8 ช่องทางความสุข

เรือจ้างที่มีความสุข

มันเป็นอาชีพที่แปลกมากเลย ผมเคยทำงานมาหลายๆ อย่าง แต่ผมไม่เคยเจอสิ่งนี้ในอาชีพอื่น มันใช้เวลาในชีวิตมากจริงๆ ใช้ความสามารถทุกอย่าง เหนื่อย เงินน้อย แต่ได้พลัง ในระยะหลังมานี้ผมรู้สึกจริงๆ ว่าอาชีพนี้มีบางสิ่งที่อาชีพอื่นไม่มี และหาสิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้

.

ครั้งหนึ่งมีการเปรียบเปรยว่า ครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง ที่ทำหน้าที่ส่งผู้โดยสารคนแล้วคนเล่าให้ถึงปลายทาง แล้วก็กลับมารับผู้โดยสารชุดใหม่ เป็นงานเหนื่อย หนัก ทั้งการแบกน้ำหนักของผู้โดยสาร และไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่า ในศตวรรษที่ 21พวกเราไม่ได้ใช้เรือโดยสารกันแล้ว ค่านิยมในการเป็นครูก็ลดน้อยถอยลงไปตามวันเวลา แต่ อาจารย์รุ่งโรจน์ สุวรรณสิชณน์ (อ.บิ๊ก) รองคณะบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า “การเป็นอาจารย์มีความสุขบางอย่าง ที่ไม่มีสิ่งใดทดแทนได้” — นั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ เลย

.

ตำรวจ สจ๊วต หนุ่มออฟฟิศ และเส้นทางของนักกฎหมาย

ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นตำรวจ แต่สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยไม่ได้ ช่วงเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเลยเคว้งนิดหน่อย แต่ก็เลือกเอาสิ่งที่ตอนนั้น ‘คิดว่าชอบ’ คือนิเทศน์ศาสตร์ การทำสื่อ ทำกราฟฟิค พอเรียนจบ ทำงานจริงๆ ก็พบว่าผมเบื่อชีวิตที่เป็น routine มาก ตื่นเช้าไปทำงาน พักเที่ยง เลิกงาน กลับบ้าน แล้วตื่นเช้าใหม่ สิ้นเดือนก็รับค่าตอบแทน ผมเบื่อมาก ก็เลยไปสอบเป็นสจ๊วตซึ่งได้เดินทาง ได้เจอคนที่หลากหลาย ทำงานเป็นกะ แล้วผมก็เบื่ออีก — วันหนึ่งผมนึกได้ว่า คุณอาเคยบอกว่าผมน่าจะเรียนนิติศาสตร์ ดูมันเหมาะกับผม ประกอบกับช่วงนั้นสถานการณ์ทางสังคมกำลังเข้มข้น มีประเด็นด้านกฎหมายที่ถกเถียงกันอยู่ ผมเองก็ติดตามข่าวเป็นระยะ เลยไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ชวนคุณพ่อไปเรียนด้วย) แล้วก็พบว่า โอ้ย ! ผมชอบมากๆ เลยตัดสินใจสอบเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (!!) สรุปว่าผมมีปริญญาตรี 3 ใบ คือ นิเทศน์ศาสตร์ และนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ นิติศาสตร์ รามคำแหง



เวลาเรียนกฎหมาย ผมชอบมากจริงๆ รู้สึกว่าเรื่องนี้ช่วยคนได้ ตอบโจทย์ทั้งปัญหาในเชิงสังคม และปัญหาส่วนบุคคล รู้สึกว่ามี passion ในการทำงานด้านกฎหมายมากๆ รู้สึกว่าเจอสิ่งที่ใช่ ไม่มีคำถามในการทำงานอีกเลย — เวลาที่อ่านกฎหมาย ผมนึกได้เป็นฉากๆ เลยว่า เขียนอย่างนี้แปลว่าอะไร ใช้ยังไง ผิดยังไงได้บ้าง — ซึ่งบางคนจะบอกว่าอ่านกฎหมายแล้วต้องจำเยอะมาก นึกไม่ออก ไม่เข้าใจ ซึ่งไม่ใช่ผม

