8 ช่องทางความสุข

ร้านยิ้มสู้….คาเฟ่ของคนหัวใจไม่พิการ

บนถนนอรุณอมรินทร์ ซอย 39 มองจากถนนใหญ่เข้าไปด้านในไม่ถึง 20 เมตร จะเห็นคาเฟ่สองคูหาดีไซน์ทันสมัยตั้งอยู่ ก่อนเปิดประตูเข้าไปด้านในมีกระดาษเขียนว่า

  “กรุณาเลือกโต๊ะก่อนสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์”

พอเปิดประตูเข้าไป บรรยากาศร้านเงียบสงบ มีเสียงพูดคุยของลูกค้าเบาๆ แต่ไม่มีเสียง “สวัสดี” จากพนักงานเหมือนร้านอาหารทั่วไป    เราเดินไปเลือกโต๊ะที่ว่าง พร้อมดูหมายเลขโต๊ะก่อนเดินไปสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์ พนักงานสาวหน้าตาน่ารักสองคนยืนส่งยิ้มให้แต่ไกล แม้ไม่มีเสียงพูดเปล่งออกมา เราก็เข้าใจได้ถึงมิตรภาพที่พวกเธอมอบให้ พอถึงหน้าเคาน์เตอร์ สาวหน้าหวานส่งเมนูอาหารมาให้เลือก พร้อมกับหันหน้าจอคอมพิวเตอร์ในมุมที่เราสามารถมองเห็นพร้อมกัน บนหน้าจอปรากฎหมายเลขโต๊ะให้เลือกเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงแสดงรายการอาหารตามเมนู หญิงสาวแสดงท่าทางให้รู้ว่า ถ้าต้องการเมนูไหนให้ชี้นิ้วไปที่หน้าจอ และถ้าต้องการสั่งรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น เผ็ดมาก เผ็ดน้อย หวานมาก หวานน้อย ลูกค้าสามารถแสดงท่าทางต่างๆ หรือพูดช้าๆ ให้เธอลองอ่านปาก สาวน้อยก็จะพิมพ์ข้อความที่เข้าใจลงบนจอคอมพิวเตอร์ให้เราอ่าน ถ้าเข้าใจถูกต้องเราก็พยักหน้ารับ หรือหากยังเข้าใจไม่ตรงกัน เธอก็จะส่งกระดาษให้เขียนสิ่งที่ต้องการ

หลังจากสั่งอาหารเสร็จ ตัวเลขยอดเงินที่ต้องชำระจะปรากฎบนหน้าจอ เราหยิบเงินส่งให้ เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจสั่งอาหารในความเงียบแต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจระหว่างเรา แม้จะมีเพียงความเงียบ…แต่เรากลับสัมผัสได้ถึงความสุขของคนทำงานที่อบอวลอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ เพราะที่นี่ไม่ใช่คาเฟ่ธรรมดา แต่เป็น “ยิ้มสู้คาเฟ่” ที่มีคนพิการแตกต่างกันทางกาย ทว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขด้วยหัวใจไม่พิการ

 

ก้าวข้ามความพิการ

ภายในร้านยิ้มสู้คาเฟ่มีผู้พิการทางโสตประสาท ทำงาน 5 คน และผู้พิการขา 2 คน ผู้พิการทางโสตประสาทจะให้บริการที่เคาน์เตอร์เครื่องดื่มและห้องครัว ส่วนผู้พิการขาทำงานอยู่ในห้องครัวด้านหลัง เมื่ออาหารปรุงเสร็จพร้อมเสริฟ ผู้พิการจากห้องครัวจะทำหน้าที่เดินมาเสริฟที่โต๊ะลูกค้าด้วยตนเอง แม้ว่าบางคนจะพิการขา เดินลากเท้ากระโผลกกระเผลกมาเสริฟให้ลูกค้า แต่ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มบ่งบอกถึงความภูมิใจที่ได้แสดงศักยภาพที่เหลืออยู่ของตนเองให้คนทั่วไปได้เห็น ลูกค้าทุกคนต่างส่งยิ้มให้ด้วยความชื่นชม ไม่มีสายตาดูถูกหรือแสดงความสงสารความพิกลพิการของเธอแต่อย่างใด

