8 ช่องทางความสุข

ส่งมอบความรักศิลปะสู่คนรุ่นใหม่จากใจครูเป้ สีน้ำ

ณ โรงเรียนธรรมชาติบ้านริมน้ำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

เด็กหนุ่มวัยมัธยมร่างสูงโปร่งสวมแว่นตากำลังนั่งหลังงอก้มหน้ากดดูโทรศัพท์มือถือตามประสาวัยรุ่นทั่วไประหว่างนั่งรอครูสอนศิลปะเตรียมอุปกรณ์วาดรูปอยู่ในบริเวณเดียวกัน พอถึงเวลาเริ่มเรียนพื้นฐานการวาดรูป หนุ่มน้อยเงยหน้าขึ้นมองครูแต่หลังยังโก่งงอเหมือนเดิม ครูจึงกล่าวตักเตือนให้เปลี่ยนอริยาบทใหม่ก่อนเริ่มสอน

“นักวาดรูปต้องไม่นั่งก้มหน้า หลังงอ เพราะจะทำให้องศาในการวาดเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่ติดนิสัยก้มหน้ามองมือถือ ชอบนั่งหลังงอ เสียบุคลิกภาพ และส่งผลต่อการวาดรูปด้วย”

น้ำเสียงจริงจังของครูทำให้หนุ่มน้อยรีบยืดตัวนั่งหลังตรง  แววตาครูสอนศิลปะที่ยืนอยู่เบื้องหน้าแสดงความห่วงใยศิษย์อย่างจริงใจ  ไม่ว่านักเรียนที่มาตามหาความสุขจากการวาดรูปที่โรงเรียนธรรมชาติบ้านริมน้ำแห่งนี้จะเป็นรุ่นเล็กวัยอนุบาลหรือรุ่นสูงวัย ทุกคนล้วนสัมผัสได้ถึง “ความปรารถนาดี” จากครูสอนศิลปะที่ชื่อ “ครูเป้ สีน้ำ” ได้เป็นอย่างดี

“ครูรู้ดีว่าเด็กไม่ชอบให้โดนตำหนิ  แต่มันต้องเป็นความกล้าหาญของครูที่จะยอมให้ลูกศิษย์เกลียดหรือโกรธ ถ้าครูดุเด็กถึงความบกพร่องจนเขาโกรธ แล้วไม่ลืมความบกพร่องตรงนี้ ความโกรธก็จะเป็นประโยชน์  ความยากของการเป็นครู คือ จิตวิญญาณความเป็นครูไม่มีขาย ถ้าเรามีกล่องดวงใจครูใส่ตู้หยอดเหรียญขายก็คงจะดี แค่เอาเหรียญไปหยอดตู้ เอากล่องดวงใจมาใส่ แล้วไปทำหน้าที่ครู ที่เหลือก็คงจะง่าย”

ครูเป้กำลังสอนเด็กๆ ที่มาเรียนศิลปะที่โรงเรียนธรรมชาติบ้านริมน้ำ (ขอบคุณภาพจาก FB โรงเรียนธรรมชาติบ้านริมน้ำ)

เรียนรู้สัจธรรมผ่านการวาดรูป

ถ้าใครเคยมี “ปมศิลปะ”  บอกกับตัวเองเสมอว่า “วาดรูปไม่สวย” แล้วได้มาเรียนวาดรูปกับครูเป้ รับรองว่า “ปม” ที่เคยถูกมัดไว้ในใจจะได้รับการคลี่คลายกลายเป็นความสุขจากการวาดรูปแทนเพราะครูสอนศิลปะท่านนี้มักจะบอกศิษย์ทุกคนว่า “ไม่มีใครวาดรูปไม่สวย”  ในโลกของศิลปะงานทุกชิ้นมีความงามในแบบของตนเอง คนที่กังวลใจคิดว่าตนเองวาดรูปไม่สวย แสดงว่าคนนั้นอยากเป็น “นักก้อปปี้ภาพ” ให้เหมือนต้นแบบ มากกว่า  อยากเป็น “จิตรกร”  ผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระ

ที่โรงเรียนธรรมชาติบ้านริมน้ำแห่งนี้มีหลักสูตรสอนศิลปะที่ออกแบบโดยครูเป้หลากหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะหลักสูตรสั้นวันเดียวจบหรือหลักสูตรยาวหลายวัน เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ครูสอนศิลปะท่านนี้สามารถถ่ายทอด “หัวใจ” ของการวาดรูปออกมาได้อย่างลึกซึ้ง จนสามารถ “คลี่คลายปม” ในใจของคนที่อยากวาดรูปแต่ใจไม่กล้าพอได้อย่างง่ายดาย

“เราต้องใช้หลักการวาดรูป ถ้าไม่มีหลักการ เราก็จะด้นไปตามที่เราเข้าใจ พอถึงระยะหนึ่งก็จะเริ่มเบื่อ แต่ถ้าเราวาดโดยมีความรู้และความเข้าใจในหลักการ เราจะไม่เคยรู้สึกเบื่อ เพราะเมื่อเราเข้าใจจากภายในจนเราวาดรูปได้แล้ว เราก็จะวาดได้ตลอดไป เหมือนคนว่ายน้ำเป็นหรือถีบจักรยานเป็นแล้วก็จะทำได้ไปตลอดชีวิต เพราะความรู้ไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าใครฝึกเฉพาะทักษะโดยปราศจากความรู้ พอไม่ได้วาดนานๆ จะกลับมาวาดอีกทีอาจวาดไม่ได้แล้ว การทำงานแบบไม่มีหลักการจะไม่สามารถทำซ้ำแล้วได้ผลแบบเดิม กลายเป็นตำราหรือทฤษฎีไม่ได้ เป็นแค่ทักษะส่วนบุคคลที่ไม่สามารถสอนให้คนอื่นทำตามได้”

ครูเป้กำลังสอนเรื่องทฤษฎีการใช้สีน้ำก่อนพาลงเรือในคอร์สล่องเรือวาดรูป (เครดิตภาพ : วันดี สันติวุฒิเมธี)

หลักสูตรศิลปะของครูเป้จะเน้นการวาดรูปจากสิ่งที่มองเห็นในธรรมชาติ อาทิ ต้นไม้ สายน้ำ หรือวิวทิวทัศน์รอบๆ หลักการวาดรูปที่ทุกคนจะได้เรียน คือการวาดรูปภายในรูปทรงกลม ซึ่งเป็นวิธีฝึกวาดรูปสำหรับมือใหม่ที่ทำได้ไม่ยาก

“คำว่า ‘รูป’ คือสิ่งที่เราสัมผัสทางตา เป็น perspective ของแสง ดวงตาจึงเป็นเครื่องมือวาดรูปที่สำคัญ เราต้องบันทึกสิ่งที่สายตาเห็นตามแนวองศา ระยะ มิติ โดยเริ่มจากการวาดวงกลมตามกลุ่มของวัตถุที่ตามองเห็น พอได้กลุ่มแล้ว การทำงานของเราจะง่ายขึ้น เพียงแค่ใส่รายละเอียดย่อยลงไป เปรียบเหมือนการปลูกบ้านต้องกระจายออกทั้ง 360 องศา   เพิ่มน้ำหนักไปตามลำดับจากอ่อนไปเข้มตามสิ่งที่สายตามองเห็น ตรงไหนโค้งก็โค้ง หลักการสำคัญคือต้องอยู่ในความกลม เพื่อหาขอบเขตในพื้นที่ที่เราวาด ไม่ใช่เดินทางกลางทะเลทรายแบบไร้จุดหมาย”