พอเรียนจบปริญญาตรีทั้งสองใบ ก็เข้าทำงานในบริษัทชั้นนำด้านกฎหมาย เป็นบริษัทจากต่างประเทศ มั่นคงมาก มีชื่อเสียง ตอนนั้นรู้สึกว่าเจอสิ่งที่ชอบแล้ว ก็เข้ากระบวนการสอบใบอนุญาตว่าความ (ตั๋วทนาย) เพื่อเตรียมตัวเป็นทนายความให้บริษัท พร้อมๆ กับเรียนปริญญาโทต่อด้วย กะว่าพอได้ใบอนุญาตฯ ก็ใกล้จบปริญญาโท แล้วก็จะเป็นทนายความในบริษัทนี้แหละ แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจลาออก


อ้าว !
ผมเผอิญรับรู้ว่าบริษัทฯมีแนวทางการทำงานที่ไม่ตรงกับความต้องการในใจของผม ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับผมเลย — แต่ผมไม่ชอบวิธีการทำงานบางอย่าง ผมไม่ได้เรียนกฎหมายเพื่อจะอยู่ในระบบแบบนี้ รู้สึกเซ็งๆ เลยลาออก กะว่าออกมาเรียนให้จบปริญญาโทก่อนแล้วค่อยคิด พอผมเรียนจบ สอบได้ใบอนุญาตว่าความ ก็เลยตัดสินใจบวชอยู่พักหนึ่งครับ


สู่เส้นทางอาจารย์มหาวิทยาลัย
อาจารย์บิ๊กเล่าว่าพอสึกออกมาก็รู้สึกว่าอยากทำงานงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งประจวบเหมาะกับที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประกาศรับสมัครพอดี


“เขาเปิดรับสมัครอาจารย์ทางกฎหมาย 1 อัตรา ผมก็สมัครโดยไม่ได้หวังผล ตอนนั้นผมอยากทำงานเพราะดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่น่าเชื่อว่าผมจะได้งานนั้น แต่ที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าคือผมอยู่ยาวมาจนวันนี้ ผมก็ไม่อยากเชื่อตัวเองเหมือนกัน !!” (ได้หัวเราะกันเกรียวกราว ทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์)


น่าสนใจมากค่ะ ! อาจารย์ต้องเล่าแล้วล่ะ เพราะอาจารย์มีความพร้อมที่จะเติบโตในเส้นทางนักกฎหมายมากๆ ทั้งการเป็นทนายความ หรือเป็นเจ้าหน้าที่กฎหมายในองค์กร หรือจะเข้าสู่เส้นทางอัยการ หรือผู้พิพากษาก็ได้
ผมสอบผ่านเนติบัณฑิตย์ไปครึ่งทางแล้วด้วย (นั่น!) แต่ผมชอบการเป็นทนายความ เลยไม่สอบเนฯ ต่อ และจริงๆ แล้วผมก็มีสำนักงานทนายความด้วยนะครับ แต่มันกลายเป็นการว่าความให้คนที่ขัดสนทางการเงินเท่านั้น การเป็นอาจารย์นี่นับว่า จับพลัดจับผลูอยู่ครับ (ฮา)

.

คนหนุ่มสาวปรึกษาอาจารย์เรื่องอะไรบ้างคะ
ส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรัก อกหัก เลิกกับแฟน เหงา เสียใจ รองลงมาคือปัญหาที่บ้าน บางทีรวมถึงเรื่องการเงินด้วย ขอยืมเงินผมไปจ่ายค่าลงทะเบียนก็มี หรือปัญหาแบบอยากดรอป ไม่อยากเรียนแล้ว


ช่วงที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งหนักๆ เคยมีนักศึกษาไลน์มาบอกผมว่า เขาจะไปชุมนุมและถ้าถูกจับขอให้ผมไปประกันตัวให้ด้วย — รักผมขนาดนี้เลย (ฮา)


ช่วงนั้นก็มีการคุย ขอคำปรึกษาเรื่องการชุมนุมทางการเมืองด้วย ซึ่งผมก็จะบอกพวกเขาเลยว่า แม้ว่าผมกับเขาจะรักใคร่สนิทสนมกันมาก แต่ความคิดทางการเมืองของเราอาจจะไม่เหมือนกัน บางเรื่องผมอาจจะเห็นด้วยกับเขา และบางเรื่องผมก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วย เราโตมาคนละอย่าง การหล่อหลอมต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกคือ ให้ระวังการใช้อารมณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะนักศึกษากฎหมาย เขาควรจะรู้ว่าอะไรควรและอะไรไม่ควร อะไรถูกกฎหมาย และอะไรผิดกฎหมาย


ผมชวนให้เขา (ลูกศิษย์) เห็นว่า หลายครั้งการเมืองเป็นเรื่องของความถูกใจ-ไม่ถูกใจ แต่กฎหมาย ไม่ใช่ — กฎหมายเป็นแกนของสังคมที่เราจะอยู่ร่วมกัน สังคมที่ไม่มีแกนจะทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ถูกใจเขาแต่ไม่ถูกใจผม ถูกใจกลุ่มเราแต่ไม่ถูกใจอีกกลุ่มหนึ่ง จะทำยังไง — ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย เขาเป็นนักศึกษากฎหมาย เราต้องดูกฎหมายถ้าฝ่ายนั้นทำผิดกฎหมาย ก็วิจารณ์ได้ บอกได้ว่าเขาทำผิดกฎหมาย หรือกฎหมายไม่ค่อยเหมาะกับยุคสมัย ก็ต้องบอกว่าควรจะแก้กฎหมาย — แต่มันไม่ใช่เพราะว่า เขาเป็นคนเลว เป็นคนไม่ดี — เพราะความดีและไม่ดี เป็นความรู้สึกส่วนตัว มีบางครั้งนักศึกษาก็อาจจะบอกว่าเขาทำเพราะเพื่อนทำ ซึ่งผมก็จะบอกว่า ไม่ได้ การชุมนุมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องการทำตามเพื่อน เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น เขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาตัดสินใจทำ


การสอนคนหนุ่มสาวต้องใช้สถานการณ์จริง บางครั้งผมหยิบบางกรณีของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาคุย อาจารย์ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยนี้ นักศึกษาคิดอย่างไร — เรื่องเหล่านี้เป็นการฝึกความคิดให้นักศึกษา ในห้องก็อาจจะไม่ได้เห็นเหมือนกันหมด จะได้ฝึกที่จะอยู่กับความขัดแย้ง ความเห็นที่ไม่เหมือนกัน แต่อยู่ในบรรยากาศของห้องเรียน — บางกรณีก็ได้คุยกันว่า เรื่องนี้ดูเหมือนรัฐจะไม่ถูกต้องจริงๆ นั่นแหละ แต่มีวิธีการไหนบ้างที่เราจะทำได้ ถ้าไม่ชุมนุม หรือการชุมนุมเป็นวิธีเดียวเลย ทำหนังสือร้องเรียนได้ไหม ยื่นหนังสือได้ไหม ฯลฯ หรือมีวิธีการชุมนุมวิธีเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ต้องรู้ด้วยนะว่ามันผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร — ผมไม่ห้ามแต่ชวนหาตัวเลือก และชวนดูความเสี่ยง — บาดเจ็บ ถูกจับ ถูกดำเนินคดี ฯลฯ ผมเคารพเขา อนาคตเป็นของพวกเขา และเขาควรได้เลือกเอง


นักศึกษาบางคนไปชุมนุมแล้วก็กลับมาเล่าให้ผมฟัง เขาเห็นอย่างนั้น เขาเห็นอย่างนี้ เขาคิดอะไร เกิดการเรียนรู้บางอย่างในตัวของเขา ในฐานะที่ผมเกิดก่อน ผมเห็นประวัติศาสตร์มากกว่าเขา


อาจารย์บางท่านห้าม บางครั้งถึงกับตะโกนด่านักศึกษา แต่ยุคนี้นะครับ ห้ามไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีเหตุผลที่ดีกว่า — บอกแต่ว่าอย่าไป ห้ามไป อย่าๆๆ ใช้อำนาจ ไม่ได้ผลหรอกครับ แต่ถ้าชวนกันคิด มีวิธีอื่นไหม เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอนาคตของเขาในมิติไหนบ้าง เขาต้องรับผิดชอบผลที่จะตามมาอย่างไร เขาจะเริ่มฟัง คิด และตัดสินใจด้วยตัวเอง


ความสุขจากการเป็นอาจารย์

มีช่วงหนึ่งที่ผมประสบปัญหาชีวิต ผมทุกข์ ผมเศร้าเยอะมาก แต่ทันทีที่ผมเข้าห้องเรียน จับไมค์เป็นอาจารย์บิ๊ก พลังของผมกลับมา ผมกลายเป็นอีกคน ความเศร้า ความเซ็งมันไม่มีเลยในตอนนั้น — ผมเคยทำงานหลายอย่าง เวลามีความทุกข์ขณะที่ทำงานเราก็ทุกข์นะครับ เศร้า เครียด ซึม แต่ในการเป็นอาจารย์ เวลาที่ผมจับไมค์เริ่มสอน ในห้องเรียนมีแต่ผมกับนักศึกษา เรื่องอื่นๆ อยู่ข้างนอก พลังของนักศึกษา ความใส ความสนุกของพวกเขาทำให้ผมมีพลังไปด้วย เขาไม่รู้หรอก และไม่ได้ตั้งใจด้วย แต่ผมได้รับพลังแบบนั้น และมันเยียวยาผมมาก ทำให้ผมยิ้มได้ หัวเราะได้ ใน 2- 3 ชั่วโมงนั้น ฟื้นพลังในตัวผม — รู้สึกว่า อืม..มันเป็นอาชีพที่แปลกมากเลย ผมไม่เคยเจอสิ่งนี้ในอาชีพอื่น ‘การเป็นอาจารย์ ทำให้ผมได้บางสิ่งที่อาชีพอื่นให้ผมไม่ได้’


การที่ผมได้เห็นนักศึกษาตั้งแต่ปีหนึ่ง เขามี culture shock เพราะระบบการเรียนไม่เหมือนมัธยม การอยู่ในเมืองใหญ่ บางคนรู้สึกขาดที่พึ่งแล้วผมช่วยเขาได้ เขารู้สึกว่าผมทำให้เขาสบายใจ เหล่านี้มีค่ามากสำหรับผมซึ่งผมไม่เคยได้จากงานอื่นๆ — ในมุมของเด็ก เวลาที่ทุกข์มันคงใหญ่สำหรับเขาจริงๆ เพราะเขามีประสบการณ์น้อยกว่า อายุน้อย และเมื่อผมให้คำปรึกษาได้ เป็นเพื่อนได้ เขารู้สึกว่ามีที่พึ่ง สิ่งนี้ยิ่งใหญ่สำหรับผม และสำคัญสำหรับเขา


