ก้าวย่างเพื่อชีวิตไร้สารพิษของปรกชล อู๋ทรัพย์
คุณรู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้มีทารกบางคนเกิดมาพร้อมกับสารเคมีจากยาฆ่าหญ้าตกค้างในขี้เทา หรืออุจจาระของทารกแรกคลอดที่สะสมตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุสามเดือนและคนใกล้ตัวของเราต่างเป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้นทุกวัน เพราะเราอยู่ท่ามกลางอาหารที่มีสารพิษรอบตัว และดูเหมือนเราจะหลีกเลี่ยงชีวิตที่เต็มไปด้วยสารพิษได้ยากเหลือเกิน
.
ท่ามกลางปัญหาที่ดูยากจะแก้ไข ปรกชล อู๋ทรัพย์ หญิงสาวตัวเล็กผมซอยสั้นแววตามุ่งมั่นกลับมีความฝันอยากเห็นคนไทยห่างไกลจากสารพิษมากขึ้น เธอตัดสินใจเข้ามาทำงานรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของภาครัฐเพื่อชีวิตไร้สารพิษของคนไทยในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน (Thai-PAN)
.
ตลอดเวลากว่าหกปีที่ผ่านมา เธอเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดการยกเลิกกฎหมายนำเข้าสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงที่เกษตรกรใช้หลายชนิด รวมทั้งการผลักดันให้เกษตรกรไทยทำเกษตรยั่งยืนที่ไม่พึ่งพาสารเคมี แม้ว่าบนถนนที่อยากเห็นคนไทยมีชีวิตที่ปราศจากสารพิษจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมากมาย แต่เธอก็มีความสุขที่ได้เห็นดอกไม้ริมทางเริ่มผลิบานบนเส้นทางสายนี้และยังก้าวเดินต่อไปอย่างมุ่งมั่น
.
เส้นทางสู่เกษตรกรรมปลอดสารพิษเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรีทางด้านพันธุศาสตร์และปริญญาโททางด้านสหวิทยาการสาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องผลกระทบของการปลูกข้าวอินทรีย์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงนาและวิถีชีวิตชุมชน พบว่าจริงๆ แล้วการทำข้าวอินทรีย์เป็นสิ่งที่ทำได้ หากมีกลไกในการขับเคลื่อนให้เกษตรกรค่อยๆ ก้าวเดินออกจากแปลงนาสารเคมี โดยต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ “ใจ” ของเกษตรกรไทยก่อนเป็นอันดับแรก
.
“เราลงไปฝังตัวเก็บข้อมูลในชุมชนชาวนาอยู่สองปี แล้วพบว่าข้าวอินทรีย์จริงๆ แล้วทำได้ แม้ว่าจะถูกล้อมรอบด้วยนาเคมีก็ตาม เราเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิต ผลกำไร รายได้สุทธิ วิถีความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ต่างไปจากการทำนาเคมีลิบลับเลย แต่ว่าสาเหตุที่คนทำไม่ได้เพราะติดปัญหาเรื่องใจเป็นเรื่องสำคัญ วิธีคิดต่างๆ เป็นตัวฉุดทำให้เกษตรกรหลายคนไปไม่ถึง”
.
.
หลังเรียนจบปริญญาโทประมาณปี 2555 เป็นจังหวะที่องค์กรไทยแพน ซึ่งมีเป้าหมายทำให้คนไทยปลอดภัยจากเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่พอดี เธอจึงเริ่มก้าวเดินบนเส้นทางสายนี้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา งานของเธอต้องทำตั้งแต่ระดับครัวเรือนผลักดันครอบครัวเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรยั่งยืนไปจนถึงระดับโครงสร้างผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
.
สังคมไทยใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างสุ่มตรวจผักออกมาก็มีประมาณครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะซื้อในห้างหรือในตลาด มีตรารับรองหรือไม่มีก็ปนเปื้อน คนที่ถูกพุ่งเป้าคือเกษตรกรที่มักจะถูกพูดว่า คุณใช้ผิดวิธี ใช้มากเกินไป แต่ว่าในทางกลับกัน ทางภาครัฐอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีพวกนี้มา 50 ปี แล้ว ประเทศไทยไม่ได้ผลิตสารเคมีเหล่านี้เอง เป็นการนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้างเพื่อให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ เพราะสารหลายตัวส่งต่อถึงเด็กทารกในครรภ์เลย เช่น เด็กที่เกิดมาพร้อมยาฆ่าหญ้าตกค้าง ทั้งๆ ที่แม่ก็ไม่ใช่เกษตรกร แต่คุณอยู่ในชุมชนเกษตร คุณก็มีความเสี่ยงแล้ว\
.
แม้ว่างานของเธอจะเต็มไปด้วย “ปมปัญหา” ให้ต้องคลี่คลายหลายจุด และแต่ละจุดมีความซับซ้อนจนเหมือนจะเป็นเงื่อนตายที่ต้องใช้เวลาแก้ด้วยความอดทน แต่เธอก็ยังมองเห็นความหวังเล็กๆ อยู่เสมอ
.
