โยคะสติบนวีลแชร์
“ตั้งแต่อายุ 5 จะย่างเข้า 6 ขวบ ขาเราก็เริ่มอ่อนแรงและค่อยๆลีบเล็ก ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติเหมือนเด็กคนอื่น” อำไพ สราญรื่น ช่างเย็บผ้าในศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการเผยรอยยิ้มภายใต้ผมสีดอกเลาด้วยวัยใกล้เกษียณบอกเล่าถึงความทรงจำอันเลือนลางกว่า 50 ปีที่แล้ว
.
หลายๆ ข้อจำกัดของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมา บางครั้งเกิดจากความเหนื่อยล้า หมดกำลังใจ หมดแรงใจที่จะขับดันร่างกายให้เคลื่อนต่อ หากแต่บางคน โอกาสเหล่านั้นหมดไปตั้งแต่ข้อจำกัดทางร่างกาย แต่มุมมองความคิดของอำไพ กลับไร้ซึ่งขีดจำกัดเหล่านั้น
รถวีลแชร์ไฟฟ้าของอำไพ นำลิ่วว่องไวกว่าสองขา
“ร่างกายเราไม่ใช่ปมด้อย ใจเราสำคัญที่สุด”
.
วิธีการมองโลกแง่บวกของอำไพ อาจเป็นเพราะการเผชิญและปรับได้ และมองความพิการเป็นความเคยชิน “ลึกๆ เราก็ไม่ได้ชอบแต่เราต้องปรับตัวเอง เราเคยโมโหตัวเองแต่เราต้องยอมรับ”
มีหลายครั้งที่อำไพเคยไปช่วยดึงคนอื่นออกมาจากภาวะจิตใจที่ล้มเหลวด้วยความพิการทางอุบัติเหตุ เพราะคนปกติในบ้านทำให้เขารู้สึกยอมรับความจริงไม่ได้ เป็นความทรมานทำร้ายจิตใจ บางคนรักษาหายแต่บางคนไม่สามารถทำอะไรได้
ขึ้นอยู่กับมุมมองของความสุข
.
ความสุขบนวีลแชร์ จากการออกกำลังกายที่ไม่ใช่กายภาพบำบัด
“ปกติเราทำกายภาพตามที่หมอแนะนำ อาการเกิดขึ้นที่ตรงไหน เราก็ใช้ยา บีบคลาย ทำให้มันขยับสม่ำเสมอ เป็นเพียงวิธีการรักษา ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับภายใน”
.

.
การฝึกโยคะสำหรับคนพิการเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต่อยอดจากการฝึกโยคะกับสติ ในโครงการจัดการความรู้และส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างมีสติ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เป็นหนึ่งช่องทางในศูนย์สุขภาวะ ที่เป็นการออกกำลังกายควบคู่กับการฝึกทางจิตใจ
.
โครงการนี้ทดลองฝึกโยคะสติกับผู้พิการหลายๆ ประเภท อาทิ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางสมอง ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม พิการซ้ำซ้อน เป็นต้น
“เริ่มต้นก็ให้ร้องเพลงด้วยกัน เราก็ทำไปอัตโนมัติ ครูที่มาสอนจะอธิบายคร่าวๆ ให้เราทำไปโดยไม่รู้ตัว เริ่มต้นจะมีจิตแพทย์เข้ามาและต่อด้วยโยคะ กระบวนการเริ่มจากการคุยกันก่อน เริ่มสอนท่าทางให้เราฝึกฝนหลายๆ เที่ยว มีเสียงเพลงประกอบ ตีกลองตามจังหวะการเดิน ขนาดเด็กที่ไม่นิ่งเมื่อได้เริ่มต้นก็มีสมาธิไปเอง ได้ฝึกออกไปข้างนอก เดิน ขยับ ตามจังหวะที่เขาเปิดเพลงประกอบ ให้เรามีสมาธิมีสติโดยอัติโนมัติ ซึ่งเราไม่เคยฝึกมาก่อน”
.
ครูผู้ฝึกสอนโยคะให้ผู้พิการเริ่มต้นจากท่าทางง่ายๆ เรียนรู้และฝึกท่าบริหารร่างกายจากกระบวนการโยคะ ช่วยในการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การหายใจ ให้ผู้เรียนมีสุขภาพที่ดี มีสติในการทำหน้าที่ได้มากขึ้น และนำไปปรับใช้เพื่อบำบัดผ่อนคลาย สร้างกล้ามเนื้อ และสมดุลทางร่างกายให้ผู้พิการอย่างถูกต้องและปลอดภัย
“จากเดิมที่เราไม่รู้ขั้นตอน หายใจไม่เป็น ก็ได้ฝึกหายใจเข้าออก ไม่รีบเร่ง ไม่มีท่าทางยากๆ จากที่เลือดลมไม่ดี กลับไหลเวียนดี เราสามารถรู้สึกได้”
.

.
ตั้งแต่เรียนจบชั้นประถมศึกษา 7 จากโรงเรียนคนพิการศรีสังวาลย์ อำไพก็เริ่มทำงานมาโดยตลอด ทำงานเย็บผ้ามาตั้งแต่อายุยังน้อย บ้างต้องหามรุ่งหามค่ำทั้งที่ร่างกายเป็นโปลิโอทั้งขาและแขนบางส่วน และต้องดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต เมื่อร่างกายต้องใช้งานหนักจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ
.
“เราใช้แขนเป็นทั้งขาและแขน จนเส้นเอ็นแขนเปื่อยจากที่เราฉีดยาแก้ปวดเมื่อยจนต้องไปผ่าตัด ตอนนี้ดีหน่อยที่เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า เพราะใช้สิทธิบัตรทองของผู้พิการ (ท.74)ทำให้สามารถขอรับกายอุปกรณ์และเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”
.

