8 ช่องทางความสุข

จากเด็กท้องนาสู่อาจารย์สอนศิลปะเพื่อชุมชน

“คนที่มาเป็นครูส่วนใหญ่จะมีความสุขจากการเห็นคนอื่นมีความสุข ตั้งแต่สมัยเรียน เราได้รับจากคนอื่น ได้รับจากครู ได้รับทุนการศึกษา ทั้งน้ำใจไมตรี หรือเห็นคนอื่นเป็นผู้ให้ แล้วเห็นความสุขของเขา วันหนึ่งเราอยากจะเป็นผู้ให้อย่างนั้นบ้าง”  ผศ. ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจของการเป็นครูสอนศิลปะที่พร้อมจะเป็น “ผู้ให้” สิ่งดีๆ คืนกลับสู่สังคมเหมือนที่ตนเองเคยได้รับมาในวัยเยาว์

“ผมเป็นคนต่างจังหวัด อยู่ชัยภูมิ บ้านไม่มีไฟฟ้า เราเห็นคุณค่าของความเป็นครูในพื้นที่ห่างไกลในชนบท  ครูคือทุกสิ่งอย่าง เป็นผู้รู้ ผู้ให้ เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน แม้ว่าค่านิยมสำหรับคนที่ได้ชื่อว่า “เรียนเก่ง” ในสมัยนั้นต้องเป็นหมอ ตอนอยู่ ม.ต้น เราเรียนได้เกรดอันดับหนึ่งของโรงเรียนก็เลยคิดว่าต้องเป็นหมอ แต่ลึกๆ เราชอบและศรัทธาในอาชีพครู ประกอบกับเราชอบวาดรูป จึงตั้งใจเรียนวิชาการควบคู่กับการวาดภาพอย่างจริงจัง ส่งประกวดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รางวัลทุกปี พอจบ ม.ต้น จะเรียนต่อ ม.ปลาย ต้องไปสอบเข้าโรงเรียนอื่น เพราะโรงเรียนเดิมมีถึงแค่ระดับ ม.ต้น ช่วงนั้นมีครูศิลปะที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่จังหวัดเลย คือ ครูสังคม ทองมี เราจึงตัดสินใจไปเรียนในโรงเรียนที่ท่านสอน เลือกเรียนสายวิทย์-คณิตตามความเชื่อ แต่ก็วาดรูปประกวดอย่างจริงจังเช่นเคย เพราะที่บ้านไม่ค่อยมีฐานะ การได้รับรางวัลจากการประกวดวาดภาพก็เป็นทุนการศึกษาให้กับตนเองไปในตัว พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรกับการเรียนศิลปะเพราะจริงๆ แล้ว สมัยนั้นคนที่ต่างจังหวัดไม่ค่อยได้เรียนต่อกันเยอะ แม่แค่อยากให้เรียนจบสูงๆ เรียนอะไรก็ได้”

มีครูสังคม (ทองมี) เป็นไอดอล เราศรัทธาอาชีพครูอยู่แล้ว ครูสังคมเป็นแบบอย่างให้เรามีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น การมีความเชื่อเรื่องการทำความดี การเกิดมาอย่างมีคุณค่า ชีวิตเรามาจากศูนย์ สิ่งที่เรามีในวันนี้ มาจากการได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นทั้งนั้น  ดังนั้นถ้าเราทำงานมีเงินเดือน มีชีวิตสบายไปวันๆ ผมว่าเสียชาติเกิดพอสมควร แต่อาชีพครูเป็นอาชีพที่ได้ทำงานและได้ให้คนอื่นไปด้วยในตัว คุณจะคิดหรือไม่คิดก็แล้วแต่ แต่คุณได้ให้ตลอดเวลาที่ทำงาน จึงถือว่าเกิดมาไม่สูญเปล่า