“หลังจากทำงานมา 6 ปี เราเห็นการขยับนะคะ มีคนที่พอจะเริ่มเห็นปัญหาและอยากจะช่วยแก้ไข เช่น ผักผลไม้ที่ขายในห้างและตรวจพบว่ามีการปนเปื้อน เราเปิดเผยทุกยี่ห้อและทุกห้างที่เราไปทำว่าห้างคุณมีสารปนเปื้อนกี่เปอร์เซ็นต์ ทางห้างก็ให้ความร่วมมือพยายามแก้ไขปัญหา และเข้าถึงตัวเกษตรกรมากขึ้น ไปส่งเสริมและชี้ปัญหา ให้เกิดการแก้ไขร่วมกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี”
.
หากเราแบ่งจิ๊กซอว์ตัวใหญ่ออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือเกษตรกรผู้ผลิต ส่วนที่สองคือผู้บริโภค และส่วนที่สาม คือหน่วยงานของรัฐ เราจะพบว่าจิ๊กซอว์ที่นำมาต่อให้ลงรอยกันยากที่สุดก็คือหน่วยงานภาครัฐ เพราะบางหน่วยงานมีเป้าหมายการทำงานที่แตกต่างกันคนละขั้ว
.
“หน่วยงานภาครัฐยังค่อนข้างขยับยาก บางหน่วยงานมีท่าทีที่ต่อต้านเราชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน เพราะอาจจะไปกระทบกับภาพลักษณ์ของหน่วยงานนั้น เช่น ตรามาตรฐานผักผลไม้ปลอดสารเคมีบางยี่ห้อยังคงพบสารพิษตกค้างกว่า 60 เปอร์เซ็นต์จากตัวอย่างที่เราสุ่มตรวจ หน่วยงานภาครัฐที่เราทำงานด้วยก็แสดงท่าทีแตกต่างกัน ถ้าเป็นกระทรวงสาธารณสุขจะมีท่าทีที่รับฟังมากกว่า เพราะงานของเราเพื่อสุขภาพของประชาชนที่ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสารเคมีจะมีท่าทีแตกต่างออกไป เพราะเราต้องรณรงค์ไม่ให้มีการนำเข้าสารเคมีหลายชนิด
.
“ถ้าเป็นเกษตรกรทั่วๆ ไปที่ไม่มีผลประโยชน์อื่น มีแต่เรื่องของตัวเองกับการปลูกพืชเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว จริงๆ ก็ไปคุยและเปิดใจเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องสุขภาพเป็นหลักก่อน เขาก็เข้าใจ และถ้ามีช่องทางการตลาด เขาบอกว่าเขายินดีปรับเปลี่ยน คือเขาปลูกอะไรก็ได้ที่ขายได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ใช่ว่าเราทำงานคนเดียว แต่เราทำงานร่วมกับเครือข่ายอีกจำนวนมากที่จะช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพใหญ่ร่วมกัน”
.
.
ผู้ประสานงานหญิงสรุปแนวทางทำให้สังคมไทยห่างไกลจากสารพิษตกค้างว่า การแก้ปัญหาจะต้องมีสามส่วนหลักๆ พร้อมกัน โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรมีกฎหมายควบคุมสารเคมีทางการเกษตรเป็นการเฉพาะแยกออกจากพ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยยึดหลักการระวังไว้ก่อน อาทิ พาราควอตเป็นยาฆ่าหญ้า หรือ คลอร์ไพริฟอสเป็นสารกำจัดแมลง ซึ่งพบมากเป็นอันดับหนึ่งของยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักผลไม้ มีผลต่อระบบประสาท โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ งานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศพบว่า เด็กที่ได้รับสารพิษเหล่านี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีเนื้อสมองฝ่อจนเป็นร่องใหญ่มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับสัมผัสสารพิษ ผลการติดตามพัฒนาการของเด็กเหล่านี้ตั้งแต่หลักเดือนจนถึงสิบกว่าปีพบว่าเด็กมีพัฒนาการช้าและมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ ซึ่งมีผลไปตลอดชีวิตเพราะว่าสมองจะไม่สร้างเนื้อเยื่อเพิ่มอีกแล้ว”
.
จุดสำคัญคือประเทศไทยเราไม่มีระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางอาหาร คือเราไม่มีการไปสุ่มตรวจสารพิษตกค้างอย่างสม่ำเสมอทั้งตลาด และไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลและใช้ข้อมูลได้ วันนี้เราไม่รู้เลยว่า ผักชนิดไหนเสี่ยง ผักชนิดไหนปลอดภัยกว่า และในแต่ละฤดูกาลก็ไม่รู้ ไปถึงแล้วยี่ห้อไหนมีปัญหาก็ไม่รู้ พอไม่รู้ไม่มีข้อมูล ผู้ประกอบการก็ไม่รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำของที่ปลอดภัย
.