เทวีเกศ จันทร์สะระ หญิงพิการขาซ้ายวัย 60 ปี เล่าถึงความสุขที่ได้ทำงานที่นี่ว่า

ทุกคนที่ก้าวขาเข้ามาที่นี่มีความตั้งใจมาอุดหนุนผู้พิการ คำพูดและสายตาจึงเป็นมิตร ไม่มีสายตาดูถูกดูแคลน ผู้พิการที่นี่จึงทำงานอย่างมีความสุข แต่ถ้าออกไปภายนอก เวลาเดินสวนกับคนหนึ่งร้อยคน มีเพียงสองคนเท่านั้นที่จะมองคนพิการด้วยสายตาเป็นมิตร ไม่ใช่คนแปลกประหลาด

เทวีเกศเล่าว่า เธอเกิดมาพร้อมกับร่างกายสมบูรณ์แต่ต้องสูญเสียขาซ้ายจากอุบัติเหตุรถยนต์ตั้งแต่อายุ 19 ปี แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับว่าต้องกลายเป็นคนพิการ แต่เธอก็สามารถผ่านช่วงเวลานั้นมาได้เพราะใจลุกขึ้นสู้และมองเห็นศักยภาพที่เหลืออยู่ของตนเอง

“ตอนเสียขาใหม่ๆ รู้สึกว่าชีวิตหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่เราผ่านตรงนั้นมาได้เพราะใจสู้ ในเมื่อเรายังมีความสามารถทำงานได้ เราก็ต้องลุกขึ้นมาทำงานเลี้ยงตัวเองให้ได้ การสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง แน่นอนว่า เราต้องสูญเสียความสามารถบางอย่างไป เช่น เราจะวิ่งหรือยกของหนักไม่ได้ เราต้องยอมรับตัวเองว่าอะไรที่เราทำไม่ได้ก่อน แล้วเราก็จะพบว่า ยังมีงานอีกหลายอย่างที่เราทำได้”

เราพิการแค่ขา แต่ตากับมือของเราไม่ได้พิการ มีอาชีพให้เลือกทำได้อีกเยอะแยะเลย คนพิการแขนขาสามารถเรียนเสริมสวย งานประดิษฐ์ประดอย งานฝีมือ งานเหล่านี้ใช้ฝีมือและสายตา ถ้าไม่ชอบทำงานแนวนี้ก็เรียนหนังสือให้สูงๆ แล้วไปทำงานบริษัทก็ได้ อย่าไปท้อ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ เราต้องสู้ เพราะเราต้องกินต้องใช้ ทุกย่างก้าวต้องใช้เงิน

หญิงพิการขาวัยหกสิบปีเล่าประสบการณ์ตรงหลังจากก้าวข้ามความพิการไปสู่การมองเห็นศักยภาพที่เหลืออยู่ และใช้ศักยภาพนั้นหาเงินเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างเย็บเสื้อผ้าฝีมือดีมาเกือบสี่สิบปีอย่างน่าภาคภูมิใจก่อนจะย้ายมาทำงานที่ร้านยิ้มสู้แห่งนี้ในตำแหน่งผู้ช่วยแม่ครัว โดยต้องทำงานร่วมกับพรปวีณ์ ปิติธันยาโรจน์ หรือแอน หญิงสาวพิการทางโสตประสาทวัย 32 ปี แม้ว่าคนหนึ่งจะพิการขา และอีกคนพิการหู แต่ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานร่วมกันในห้องครัวแต่อย่างใด เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างมองข้ามความพิกลพิการของกันและกัน ทั้งคู่จึงสามารถทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นด้วยหัวใจไม่พิการ

เวลาสื่อสารกับคนหูหนวกไม่ยากหรอกค่ะ เพราะเขาสามารถอ่านภาษาท่าทางหรืออ่านปากของเราได้ หรือถ้ายังไม่เข้าใจก็เขียนใส่กระดาษ น้องแอนเป็นเด็กรักเรียน ตอนนี้เรียนถึงปริญญาตรีแล้ว เราใช้ปากกาเขียนสื่อสารกันไปมาก็รู้เรื่องแล้วค่ะ ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย

ด้วยเพราะคนทั่วไปคุ้นชินกับการพูด เวลาเจอคนหูหนวกเป็นใบ้จึงรู้สึกอึดอัด แต่ถ้าเรามองข้าม “การพูด” และมองหาวิธีการสื่อสารทางอื่นแล้ว เราจะพบว่า การสื่อสารกับคนหูหนวกมีได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีการสังเกตท่าทาง อ่านปาก รวมไปถึงการเขียนหนังสือ ถ้าคนในสังคมเปิดใจให้กว้างมากเพียงพอ โดยพยายามใช้ช่องทางการสื่อสารเหล่านี้กับคนหูหนวก โอกาสที่คนหูหนวกจะได้ทำงานกับคนทั่วไปคงจะมีมากขึ้น และการมีเพื่อนร่วมงานเป็นคนหูหนวกก็คงจะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในสังคมไทย

 เวลาทำงาน เราก็ช่วยเหลือกัน แบ่งงานกันทำ งานไหนที่คนพิการทางขาอย่างเราทำไม่ได้ เราก็ให้คนที่พิการทางหูทำ อย่างงานถูพื้น เทขยะต้องก้มๆ เงยๆ ถือของหนัก คนพิการขาจะทำไม่ได้ เราก็ให้คนหูหนวกทำ ส่วนงานไหนพูดคุยกับลูกค้า คนหูหนวกทำไม่ได้ เราพูดได้ก็ช่วยคุยให้แทน ถ้าเราเข้าใจข้อจำกัดกันและกัน เราก็ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข

หญิงพิการขาสูงวัยบอกเล่าวิธีการทำงานแบบ “เติมเต็มส่วนที่ขาดหาย” ระหว่างผู้พิการให้ฟัง   คำพูดของเธอทำให้เกิดคำถามย้อนกลับมายังคนทั่วไปว่า ขนาดผู้พิการทางกายที่มีอวัยวะไม่ครบสมบูรณ์ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ดี แล้วทำไมคนปกติที่มีอวัยวะครบ 32 ประการจึงไม่เปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่บ้าง? ถ้าเราช่วยกันเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ สังคมไทยก็คงจะเห็นคนพิการ นั่งแบมือขอทานไปวันๆ ลดน้อยลง ดังเช่น ศ. ดร.วิริยะ งามศิริพงศ์พันธ์ แม้ตาจะมองไม่เห็นแต่ก็ทำงานมากมายเพื่อผู้พิการและเป็นผู้ก่อตั้งร้านยิ้มสู้แห่งนี้บอกว่า

 

 คนพิการไม่จำเป็นต้องมานั่งขอทาน เพราะเรายังมีความสามารถอีกหลายอย่างที่ไม่พิการ เราต้องเชื่อมั่นในความสามารถที่เหลืออยู่ตนเอง หาเรื่องท้าทายทำ เพราะความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของคุณออกมา ยิ่งถ้าคุณเอาจุดอ่อนมาเป็นจุดแข็งได้ อันนี้จะเป็นสุดยอดความสามารถของมนุษย์เลย

 

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

“ฝันอยากเปิดร้านอาหารเล็กๆ ค่ะ ชอบทำอาหาร จำสูตรจากแม่สอน และชอบดูคลิปสอนทำอาหาร พวกพิซซ่า กระเพาะปลา เรียนรู้ฝึกฝนด้วยตนเองอยู่เรื่อยๆ ก็พอทำได้ค่ะ”

 

แอน หญิงสาวพิการทางหูมาแต่กำเนิดบอกเล่าความฝันของเธอให้ฟังผ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ แม้บทสัมภาษณ์นี้จะเกิดขึ้นในความเงียบระหว่างเรา แต่เราก็สื่อสารกันได้ไม่ต่างกับคนปกติ ลายมือของแอนเรียบร้อยสวยงาม เพราะเธอเป็นคนใฝ่เรียนโดยไม่คิดว่าความพิการทางหูจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้แต่อย่างใด แม้ว่าบางสาขาวิชาที่อยากเรียนจะไม่เหมาะกับคนหูหนวก แต่เธอก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจเรียนปริญญาตรีในสาขาอื่นแทน ปัจจุบันแอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะมนุษย์นิเวศศาสตร์ เอกพัฒนามนุษย์กับครอบครัว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และทำงานที่นี่ควบคู่กันไปด้วย

สุจิรา ไชยสุริยงค์ หรือ มุก สาวน้อยหน้าหวานบาริสต้าและแคชเชียร์วัย 26 ปี เล่าเรื่องราวให้ฟังผ่าน ล่ามภาษามือ (video call center) ว่า เธอใฝ่ฝันอยากเป็นบาริสต้ามานานแล้ว แต่คนหูหนวกอย่างเธอหางานทำยากมาก ก่อนหน้านี้เธอทำงานที่แผนกจัดซื้อของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ไม่รู้สึกมีความสุขเท่ากับการได้ทำงานที่นี่

คนหูหนวกหางานทำยากค่ะ กว่าจะได้งานแต่ละงานต้องสมัครหลายแห่ง เมื่อก่อนเคยทำงานบริษัทอยู่ฝ่ายจัดซื้อรู้สึกเครียดมาก แต่พอมาทำงานที่นี่แล้วมีความสุขเพราะได้เดินไปเดินมา ได้พูดคุยกับลูกค้าที่เป็นคนหูดีผ่านภาษาท่าทาง ที่นี่ไม่มีใครดูถูกคนพิการเลย

