8 ช่องทางความสุข

ยางยืดเปลี่ยนชีวิต

 

Y1

 ว่ากันว่าคนเราทุกคนจะต้องมี จุดเปลี่ยนและเมื่อถึงจุดนั้น ก็อาจนำพาชีวิตของเราให้เปลี่ยนไปตลอดกาล…..

ดร.เมธี ธรรมวัฒนา หรือ อาจารย์เม เป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่ทำงานหาเงิน ซื้อของแพงๆ  ไปเที่ยวต่างประเทศ ชีวิตประจำวันคือการดูซีรี่ย์ เขี่ยมือถือ ถ่ายรูปอาหารโชว์ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนทำไปเพื่อตัวเอง จนเมื่อได้พบจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง ที่ส่งผลให้ชีวิตพลิกผันไปอีกด้านอย่างสิ้นเชิง

จุดเปลี่ยนที่ 1

จุดเปลี่ยนครั้งแรกในชีวิตของอาจารย์เม มาพร้อมกับอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 วันหนึ่งขณะที่ปั่นจักรยานลุยน้ำออกมาเพื่อหาอาหาร ก็มีรถกระบะคันหนึ่งขับมาปาดหน้า พอรถจอดปุ๊บ คนขับก็โดดลงมาจากรถพร้อมกับข้าวเหนียวหมูทอด 2 ห่อยื่นให้พร้อมกับบอกว่า “พี่เอาไปกินให้อิ่มนะ” วินาทีนั้นเองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้อาจารย์เมหันมาฉุกคิดมองคุณค่าของชีวิตในแง่มุมใหม่

“เวลานั้นของกินหายากมาก คิดว่าเขาเองก็คงจะโดนน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ก็ยังมีใจที่คิดจะแบ่งปันให้คนอื่น ผมเลยมาคิดว่าตัวเราเองก็น่าจะช่วยคนอื่นได้เหมือนกัน แล้วทำไมไม่ไปช่วย หลังจากนั้นก็เริ่มออกไปช่วยผู้ประสบภัยตามศูนย์ต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นเลยที่ทำให้กลับมามองว่าตัวเรามีประโยชน์นะ” อาจารย์เมเล่าถึงจุดเปลี่ยนแรกของชีวิต

Y5

จุดเปลี่ยนที่ 2

แม้วิกฤติน้ำท่วมจะผ่านไปแล้ว แต่อาจารย์เมก็ยังคงเดินหน้าทำงานจิตอาสาต่อไป ต้นปี 2556 อาจารย์เมได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมเป็นจิตอาสาในงานวันเด็กของกลุ่มโรงบ่มอารมณ์สุข ในช่วงท้ายกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรมได้ให้จิตอาสาสะท้อนถึงความรู้สึกและสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรม

“ตัวผมเองตอนนั้นมองว่า เวลามาทำกิจกรรมอย่างนี้ พี่ที่เป็นผู้จัดกิจกรรมเขาเหมือนเป็นดวงอาทิตย์ที่จิตอาสาทุกคนมาโคจรอยู่รอบๆ แล้วแบ่งปันความสุขจากเขาไป ผมก็เลยคิดว่า ผมน่าจะเป็นผู้จัดเหมือนพี่เขาได้นะ ตอนนั้นผมก็เลยตอบไปว่า ผมอยากเป็นผู้จัดกิจกรรมจิตอาสา”

ตั้งแต่วินาทีนั้น พระอาทิตย์แห่งความสุขดวงใหม่ก็เริ่มส่องแสง…..

จุดเปลี่ยนที่ 3

หลังจากนั้น อาจารย์เมก็เริ่มค้นหาความถนัดของตัวเอง ในตอนนั้น อาจารย์เมได้เจอคลิปวิดีโอที่มีการนำยางยืดแบบเดียวกับที่ใช้รัดถุงข้าวแกงมาถักเป็นเส้นยาว นำไปมอบให้คนชราเพื่อใช้ออกกำลังกาย จึงเกิดความคิดนำมาประยุกต์ลองถักยางยืดในรูปแบบของตัวเองดูบ้าง โดยเริ่มต้นลองถักแบบสั้นๆ ง่ายๆ แล้วทดลองนำไปแจกผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ปรากฎว่าได้เสียงตอบรับดีมาก จึงขยายต่อด้วยการถักไปแจกผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ และนั่นจึงนำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งที่ 3 ในชีวิต

