เปิดใจใสๆ กับวิชา ‘ความสุข’
‘ชีวิต คือ การเรียนรู้’ เป็นวลีฮิตที่เราได้ยินกันบ่อยมาก ซึ่งถ้าไม่นับการเรียนวิชาการในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่หลายคนรู้สึกแสนจะหนักและเหน็ดเหนื่อย ลองย้อนกลับไปดู ‘วิชาชีวิต’ ที่เราได้เรียนรู้จากโลกนอกห้องเรียนอันกว้างใหญ่กันบ้างดีกว่า ประสบการณ์ชีวิตครั้งไหนที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความสุขที่แท้จริงบ้าง?
ถ้ายังนึกไม่ออก….ขอให้ลองกลับไปนึกถึงครั้งที่คุณได้มีโอกาสเป็น ‘ผู้ให้’
เพราะนั่นคือบทเรียนสำคัญที่สุดบทหนึ่งของการเรียนรู้วิชา ‘ความสุข’ ที่แท้จริง…
วันนี้ความสุขประเทศไทย ชวนคุณมาเปิดใจใส ๆ เรียนรู้ความสุขจากการเป็นผู้ให้กับ ผศ.ดร.จงดี โตอิ้ม อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย ม.มหิดล ในฐานะตัวแทนงานกิจการนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัล The Giver สาขาความสุขจากการศึกษาเรียนรู้ โครงการ Mahidol Day of Service ปีที่ผ่านมา
‘การเรียนทำให้เรามีงานทำ แต่กิจกรรมจะทำให้เราทำงานเป็น’ คือแนวคิดหลักที่ทำให้เกิดการจัดกิจกรรม Cultural Trip ของกลุ่มคณาจารย์ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติจาก 7 ประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่บัณฑิตศึกษา ม.มหิดล จำนวนกว่า 60 คน ซึ่งโดยปกติแล้วการจัดกิจกรรม Cultural Trip จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษา ได้ใช้เวลา 2 วัน 1 คืนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรม สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบัณฑิตต่างชาติและบัณฑิตไทยเท่านั้น
แต่สำหรับปี 2559 เนื่องจากกิจกรรม Cultural Trip จัดตรงกับวันมหิดล อ.จงดี และทีม จึงได้ตกลงที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมห้สอดคล้องกับโครงการ Mahidol Day of Service โดยนอกจากจะเรียนรู้เรื่องภาษาและวัฒนธรรมแล้ว ยังใช้โอกาสนี้ให้ทุกคนได้เรียนรู้ ‘ความสุขจากการเป็นผู้ให้‘ ผ่านการทำงานจิตอาสาอีกด้วย
“พวกเราไปกันที่หมู่บ้านห้วยผาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี กิจกรรมหลัก ๆ คือการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน ร่วมกันทำลูกกระสุนกล้าไม้และลูกกระสุน EM กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ เรียนรู้กระบวนการทำวิจัยท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งแม้เขาอาจจะไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่สิ่งที่เขาทำคือการวิจัยด้วยการทำงานกับชุมชนจริงๆ เราจะเห็นมิติของคนที่ทำงานสิ่งแวดล้อมเพื่อดูแลชุมชนของเขาเองจริง ๆ” อ.จงดี เล่าถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นใน Cultural Trip
การปั้นลูกกระสุน EM และการยิงลูกกระสุนกล้าไม้ด้วยหนังสติ๊ก ทำให้นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ทุกคนได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติของน้ำและป่าไม้ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและฟื้นฟูธรรมชาติด้วยวิธีธรรมชาติ นอกจากนี้ในกิจกรรมยังมีการนำสิ่งของไปให้กับเด็ก ๆ ทั้งสมุด หนังสือ เครื่องเขียน และขนมอร่อย ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ถึงความสุขจากการแบ่งปัน