หลังจากมองเห็นวงกลมของวัตถุซ้อนกันอยู่ในภาพแล้ว ครูเป้จะสอนให้ใส่รายละเอียดของกิ่งก้านใบ โดยทำความเข้าใจเรื่องแสงกับเงาก่อนลงมือวาด เพราะนี่คือ “หัวใจ” ของการวาดรูป ซึ่งหากใครเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถวาดภาพที่มีมิติได้อย่างสนุกมากขึ้น

“การสร้างภาพให้มีมิติของแสงที่แตกต่างกันทำได้โดยการเพิ่มความเข้มเข้าไปทีละชั้น ส่วนที่ถูกแสงสว่างมากก็ปล่อยเว้นไว้ ไม่ต้องเพิ่มน้ำหนัก ส่วนที่มีความเข้มก็วาดทับเข้าไปทีละชั้น จนกระทั่งความเข้มและความสว่างเกิดการ “เปรียบเทียบ” ชัดเจนมากขึ้นเอง ถ้าเราใส่น้ำหนักความเข้มอ่อนไม่ครบ ภาพก็จะไม่สมบูรณ์”

ครูเป้จะเริ่มต้นจากการมองวัตถุเป็นวงกลมก่อนลงรายละเอียดด้านใน (เครดิตภาพ : วันดี สันติวุฒิเมธี)

การสอนเรื่องมองทุกอย่างให้อยู่ในวงกลมและมิติของแสงนับเป็นก้าวแรกของการเข้าไปสัมผัสความสนุกจากการวาดรูปที่มือใหม่หัดวาดทุกคนสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องกังวลถึงความสวยเหมือนต้นแบบแต่อย่างใด รอยยิ้มผ่อนคลายจากการได้จับดินสอขีดเขียนลงบนกระดาษวาดรูปจึงค่อยๆ ปรากฎขึ้นบนใบหน้าของผู้เรียน เพียงไม่นานทุกคนก็ได้ภาพวาดที่สวยงามในแบบตนเอง ครูเป้จึงมักบอกลูกศิษย์เสมอว่า ทุกคนสามารถวาดรูปได้เพราะสิ่งที่ครูนำมาสอนเป็นทฤษฎีของธรรมชาติที่ทุกคนเข้าไปสัมผัสได้ด้วยตนเองเหมือนดังเช่นการค้นพบสัจธรรมในพุทธศาสนา

สิ่งที่เราสอนเป็น “สัจจะ” หรือทฤษฎีของธรรมชาติที่จิตรกรทุกคนทั่วโลกก็รู้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ทฤษฎีของครูเป้ เหมือนสัจจะไม่ได้เป็นของพระพุทธเจ้า เป็นของกลาง เพียงแต่พระพุทธเจ้าเข้าไปพบแล้วหาวิธีอธิบายได้ ศิลปะจึงใกล้เคียงกับศาสนาด้วยเหตุผลนี้

 

ครูเป้เป็นทั้งครูสอนศิลปะและคนขับเรือพานักเรียนไปวาดรูปริมน้ำ เจอวิวตรงไหนเหมาะสำหรับสอนวาดรูปวิว ครูเป้จะ “ดับเครื่องชน” ปล่อยเรือติดกอผักตบชวาริมตลิ่ง แล้วเริ่มเปิดคลาสกลางแม่น้ำทันที (เครดิตภาพ : วันดี สันติวุฒิเมธี)

ความสุขของครูสอนศิลปะ

จิตรกรบางคนอาจเลือกทำงานวาดภาพและขายภาพวาดเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับครูเป้กลับเลือกทำทั้งสองสิ่งควบคู่กันไป เพราะ “ความเป็นครู” อยู่ในดีเอ็นเอมาตั้งแต่เกิด

