นักสื่อสารสุขภาวะ

ไม่มีหรอก Generation Gap

อ่านภาคต่อของวงสนทนา “กระบวนการทางสุขภาวะทางปัญญากับการเชื่อม Generation Gap ที่ขาดหาย” ในวงประชุมประจำเดือนของ ภาคียุทธศาสตร์สุขภาวะทางปัญญา เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ  ครั้งนี้คนรุ่นใหม่จากองค์กรต่างๆนำวงสนทนาแบบ “อ่างปลา” ด้วยตัวเอง เริ่มจากการตั้งคำถามถึงที่มาของความคิดเรื่อง Generation Gap ไปจนถึงการมองทางออกจากความขัดแย้งระหว่างรุ่นที่เป็นประเด็นร้อนของสังคม

Generation Gap” จริง หรือ มายา

“เอิร์นไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแบ่งคนเป็นกลุ่มๆเป็นเจน และให้คำนิยามแบบเหมารวม อย่างเช่น Gen Me – Gen Y ถูกระบุว่าเป็นพวกหลงตัวเอง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง เราก็ตั้งคำถามนะว่า รู้ได้ยังไง? เราสามารถนิยามแต่ละเจนได้ชัดเจนขนาดนี้เลยหรือ คำนิยามที่ระบุไว้คือคนส่วนใหญ่จริงหรือ คนรุ่นใหม่คือคนที่ไม่รักสถาบัน คนรุ่นเก่าเป็นพวกล้าหลัง ไม่ฟัง จริงหรือ” เอิร์น – จิราภรณ์ กมลรังสรรค์ สำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดประเด็น

เอิร์นย้ำว่า เธอไม่เชื่อว่า “ช่องว่าง” เป็นเพราะ “วัย” อย่างเธอเองมีพี่ชายสามคน ที่วัยใกล้เคียงกันก็ยังทะเลาะกันเลย และด้วยความที่เธอเรียนเร็วกว่าปกติ 3 ปี ทำให้เธอต้องเรียนกับเพื่อนๆที่อายุมากกว่าเธอมาตลอด ยิ่งทำให้เธอเห็นต่างเรื่องปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย”  เพราะเธอเชื่อว่า ช่องว่างของปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องวัย “แต่คือเรื่องความไม่เข้าใจกัน”
ซึ่งเกิดกับคนทุกวัย ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน มันเป็นช่องว่างที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยต้นเหตุของปัญหาคือการไม่ฟังกัน หรือเลือกฟังแต่สิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน ยอมรับแต่เหตุผลของตัวเอง ความต่างเหล่านี้เกิดเพราะสภาพแวดล้อมและความคิดที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งส่งผลต่อความคิด พฤติกรรม และการสื่อสารของเรา

ด้าน เล้ง — โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์ ธนาคารจิตอาสา เห็นว่า ความคิดเรื่อง generation gap ถุกสร้างขึ้นเพื่อจัดคนเป็นกลุ่มๆ ทำให้สมองเข้าใจความแตกต่างได้ง่าย และเพื่อให้สามารถควบคุมและตัดสินคนกลุ่มต่างๆได้ด้วย “ผมเป็นคนปลาย Gen Y ต้น Gen Z และมีมุมมมองบางส่วนแบบ Gen X ถ้าใช้การแบ่งแบบนี้ผมจะกลายเป็นชายขอบหรือคนนอกกลุ่มทันที”

เช่นเดียวกับคนอื่นในวงสนทนา ที่เห็นด้วยว่าการแบ่งคนเป็นช่วงวัยคือมายาที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งเพื่อประโยชน์ทางการตลาดให้ขายสินค้าได้ตรงเป้าหมาย หรือเป็นการเอาตัวรอดของคนวัยต่างๆที่มีคนกลุ่มเดียวกันให้เกาะเกี่ยว มีนักวิชาการรุ่นใหม่บางคนเรียกการติดหล่มความคิดเรื่องความต่างของวัยว่า “วายาคติ” ซึ่งสร้างให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะความหวาดระแวงคนวัยอื่น

“ตอนนี้มีคำว่า จูเวอนอย – Juvenoia มาจากคำว่า Juvenile + Paranoia แปลว่า ความกลัวของคนรุ่นหนึ่งต่อคนรุ่นเด็กกว่า ลองถามคนวัย 60 สิ ตอนนี้ เขานอยด์คนวัย 40 หรือเปล่า คนวัย 40 นอยด์คนวัย 30 ไหม ถ้าตอนนี้เรา 30 เรานอยด์คน 20 หรือเปล่า  แล้วช่องว่างระหว่างวัยเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าใช้โจมตีคนอายุน้อยว่าในยุคนี้  อย่างคำว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก แปลว่าเราสิ้นหวังกับคนรุ่นก่อนใช่ไหม หรือเป็นการทำให้คนบางรุ่นเสียเปรียบหรือเปล่า” เกิ๊ก – วิเศษ บำรุงวงศ์ ธนาคารจิตอาสา แลกเปลี่ยน

สิ่งสำคัญอยู่ที่ “เพิ่ม” การปฏิบัติที่เท่าเทียม

ฟิล์ม — เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ปรึกษา Free Spirit Thailand ชี้ว่า ความพยายามลดช่องว่างระหว่างวัยเป็นการแก้ปัญหาผิดทาง “คนชอบพูดว่าต้องลดช่องว่าง มันคล้ายๆลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจน แต่ถ้าเรามองความต่างระหว่างวัยเหมือนความแตกต่างอื่นๆ เช่น สีผิว เพศ การลดอาจไม่ใช่ทางออก เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศ สีผิว หรือวัยอะไร ก็ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน แต่สังคมไทยมันยากที่ผู้ใหญ่จะบอกว่า เราจะปฏิบัติเท่าเทียมกับวัยรุ่น การใช้คำว่า ลด จึงอาจดูสบายใจกว่า”

ฟิล์มเน้นประเด็นปัญหาของการเลือกปฏิบัติ และวัฒนธรรมการใช้อำนาจกดทับคนที่ด้อยกว่า รวมถึงเด็กที่ยังไม่มีแหล่งอำนาจใดๆ ซึ่งเป็นยบุคลิกสำคัญของสังคมไทย “เวลาเราพูดถึงการเชื่อมความแตกต่างระหว่างกัน มันเป็นประตูสองบานที่คนทั้งคู่ต้องเปิดหากัน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเอาแต่เรียกร้องให้อีกฝ่ายเปิด แต่ตัวเองปิดแล้วตั้งกำแพงกั้นตลอดเวลา ก็เชื่อมกันไม่ได้ และต้องรู้ด้วยว่า แต่ละคนมีกำลังในการเปิดประตูไม่เท่ากัน เพราะในระบบหรือวัฒนธรรมหนึ่งๆ จะมีคนวัยหนึ่งที่ถูกกดขี่มากกว่าคนวัยอื่น เราต้องพยายามเข้าใจเรื่องนี้”

 “ช่องว่างระหว่างวัยไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเราไม่เข้าใจกัน” นาย — นราธิป ใจเด็จ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เห็นด้วยกับเพื่อน “ปัญหาอยู่ที่คนรุ่นก่อนมักเอาบทเรียน หรือสภาพแวดล้อม หรือการเติบโตของเขามาเป็นบั๊ก เพื่อจะบอกว่าพี่เคยทำมาก่อน พี่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆที่บางอย่างต้องให้โอกาสคนอีกรุ่นให้ได้เรียนรู้และทดลองด้วยตัวเอง หรือแม้แต่เรื่องพื้นฐานที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน แต่ลูกอยากเป็นอีกแบบที่เขาอยากเป็น มันจะมีพื้นที่แบบไหนที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันได้”

“เรื่องความขัดแย้งของลูกๆนี่ทำให้พ่อแม่ลำบากใจที่สุด แต่บางทีพ่อแม่ก็เลือกวิธีให้เรายอม พี่ๆทำร้ายเราเพราะรู้สึกว่าพ่อแม่โอ๋เรามากกว่า เรายอมมาครึ่งชีวิต ยอมมาตั้งแต่เกิด ถ้าวันหนึ่งเราไม่ยอมบ้านก็จะแตกอีก เราถามตัวเองว่าต้องยอมถึงเมื่อไหร่ การยอมไม่ใช่การแก้ปัญหา ถ้าเราฟังเขาแต่เขาไม่ฟังเรา การฟังก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา กว่าเรื่องนึงจะคลี่คลายก็ต้องบาดเจ็บกันไม่รู้กี่ครั้ง” เอิร์น ทำให้เห็นรูปธรรมของการเลือกปฏิบัติด้วยประสบการณ์ในครอบครัว “บางทีมีช่องว่างก็ดีนะ เพื่อให้เกิดการเคารพกันและกัน สิ่งที่ควรลดอาจไม่ใช่ช่องว่าง ทางออกน่าจะเป็นการลดอัตตาตัวตนมากกว่า”

