อุ๊ มดงานตัวจิ๋วแต่แจ๋ว
ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์
ย้อนกลับไปเมื่อ 32 ปีก่อน เด็กหญิงกรองแก้ว ชัยอาคม หรือ อุ๊ ลืมตาดูโลกด้วยขนาดตัวใหญ่กว่าฝ่ามือเพียงนิดเดียว ด้วยขนาดตัวเล็กจิ๋ว หูได้ยินเสียงแผ่วเบา และเสียงเล็กแหลมเหมือนเด็กน้อย เธอจึงรู้สึกอายไม่กล้าคุยกับใครจนคนส่วนใหญ่คิดว่าเธอเป็นคนใบ้
.
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเรียน เด็กหญิงตัวจิ๋วมักกลับถึงบ้านพร้อมคราบน้ำตาเปรอะเปื้อนบนสองแก้ม เพราะถูกเพื่อนล้อเลียน แกล้งตีและผลักเป็นประจำจนกลายเป็นตัวตลกประจำห้อง แต่หากย่างเท้ากลับเข้าบ้านเมื่อไหร่ อ้อมกอดของพ่อแม่จะคอยทำหน้าที่เป็นผืนทรายแห่งความรักคอยซับน้ำตาให้เหือดแห้งไปอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ
.
ด้วยความยากจนเด็กหญิงตัวจิ๋วจึงเริ่มช่วยหารายได้จุนเจือครอบครัวตั้งแต่ยังอยู่ในชุดนักเรียน และต้องออกจากโรงเรียนหลังเรียนจบระดับชั้นประถมเพื่อทำงานให้มากขึ้น เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้เธอจะมอบให้พ่อแม่ผู้มีพระคุณด้วยความเต็มใจและพร้อมทำงานหนักเอาเบาสู้แม้ว่าสภาพร่างกายจะเล็กแกร็นกว่าคนวัยเดียวกันก็ตาม
.
หลังจากพี่สาวคนที่สองเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อเป็นแม่ค้าขายหมูปิ้งไม่นาน อุ๊จึงตามมาช่วยพี่สาวอีกแรง ด้วยเหตุบังเอิญของชีวิต บ้านเช่าของพี่สาวตั้งอยู่ใกล้กับสำนักงานของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) พอดี เธอจึงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับเด็กในชุมชนและกลุ่มแรงงานเด็กทุกวันอาทิตย์และสามารถพลิก “ปมด้อย” สู่ “ปมเด่น” จนกลายเป็น “ไอดอล” ผู้มีความสามารถในการเล่นละครใบ้หน้าขาวและผู้นำกิจกรรมสันทนาการที่เรียกเสียงหัวเราะให้คนดูได้อย่างน่าประทับใจ
.
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชีวิตของหญิงสาวตัวจิ๋วความสูงเพียง115 ซม.คนนี้ไม่ใช่เพราะเธอได้รับเวทมนตร์วิเศษจากนางฟ้าประทานให้ แต่เพราะความตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความทุ่มเทและมองโลกในแง่ดีเสมอ เธอจึงได้กลายเป็น “มดงานตัวจิ๋วแต่แจ๋ว” ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กผู้มีความสุขจากการทำงานอยู่เสมอนั่นเอง
.
…………………………………………….
.