“ผมโตมาในครอบครัวที่พ่อ พี่ชาย น้องชาย และพี่สะใภ้เป็นครู ทำให้เรามีจิตวิญญาณความเป็นครูเต็มเปี่ยม และผมมีครูเยอะมาก แล้วผมก็รักครู ผมมีสำนึกกตัญญูกับครูที่ทุ่มเทสอนผมอย่างเต็มที่ พอถึงวันที่ผมอยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ผมก็เลือกที่จะเป็นครู ทำหน้าที่ถ่ายเทประสบการณ์ ส่งไม้ผลัดให้คนอื่นต่อไป ผมสอนมาเกินยี่สิบปีแล้ว ไม่เคยเบื่อการสอนเลย”

ครูเป้ถ่ายทอดสิ่งที่มุ่งหวังจากการเลือกทำหน้าที่ครูสอนศิลปะผ่านแววตามุ่งมั่นที่อยากส่งต่อประสบการณ์และความสุขจากการทำงานศิลปะไปสู่คนรุ่นต่อไป

เราชอบส่งต่อประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจต่อเนื่องไป แล้วก็ไม่ได้หวังผลสำเร็จในงานของตนเองว่าจะเป็นศิลปินนามอุโฆษ งานที่เราทำอยู่ มันช่วยเยียวยาจิตใจเราทุกครั้ง ทุกครั้งที่เราจรดพู่กัน เราก็ได้พบกับความสุขจากการจรดพู่กันจากภายในของเราทุกวัน มันเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจเราให้มีชีวิตอยู่ในวันต่อไป ถ้าตัดความทะเยอทะยานออกไปได้ ชีวิตก็เป็นสุข ไม่ดิ้นรน ไม่แข่งขัน แต่ในทางศิลปะ เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ศิลปะมันมีเสน่ห์ตรงนี้

ถ้าใครเคยพาลูกมาเรียนศิลปะกับครูเป้ สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่สัมผัสได้คือ นอกจากครูเป้จะทำหน้าที่ครูสอนศิลปะแล้ว ครูคนนี้ยังทำหน้าที่ “อบรมบ่มนิสัย” ราวกับเป็นพ่อคนหนึ่งเลยทีเดียว

“ผมเป็นกลาง ไม่ได้เอาใจเด็ก แล้วก็ไม่ได้ไม่เอาใจเด็ก ทุกคนมีอิสระ เราทำหน้าที่ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ พูดในสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์กับเด็ก  ถ้าเด็กคนไหนง่วงนอน เราก็บอกให้ไปนอน ไม่ต้องถ่างตาเพราะเกรงใจครู ถ้าหายง่วงแล้วค่อยมาฟังต่อ พอหายง่วงก็สดชื่นขึ้น เราก็แค่บอกเด็กว่า ทีหลังอย่านอนดึก เด็กบางคนบอกว่าผมดุ แต่เราดุเพราะเราหวังดี เราต้องมีความกล้าที่จะยอมให้ลูกศิษย์เกลียดและโกรธ เราก็ใช้สิทธิความเป็นครู ส่วนใหญ่พ่อแม่จะชอบที่ผมดุแทน” (พูดแล้วยิ้มตาม)

ครูเป้พูดถึงสิ่งที่ต้องระวังในการสอนศิลปะสำหรับเด็กเล็กว่า ครูบางคนอาจทำให้เด็กหวาดกลัวมากเกินไปจนเด็กไม่มีความสุขกับการทำงานศิลปะ

“เวลาครูสอนให้เด็กฝึกวาดรูประบายสีให้อยู่ในภาพ ถ้าระบายเลยไปแล้วครูบอกว่าผิด เด็กคนนั้นอาจกลัวการวาดรูประบายสีไปเลย จริงๆ แล้วการระบายเลยออกไปนอกเส้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในความเป็นจริง เราจะมองเห็นสีจางๆ อยู่รอบๆ วัตถุเป็นเรื่องปกติ เหมือนน้ำหนักของแสงที่กระจายออกไป”

