เมื่อฉันสูญเสีย

สงบศึกวันคริสต์มาส

จุดสว่างกลางไฟสงครามโลกครั้งที่ 1

เรื่องราวของอำนาจแห่งสันติภาพและสันติธรรมกลางสงคราม คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่ลึกซึ้งและส่งผลสะเทือนทั่วโลกเท่ากับ The Christmas Truce of 1914 หรือการสงบศึกวันคริสต์มาส พ.ศ 2457 ในสงครามโลกครั้งที่ 1

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ทหารล้มตายมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก กลุ่มประเทศคู่สงครามระดมอาวุธสมัยใหม่ทุกอย่างเพื่อทำลายล้างศัตรูให้ดับสูญ

.

ตลอดแนวประจัญบานของทหารแนวหน้า มีที่ว่างราว 50-250 เมตร เรียกว่า no man’s land คั่นอยู่ ทหารสองฝ่ายต้องซุ่มตัวอยู่ในสนามเพลาะอันหนาวเหน็บและเต็มไปด้วยโคลนหลัง no man’s land เพื่อป้องกันดินแดนของตน ขณะที่พื้นที่ตรงกลางกลายเป็นเขตของห่ากระสุน เต็มไปด้วยซากศพเน่าเปื่อยแหลกเหลวทั้งของเพื่อนและศัตรูที่ไม่มีใครกล้าเก็บกู้

.

ทหารเยอรมันฉลองคริสต์มาสในสนามเพลาะ[1]

.

วันคริสต์มาส พ.ศ 2457 เกิดเหตุการณ์หยุดยิงระหว่างทหารอังกฤษและเยอรมันขึ้นหลายจุดตลอดแนวรบด้านตะวันตกทางตอนเหนือของเบลเยียม ไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร อาจเพราะอากาศที่หนาวจัดในปีนั้น สภาพทารุณของสนามเพลาะที่แคบๆ เปียกแฉะ เน่าเหม็น และความหวาดระแวงสุดขีดต่อการโจมตีจากศัตรูที่ห่างไปแค่เอื้อมซึ่งสะสมมาหลายเดือน

.

ไม่มีใครคิดว่าการรบจะยืดเยื้อ ต่างเฝ้ารอจะได้กลับไปฉลองคริสต์มาสกับครอบครัว แต่เมื่อไม่เห็นความหวัง การอยู่นิ่งๆกับความเงียบงันในสนามเพลาะ บวกกับความรู้สึกบีบคั้นเหมือนตายทั้งเป็นมาตลอด 5 เดือนนับจากสงครามเริ่มขึ้น อาจทำให้ใครบางคนได้หยุดคิดและใคร่ครวญ … เรารบไปเพื่ออะไร … ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในการต่อสู้ประจันหน้าแบบตัวต่อตัวในสนามรบโล่งๆก่อนหน้านี้

ความเข้มข้นของศรัทธาต่อพระเจ้า และความทรงจำถึงความสุขในเทศกาลคริสต์มาส ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้

.

ภาพวาดในหนังสือพิมพ์ของอังกฤษ ช่วงต้นเดือนมกราคม 1915[2]

.

ในคืนคริสต์มาสอีฟอันหนาวเหน็บ ทหารเยอรมันจุดเทียนประดับโคมและต้นคริสต์มาสเล็กๆตลอดแนวสนามเพลาะ เสียงร้องเพลงราตรีสงัด (Stille Nacht หรือ Silent Night) ดังขึ้นจากฝ่ายทหารเยอรมัน ทำนองคุ้นหูทำให้ทหารอังกฤษร้องร่วมไปด้วย ฝ่ายหนึ่งร้อง อีกฝ่ายเงียบฟัง กลายเป็นการร้องเพลงตอบโต้ไปมาระหว่างกัน

.

แล้วทหารเยอรมันก็ตะโกนออกมาว่า “คุณไม่สู้ เราก็ไม่สู้”

ทหารอังกฤษตะโกนตอบว่า “สุขสันต์วันคริสต์มาส”

ทั้งสองฝ่ายตะโกนโต้ตอบกันไปมา ปลุกความรู้สึกศรัทธาที่มีร่วมกัน

ทหารอังกฤษคนหนึ่งเขียนเล่าให้แม่ฟังว่า เขาไม่เคยได้ยินเพลงคริสต์มาสที่ไพเราะเท่านี้มาก่อน เป็นบทเพลงที่ขับกล่อมโดยศัตรูในสนามรบ

มวลบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์คล้ายกับการอุบัติของศาสดาหรือพระโพธิสัตว์ที่เกิดขึ้นกลางมหาสงคราม และกลายเป็นจุดสว่างไสวงดงามในหลายพื้นที่สู้รบช่วงคริสมาสต์ปีนั้น

.

ทหารเยอรมันและอังฤษพบปะพูดคุยและแลกของขวัญกัน[3]

.

แม้ก่อนออกรบ เหล่าทหารจะถูกฝังหัวเรื่องชาตินิยมและความเกลียดชังศัตรู แต่แก่นแท้ภายในของมนุษย์ที่สงบและสันติสุขกลับสามารถผลิบานออกมาอย่างฉับพลันขณะที่ชีวิตบอบบางกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย แค่ยืนตัวตรงให้ศัตรูเห็นก็อาจตายได้ในวินาทีนั้น

.