“ตอนเด็กๆ ที่บ้านยากจนมาก แม่ผูกเปลทิ้งไว้ กินข้าวกับเกลือ สารอาหารไม่เพียงพอ เริ่มทำงานตั้งแต่ยังเรียนหนังสือชั้นประถมช่วยแม่ค้ามัดถุงข้าวแกงตั้งแต่ตีห้าถึงเจ็ดโมงก่อนไปโรงเรียน วันธรรมดาได้เงินวันละ 5 บาท เสาร์อาทิตย์ได้วันละ 10 บาท มีรายได้เดือนละร้อยกว่าบาท แม่ดูแลดีมาก คอยให้กำลังใจ ได้รับความรักจากพ่อแม่เต็มที่ พอเรียนจบประถมก็ออกมารับจ้างเย็บชุดแฟนซีอยู่ที่บ้าน เดือนหนึ่งเย็บชุดได้ 30 ชุด เวลาทำงานแม่จะห่อข้าวไปให้ ได้เงินมาเดือนละพันกว่าบาทให้พ่อแม่หมดเลย พออายุ 14-15 ปีก็มาช่วยพี่สาวขายหมูปิ้งที่กรุงเทพฯ บังเอิญพี่สาวเช่าบ้านอยู่ตรงข้ามกับมูลนิธิเลยสงสัยว่ามูลนิธิทำอะไร”
.
อุ๊ สาวน้อยร่างจิ๋วเล่าเรื่องราวก่อนได้พบจุดพลิกผันในชีวิต ณ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กซึ่งทำงานกับกลุ่มแรงงานเด็กอายุ 13-18 ปีให้ฟัง
.

.
“ตอนแรกก็มาแอบดูบ่อยๆ เมื่อก่อนไม่กล้าพูดเพราะอาย เวลาคนพูดจะไม่ได้ยิน จะใช้วิธีอ่านปากแล้วเดาว่าคนนั้นพูดอะไร ตอนหลังได้เครื่องช่วยฟังเลยได้ยินชัดขึ้น เห็นคนมาทำกิจกรรมวันอาทิตย์ก็อยากพัฒนาตนเองบ้าง เราคิดอยู่เสมอว่าเราไม่เหมือนคนอื่น พอทาง ผอ. มูลนิธิชวนให้มาทำงานตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์ก็ลองทำดู ตอนหลังจึงเริ่มเข้ามาเป็นอาสาสมัครประจำ ช่วยงานทุกอย่างที่เราช่วยได้”
.
ด้วยความรักเรียนและใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ อุ๊จึงเริ่มสมัครเรียน กศน. จนจบชั้นมัธยมปลายพร้อมกับทำงานในมูลนิธิไปด้วย เมื่อเห็นจ้าหน้าที่ซ้อมละครใบ้เพื่อนำไปแสดงให้เด็กในชุมชนเรียนรู้ปัญหาต่างๆ มากขึ้น อุ๊ก็เริ่มอยากลองเล่นดูบ้าง ซึ่งทำให้เธอได้ค้นพบความสามารถที่ซ่อนเร้น พลิก “ปมด้อย” กลายเป็น “ปมเด่น” เพราะปัญหาด้านการพูดและฟังทำให้ต้องใช้ “ภาษากาย” ในการสื่อสารมากกว่าคนทั่วไป เมื่อลองเล่นละครใบ้ เธอจึงแสดงท่าทางออกมาได้อย่างโดดเด่นจนสามารถเรียกเสียงหัวเราะชอบใจจากเด็กๆ จนกลายเป็น “ไอดอล” ที่มีคนรอชมการแสดงของเธออย่างใจจดใจจ่อทุกครั้ง
.
นับตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมา อุ๊จึงกลายเป็นนักแสดงละครใบ้หน้าขาวของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กที่ตระเวนแสดงให้ความรู้กับสังคมหลากหลายเวทีจนได้รับรางวัลเยาวสตรีดีเด่นปี 2552 และได้รับคัดเลือกทำโครงการเยาวสตรียุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปี 2554 รวมทั้งได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภานำความปลาบปลื้มใจมาให้ตนเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก
.
“ตอนไปเข้าค่ายเยาวสตรีสี่วัน พอครบวันสุดท้ายต้องแสดงละครต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ภา เนื้อหาเกี่ยวกับแรงงานเด็กที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ตอนจบในบทจะต้องให้พระองค์ภาขึ้นมาบนเวทีเพื่อทุบกำแพงพาเด็กหนี ตอนแรกทหารรักษาพระองค์บอกว่า ห้ามโดนตัวพระองค์ภานะ แต่พออุ๊ลงไปเชิญพระองค์ภาท่านจูงมืออุ๊ขึ้นมาบนเวทีเองเลย ทุกคนช็อคกันหมดเลย”
.