แม้ว่างานนี้จะเต็มไปด้วยคลื่นลมพายุถาโถมมาจากหลายทิศทาง แต่หญิงสาวตัวเล็กๆ คนนี้กลับมองเป็นเรื่องสนุกและกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอไม่คิดท้อถอยออกจากถนนสายนี้
“จริงๆแล้ว งานนี้สนุกมาก เพราะในความเห็นที่ขัดแย้งทำให้เราเห็นคน วิธีคิด มุมมอง และสุดท้ายถ้าไม่มีอคติส่วนตัวหรือมีธงบางอย่างอยู่เบื้องหลัง คุยกันบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์เนี่ย เราจะเข้าใจกัน แต่ความที่ปัญหาใหญ่มาก จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า ภายใต้ข้อจำกัดของแต่ละคน แต่ละหน่วยงาน แต่ละบทบาท มันจะมาช่วยยกระดับเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันได้ยังไง อันนี้มันเป็นความท้าทาย ช่วงแรกๆ เวลาโดนโจมตีกันแรงๆ อาจเซไปบ้าง เพราะตอนนั้นยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่เคยท้อสักที”
.
คำถามสำคัญในฐานะประชาชนคนหนึ่งคือเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัย หญิงสาวผู้มากประสบการณ์ทำงานแนะนำว่า
“หนึ่ง คือกินผักตามฤดูกาล ไม่ใช่ผักที่ตามเรามาทุกฤดู สอง คือลองกินผักแปลกๆ ที่เป็นผักยืนต้นบ้าง อาทิ ใบเหลียง สะเดา ขี้เหล็ก เพราะไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ทุกวันนี้ผักพื้นบ้านก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะปลอดสารเคมี เพราะถ้าผักชนิดนั้นเริ่มกลายเป็นผักเศรษฐกิจ เช่น ใบบัวบก ชะอม ตำลึง เราก็พบสารตกค้างเหมือนกัน สาม ถ้ามีพื้นที่ พอจะวางกระถางได้ก็ปลูกผักกินเองบ้าง ผักกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีที่เราพบบ่อยๆ เช่น กะเพรา พริก ของพวกนี้ปลูกง่าย ถึงเราใช้ไม่มาก แต่ก็ใช้บ่อย”
.
หากเราอยากมีชีวิตที่ปลอดภัยตั้งแต่วันนี้ สิ่งแรกที่เราเริ่มต้นได้จากสองมือของเราเอง คือ การทำอาหารกินเอง หากทำไม่ได้ทุกมื้อก็อาจเริ่มต้นทำบางมื้อเพื่อลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างได้บ้างก็ยังดี
เราต้องพึ่งตัวเองให้มากขึ้น ทำกับข้าวกินเองได้ก็จะช่วยได้เยอะเพราะเราเป็นคนเลือกวัตถุดิบเอง ตอนนี้เริ่มมีตลาดเขียวทุกจังหวัด แล้วราคาก็ไม่ได้ต่างจากผักทั่วไปมากนัก ราคา 10-15 บาทเหมือนกัน แถมปลอดภัยกว่า ถ้าเราไปตลาดเขียวได้อาทิตย์ละครั้ง แนะนำให้ผูกกับเกษตรกรที่คุณมั่นใจ หากเป็นไปได้ลองหาเกษตรกรที่สามารถเปิดบ้านให้เราเข้าไปเยี่ยมชมแปลงเกษตรและตอบคำถามเราได้ตลอด หรือเกษตรกรคนไหนที่กล้ากินผักที่ตัวเองปลูก เราน่าจะผูกสัมพันธ์เอาไว้ได้ ขนาดบางคนเวลาไปทำผม ยังมีช่างตัดผมส่วนตัว เราก็ควรจะหาเกษตรกรส่วนตัวที่ฝากชีวิตของเราเอาไว้บ้าง\
.
“สำหรับการผลักดันในระดับที่ใหญ่ขึ้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเครือข่ายประชาชน ควรร่วมกันผลักดันให้ร้านอาหารที่ใช้ผักปลอดภัยแสดงสัญลักษณ์บอกให้ผู้บริโภครับรู้ เหมือนอย่างกาแฟออร์แกนิคก็มีป้ายบอก เราต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องปกติของสังคมว่าอาหารต้องปลอดภัย”
.
บนเส้นทางการทำงานบนถนนไร้สารพิษสายนี้ หญิงสาวตัวเล็กเรียนรู้และเติบโตจากการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถหาความสุขเล็กๆ จากการทำงานได้ทุกวัน
“ทุกวันนี้ความสุขจากการทำงานของเรา เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างเส้นทางที่เราเดินไป เราเห็นการเติบโตของสิ่งต่างๆ ของเพื่อนร่วมทาง เราหยุดฟังและสามารถแยกแยะสารที่เขากำลังจะสื่อออกมามากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าคนทำงานทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครอยู่ในบทบาทไหน ตำแหน่งเล็กใหญ่แค่ไหน จะเป็นใครก็แล้วแต่ ทุกเสียงมีความสำคัญหมด งานของเรามีแค่ธงเดียวคือทำให้สังคมไทยปลอดภัย”
.
ขอบคุณภาพประกอบจากปรกชล อู๋ทรัพย์มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