แต่ทหารเยอรมันก็ลุกขึ้นยืน ในมือถือต้นคริสต์มาสเล็กๆ โคมไฟ และธงขาว เดินฝ่าพื้นที่ว่างระหว่างสนามเพลาะไปหาทหารอังกฤษ พวกเขาไม่ลังเล ไม่วิ่งหนี ในใจเขาคิดอะไรอยู่ขณะเดินหน้าไปทีละก้าว หรืออาจไม่ได้คิดอะไรเลย อาจเป็นเพียงความรู้สึกลึกๆจากภายใน ที่เรียกร้องให้พวกเขาทำสิ่งซื่อตรงจากหัวใจ

สนามรบกลายเป็นพื้นที่ของมิตรภาพ ความทุกข์ทนแสนสาหัสจากไฟสงครามมอดดับลงได้ในที่เดียวกันนั้น

.

มิตรภาพของสองฝ่าย ณ สมรภูมิ Ploegsteert ในเบลเยียม[4]

.

ทหารทั้งสองฝ่ายจับมือทักทาย พูดคุย อวดรูปครอบครัว และแลกเปลี่ยนของขวัญง่ายๆที่มี เช่น ยาสูบ เหล้า ช็อกโกแลต เล่าเรื่องตลก หัวเราะ ถ่ายรูปด้วยกัน บ้างแลกเปลี่ยนที่อยู่ บางคนตัดผมให้กัน ทหารเยอรมันบางคนเคยทำงานที่อังกฤษ การพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขารู้จักเหมือนๆกัน อย่างร้านอาหารหรือฟุตบอล ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกันได้ไม่ยาก ทหารหลายคนเขียนจดหมายเล่าถึงมิตรภาพที่เกิดขึ้นให้ครอบครัวฟัง มีเรื่องเล่าที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ทหารอังกฤษชวนทหารเยอรมันเล่นฟุตบอลกระชับมิตรกันด้วย

.

ภาพหมู่ของทั้งสองฝ่ายระหว่างพักรบ ณ no man’s land แห่งหนึ่ง[5]

.

ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสฝังร่างเพื่อนที่ตายอยู่ใน no man’s land พวกเขาร่วมกันสวดภาวนา อ่านคัมภีร์ไบเบิล และร้องเพลงสดุดีทั้งสองภาษา ช่วงสงบศึกเกิดขึ้นตั้งแต่ 1 ชั่วโมงจนถึงแรมเดือนตลอดแนวรบ ความรู้สึกเป็นมิตรและไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้นแทนความเกลียดชังและหวาดกลัว

.

รายงานหลังจากนั้นพบว่า เกิดการโจมตีระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายน้อยลงมาก แม้จะได้รับคำสั่งให้บุก แต่ทั้งสองฝ่ายต่างแกล้งยิงพลาด หรือบางคนถึงกับขัดคำสั่งไม่ยอมยิงแม้ต้องรับโทษ

หัวใจที่เคยพบความสว่างไสวย่อมไม่อยากกลับสู่ความมืดมน

.

เมื่อทหารเลือกไม่รบ ผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายจึงสั่งปลดทหารชุดเดิมจากแนวหน้า ส่งชุดใหม่มาประจำการ พร้อมสั่งห้ามไม่ให้ติดต่อกับฝ่ายตรงข้าม มหาสงครามยังดำเนินต่อมาอีกนานกว่า 4 ปี ฝังบาดแผลลึกเรื้อรังให้เผ่าพันธุ์ของเรามาจนวันนี้ และยังไม่มีการสงบศึกในวันคริสมาสต์เกิดขึ้นอีก

.

Silent night … Holy night … บทเพลงที่คลออยู่ในบรรยากาศการสงบศึกวันคริสมาสต์ ค.ศ. 1914 ได้บันทึกความทรงจำถึงจุดสูงสุดจุดหนึ่งของมนุษยชาติเอาไว้ ในห้วงขณะของความเป็นความตาย มนุษย์สามารถปลดพันธนาการที่รัดรึงอย่างทารุณ ก้าวข้าม และยกระดับจิตวิญญาณของตนและกลุ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

.

ข่าวการสงบศึกวันคริสมาสต์ในหนังสือพิมพ์อังกฤษ[6]

.

เหตุผลหรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆของสังคม แท้จริงเป็นเพียงเปลือกบางๆที่ห่อหุ้มจิตวิญญาณบริสุทธิ์เอาไว้ภายใน ความเป็นมนุษย์ที่แท้นั้นไร้เดียงสา พ้นไปจากความกลัวและเกลียดชัง มีความเข้มแข็ง และทรงพลังท่วมท้นกว่าที่เราคิดมากนัก

การพักรบช่วงสั้นๆในปีนั้น แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลของมหาสงครามสงครามและทิศทางที่โลกเป็นไป แต่ก็ส่งพลังด้านบวกสั่นสะเทือนจิตวิญญาณของผู้คนจำนวนมาก และแสดงถึงแสงแห่งสันติภาพที่สถิตอยู่ในใจของเราเสมอมา

เรื่อง: สุภาพ ดีรัตนา x มัสลิน ศรีตัญญู

ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา

อ้างอิงภาพประกอบ

1. จาก Encyclopædia Britannica, Inc.

2. จาก Illustrated London News, 5 January 1915

3. จาก Illustrated London News, 9 January 1915

4. จาก GRIGG J SELBY (MR) COLLECTION / IWM (Q 11745)

5. จาก Mirrorpix

6. จาก newsmuseum.pt

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save