หลังจบการแสดงครั้งนั้นพระองค์ภาได้ทำการคัดเลือกตัวแทน 50 คนจาก 100 คน ให้มาทำโครงการต่อไป โดยคนที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกเรียกว่าพระสหาย\
.


.
ในเวลาต่อมา อุ๊ได้ขึ้นเวทีแสดงต่อหน้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ อีกครั้ง เมื่อพ่อแม่ได้รู้ข่าวอันน่าปลื้มใจนี้ถึงกับบอกว่า
ปกติพ่อจะชอบเรียกว่า ‘ลูกกรอกน้อย’ (พูดแล้วหัวเราะ) พ่อบอกว่า ไม่เคยคิดว่า ลูกกรอกน้อยจะได้เล่นต่อหน้าพระพักตร์ รู้สึกภูมิใจมาก จากเดิมเรามีปัญหาเรื่องการฟัง เลยไม่ค่อยกล้าพูด พอได้ไปทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง เริ่มเห็นตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่เพราะจะทำให้ตัวเองเก่งขึ้น
.
“เมื่อก่อนเวลาเจอคนล้อเลียนจะรู้สึกอาย น้อยใจ ทำไมต้องพูดแบบนี้ เจอเยอะมาก เราก็นั่งเสียใจอยู่คนเดียวเงียบๆ เพราะถึงจะไม่ได้ยินเสียงที่คนพูดล้อเลียน แต่เราดูท่าทางสายตาแล้วก็รู้ว่าเขาคิดยังไง แต่หลังจากได้เรียนรู้เข้าใจชีวิตมากขึ้นแล้ว เราก็เข้าใจว่าสังคมเป็นแบบนี้ ทุกวันนี้สิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ตอนนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ดีแล้ว รู้สึกมีความสุขมากขึ้น เวลาเล่นละครใบ้แล้วคนดูหัวเราะที่เราแสดง เราก็มีกำลังใจทำงานต่อไป”
.
ทัตติยา ลิขิตวงษ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวของอุ๊ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ให้ฟังว่า
เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จากตอนแรกไม่พูดกับใครเลย จนตอนนี้สามารถไปนำกิจกรรมข้างหน้าห้องประชุมกลุ่มใหญ่ได้ ข้อดีของอุ๊คือ เป็นคนมองโลกในแง่ดี ไม่เคยโกรธใคร ถ้ามีคนมาว่าก็เสียใจ น้ำตาซึม เวลาให้ทำงานอะไรที่เขาทำไม่เป็น เขาจะพยายามขวนขวายเรียนรู้ ไม่เคยปฏิเสธ จนตอนนี้เป็นไอดอลพี่ๆ ในด้านการทำงานหลายด้าน
.
แม้ครอบครัวจะยากจนข้นแค้นแต่ด้วยความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ อุ๊จึงเติบโตมาเป็นคนสู้ชีวิตและมองโลกในแง่ดีเสมอ ยามนึกถึงแม่ครั้งใด หญิงสาวยังคงสัมผัสได้ถึงไออุ่นจากความรักของแม่ไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าแม่จะลาจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม
.
ตอนเด็กไม่ค่อยมีเพื่อนอยากมาเล่นด้วย มีแต่พ่อแม่เป็นกำลังใจตลอด ท่านจะคอยให้กำลังใจว่า ‘อุ๊สามารถทำอะไรทุกอย่างได้นะลูก อย่ายอมแพ้’ เราโชคดีมีครอบครัวอบอุ่น ถึงเราจะยากจนแต่เราก็รักกัน
.