เราจะเป็นครอบครัว เพื่อน และเพื่อนบ้านที่ปลอดภัยให้กันได้ไหม

อีกประเด็นที่วงสนทนาแลกเปลี่ยนกันสนุก เพราะต่างมีประสบการณ์ร่วมในสังคมที่ผู้คนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องการเคารพกัน นั่นคือเรื่อง “การถูกบูลลี่” และ การถูก “ป้าข้างบ้าน” คุกคาม

“ตอนเด็กเราอ้วนมาก เด็กอ้วนมักโดนแกล้ง ป้าข้างบ้านก็แกล้ง ครอบครัวเราไม่ได้มีฐานะกว่าคนอื่น ป้าข้างบ้านจะล้อว่าเราเป็นฟักเน่ากลิ้งตกใต้ถุน เป็นคำพูดที่รุนแรงมาก ร้องไห้ตลอด พอโตขึ้นป้าคนเดิมก็ถามว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบ เมื่อไหร่จะมีรถ เมื่อไหร่จะแต่งงาน แต่เราไม่ร้องไห้แล้ว โตขึ้นเรากลายเป็นคนร้องไห้ยาก” กอเตย — ปิญชาดา ผ่องนพคุณ กลุ่ม Peaceful Death เล่าถึงความทรงจำวัยเด็กที่กลายมาเป็นร่องอารมณ์เปราะบางในตัวเธอ

“แต่สิ่งที่เราไม่รู้เลยคือ ถึงไม่ร้องไห้แต่ข้างในยังเจ็บปวด มันติดค้างมานานมากโดยเราไม่ยอมรับว่าตัวเองเจ็บปวดกับสิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งในชั้นเรียนศิลปะการเยียวยา เราค้นพบว่า ที่เราพูดบ่อยๆว่า ฉันมั่นใจในตัวเอง ฉันสวย นั่นคือการโต้แย้งกับสิ่งที่เกิดในอดีตและสิ่งเป็นปมติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ทุกคนรอบข้างพูดกับเราอย่างนี้หมดเลย ตอนเด็กเราเคยอยากตายด้วยนะ เหมือนเราผิดที่อ้วน เราไม่อยากอยู่เพราะรู้สึกว่าไร้ค่า”

“แต่ถ้าไม่มีวันนั้น เราก็จะไม่เข้าใจเลยว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เรามีคุณค่าอะไร เราจะไม่มีวันเข้าใจคนที่ไม่อยากอยู่ การอยากหายไปจากโลกนี้มันต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับเขา ถ้าไม่เข้าใจแล้วเราจะเข้าไปช่วยเหลือ ไปดูแล ไปรับฟังเขาได้ยังไง”

“เราก็คิดเรื่องแบบนี้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง ทำให้เข้าใจคนที่เกิดภาวะอย่างนี้” เอิร์น เล่าถึงความเปราะบางภายในที่ไม่ต่างจากกอเตย  “เราไม่ชอบคำว่า คิดสั้น เพราะเป็นการตัดสินคนคนนั้น ที่จริงเขาคิดมายาวมาก คิดวนไม่รู้กี่ครั้ง อย่างในเรื่องสควิดเกม มีคำพูดนึงว่า การกลับไปในชีวิตจริงก็คือนรกบนดิน มันไม่ต่างอะไรกับความตาย เพราะฉะนั้นคนที่คิดสั้น ไม่เท่ากับว่าเขาคิดแค่นั้น เขาคิดมาเยอะมาก และเจออะไรมาเยอะมาก”

“หลายครั้งที่เราถูกคนอื่นทำร้ายจิตใจ เราจะเจ็บปวดกับคนที่มีหน้าที่ปกป้องเราแต่เขาไม่ทำมากกว่าคนที่ทำร้ายเราเสียอีก สมมติผมมีคนนี้เป็นไอดอล แล้วก็ทำไมตอนที่เราถูกทำร้าย เขาถึงไม่ช่วยเรา ไม่ยืนข้างเรา” ฟิล์ม เสริม