“กิจกรรมทุกอย่างถ้าเราเปิดใจใสๆ ที่จะค้นหา เรียนรู้และอยู่กับมัน เราจะรู้สึกเลยว่าทุกเรื่องที่อยู่รอบตัว เราเรียนรู้ สนุก และมีความสุขกับมันได้….โดยเฉพาะกับการให้ ลองเรียนรู้กันดูค่ะ ง่าย ๆ เลยคือลองย้อนกลับมาดูว่า เวลาเราได้ให้แล้วเรารู้สึกอย่างไร อย่างครั้งนี้เราให้ขนมเด็ก ปรากฏว่าเด็ก ๆ เขาดีใจมาก พอเราเห็นรอยยิ้มของเด็ก สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราได้กลับมาคือเราอิ่มใจและสบายใจมากๆ ตอนนั้นเองที่เราได้เรียนรู้ว่า การให้ไม่ว่าเล็กแค่ไหนก็มีคุณค่ายิ่งใหญ่เสมอ” อ.จงดี เล่าถึงความสุขที่เกิดจากการเรียนรู้ในกิจกรรม
สำหรับโดยส่วนตัว อ.จงดี เองนั้น ตั้งแต่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก จนกระทั่งมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันมหิดลของทุกปี อาจารย์จะต้องหาโอกาสไปวางพวงมาลาถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ไม่เคยขาด แต่สำหรับปีนี้ การมาร่วมกิจกรรม Cultural Trip ทำให้ไม่สามารถไปวางพวงมาลาได้ แต่ อ.จงดี ก็ไม่นึกเสียใจ เพราะได้ทำสิ่งดี ๆ เพื่อผู้อื่นเป็นการทดแทน
“การวางพวงมาลากับการมาร่วมกิจกรรมก็เป็นสิ่งที่เรารักทั้งคู่ ปีนี้เราก็พูดกับตัวเองว่า เราไม่ได้ไปวางพวงมาลา แต่เราได้มาทำอะไรที่ดีๆ ในวันมหิดลแทน เช้าวันที่ทำกิจกรรมก็ยังได้ตั้งจิตนึกถึงท่านว่า วันนี้ไม่ได้ไปวางพวงมาลานะคะ แต่ว่ามาทำกิจกรรมนี้ จะขอทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ให้ท่านเป็นกำลังใจให้เรา”
และเมื่อ ‘ชีวิต คือ การเรียนรู้’ แน่นอนว่าความสุขจากการให้ ก็คงไม่ได้จบลงเพียงแค่วันมหิดลแค่วันเดียว สำหรับ อ.จงดี แล้ว ทุกวันเป็นวันมหิดล และทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวมหิดลหรือไม่ ก็สามารถเรียนรู้ความสุขจากการเป็นผู้ให้ได้ในทุกวันของชีวิต
“ไม่มีการให้ครั้งไหนที่ไม่มีคุณค่า มันจะมีคุณค่าเสมอ ก็อยากจะชวนว่าไม่ว่าจะเป็นวันไหน ๆ ถ้าเรามีโอกาสที่จะได้ให้กับใคร ลองให้แล้วเปิดใจเรียนรู้กับมัน เราจะพบว่าการให้แต่ละครั้งมันวิเศษ เติมเต็มชีวิตเรา ให้เรายิ้มได้ ให้เรามีความสุขในทุก ๆ ครั้งที่เราได้ให้กับคนอื่น…อาจจะทำอะไรก็ได้ที่เล็ก ๆ ไม่ต้องใหญ่โตนัก แต่ว่ามีคุณค่าและมีความหมาย เท่านี้เราก็จะเป็นผู้ให้ที่ดีได้ในทุก ๆ วัน”
และนี่คือความลับของ ‘วิชาความสุข’ ที่เราทุกคนล้วนเป็นทั้งผู้สอนและผู้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง วิชานี้ยังเป็นวิชาที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก เพราะเราจะพบว่ายิ่งใช้เวลากับมันมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีวันจบหรือเบื่อหน่ายเลย….
**โครงการ Mahidol Day of Service เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลและธนาคารจิตอาสา ภายใต้โครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. รายละเอียดwww.mahidol.ac.th/dayofservice **