หลังจากเรียนจบ และเป็นครูในระบบโรงเรียนอยู่พักหนึ่ง อาจารย์ก็เริ่มทำตามความฝัน “หลังจากจบโทจากออสเตรเลีย ก็มาเป็นครูสอนในโรงเรียนเอกชนโปรแกรมอินเตอร์ และอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนจิตรลดา ก็คิดว่าเรามาจากบ้านนอก แล้วเรามาทำอะไรอยู่ที่นี่ เป็นครูสามปี จึงอยากกลับไปอยู่บ้านนอก  แต่ก็อยากเรียนให้จบด๊อกเตอร์ แล้วทำงานเกี่ยวกับชนบท  เลยไปเรียนที่อังกฤษ เพื่อจะกลับไปอยู่บ้านนอก หัวข้อที่เรียนจะเกี่ยวกับชนบท เราไม่ได้ไปเรียนเพื่อเอาสไตล์ เราไปเอาปรัชญา พอเราได้ปรัชญา เราจะอยู่ตรงนั้นได้อย่างมีความสุข  เราจะได้ให้ปรัชญากับศิลปินที่อยากทำงานเกี่ยวกับชนบทที่ไม่ใช่การมานั่งวาดรูปเพียงอย่างเดียว”

ในช่วงเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษจนกระทั่งเรียนจบ อาจารย์อภิชาติได้เริ่มเป็น “ผู้ให้” ตามที่ตั้งใจไว้ “เรานำงานศิลปะไปสู่ชุมชน ทำศูนย์ศิลป์ที่ชัยภูมิ  เปิดบ้านเป็นศูนย์ศิลป์ สอนเด็กวาดรูปฟรี  มีเพื่อนศิลปินต่างชาติมาร่วมทำงานศิลปะ และทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านด้วย  ศิลปินคนหนึ่งได้ออกแบบลายผ้าโดยได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน แล้วจ้างแม่บ้านทอผ้าไหมจากลวดลายที่เขาออกแบบ เสร็จแล้วจัดนิทรรศการให้ชาวบ้านได้ชม และจัดแสดงต่อที่กรุงเทพฯ และที่อเมริกา” 

เราอาจจะเป็นศิลปินเขียนรูป แต่ว่าสิ่งที่เราได้ไม่ใช่แค่วาดรูป เรามองเห็นคุณค่าของความเป็นครูแบบเดิมที่พูดไว้ เราอยากไปอยู่ชนบท อยากไปเป็นศิลปินที่อยู่บ้านนอก คิดว่าถ้าไปอยู่ตรงนั้น ต้องพยายามเอาศิลปะกับวิถีชีวิตของชนบทมาอยู่ด้วยกันให้ได้

แต่การเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องง่าย “ตอนนั้นนึกถึงการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ห่างไกลยาเสพติด มันเป็นความจริงมากๆ สมัยนั้นยาบ้าระบาดเยอะ เราอยากจัดให้เด็กได้มาใช้เวลาเรียนศิลปะกับเรา แต่ไม่รู้จะทำยังไง ก็นั่งวาดรูปไป อยู่ไปสักพักก็มีเด็กมาถามว่าหนูเข้ามาวาดรูปด้วยได้ไหม พอเข้ามาคนหนึ่งก็แห่กันมาเต็มเลย”

ปัจจุบันอาจารย์อภิชาติเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชา ศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสวมหมวกอีกใบในฐานะ หัวหน้าภาควิชา และ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมครุศิลป์สู่สังคม และชมรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ Club) อาจารย์ได้นำปรัชญาความสุขแห่งการให้ไปถ่ายทอดแก่นิสิต ผ่านทางกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ในความเป็นครู ต้องให้ศาสตร์เกี่ยวกับการสอน และเรื่องจิตใจที่จะเป็นครู เป็นผู้ให้ควบคู่กันไป เราอยากให้ลูกศิษย์เราได้รับโมเมนต์ของการเป็นผู้ให้ เขาจะได้เห็นคุณค่าของการให้ ไม่วันนี้ก็วันหน้า วันนี้บางคนอาจมีบ่นว่าเหนื่อยบ้าง บางคนเห็นคุณค่าเลย บางคนเห็นปีหน้า หรือไม่ก็อีกสิบปีข้างหน้า เขาอาจจะทำงานอยู่ในองค์กรใดองค์หนึ่ง โดยมีสิ่งนี้อยู่ในหัวเขา หน้าที่ของเราตอนนี้คือสร้างโอกาสให้เขาไปสัมผัสประสบการณ์ที่มีคุณค่าในการเป็นผู้ให้ การเห็นความสุขของคนอื่น หรือ การมีความสุขบนความสุขของคนอื่นนั่นเอง

ที่สาขาวิชาจะมีวิชาศิลปะในสิ่งแวดล้อมเทอมแรกของปี 4 ที่จะสอนนิสิตให้ทำสิ่งแวดล้อมให้สวยงามน่าอยู่ มีการพานิสิตลงชุมชนเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตคนในชุมชน และนำเรื่องราวมาวาดภาพลงบนกำแพง

“ก่อนลงมือวาดจะใช้เวลา 1 – 2 วันพาเด็กลงพื้นที่เพื่อสำรวจพูดคุยกับคนในชุมชน กลับมาสเก็ตช์แบบ แล้วลงไปวาด และตกแต่ง สิ่งที่ได้คือการไปอยู่ในชุมชนที่มีความแออัดและร้อน เหงื่อโซมกาย ทุกอย่างเป็นให้ล้วนๆ แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้รับอะไรตอบแทนในทันที แต่รูปที่วาดจะอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี  ฉะนั้น เหงื่อหยดแค่สี่ห้าวัน แต่สิ่งที่คนอื่นจะได้มีความสุขกับสิ่งที่เราสร้างไว้ยาวนาน มันเป็นสิ่งที่คุ่มค่าที่สุด”

“ในอีกเทอมจะมีวิชาที่ให้ทำโปรเจคชุมชน อย่างเช่นทำแผนที่เดินดินในมุมศิลปะ ทำเกี่ยวกับวิถีชีวิต เป็นการเรียนรู้ของมนุษย์ในแนวทางศิลปศึกษา ขณะที่ทำศิลปะคุณได้เรียนรู้คนอื่นและตนเอง ผมให้นิสิตสัมภาษณ์คนในอาชีพต่างๆ เช่น แม่ค้าขายของ  คนขับตุ๊กตุ๊กให้เขาไปสัมภาษณ์พูดคุยแล้วนำมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ และให้เล่าว่าได้เรียนรู้อะไรมา เช่น มีคนหนึ่งที่ไปสัมภาษณ์ สัปเหร่อ เมื่อไปสัมภาษณ์เขาจะเห็นอีกโลกหนึ่ง ความศรัทธาในคนอื่นจะเพิ่มมากขึ้น  ได้เรียนรู้อาชีพของเขา ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์  ให้นิสิตสังเคราะห์ออกมาเป็นหนึ่งประโยคที่นิสิตได้เรียนรู้ ซึ่งนิสิตสรุปเป็นประโยคได้ว่า ทำศพแต่ไม่เป็นศพ คือเห็นว่าคนที่ทำงานกับศพก็มีชีวิตจิตใจแบบคนอื่นๆ”

“ขณะที่เราเรียนรู้จากเขา สิ่งหนึ่งที่ได้ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้สำหรับนิสิตคือ  คนที่ถูกเราไปสัมภาษณ์และเรียนรู้ เขาก็รู้สึกว่าเขาเองมีความสำคัญด้วย ถือเป็นการให้อย่างหนึ่ง  ผมว่ามันเป็นการสร้างสังคมให้น่าอยู่ขึ้น”

นิสิตที่จบออกไป อาจไม่ได้เป็นครูทั้งหมด แต่ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้เป็นประโยชน์แน่นอน อย่างที่อาจารย์อภิชาติมองว่า “การเป็นครูมี 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง เป็นครูในระบบ สอง ครูในหัวใจ ครูไม่ต้องไปอยู่ในระบบราชการก็ได้ บางคนทำงานอยู่ในบริษัทแต่หัวใจความเป็นครูยังอยู่  ความเป็นคนที่อธิบาย ถ่ายทอดความรู้ต่างๆได้ชัดเจน เด็กจบไปไม่ได้เป็นครูในระบบทุกคน มีเปอร์เซ็นต์น้อย และในระบบก็อยู่ยาก  ด้วยความเป็นคนศิลปะ  ระเบียบกฎเกณฑ์บางเรื่องมันไม่ถูกจริตกับครูศิลปะ จึงต้องไปใช้ความรู้และความเป็นครูให้เกิดประโยชน์ในบริบทอื่นๆ”

ในอีกบทบาทหนึ่ง อาจารย์ก็ยังคงเป็นผู้สร้างงานศิลปะ หนึ่งในผลงานที่ภาคภูมิใจคือการสร้างพระพุทธรูปที่วัดบูรพาราม วัดเล็กๆ ที่บ้านเกิด ในอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ  

“วัดที่อยู่ใกล้บ้านเรามีอายุแปดสิบปี ไม่เคยมีโบสถ์ เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว เจ้าอาวาสก็เริ่มสร้างโบสถ์ เราเชื่อเรื่องบุญจึงอยากมีส่วนร่วม เลยขอเจ้าอาวาสว่าขอสร้างพระประธานในโบสถ์ เดิมทีตั้งใจว่าจะรวบรวมปัจจัยไปบูชาหรือซื้อมาถวาย แต่พอนึกได้ว่า สมัยเรียนที่จุฬาฯเราก็ได้เรียนปั้นมาบ้าง แม้การเรียนปั้นเป็นอะไรที่ใช้เวลามาก ซึ่งเราก็ไม่ค่อยมีเวลามากนักเพราะต้องทำงานพิเศษหลายอย่าง แต่ก็ตัดสินใจเรียน เพราะคิดว่า วันหนึ่งเราจะกลับไปเป็นครูบ้านนอก จะต้องได้ใช้วิชาการปั้นรับใช้งานบุญต่างๆให้หมู่บ้าน สามสิบปีผ่านไป ก็คิดว่าโอกาสมาถึงแล้ว เลยตัดสินใจปั้นเองดีกว่า จากที่ว่าจะบูชามาถวายเอาบุญแบบง่ายๆ กลายเป็นปั้นเอง และตั้งใจจะปั้นให้สวยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้ได้ลักษณะตามแนวคิดที่เราคิดว่าเหมาะสมกับองค์ประกอบหลายๆอย่างของหมู่บ้าน จึงใช้เวลาปั้นถึงสี่ปี

“พอมีองค์พระประธาน ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในวัดหลายอย่าง เจ้าอาวาสที่เคยจำวัดอยู่กุฏิก็เปลี่ยนไปจำวัดในโบสถ์ สวดมนต์ทำสมาธิทุกวัน จากนั้นก็จัดสวดมนต์วันปีใหม่ และมีกิจกรรมงานบุญเกิดขึ้นอีกหลายงาน จำนวนพระก็มากขึ้น นี่คืองานศิลปะที่ผมตั้งไว้ ให้เป็นศูนย์รวมศรัทธาแห่งความดี เป็นสิ่งที่เรามอบให้ชุมชน ถ้าเรามีเวลาเราก็จะไปสร้างศิลปะเพิ่มเติมที่วัด หรืออาจจะจัดทีมไปสอนเด็กมัธยม และชาวบ้านให้เขาสานต่อการสร้างงานศิลปะเพื่อส่งเสริม คุณธรรม ศีลธรรม ในชุมชน”

สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือการได้เป็นครูศิลปะ มันครอบคลุมทุกอย่าง ภูมิใจที่ได้ทำอย่างที่ผมตั้งต้นไว้ว่า เกิดมาต้องทำให้ชีวิตมีคุณค่า ต้องเป็นผู้ให้

ทุกวันนี้อาจารย์อภิชาติยังคงทำหน้าที่ “ผู้ให้” ทั้งในบทบาทของครูสอนศิลปะและผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมศิลปะเพื่อชุมชนให้กับภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข และเป็นแบบอย่างอาจารย์ศิลปะเพื่อชุมชนที่นักศึกษาต่างเคารพรักและซึมซับประสบการณ์ดีๆ ไปใช้ในชีวิตหลังรั้วมหาวิทยาลัยต่อไป

 

ศิลปะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save