เมื่อถามถึงมุมมองต่อการสร้างจินตนาการในงานศิลปะ ครูผู้มากประสบการณ์ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“จินตนาการไม่ใช่สิ่งที่คิดขึ้นมาแบบเลื่อนลอย แต่มันอาจเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความเป็นจริงอีกชั้นหนึ่ง เพียงแต่เป็นความจริงที่ไม่เคยมีคนศึกษามาก่อน เช่น ถ้าเราใช้กล้องถ่ายภาพเจาะเข้าไปถ่ายใกล้ๆ หนวดของแมลงตัวหนึ่ง แล้วขยายสเกลจากมดแมลงมาเป็นสเกลมนุษย์ คนที่ไม่เคยเห็นภาพใกล้ๆ ของหนวดแมลงก็จะเข้าใจว่านี่มันจินตนาการล้ำลึกมากเลย แต่เมื่อศึกษาสิ่งต่างๆ ไปสู่ความเป็นจริง เราอาจพบว่าจินตนาการมันซ้อนอยู่ในความเป็นจริงอีกที และมันถูกนำมาผสมผสานกับประสบการณ์กลายเป็นสิ่งใหม่ที่เราเรียกว่าจินตนาการ”           

ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูอยากส่งต่อประสบการณ์ความรักงานศิลปะสู่คนรุ่นต่อไป ครูเป้จึงทำโครงการต้นกล้าศิลปะอบรมเด็กในต่างจังหวัดให้สนใจรักสิ่งแวดล้อมผ่านการทำงานศิลปะมาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว และยังคงมุ่งมั่นทำต่อไปเพราะต้องการใช้ความรู้และความรักในงานศิลปะตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่เกิดมา

ทุกวันนี้หลักสูตรกระทรวงศึกษาค่อยๆ ถอดวิชาศิลปะออกไปจากรั้วโรงเรียน แล้วเสริมวิชาที่ทำให้เด็กกลายเป็นหุ่นยนต์ ผมจึงทำโครงการจิตรกรรุ่นจิ๋วและโครงการต้นกล้าศิลปะ สอนให้เด็กรักสิ่งแวดล้อม เอาศิลปะมาเป็นสะพานให้เด็กเข้าไปรับรู้ความงามของธรรมชาติ แล้วเกิดสำนึกหวงแหน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ทำลายล้างธรรมชาติ นี่คืองานที่เราอยากจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ในฐานะที่เราเกิดในประเทศนี้ได้บ้าง

ขอบคุณภาพจาก FB โรงเรียนธรรมชาติบ้านริมน้ำ

ทุกวันนี้ครูเป้ยังคงมีความสุขกับการวาดรูปอยู่เสมอ และใช้การวาดรูปเป็นเครื่องพัฒนาจิตใจตนเองไปสู่หนทางพ้นทุกข์โดยไม่ต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามรูปแบบ

ถ้าวาดรูปอย่างมีหลักการ เราจะมีความเข้าใจมากขึ้นทุกครั้งที่ลงมือวาด เรียกว่าสอนตนเองได้  หรือ “จิตอบรมจิต”  ผมเติบโตไปเรื่อยๆ ไปในทางดิ้นรนหาวิธีพ้นทุกข์ มันยากที่คนจะพ้นทุกข์ แต่ถ้าเรามีการวาดรูปเป็นสิ่งคุ้มครองใจ ทำให้เราได้อยู่กับการพิจารณาตนเอง พิจารณาความเป็นจริง มันทำให้เรายอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้น

“การวาดรูปของผมจะใช้จิตที่เป็นกลาง จิตที่มีแรงบันดาลใจจากความงาม การวาดรูปสำหรับผมคือความสุข คนเราควรหาอะไรสักอย่างที่ทำแล้วมีความสุข ผมได้ค้นพบสิ่งนี้มาตั้งแต่วัยเด็กและยังคงมีความสุขกับการวาดรูปจนถึงวันนี้

 

 

ศิลปะ

เป้ สีน้ำ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save