“ระหว่างที่แจกยางยืดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ก็มีคุณหมอเข้ามาต่อว่าเรา” อาจารย์เมเล่า “เขาบอกว่าเราไม่สามารถที่จะแจกยางยืดธรรมดาให้กับผู้ป่วยทุกคนได้ เพราะผู้ป่วยอาจจะบาดเจ็บจากการใช้ยางยืดออกกำลังกายของเรา วันนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนเลยนะ รู้สึกว่าทำความดีแล้วทำไมต้องถูกว่าด้วย แต่พอได้สติก็ได้คิดว่า ถ้าผู้ป่วยเขาบาดเจ็บเพราะยางยืดเรา เราก็อาจจะบาปก็ได้นะ ก็เลยเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลชลบุรี คุณหมอก็ให้โจทย์เป็นอาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกที่แขนมักจะตกมา เราเอาโจทย์นั้นมาคิดทำเป็นยางยืดเพิ่มแรงหนืด ทำเสร็จเอาไปให้คุณหมอดู คุณหมอก็บอกว่าดีมาก ใช้กับคนไข้ได้ ตอนนั้นเองที่ทำให้เราได้ค้นพบว่าตัวเรามีศักยภาพ มีความสามารถมากกว่าที่เราคิด

หลังจากวันนั้น อาจารย์เมก็เริ่มมองหาโจทย์ใหม่ๆ จากปัญหาของผู้ป่วยและคนรอบตัว นำมาคิดสร้างสรรค์เป็นยางยืดออกกำลังกายรูปแบบใหม่ๆ มากกว่า 30 รูปแบบ ริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม ยางยืดเปลี่ยนชีวิตเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาเป็นจิตอาสา ช่วยกันทำยางยืดรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปมอบให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และเด็กพิการทางสายตาได้ใช้ออกกำลังกาย นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 1 ปี แจกยางยืดไปทั้งหมดแล้วกว่า 5,000 ชิ้น

Y9

ชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล

ดร.เมธี ธรรมวัฒนา นับเป็นแบบอย่างที่ดีการเปลี่ยนชีวิตอันเริ่มต้นจากการมีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งหมายถึงความเข้าใจและการมองเห็นความสุขที่แท้จริงของชีวิต นั่นคือความสุขที่เกิดจากความพอเพียงและการให้ จากนั้นจึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของตัวเองด้วยความพากเพียรและอุตสาหะ แม้จะเผชิญกับความยากลำบากและอุปสรรคก็ไม่ท้อ

“เคยมีครั้งหนึ่งไปออกค่ายอาสาแจกยางยืดที่จังหวัดระยอง พอกลับมาบ้านปรากฎว่าโดนยกเค้าหมดบ้านเลย ของทุกอย่างที่เราสะสมมาหายหมดไปในพริบตา แม่ผมบอกว่าเห็นไหมทำดีแล้วไม่เห็นได้ดีเลย แต่ผมก็บอกแม่ไปว่า ถึงวันนี้ไม่ดี วันหนึ่งมันก็จะดี สิ่งที่โจรเอาไปมันแค่สิ่งเล็กน้อย สิ่งที่ใครก็ขโมยไปไม่ได้คือสมองของผมที่จะสร้างสิ่งใหม่ที่ดีงาม มีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่ถูกขโมยไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า”

วันนี้สิ่งที่อาจารย์เมคิดและทำ ยังได้ส่งต่อสู่ครอบครัวและสังคม หลายคนได้แรงบันดาลใจ เปลี่ยนชีวิตมาเป็นผู้ให้จากกิจกรรมยางยืด  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือคุณแม่ของอาจารย์เม ที่เคยคัดค้านสิ่งที่ลูกชายทำ เพราะความเป็นห่วงอนาคต อยากให้ลูกเก็บเงินไว้สร้างเนื้อสร้างตัวมากกว่าที่จะมาใช้ในกิจกรรมจิตอาสาแบบนี้ อาจารย์เมจึงพาคุณแม่ไปถวายยางยืดให้กับพระที่โรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อคุณแม่ได้เห็นประโยชน์ของยางยืดที่มีต่อพระที่กำลังอาพาธ ก็ทำให้เปลี่ยนมุมมองและแนวคิด จากที่เคยคัดค้าน กลับมาเป็นผู้ช่วยถักยางยืดอย่างแข็งขัน นำไปแจกทุกคนในหมู่บ้าน กลายเป็นผู้ที่มองเห็นความสุขจากการได้ ‘ให้’ ไปในทันที

y10

ผมอยากฝากบอกทุกคนว่า ถ้าเชื่อว่าสิ่งที่คุณทำเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ทำต่อไปเถอะ วันหนึ่งมันจะพิสูจน์เอง อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือหลายปีก็ได้ แต่ถ้าคุณยังไม่ท้อ สักวันมันจะงอกเงยมาเป็นสิ่งที่ดีงามให้คุณได้ภาคภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง”  อาจารย์เมกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณภาพและข้อมูล: ธนาคารจิตอาสา

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save