8 ช่องทางความสุข

สบตากับความตาย มองหาความหมายของชีวิต

 

ความตาย

เมื่อเอ่ยถึง ความตาย‘ ปฏิกริยาของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อคำนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มที่ 1 ‘หวาดกลัว’ ความตายถือเป็นคำต้องห้าม เป็นลางร้าย จะนำความสูญเสียโชคร้ายมาสู่คนที่พูด

กลุ่มที่ 2  ‘ท้าทาย’  ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย เราจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ เพราะที่สุดแล้วก็ต้องตายอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีท่าทีกับความตายที่แตกต่างกัน แต่ทว่าสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดที่เหมือนกันของคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็คือ เกือบทุกคนต่าง ใช้ชีวิตราวกับว่าจะไม่มีวันตายหลายคนปล่อยให้ชีวิตเลื่อนไหลไปตามกระแสธารแห่งชีวิต โดยไม่มีสิ่งใดกำกับคล้ายเรือที่ไร้หางเสือ ขณะที่อีกหลายคนดำเนินชีวิตมุ่งไปข้างหน้าอย่างเร็วรี่ เพื่อแสวงหาทุกสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยเมื่อถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต กลับค้นพบว่าไม่เคยพบสิ่งที่ต้องการนั้นเลยแม้สักครั้งเดียว

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เครือข่ายพุทธิกาในฐานะองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร อันมีเป้าหมายคือการนำพุทธิธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีความหมายต่อสังคม เป็นองค์กรแรกๆ ในประเทศไทย ที่เริ่มต้นสื่อสารเรื่องของความตายให้กับคนในสังคมด้วยแนวคิดมิติใหม่ ผ่านการดำเนินงานโครงการ เผชิญความตายอย่างสงบเป็นการหยิบเอาความตายมาเป็นเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาชีวิต บนความเชื่อว่าในหนึ่งชีวิตที่เราจะต้องเผชิญหน้ากับความตาย อันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่แท้นั้น เราควรจะน้อมรับความตายอย่างสงบและมีสติ เพื่อไปสู่ภพภูมิที่ดีต่อไป สิ่งสำคัญยิ่งยวดที่เราจะไปถึงความตายอย่างสงบได้นั้น  เราควรจะย้อนกลับมาทบทวนความคิดเรื่องความตายเสียใหม่ว่า ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ในทางกลับกัน ความตายเปรียบได้ดังครูที่เคี่ยวเข็ญ คอยนำทางชีวิตเราให้ก้าวไปสู่เส้นทางของความสุขทางปัญญาที่แท้จริง หากเปลี่ยนแนวคิดเรื่องความตายได้ เราจะเปลี่ยนการดำเนินชีวิตได้ทั้งชีวิต

peacful death3

ปัจจุบันการสื่อสารเรื่องความตายถูกขยายต่อไปในหลายช่องทาง แม้กระทั่งในสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ ก็มีการนำแนวคิดเรื่องของความตายไปตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้คนได้ย้อนหันกลับมาระลึกถึงความตายในรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ของไทยอย่าง ‘ฟรีแลนซ์ : ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ในช่วงท้ายของเรื่อง ตัวละครเอก ‘ยุ่น’ ได้มีโอกาสซ้อมใหญ่รับมือกับความตาย ทำให้เขาได้รู้ว่า แม้จะเคยจินตนาการถึงความตายและงานศพของตัวเองมาหลายครั้ง แต่พอถึงเวลาที่คิดว่าจะต้องตายจริงๆ ก็พบว่ายังมีอีกหลายอย่างในชีวิตที่ยังไม่ได้ทำ และเขายัง ‘ไม่พร้อม’ ที่จะตาย

ประเทศใกล้ๆ อย่างประเทศญี่ปุ่น มีการ์ตูนขายดีที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘อิคิงามิ : สาส์นสั่งตาย’ เนื้อเรื่องเป็นการสมมติสถานการณ์ว่า เด็กชั้นประถมหนึ่งทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนพิเศษตัวหนึ่ง ซึ่ง 1 ใน 1,000 คนจะมีสารนาโนทางพันธุกรรมที่จะไปออกฤทธิ์หยุดการทำงานของหัวใจในช่วงที่พวกเขาอายุ 18-24 ปี โดยที่เด็กแต่ละคนจะไม่มีทางรู้ตัวว่าได้รับสารนั้นหรือไม่ จนกว่าจะได้รับจดหมายแจ้ง ซึ่งจะบอกล่วงหน้าก่อนตายเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ความสนุกของเรื่องอยู่ที่เมื่อตัวละครแต่ละตัวได้รู้ว่าเวลาในชีวิตเหลืออีกเพียง 24 ชั่วโมง พวกเขาจะเลือกใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายนี้อย่างไร?

ข้ามฟากไปทางตะวันตก ‘Self / less’ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่นำเอาความตายมาจุดประเด็น เนื้อเรื่องพูดถึง ‘เดเมียน’ เศรษฐีชราที่กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง เขาพยายามเอาชนะความตายด้วยกระบวนการย้ายจิตวิญญาณมาอยู่ในร่างกายใหม่ที่หนุ่มกว่า กระบวนการสำเร็จด้วยดี แต่เขากลับพบว่าร่างใหม่ที่เขากำลังใช้ คือชายหนุ่มที่ยินยอมขายร่างกายเพื่อช่วยเหลือชีวิตลูกสาวที่กำลังป่วยหนัก เดเมียนได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญของชีวิตคือการปล่อยวาง การน้อมรับความตายอย่างเต็มใจ เพื่อมอบโอกาสให้ชายอีกคนได้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าต่อไป

ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่อง แม้ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา แต่เป้าหมายสำคัญคือการใช้ความตายมาเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์หันกลับมาย้อนมองเรื่องของการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า ก่อนความตายมาเยือน คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร และเมื่อวินาทีแห่งความตายมาถึง คุณจะน้อมรับและปล่อยวางทุกอย่างในชีวิตอย่างสงบได้อย่างไร? สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงการบอกเล่า แต่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการฝึกลงมือปฏิบัติจากประสบการณ์จริง

peacful death4

แน่นอนที่ว่าความตายเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว ตายแล้วจะย้อนกลับมาตายอีกก็ไม่ได้ แต่เราสามารถซักซ้อมกระบวนการเตรียมตัวเผชิญความตายได้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ที่เรายังมีชีวิตอยู่ โดยปัจจุบันทางเครือข่ายพุทธิกา ได้เปิด คอร์สอบรม การเผชิญความตายอย่างสงบให้แก่บุคคลทั่วไป ได้เข้าไปทดลองเรียนรู้เรื่องความตายผ่านกระบวนการทดลองปฏิบัติที่หลากหลาย ทั้งนี้ไม่ว่าจุดประสงค์นั้นจะเป็นไปเพื่อการเตรียมตัวของเราเอง หรือเพื่อคนในครอบครัว ที่กำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายก็ตาม

การฝึกเผชิญหน้ากับความตายในระยะแรก  เราอาจได้ค้นพบกับความหวาดกลัวอย่างถึงขีดสุดที่ซ่อนอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ อาจต้องเผชิญกับความรู้สึกหดหู่ โศกเศร้า พลัดพราก สูญเสีย แต่เมื่อผู้เข้าอบรมได้ก้าวผ่านมรสุมของอารมณ์ในช่วงเวลานั้นไปได้แล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือ ความเบาสบาย การรู้จักปล่อยวาง ละตัวตน อัตตาที่เคยยึดมั่นถือมั่น จนสามารถกลับไปจัดการชีวิตที่เหลืออยู่ของตนเองได้อย่างมีคุณภาพ เปลี่ยนการดำเนินชีวิตที่เคยบิดเบี้ยว ร้อนรน ให้เป็นไปตามเส้นทางเรียบง่ายแห่งความสุขที่สงบ ร่มเย็น อันเกิดขึ้นจากปัญญาที่มีความตระหนักรู้ถึงความตายเป็นตัวกำกับในทุกช่วงขณะของชีวิต

การเรียนรู้จาก ความตายไม่จำเป็นต้องรอถึงวันที่เป็นผู้สูงอายุ หรือร่างกายเจ็บป่วยแก่ชรา แต่เราทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงที่แท้ คือความตายไม่เคยเลือกวัย หรือมาเคาะประตูบอกใครล่วงหน้าเลยแม้สักครั้งเดียว…..


 

ผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่อง ‘การเผชิญความตายอย่างสงบ’ สามารถติดตามรายละเอียดเพ่ิมเติมได้ที่ www.budnet.org/peacefuldeath

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา

การภาวนา

การศึกษาเรียนรู้

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save