เคยมีเคสที่นักศึกษาหญิง ผมเห็นเขามาตั้งแต่ปี 1 และตัดสินใจปลิดชีวิตตอนปี 3 เขาเป็นซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งผมมักจะบอกว่าเขามีคุณค่าสำหรับผมนะ ถ้าเขารู้สึกว่าไม่มีใครรักเลย ให้รู้ว่ามีผมซึ่งเป็นอาจารย์รักเขาและเห็นคุณค่าในตัวเขาเสมอ ถ้าจะตัดสินใจอะไรให้บอกผมก่อน นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเราช่วยชีวิตคนนี้ไว้ได้ในวันที่เขาตัดสินใจปลิดชีวิต ทุกวันนี้เขาเรียนจบแล้ว ใช้ชีวิตได้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกภูมิใจในอาชีพ สมกับความตั้งใจของผมที่จะไม่ใช้วิชาชีพเพื่อเพื่อตัวเองเท่านั้นแต่ผมอยากช่วยคน ผมไม่ได้เคยคิดเลยว่าการใช้ชีวิต คุยเล่นกับนักศึกษาของผมจะเซฟชีวิตคนไว้ได้ แต่มันช่วยได้จริงๆ น่าภูมิใจนะครับ


เมื่อไม่นานมานี้ มีบริษัทกฎหมายของต่างชาติแห่งหนึ่งติดต่อผมให้ไปทำงานด้วย ให้เงินเดือนเก้าหมื่นบาท — ค่าตอบแทนขนาดนี้ ทำให้ผมคิดเยอะแต่ในที่สุดก็บอกว่าผมจะไม่ลาออกจากการเป็นอาจารย์ ต่อมาบริษัทเสนอให้ผมทำงานกับเขาบางวันก็ได้ เขาจะจ่ายค่าตอบแทนรายวัน (วันละหลายพันบาท) ผมก็ลังเลอีก — ด้านหนึ่งบริษัทนี้ให้เกียรติผมมาก ผมลองจัดการเวลาต่างๆ แล้วก็พบว่า เป็นไปไม่ได้เลย ยากมาก การเป็นอาจารย์ใช้เวลาในชีวิตมากจริงๆ ในที่สุดผมก็ปฏิเสธทางนั้นไป ด้านหนึ่งก็เหมือนผมพลาด แต่อีกด้านผมรู้ว่า เงินซื้อความสุขจากสิ่งที่ผมทำอยู่ในตอนนี้ไม่ได้จริงๆ

.

การเป็นอาจารย์ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนแต่เป็นการใช้ชีวิต ใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีอุทิศให้นักศึกษา เวลาที่นักศึกษาเรียนจบ ได้ทำงาน ประสบความสำเร็จ กลับมาหา มาคุยด้วย มาขอบคุณ โอ้! มีความหมายมาก — ผมรู้สึกว่าเหมือนเป็นคนปลูกต้นไม้ ที่คอยรดน้ำ เห็นการเติบโต เป็นสิ่งที่วิเศษมาก ในระยะหลังมานี้ผมรู้สึกจริงๆ ว่ามันไม่มีอาชีพอื่นมาทดแทนสิ่งนี้ได้


บางทีผมก็รู้สึกว่าผมเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงา ให้ที่พึ่งกับเด็กๆ ต้นไม้มันเดินไปไหนไม่ได้นะครับ (หัวเราะ) มันอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วถ้าใครต้องการร่มเงาก็มาหา มาพักให้หายเหนื่อย ให้มีแรง — การเป็นต้นไม้มีคุณค่าและมีความหมายแบบนี้ จนผมทิ้งอาชีพนี้ไม่ได้ทั้งที่จะว่าไปเงินไม่เยอะและเหนื่อย ตอนที่มีคนมาเสนอเงินเดือนเกือบแสนบาท ผมลังเล เพราะบางทีเงินก็ทำให้คุณภาพชีวิตบางด้านของเราดีขึ้นจริงๆ แต่เมื่อผมทบทวนดีๆ คุณภาพที่ผมต้องการ เงินซื้อไม่ได้ครับ


…………………………………………………………………………..

ติดตามเรื่องการเข้าอกเข้าใจกันได้ที่ อ่านมนุษย์ https://human.happinessisthailand.com/

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save