ฟิล์มเล่าถึงคนรุ่นเขาจำนวนมากที่เป็นทุกข์กับชีวิต “มีบทความหนึ่งส่งมา เล่าว่าเขาอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง สิ่งที่ยอมรับได้ยากที่สุดคือ การยอมรับว่าเขาโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงจริงๆ แล้วสิ่งนั้นมันผิดปกติ มันแตกต่างจากครอบครัวอื่น การยอมรับเรื่องแบบนี้ต้องใช้ความกล้าหาญและใช้เวลา เขาใช้เวลา 20 ปีกว่าจะยอมรับว่า เขาโตมาในครอบครัวแบบนี้”

คุณยอมรับไหมละว่า เราต้องการกัน

แม้จะเผชิญความหักพังของสัมพันธภาพที่สำคัญไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่ทำไมนะ ลึกๆแล้วเราถึงอยากมีโอกาสอีกครั้งอยู่ร่ำไปเพื่อทำบางอย่างให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“จริงๆคนต่างวัยต้องการกันนะ แต่เหมือนมีเป็นเส้นบางๆที่ทลายออกไปไม่ได้กั้นอยู่ เราเองมีปัญหาครอบครัวตลอด แล้วก็ใช้ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ แต่พอถึงจุดที่รู้ว่าจริงๆเราต้องการกัน อย่างผู้สูงวัยก็ต้องการเด็กไปอยู่ใกล้ๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขา หรือเด็กเอง ต่อให้สังคมเป็นปัจเจกหรือโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่เด็กก็ต้องการคนวัยเบบี้บูมเมอร์มาอยู่ใกล้ๆ เพราะเขาได้รับความอบอุ่นบางอย่างจากคนวัยนี้ ร่องรอยประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เจอมามันถ่ายโอนพลังงานบางอย่างให้เด็กได้” กอเตย หักมุมประเด็น และพาสู่ทางออกด้วยประสบการณ์ของเธอ

“สิ่งสำคัญจริงๆคือต้องยอมรับว่าตัวเองไม่ได้อยากอยู่คนเดียว ทุกคนอยากมีความสัมพันธ์ที่ดี แล้วมันก็มีความสัมพันธ์แบบที่ทำให้เราใช้ชีวิตด้วยกันได้  เราอาจถอยจากประสบการณ์หลอนๆ เช่น ผู้ใหญ่ไม่ฟังเรา ทำไมเขาตัดสินเราอย่างนี้ และเพิ่มความเข้าใจมากขึ้นว่า เขาเจออะไรมา อะไรทำให้เขามาเป็นแบบนี้  เราไม่รู้ว่าการเข้าใจกันจะทำสังคมเปลี่ยนได้มากแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็เริ่มจากตัวเรา เราจะสบายใจที่อยู่กับคนที่ต่างจากเราได้”

“สิ่งที่ทำได้คือการเปิดใจเพื่อให้เรามีโอกาสในการรับฟังเพื่อเข้าใจกันมากขึ้น อย่าคิดแทนหรือตัดสินคนอื่นทั้งที่ไม่รู้ หรือทำเป็นรู้ เพราะเราไม่ได้เติบโตมาพร้อมเขา ไม่ได้ไปนั่งอยู่ในหัวใจของเขา บางทีถ้าเรารู้เรื่องของเขาทั้งหมด อาจตกใจกว่านี้” เอิร์น เห็นด้วยกับกอเตย  “เรื่องที่เราเจอว่าใหญ่แล้ว เรื่องที่คนอื่นเจอมันก็ใหญ่สำหรับคนอื่นเช่นกัน อย่าคิดว่าความเจ็บปวดในใจของเรายิ่งใหญ่ไปกว่าใคร เพราะหากเราต้องการจะเข้าใจกันจริงๆ เราควรเข้าใจว่า ทุกคนต่างมีเรื่องราวที่พบเจอ อย่าคิดว่าใครต้องเข้าใจเรา หรืออย่าพยามจะเข้าใจใครขนาดนั้น แค่รับรู้ รับฟัง อยู่ข้างๆ ก็ดีมากแล้ว”