หลังจากพลิกปมด้อยจนกลายเป็นปมเด่น เรื่องราวของหญิงสาวตัวจิ๋วที่เคยเป็นตัวตลกของหมู่บ้านจึงได้รับการถ่ายทอดในมุมใหม่ เสียงหัวเราะล้อเลียนความบกพร่องทางร่างกายเปลี่ยนเป็นเสียงชื่นชมยินดีและอ้อมกอดความรักใคร่เอ็นดูแทน
.
ตอนนั้นกลับบ้านไปงานแต่งงานของพี่สาวคนโตในหมู่บ้าน เราแสดงมายากลให้คนที่มางานดู พอแสดงจบก็มีคนดูเข้ามากอดด้วยความชื่นชมจนน้ำตาซึมเลย ต่างจากเมื่อก่อนสายตาที่ทุกคนมองมามีแต่เห็นว่าอุ๊เป็นเด็กพิการตัวเล็กๆ หูก็ไม่ได้ยิน เหมือนเราเป็นคนทำอะไรไม่เป็นเลย แต่ตอนนี้สายตาที่ทุกคนมองมาเปลี่ยนไป เวลากลับไปหมู่บ้านคนเฒ่าคนแก่เห็นหน้าก็ดีใจเข้ามากอดมาให้พร
.
สุนีย์ สารมิตร หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของ มพด. เล่าถึงนิสัยใฝ่เรียนรู้ของเพื่อนร่วมงานตัวจิ๋วให้ฟังว่า
“ถ้าให้อุ๊ทำงานอะไร อุ๊จะไม่เคยพูดว่า ‘หนูทำไม่ได้ ไม่เอา’ บอกว่าอุ๊ทำนี่ให้หน่อย เขาจะบอกว่า ได้ค่ะ เขาจะตั้งใจทำ และถ้างานออกจากมือเขาจะประณีต ใส่ใจทุ่มเทคุณภาพมาก อย่างล่าสุด จากคนไม่เป็นคอมฯ เขาพยายามเรียนรู้ด้วยตนเองจนทำคอมฯ เก่งกว่าเราอีก เรียนรู้ระบบบัญชีให้กับแหล่งทุน สามารถทำรายงานการเงินยากๆ มีความพยายามศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีคำว่า ‘ไม่ได้’ จากปากอุ๊ ถ้ามอบหมายอะไรให้แล้ว อุ๊จะพยายามเต็มที่ ถ้าไม่รู้ก็จะหาความรู้ด้วยตนเองให้ได้”
.
สิ่งที่ทุกคนรอบข้างมองเห็นตรงกันคือ ในยามท้อใจอุ๊ไม่เคยโมโหโทษใครเลย สิ่งที่เห็นมีเพียงนั่งน้ำตาซึมแล้วให้กำลังใจตนเองอยู่เงียบๆ ก่อนจะลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่อีกครั้ง
“เวลาท้อใจเราจะได้กำลังใจจากพี่ๆ บอกตัวเองว่า สู้ๆ ค่อยๆ ทำไป เอาเท่าที่ตัวเองทำได้ตามศักยภาพตนเอง แม้ตัวเองมีร่างกายไม่เหมือนคนทั่วไป แต่ก็พยายามทำให้ได้ พยายามเรียนรู้ไป อยากให้คนอื่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายมีความพยายาม อย่าท้อ หาความสามารถของตนเองให้เจอ เรียนรู้ทุกอย่าง ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดแล้วจะประสบความสำเร็จในที่สุด”
.
ปัจจุบันสาวน้อยร่างจิ๋ววัยกว่าสามสิบปีความสูงเท่าเอวคนทั่วไปยังคงเป็นผู้นำกิจกรรมสันทนาการตามงานประชุมสัมมนา เล่นละครใบ้ รวมทั้งเดินสายทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานเด็กในชุมชนหลายแห่งของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างขยันขันแข็ง
เมื่อถามถึงคติประจำใจ สาวร่างจิ๋วบอกว่า “ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” เพราะเธอคือมดงานตัวจิ๋วของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กนั่นเอง
.

(ขอบคุณภาพและคลิปวีดีโอจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก)