8 ช่องทางความสุข

Work Hard, Work with Heart

เป็นมะเร็งก็รักษา แต่มะเร็งไม่ใช่สิ่งคุกคามความสุข หมอรู้สึกว่าว่าการชวนให้คนไข้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นงานของแพทย์ด้วย คนไข้มีความสุข หมอก็มีความสุข

.

.

ผู้เขียนนัดหมายกับ พญ.สุธิดา สุวรรณเวโช (หมอต้น) อายุรแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาและโลหิตวิทยา เพื่อบทสัมภาษณ์นี้เวลาสองทุ่มของวันทำงาน เมื่อได้เวลานัด คุณหมออุทานว่า “เอ้า ! นี่สองทุ่มแล้วเหรอ ตายจริง ยังไม่เสร็จเลย…รออีกนิดนึงนะ” หลังจากนั้นอีกพักใหญ่ เราจึงได้คุยกัน


ผู้เขียนเย้าคุณหมอว่า บทสัมภาษณ์นี้ดูจะเหมาะมาก เพราะค่ำขนาดนี้ หมอก็ยังอยู่ในที่ทำงาน คงจะมีความสุขในการทำงานจริงๆ คุณหมอหัวเราะตอบกลับมาว่า “วันนี้ยุ่งกว่าที่คิด” แล้วบ่นต่ออีกนิดนึงว่า “แล้วพรุ่งนี้ก็ต้องมาแต่เช้าอีก ชีวิตหมอนะ ไม่ต้องนึกไกลแค่จะหาเวลาไปกด ATM ยังยากเลย”
เราถามคุณหมอจริงจังขึ้นมาอีกนิดว่า ชีวิตของแพทย์เป็นแบบนี้จริงๆ ใช่หรือไม่ เพราะถ้าเป็นแบบนี้เด็กๆ รุ่นใหม่คงจะไม่อยากเรียนหมอ คุณหมออึ้งนิดหน่อยก่อนจะให้ความเห็นว่า

.

  • เราจะทำงานอย่างเต็มความสามารถ เต็มศักยภาพ แต่จะปล่อยวางจากผลที่เกิดขึ้น

  • ฝึกการสร้างพลังบวก (positive energy) ให้มีขึ้นในตัวเองอย่างจริงจัง

  • วันที่ได้พัก เราจะพักจริงๆ

.

“จริงอยู่ที่แพทย์เป็นวิชาชีพที่เรียนหนัก ทำงานหนัก เวลาส่วนตัวน้อย แต่เป็นวิชาชีพที่สร้างความสุขและมีความสุข ทางที่ดีแพทย์ควรมีการฝึกฝนตัวเองเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ก็จะเป็นแพทย์ที่ดีและมีความสุข”

.

คุณหมออธิบายหน่อยสิคะ

ตอนที่เป็นนักเรียนแพทย์ เราก็รู้สึกอยู่ว่าเรียนหนักแต่ไม่กดดันมากเพราะเราอยู่ในการดูแลของอาจารย์ และยังมีรุ่นพี่ พอเรียนจบจริงๆ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีความรับผิดชอบเต็มตัว ความกดดันจะมาหนักกว่าเดิม สิ่งที่หล่อเลี้ยงก็คือการทำหน้าที่ของเราให้ดีและมั่นใจว่าเรามีความรู้เพียงพอที่จะดูแลคนไข้ แต่ลำพังความคิดนี้ก็อาจจะยังไม่พอที่จะมีความสุข เพราะแพทย์เป็นงานหนัก และเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ (burn out) หมดแรงบันดาลใจที่จะเป็นหมอ กลายเป็นหมอไปวันๆ ไม่มีความสุข


คุณหมอเคยมีประสบการณ์นั้น ?

ใช่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว ช่วงนั้นเรียนจบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาหมาดๆ จากอเมริกา (อายุรศาสตร์ด้านมะเร็งวิทยาและโลหิตวิทยา) มีรู้สึกภาคภูมิมาก ตอนนั้นตั้งใจเต็มที่ที่จะใช้วิชาความรู้เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง แต่พอทำงานมาได้สักระยะหนึ่งความรู้สึกเหล่านี้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ หมดแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า เราช่วยคนไข้ได้ไม่สุด เห็นความทุกข์ในตัวคนไข้ตลอดเวลา แล้วเราก็รู้สึกแย่ รู้สึกเศร้า หดหู่ ไม่มีกะจิตกะใจ