 “การจะเข้าใจความแตกต่าง บางทีอาจต้องพยายามเป็นอีกคนหนึ่งดู” ฟิล์ม เล่าถึงเครื่องมือต่างๆที่เคยเห็นหรือทดลองเล่น “ผมนึกถึงรายการของ The Try Guys เป็นยูทูปชาแนลที่ดังมาก มีผู้ชายสี่คนไปลองเรื่องต่างๆ ครั้งหนึ่งเป็นแคมเปญวันแม่ เขาจำลองประสบการณ์การคลอดโดยติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไว้ที่ท้อง เพื่อให้รับรู้ว่าผู้หญิงเจ็บปวดขนาดไหนตอนคลอด สำหรับผมมันสนุกมากกับการที่เราพยายามเป็นอะไรที่เราเข้าใจน้อยมากๆ เป็นแคมเปญวันแม่ที่ไม่ต้องซาบซึ้งเลย แต่สนุก และมีคนดูเยอะมาก ในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ การพยายามดูการ์ตูนที่เขาดูกัน หรือเล่นเกมที่เขาเล่นกัน มีหลายเกมสนุกมาก ก็ช่วยทำให้เข้าใจมุมมองที่เขามีต่อโลกมากขึ้น”

ทักษะใหม่ๆ วิธีใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ

  1. เปลี่ยนอดีตแย่ๆให้เป็นเรื่องดี

ฟิล์ม แชร์ข้อค้นพบจากการทำงานกับวัยรุ่นจำนวนมาก “เราเลี่ยงเหตุการณ์เลวร้ายได้ยากมาก มีศัพท์หนึ่งที่ผมชอบมาก ‘Stealing effect’ คือทักษะในการเปลี่ยนเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตให้เป็นประสบการณ์เชิงบวก เป็นหนึ่งในสุขภาวะทางปัญญาที่สำคัญมาก การยอมรับว่าความเลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะเรา แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอก เช่นเดียวกับเวลาที่เรารู้สึกดีหรือประสบความสำเร็จ การยอมรับว่าความสำเร็จเป็นเพราะเรา ไม่ได้เป็นเพราะบุญทำกรรมแต่งหรือปัจจัยภายนอก นี่เป็นเรื่องท้าทายว่าจะทำสิ่งนี้ให้เป็นทักษะของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร”

เรื่องเล่าของฟิล์ม ทำให้ เล้ง คิดตามด้วยประสบการณ์ของนักจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านใน “เราน่าจะทำเวิร์กชอปง่ายๆเพื่อสร้างเงื่อนไขให้คนมีโอกาสกลับไปทบทวนเรื่องยากๆบางเรื่องที่เขาไม่กล้าเผชิญ เพื่อเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนประสบการณ์ตรงนั้น”

  • สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนและรับฟังด้วยใจ

นาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงาน อาสาคืนถิ่น ที่ต้องดีลกับคนหลายรุ่น “มีครั้งหนึ่งที่พี่ๆเบบี้บูมเมอร์เขาเอาบทเรียนที่เขาเจอมา ทำมา และเดินผ่านมาก่อน มาแชร์ให้น้องฟัง แล้วถามว่า ถ้าพวกคุณจะเดินตามผมหรือผลิตซ้ำมันจะดีไหม เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเหมือนเพื่อน เด็กๆก็คิดกันว่า ถ้าอยู่ช่วงเวลานั้นผมน่าจะลำบากมาก ไฟฟ้าก็ไม่มี ทำไมพี่ทำได้ แล้วคุยกันต่อว่า ถ้าตอนนี้พี่เป็นผม พี่จะทำอย่างไร ก็เข้าอกเข้าใจกัน เป็นการสื่อสารที่ดี เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน เป็นวงคุยที่ทรงพลังมาก”

“เหมือนวงคุยของเราวันนี้” กอเตย เสริม พอเรามาอยู่ในอ่างอย่างนี้ เราไม่คิดว่าตัวเองจะได้แหวกว่ายลงไปก้นอ่าง ไปแตะเรื่องราวข้างใน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรารู้สึกว่าถูกโอบอุ้ม แม้จะยังไม่มีฮาวทูในการแก้ปัญหา ไม่มีวิธีการว่าเราจะหลุดพ้นจากสิ่งนี้ได้อย่างไร แต่พอเรารับฟังกันด้วยใจจริงๆ เปิดกว้างจริงๆโดยไม่ถูกตัดสิน แค่นี้ก็ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นมากแล้วว่า เออ ยังมีพื้นที่แบบนี้ให้เราได้พูดเรื่องราวลึกๆข้างในบางอย่าง ขอบคุณทุกคนมากๆนะที่มาคุยกัน”

  • ร่วมกันออกแบบนโยบายเพื่อคนทุกวัย

ที่จริงความแตกต่างระหว่างวัยมีข้อดีมากๆอยู่ด้วย และวงสนทนาก็เห็นสิ่งนี้ “ช่องว่างระหว่างวัยเปิดโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวตกรรมใหม่ๆในสังคม อย่างประเทศญี่ปุ่น เขานำคนทุกกลุ่ม ทุกวัย มานั่งคุยกันเพื่อออกแบบนโยบายของประเทศ เป็นนโยบายของทุกคนจริงๆ ไม่ใช่นโยบายที่เราต้องใช้ร่วมกันแต่ออกมาจากคนกลุ่มหนึ่งหรือวัยหนึ่ง ส่วนที่สิงคโปร์ มีหมู่บ้านหนึ่งที่พยายามออกแบบหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาเรื่องว่างระหว่างวัย มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันและกลายเป็นนวัตกรรมทางสังคม” เอิร์น เปิดประเด็น

สอดคล้องกับมุมมองของ ฟิล์ม ที่เล่าถึงเครื่องมือทำนโยบายด้านประชากรศาสตร์ชื่อ Cross generational design หรือการออกแบบนโยบายข้ามวัย โดยคนทุกวัยเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองคนในสังคมหรือชุมชน “บ้านเก่าผมที่นนทบุรีมีศูนย์สุขภาพที่สร้างจากภาษีของประชาชน แต่คนที่จะใช้ได้ต้องอายุ 60 ขึ้นไป ทั้งที่จริงๆแล้วคนอายุ 60 ก็พาลูกหลานไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะด้วย ถ้าเราใช้เครื่องมือ Cross generational design เวลาเราพูดถึงสังคมสูงวัย เราจะไม่นึกถึงคนสูงวัยอย่างเดียว แต่คิดถึงคนวัยอื่นๆด้วยที่ต้องช่วยเหลือกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ปัจเจกชนได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวด้วย”  

“ทางสิ่งแวดล้อมก็มีคำว่า Intergenerational justice คือความความยุติธรรมระหว่างรุ่น” เกิ๊ก ซึ่งจบปริญญาโททางสิ่งแวดล้อมเสริม คนที่โตมาในวัยที่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสงคราม มีสังคมเผด็จการ มีการกดขี่แบบชายเป็นใหญ่ ก็โอเคที่จะย้ำมากขึ้นในเรื่อง fight for the right things ในแนวคิดนี้ การไปด้วยกัน เข้าใจกัน และมีความสุขด้วยด้วยกันของคนทุกรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผมยังไม่มีคำตอบว่าฝ่ายไหนควรปรับเข้าหาฝ่ายไหน คำคือที่ผมมนึกถึงมากกว่าตอนนี้คือ tolerant – ความอดทนอดกลั้นระหว่างกัน”

ปัญญาจากคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง มีทางออกสำหรับปัญหาของยุคสมัยที่เขากำลังเผชิญ และต้องอยู่กับมันไปอีกยาวนาน อีกไม่กี่ปีพวกเขาจะเป็นผู้นำของสังคมแทนที่คนรุ่นก่อนหน้า ความรู้ร้อนรู้หนาวต่อสถานการณ์ทางสังคมที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนของคนรุ่นพวกเขา ทำให้ข้อค้นพบในวงสนทนาของพวกเขาน่าฟังมากๆ และประสบการณ์การทำงานสุขภาวะทางปัญญาก็คงมีส่วนสำคัญในการปั้นแต่งมุมมองและทักษะของพวกเขาด้วย ทั้งความสามารถในการใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวเอง การเยียวยาพลังด้านลบและเติมพลังด้านบวก การตั้งคำถามลึกๆเพื่อสืบค้นที่มาของปรากฏการณ์ที่เห็น รวมทั้งการเปิดใจรับฟังและสร้างพื้นที่ปลอดภัยในความสัมพันธ์

ถ้าจะนำคำแนะนำของพวกเขามาเป็นเครื่องมือนำทางในการเผชิญความติดขัดและแตกแยกซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญของยุคสมัยล่ะ

ว่าแต่คุณพร้อมจะทดลองไปด้วยกันหรือยัง

#เชื่อมgenเชื่อมใจ

#คนทำงานสุขภาวะทางปัญญา

#ปัญญาความสุข

โดย ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา
เรื่อง
: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์  ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save