 

ร้านยิ้มสู้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา โดย ศ. ดร. วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการซึ่งมีสำนักงานอยู่ชั้นบนอาคารหลังนี้ และมีพนักงาน video call center ล่ามภาษามือไว้ให้บริการคนหูหนวกสื่อสารกับคนทั่วไป ดร.วิริยะบอกถึงเป้าหมายของการเปิดร้านคาเฟ่แห่งนี้ว่า

 “คนพิการที่มาทำงานที่นี่ ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษา ขอเพียงแค่มีใจรักอยากทำงานร้านอาหารเท่านั้น เราไม่อยากให้เขาเป็นลูกจ้างไปตลอด แต่อยากให้เขาเป็นเจ้าของกิจการ ตอนนี้เราพยายามคุยกับสถานที่ราชการต่างๆ ว่า ถ้าหน่วยงานไหนไม่จ้างคนพิการตามโควต้า 100 คนต้องจ้างคนพิการ 1 คน เขาจะต้องหาพื้นที่ในหน่วยงานนั้นให้คนพิการไปเปิดร้านขายอาหารแทน เพราะคนพิการที่ผ่านการฝึกงานกับเราแล้วจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการตนเองบ้าง โดยมูลนิธิจะเป็นผู้ลงทุนให้ก่อน และถ้าคนพิการทำได้เองเมื่อไหร่ เราก็จะยกให้เขาเป็นเจ้าของกิจการไปเลย แล้วให้ผ่อนค่าอุปกรณ์คืนให้เรา ถ้าเขายังทำเองไม่ได้ก็จ้างให้เป็นพนักงานกินเงินเดือนแทน เราพยายามปลูกฝังให้เขาเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ ขอให้ขยันฝึก ขยันเรียนรู้เท่านั้นเอง”

 

ปัจจุบันคนพิการในประเทศไทยที่อยู่ในวัยทำงานมีทั้งหมดประมาณ 7 แสนคนและยังมีศักยภาพที่ความสามารถทำงานได้ประมาณ 4 แสนคน ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนมีความพิการซ้ำซ้อนซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ดร. วิริยะเชื่อว่า หากสังคมไทยมองข้ามความบกพร่องของผู้พิการสู่การเติมเต็มความแตกต่างแล้ว คนพิการจะสามารถทำงานได้มากกว่าอาชีพขอทานอย่างแน่นอน

 เราอยู่ในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าคนพิการมีความสามารถมากกว่านั่งขอทาน เราก็ต้องต่อสู้มากหน่อย ในเมื่อเขาไม่เชื่อว่าเรามีความสามารถ เราก็ต้องท่องว่าเราทำได้ แล้วเราก็ต้องหาเรื่องที่ท้าทายทำ อาชีพเปิดร้านอาหารแบบนี้ก็เป็นอาชีพที่ท้าทาย เพราะฉะนั้น ถ้าคนพิการ ทำเองกันได้เยอะๆ คนก็เห็นกันแพร่หลาย ความเชื่อมั่นในเรื่องคนพิการก็จะกลับมา

สิ่งสำคัญที่ ดร. วิริยะ พยายามบอกกับผู้พิการทุกคนมาโดยตลอด คือ ผู้พิการต้องเลิกมองเห็นจุดดำบนผ้าขาว หรือมองเห็นความพิการเป็นอุปสรรคของชีวิต แต่ควรใช้ความพิการเป็นจุดแข็ง พิสูจน์ให้คนในสังคมไทยรู้ว่า คนพิการยังมีคุณค่าอีกหลายด้าน และอยากเปลี่ยนทัศนคติของสังคมไทยให้เลิกมองคนพิการด้วยสายตาสงสาร เพราะความสงสารไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับชีวิตผู้พิการมากเท่ากับการให้กำลังใจผู้พิการให้ลุกขึ้นมาท้าทายความสามารถของตนเอง

ลองคิดดูว่า ถ้าคนพิการจบปริญญาตรีได้เงินเดือนหมื่นห้า มาเจอเพื่อนนั่งขอทานได้เงินวันละสองพันหรือเดือนละหกหมื่น เขาก็คงอยากลาออกจากงานประจำมานั่งขอทาน เพราะได้เงินเดือนเยอะกว่า นั่นเป็นเพราะสังคมไทยมองเห็นคนพิการต้องแบมือรับอย่างเดียว คนพิการจึงไม่อยากลุกขึ้นมาทำงานที่ท้าทายความพิการและมองเห็นศักยภาพที่เหลืออยู่ของตนเอง ถ้าสังคมไทยอยากให้คนพิการก้าวข้ามความพิการให้ได้ ต้องหันมาเปิดโอกาสให้ขอทานได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรีแทน

 

ผู้ให้และผู้รับ

“ตอนผมตาบอดใหม่ๆ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนคนตาบอดกรุงเทพบอกว่า ‘คนตาบอดก็ให้คนอื่นได้’ ผมเถียงเลยว่า ขนาดตัวเองยังช่วยตัวเองไม่รอด แล้วจะไปช่วยคนอื่นได้ยังไง ท่านถามผมกลับว่า ‘คุณยิ้มเป็นหรือเปล่า ถ้ายิ้มเป็นก็ยิ้ม’ เพราะการยิ้มอย่างมีความสุขของคนตาบอดช่วยให้คนเลิกคิดฆ่าตัวตายกันมาเยอะแล้ว มิสเจนีวีฟบอกว่า มีคนจำนวนมากที่คิดอยากฆ่าตัวตาย แล้วแวะมาทำบุญที่โรงเรียนคนตาบอดก่อนฆ่าตัวตาย พอเห็นคนตาบอดยิ้มอย่างมีความสุข เขาก็ฉุกคิดได้ว่า ขนาดคนตาบอดที่เราคิดมาช่วยเขา เขายังยิ้มอย่างมีความสุข แล้วเราจะคิดฆ่าตัวตายทำไม ตัวผมเองก็เคยเจอหลายคนที่สารภาพกับผมโดยตรงว่า เขาเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่พอได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับคนพิการแล้วเห็นพวกเรายังยิ้มแย้มแจ่มใส เขาเลยล้มเลิกความคิดฆ่าตัวตาย”

สิ่งสำคัญที่คนพิการต้องยอมรับคือ ข้อจำกัดในตนเอง หลังจากนั้นทุกคนก็จะรู้ว่า แท้จริงแล้ว ความพิการเป็นเพียงแค่บางส่วนของร่างกายเท่านั้น หลังจากก้าวข้ามภูเขาในใจของตนเองแล้ว ทุกคนก็จะเดินลงสู่อีกฟากหนึ่งของภูเขาด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถที่เหลืออยู่ของตนเองและใช้ชีวิตเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับได้เหมือนคนทั่วไปได้เช่นกัน

เราต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นในหลายเรื่องที่เราทำไม่ได้ เช่น ผมอ่านหนังสือไม่ได้ก็ต้องมีอาสาสมัครมาช่วยอ่าน แต่เราก็สามารถเป็นผู้ให้คนอื่นได้ด้วย มิสเจเนวิฟถามพวกเราคนตาบอดว่า ‘พวกเรามีเลือดไหม ถ้ามีก็ไปบริจาคเลือดสิ’ แล้วท่านยังบอกว่า ถ้าคุณคิดจะเป็นผู้ให้ คุณยังมีอะไรอีกมากมายที่ให้คนอื่นได้อีกเยอะแยะ เช่น คุณพูดจาให้กำลังใจคนอื่นก็ได้ คุณยิ้มแย้มให้คนอื่นได้ เวลาใครทำอะไรให้คุณ คุณรู้จักขอบคุณก็เป็นผู้ให้ ท่านบอกว่า ทุกอย่างอยู่ที่ใจของเราว่าอยากเป็นผู้ให้หรือเปล่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พอถึงวันที่ 12 สิงหา หรือ 5 ธันวา ผมและคนพิการจะไปร่วมกันบริจาคโลหิตเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนพิการก็เป็นผู้ให้คนอื่นได้เหมือนกัน

………………………………………………..

ตกเย็นวันนั้น เราเดินออกจากร้านยิ้มสู้เหมือนเพิ่งออกจากดินแดนแห่งความฝันของผู้พิการ เพราะที่นี่ไม่มีใครมองเห็นผู้พิการเป็นผู้ด้อยโอกาส….และไม่มีผู้พิการคนไหนมองเห็น “ความด้อยโอกาสของตนเอง”….ผู้พิการทุกคนที่ร้านยิ้มสู้แห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ความพิการทางกายเป็นเพียงแค่ “ความบกพร่องของอวัยวะบางอย่าง” เท่านั้น หากเรามองข้ามความพิการทางกาย และสื่อสารกันด้วย “หัวใจไม่พิการ” เราทุกคนก็จะมีรอยยิ้มแห่งความสุขเท่าเทียมกัน

 

 

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save