คุณหมอพอจะทราบถึงที่มาของสิ่งเหล่านี้ไหมคะ เพราะคนไข้เหล่านั้นเป็นมะเร็งซึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่หาย อัตราการตายสูง หรือยังไงคะ

ไม่ใช่เสียทีเดียว จริงอยู่ มะเร็งเป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงและมีความเสี่ยงต่อชีวิต แต่ความรู้สึกในช่วงนั้นคือ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะช่วยได้อย่างแท้จริง — เล่ายังไงดี— หลายครั้งที่หมอพบว่า เราสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้ว โรคสงบแล้ว ร่างกายของคนไข้ดีขึ้นแล้ว แต่เขายังมีความทุกข์ เขากังวล ระแวง กลัว


คนไข้กลัวอะไร กังวลอะไร

เยอะแยะเลย กลัวอาการจะแย่ลง กลัวร่างกายจะทรุด กลัวว่าโรคจะกลับมาอีก กลัวสิ่งที่อยู่ข้างหน้าซึ่งแพทย์ก็รับประกันไม่ได้ — ตอนแรกที่คนไข้มาหา เขามีความทุกข์ มีอาการของโรค เมื่อผ่านไปสักระยะ เมื่ออาการบางอย่างดีขึ้นหรือควบคุมโรคได้ เราหวังว่าคนไข้น่าจะมีความสุขขึ้น เพราะสัญญาณในร่างกายดีขึ้นแล้ว แต่ไม่ใช่ คนไข้ยังอมทุกข์ หดหู่ บางครั้งเขาทุกข์กว่าช่วงแรกด้วยซ้ำไป เพราะกลัวว่าโรคจะกลับมา กลัวความทรมานหากจะต้องเจอมันอีก สารพัด — เมื่อคนไข้แกว่ง หมอก็แกว่ง สิ่งที่ตามมาก็คืออารมณ์ลบๆ หดหู่ ไม่อยากมาทำงาน บางครั้งถึงกับดูถูกตัวเอง “เธอช่วยเขาจริงๆ ไม่ได้หรอก ช่วยเขาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ”


แล้วคุณหมอผ่านมาได้อย่างไร

โชคดีที่ได้เจอครูทางจิตวิญญาณ แล้วก็เปลี่ยนเราไปเลย ตั้งหลักได้อีกครั้ง อืมม…คนเป็นแพทย์ควรมีเครื่องมือในการดูแลจิตวิญญาณของตนเองนะ จะปฏิบัติธรรมหรือฝึกการให้ความกรุณาแก่ตนเอง หรืออะไรก็ได้ มิติจิตวิญญาณเป็นสิ่งจำเป็น


เคยได้ยินว่า หลายคนที่เครียดจัด จิตตก หดหู่ อาจจะหาทางออกด้วยการช็อปปิ้ง กินของอร่อย ซื้อรถ หาแหวนเพชรสวยๆ คุณหมอไม่มีพฤติกรรมอย่างนั้นเหรอคะ

(… คิด…) อืม..หมอไม่ชอบเดินห้าง แหวนเพชรน่าสนใจแต่ตอนนั้นไม่ได้คิด ตอนนั้นพฤติกรรมของหมอคือไปวิ่งตามดูคอนเสิร์ตอยู่พักใหญ่ (หัวเราะ)… กินเยอะ และนอนแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวันทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นรูปแบบการหนีนะคะ (หัวเราะ) เป็นแค่การกลบเกลื่อนความทุกข์ ดูคอนเสิร์ต บ่อยๆ ก็จะรู้ว่า คอนเสิร์ตช่วยไม่ได้หรอก มันชั่วคราวมากๆ เพราะในที่สุดเราก็ต้องกลับมาเจอกับเรื่องเดิมๆ ถ้าชอบแหวนเพชรก็คงต้องซื้อแล้วซื้ออีก และมันช่วยไม่ได้จริงๆ หรอก


การตั้งหลักของคุณหมอคือ..?

มี 2-3 เรื่อง ที่ตั้งใจฝึกและถือเป็นปณิธานจริงจัง

  1. เราจะทำงานอย่างเต็มความสามารถ เต็มศักยภาพ แต่จะปล่อยวางจากผลที่เกิดขึ้น จะยอมรับให้ได้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นมาจากคนไข้และสถานการณ์แวดล้อม เราเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในชีวิตของเขา เราจะไม่กดดันตัวเราจนสุดกำลังหรือเกินกำลัง
  2. ฝึกการสร้างพลังบวก (positive energy) ให้มีขึ้นในตัวเองอย่างจริงจัง เพราะคนไข้และญาติมักจะมาพบเราด้วยพลังลบ ถ้าเขาลบ เราก็ลบ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้าเขาลบ เราบวก ยังพอช่วยกันได้ จากประสบการณ์ส่วนตัวหมอพบว่า พลังบวกในแพทย์ช่วยคนไข้ได้จริงๆ เขาจะรู้สึกดีหลังจากได้คุยกับเราและนั่นก็ทำให้เรารู้สึกดีไปด้วย เพราะมันคือการได้ช่วย ได้ดูแลเต็มศักยภาพจริงๆ
  3. วันที่ได้พัก เราจะพักจริงๆ

ถึงวันนี้ หมอมีความสุขในการทำงานมากขึ้น ทั้งที่จะว่าไปแล้วงานหนักขึ้น มีความสุขเพราะรู้สึกได้จริงๆ ว่าเราช่วยเขาแล้วอย่างเต็มที่ เต็มศักยภาพและความสามารถ และเราช่วยเขาได้จริงๆ


คนไข้บางคนจากไปแต่จากไปด้วยดี คนไข้หลายคนเปลี่ยนมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ได้อยู่อย่างหวาดระแวง หลายคนปรับวิธีคิด หันมาปฏิบัติธรรม เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ที่สำคัญคือเขามีความสุขมากขึ้น — เป็นมะเร็งก็รักษา แต่มะเร็งไม่ใช่สิ่งคุกคามความสุข หมอรู้สึกว่าว่าการชวนให้คนไข้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นงานของแพทย์ด้วย คนไข้มีความสุข หมอก็มีความสุข รู้สึกว่าได้ใช้ความสามารถเต็มศักยภาพ


เคยได้ยินว่าแพทย์ต้องดูแลญาติคนไข้ด้วย คุณหมอต้องทำงานเรื่องนี้ไหม

เราอาจจะแบ่งญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่ม คนที่อยู่กับผู้ป่วยมาตลอดจะค่อนข้างเข้าใจโรค เข้าใจการตัดสินใจของคนไข้ ความยากอยู่ที่ญาติกลุ่มที่สอง บางทีญาติกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘กตัญญูซินโดรม’ คือไม่ค่อยรู้อะไรมากนัก แต่ไม่ยอมให้คนไข้จากไป คนไข้จะตายไม่ได้ — ตัวหมอเองมีวิธีการดูแลที่เรียกว่า “family meeting” คือให้ญาติมาประชุมร่วมกัน ฟังกัน ทุกคนควรจะอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกันก่อน จากนั้นค่อยตัดสินใจร่วมกันหรือบริหารความเสี่ยงร่วมกัน (risk management) ซึ่งหมอพบว่ามันดีกว่าการพูดกับญาติทีละคน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือแพทย์ผู้ดูแลต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมและมั่นคงพอที่จะฟัง


ขอกลับมาที่ชีวิตส่วนตัวนิดนึงค่ะ การที่แทบจะไม่มีเวลาส่วนตัว มันโอเคใช่ไหมคะ

โชคดีที่ไม่ได้แต่งงาน ถ้าแต่งงานอาจจะไม่ใช่แบบนี้ — คนไม่มีเวลาต้องเป็นนักวางแผน มีวันหยุด 2 วัน จะต้องทำอะไรบ้าง ต้องไปธนาคารไหม ต้องซื้ออาหารหรือเปล่า และหมอจัดให้ตัวเองมีวันขี้เกียจด้วย อันนี้สำคัญมาก


วันขี้เกียจเป็นยังไง

วันขี้เกียจคือวันที่ทำสิ่งที่อยากทำ ได้ทำสิ่งที่ให้พลัง ที่หมอทำบ่อยๆ คือนอน ชอบนอน (^^) อีกอย่างที่ให้พลังกับหมอมากคือการได้พาหมาไปอาบน้ำ (หัวเราะ) อันนี้มีความสุขจริงจัง (หัวเราะ) การเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือไปธนาคารไม่นับเป็นวันขี้เกียจ นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการ วันขี้เกียจคือวันพัก ได้ชาร์ตพลัง ทำสิ่งที่ให้พลังไม่ใช่ดูดพลัง


ทิ้งท้ายสักหน่อย

คิดว่าน่าจะพอได้ไอเดียเพื่อการมีความสุขจากการทำงานนะคะ การทำงานเป็นเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต ขอให้พวกเราได้พบความสุขในแบบของเรา ในการทำงานของเราค่ะ

การทำงาน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save