.
ปัจจุบันนี้มีสิทธิต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้พิการประเภทต่างๆ อีกทั้งสังคมยังเปิดกว้างยอมรับและช่วยเหลือ ทำให้ผู้พิการในปัจจุบันมีโอกาสในการใช้ชีวิตไม่น้อยไปกว่าคนปกติ
นอกจากเป็นช่างเย็บผ้าในศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ อำไพยังทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ทูตอารยสถาปัตย์ ของจังหวัดนนทบุรี หรือผู้คอยสอดส่องและรายงานว่าสถานที่ต่างๆ เอื้อเฟื้อและเพียงพอต่อคนพิการหรือไม่ รุกล้ำสิทธิของคนพิการหรือไม่ เพื่อให้มีการนำคำแนะนำเหล่านี้ไปเสนอหน่วยงานเพื่อพัฒนาต่อไป
.
วิธีการใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เราเชื่อว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ร่างกายเราขยับตรงไหนได้ก็ใช้ตรงนั้นต่อยอดสร้างสรรค์ คนตาบอดก็มีพรสวรรค์แบบที่คนปกติไม่มี ที่เรายังมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะร่างกายสมบูรณ์พร้อม แต่เพราะเรายังมีลมหายใจอยู่
.
หลังจากได้ลองออกกำลังกายด้วยโยคะสติ อำไพค้นพบว่าคนพิการสามารถออกกำลังกายได้ทุกรูปแบบ แต่เพียงต้องปรับจากสรีระ ว่าเราสามารถเล่นอะไรได้ อยากเล่นปิงปองแต่มือไม่มีกำลัง เราก็ใช้สายรัดมือและใช้กำลังแขนแทน นี่คือการปรับรูปแบบของกีฬา ต้องออกแบบกฎที่แตกต่างเพื่อคนพิการ
“อย่างเราก็เป็นกีฬาว่ายน้ำใช้ท่าผีเสื้อ เราไม่ได้ใช้ขานะ แต่เราใช้ส่วนที่แข็งแรง แม้ท่าทางจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็ดูเป็นท่าผีเสื้อ คนมีแขนข้างเดียวก็ว่ายน้ำได้”
.
การใช้ร่างกายควบคู่กับการใช้จิตใจทำให้เกิดความสุข และเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต
ปกติเราทำงานก็มุ่งแต่ทำงาน แต่นี่เราได้อยู่กับตัวเอง ไม่เครียด พอคิดได้แบบนั้นกลับช่วยให้เราได้สติในการทำงาน จริงๆ ระหว่างทำงานเราก็สามารถฝึกสติได้ ทำได้ทุกๆ อิริยาบถ กลับจากทำงานบางครั้งเหนื่อยแล้ว ขี้เกียจที่จะออกกำลังกาย หรือคนทั่วไปคิดว่าการทำงานบ้านคือการออกกำลังกายจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ ถ้าไม่ถูกท่า ถูกจังหวะ ถูกลมหายใจ พอเรารู้วิธีการเราก็มองการออกกำลังกายเปลี่ยนไป
.
ที่เห็นชัดเจนคือเรื่องของอารมณ์
“พอมีสติ ความอารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด ก็ลดลง จากเดิมเราที่ขี้โมโหหงุดหงิดง่าย หรือเห็นได้ชัดเจนเลยในเด็กออทิสติกที่มาเข้าร่วมฝึกโยคะ ปกติจะสมาธิสั้นมากแต่หลังได้เริ่มฝึกเขาสามารถตั้งใจทำได้นานขึ้น เขาวิ่งได้ไกลขึ้นหลังจากทำโยคะสติ”
.
ประโยชน์อีกอย่างคือการได้รู้จักคนอื่น ได้เห็นพัฒนาการของผู้พิการรูปแบบอื่นๆ
“สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำก่อนและหลังกิจกรรม คือการพูดคุยกัน เราได้ฟังคนอื่นว่าเป็นอย่างไร พบว่านอกจากผู้พิการจะได้ประโยชน์ ยังส่งผลถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวผู้พิการ แม่ของเด็กออทิสติกบอกเล่าว่าได้นำหลักของสติมาใช้ในการดำเนินชีวิต จากที่จิตใจห่วงพะวงเรื่องลูกจนไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้ แต่เมื่อลูกสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ดีขึ้น ผู้ปกครองก็สามารถมีเวลาเป็นของตัวเองและมีเวลาให้กับคนอื่นๆ ในครอบครัว นั่นคือความสุขจริงๆ จากการนำไปประยุกต์ใช้”
“สุขภาพเราก็ดีขึ้นด้วย เรารู้ว่าทำท่าไหนเพื่อรักษาตรงไหน ปล่อยสบายๆ อย่าไปฝืนร่างกาย”
.
อำไพสาธิตการทำโยคะ ด้วยส่วนบนของร่างกายบนรถวีลแชร์ ทุกๆ การขยับ อำไพจะอธิบายว่าสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยตรงไหน และทุกๆ การขยับจะเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงความสุขที่เธอแสดงออกมาทางสีหน้าและแววตา
“ที่มากกว่ากายภาพเพราะได้ทั้งสติ อารมณ์และร่างกาย เป็นการประกอบกันของทุกๆ อย่าง”
“เมื่อเราได้ทำกิจกรรม พอเราเห็นว่าสิ่งไหนดี เราก็ตั้งใจบอกต่อ เพื่อชักชวนผู้พิการคนอื่นๆ”
ทุกสิ่งที่ได้รับจากการเริ่มต้นคือกำไรที่ไม่ต้องไปซื้อหา ที่สำคัญต่อจากนั้นคือความต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับว่าคุณกล้าที่จะทำมันหรือไม่