“พอเห็นตัวเองก็เข้าใจได้ว่าหลายคนคงไม่ชอบวิธีการแบบเรา เพราะเราเองก็ไม่ชอบให้ใครตะโกนใส่หน้า พอรู้จักตัวเองก็พอจะรู้ว่าเราชอบแบบไหน แล้วเอาสิ่งที่เราชอบไปทำกับคนอื่นด้วย — ปัจจุบันนี้ทั้งนักศึกษาและคนรอบตัว ต่างก็บอกว่า ‘พี่ปอน่ารัก’ เข้าใจผู้คนมากขึ้น จากสายโหด สายแข็ง ก็ปรับให้อ่อนโยน ร่องการฟังเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราฟังคนอื่นได้มากขึ้น โลกทั้งโลกของเราก็เปลี่ยน”


“ในระยะหลังมานี้ บางทีพอเห็นการทำงานของลูกน้อง ซึ่งเราเห็นแล้วแหละว่าถ้าทำอย่างนี้พลาดแน่ ก็จะเตือน แต่ถ้าเขายืนยันในสิ่งที่เขาคิดและสิ่งนั้นไม่ได้เสียหายร้ายแรง เราจะยอมให้เขาทำแล้วค่อยมาสรุปบทเรียนทีหลัง หลายครั้งที่เขาเข้ามาขอโทษซึ่งเราก็อธิบายซ้ำว่า เราเตือนแล้ว เราเห็นแล้ว — บางทีเราต้องยอมให้เขาได้เห็นความผิดพลาดด้วยตัวของเขาเอง ให้ความผิดพลาดเป็นครูที่สอนเขา ดีกว่าที่เราจะห้ามทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะการห้ามช่วยให้ไม่เกิดความผิดพลาดก็จริง แต่เขาก็ไม่ได้เรียนรู้ด้วย — กระบวนกร หรือ ครู อาจจะต้องมองในมุมนี้ด้วย”

.

คุณปอบอกว่าในปัจจุบันนี้เธอเข้าใจผู้คนมากขึ้น ช่วยนักศึกษาได้มากขึ้นเพื่อให้เขาได้พบทางของเขา ได้ใช้ศักยภาพ ได้เลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการ พี่ปอบอกว่าเมื่อก่อนจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้ยินเป็นระยะๆ ว่าเด็กกิจกรรมเรียนไม่ดี ปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้วเพราะนักศึกษาที่พี่ปอให้คำปรึกษา รับฟัง ดูแล สามารถใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทำกิจกรรมได้ และเรียนดี หลายคนกลายเป็นบัณฑิตย์เกียรตินิยม

.

คุณปอบอกว่า ปัจจุบันเธอเปลี่ยนไปจากอดีตมากมายทั้งบุคลิก การแต่งกาย การดูแลอารมณ์ “เดี๋ยวนี้ตัวเราสบายๆ มากขึ้น การแต่งตัวก็ไม่ติดกรอบ วันนี้อยากหวานก็แต่งหวานได้ นุ่งกระโปรง ใส่สีหวานๆ อยากห้าวก็ได้ หวานก็ได้ ลุยก็ได้ ไม่ต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นเรานั่นเอง”
พอเข้าใจผู้คนก็ไม่เคยไล่ใครออกอีกเลย (เมื่อก่อนไล่ลูกน้องออกเป็นว่าเล่น) เป้าหมายของการทำงานคือทำแล้วมีความสุข ถ้าเขาทำงานกับเราแล้วไม่มีความสุข เขาก็มาลาออก ไม่มีใครผิด เพียงแต่เฟืองไม่เท่ากัน ไปด้วยกันไม่ได้ก็เท่านั้นเอง ให้เขาลาออกอย่างมีความสุข แล้วเราก็กลายเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องกันได้ จากเดิมในอดีตที่เราหน้านิ่วคิ้วขมวดเหมือนคนไม่มีความสุข เราเปลี่ยนไปแล้ว”


.

ปัจจุบันคุณปอเข้าใจวิถีที่เป็นไป และยังคงมีแรง มีไฟในการทำงาน แต่ไฟนั้นเป็นไฟที่ไม่เผาไหม้ใครๆ อีกแล้ว

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save