8 ช่องทางความสุข

เยียวยาหัวใจด้วยศิลปะบำบัดกับครูเชอรี่

“กฎของการทำงานศิลปะวันนี้มีอย่างเดียว คือ ทำอะไรก็ได้ที่มันไม่สวย”

เสียงผู้นำกิจกรรมหญิงชี้แจงกฎกติกา ใครบางคนตะโกนถามกลับมาว่า

“ถ้าบังเอิญทำแล้วสวยล่ะ”

“ถ้าอย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้” คนยืนหน้าห้องตอบกลับด้วยรอยยิ้ม บรรยากาศในห้องจึงเปลี่ยนจากความกังวลใจอบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะแทน ทุกคนเริ่มละเลงสีน้ำลงบนแผ่นกระดาษอย่างอิสระ หมดห่วงเรื่อง “ความสวยงาม” ต่างคนต่าง “ระบาย” เรื่องราวปมในใจผ่านสีสันบนแผ่นกระดาษ จนกระทั่งได้ผลงาน “สวยในแบบของตนเอง” พร้อมกับหัวใจที่โปร่งเบาสบายมากขึ้น

“หัวใจของการทำศิลปะบำบัดคือการใช้อวัจนภาษา แต่คนไทยเรามักติดกรอบคำว่า ‘ศิลปะคือสวยงาม’ เวลาเจอคนไทยจำนวน 8 ใน 10 คนมักบอกว่า ‘เขาไม่เก่งศิลปะ’ ถ้าเป็นฝรั่งจะไม่พูดคำนี้เลย”

ครูเชอรี่ หรือ แสงอุษณีษ์ นวะมะรัตน นักศิลปะบำบัดวิชาชีพ ดีกรีศิลปะบำบัดแบบผสมผสาน (Integrative Art Therapy) จากประเทศอังกฤษและประกาศนียบัตรวิชาชีพ “นักศิลปะบำบัด” ซึ่งเป็นสาขาของ Canadian International Institute of Art Therapy ถ่ายทอดถึงหัวใจของการทำศิลปะบำบัด

“สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนเริ่มกระบวนการศิลปะบำบัดคือปลดล็อคความคิดเรื่องสวยและไม่สวย เพื่อให้เขาวางใจว่าการทำศิลปะแบบนี้มีความสวยในตัวเอง เวลาสีผสมกันเละๆ ไม่ต้องคิดอะไร มันก็ออกมาเป็นลวดลายที่เราเห็นแล้วชอบได้เหมือนกัน ถ้าเขาปลดล็อคความคาดหวัง เขาก็จะทำงานออกมาได้อิสระมากขึ้น”

ครูเชอรี่กล่าวถึงหน้าที่ของนักศิลปะบำบัดว่า “ไม่ใช่ครูสอนศิลปะ” แต่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ด้านอุปกรณ์ศิลปะและ “ผู้ไขกุญแจ” ปลดล็อคความกังวลใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น

“การทำศิลปะบำบัด คือ การกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกในระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งมันมีกระบวนการแฝงเยอะแยะให้เราปลดล็อคปมปัญหาในใจออกมาผ่านอุปกรณ์ศิลปะที่เราเตรียมไว้ให้ เช่น การใช้พื้นผิว หรือ texture ที่มีความแตกต่างกัน เวลาเราให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอามือลงไปสัมผัสสีชอล์ค เราก็จะถามว่าเขานึกถึงอะไร บางคนบอกว่านึกถึงขนสุนัขที่เขาชอบ หรือบางคนระบายสีเละๆ เทะๆ จนดูไม่รู้ว่าเป็นภาพอะไร แต่ในภาพนั้นมีดวงดาวเล็กๆ ซ่อนอยู่ เขาก็จะเล่าเรื่องราวออกมาให้ฟัง

“สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการถ่ายทอดความนึกคิดในระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งการทำศิลปะได้เข้าไปชวนให้เขานึกถึงเรื่องราวที่เป็นปมในใจซึ่งทำให้ชีวิตของเขาไม่สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดเหล่านี้ไปได้ พอเขาได้ผ่านกระบวนการศิลปะบำบัด เรื่องราวที่กังวลใจระดับบนๆ จะคลี่คลายออกมาก่อน ตั้งแต่เรื่องความรัก การงาน ความขัดแย้งกับคนรอบตัว พอพวกนี้มันคลายไปแล้ว ปมที่แท้จริงถึงจะคลายออกมาผ่านกระบวนการศิลปะบำบัดต่างๆ ที่เขาลงมือทำ”

ครูเชอรี่

ศิลปะบำบัดตนเอง

เวลาเราได้ยินคำว่า “ศิลปะบำบัด” เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึง “ผู้ป่วยจิตเวช” ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ศิลปะบำบัด” เหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการเครื่องมือบางอย่างเพื่อปลดล็อค “บาดแผลในใจ” ที่เราไม่รู้ว่าซุกซ่อนอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่า ถ้าเจอเหตุการณ์บางอย่างที่สะกิดแผลซ้ำรอยเดิม เรามัก “เจ็บแปลบ” ขึ้นมาทุกที อาทิ เวลาเห็นดอกไม้ที่แฟนเก่าเคยให้วางอยู่ที่ไหนก็ตาม ภาพความทรงจำอันเจ็บปวดในวันที่เลิกรากันมักจะแวบเข้ามาทันที หรือ เห็นสุนัขเดินสะเปะสะปะข้างถนนแล้วนึกถึงสุนัขแสนรักที่หายไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือปมในใจที่ทำให้เราไม่อาจ “ก้าวข้าม” ความรู้สึกบางอย่างเพื่อเดินไปข้างหน้าต่ออย่างเป็นอิสระ กระบวนการศิลปะบำบัดจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการช่วย “ปลดล็อค” หรือ “เยียวยา” บาดแผลที่ซ่อนอยู่ในใจ แม้ว่ามันอาจไม่หายสนิท แต่อย่างน้อยก็ทำให้ขนาดของบาดแผลเล็กลงจนไม่รู้สึกเจ็บปวดมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ในหลักสูตรการเรียนศิลปะบำบัดที่เรียนจบมา นักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการบำบัดจากนักวิชาชีพด้านนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะทุกคนมีเรื่องราวในชีวิตที่ต้องคลี่คลาย ถ้าคุณไม่เยียวยาตนเองก่อน คุณจะไปบำบัดคนอื่นได้อย่างไร

หากเราเชื่อว่า ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนถูกโชคชะตาลิขิตมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง ชีวิตของครูเชอรี่ก็คงถูกกำหนดมาให้เป็นนักศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาผู้อื่นเช่นเดียวกัน เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์ “ปมชีวิต” มากมายตั้งแต่วัยเยาว์ เริ่มจากการสูญเสียพ่อเมื่ออายุเพียงสี่ขวบ หลังจากนั้นแม่แต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงชาวอังกฤษ เธอจึงมีโอกาสได้ย้ายไปเรียนที่อังกฤษ แต่เนื่องจากพ่อเลี้ยงมีปัญหาสุขภาพ แม่จึงย้ายกลับเมืองไทยและปล่อยให้เธอเรียนหนังสือในต่างแดนเพียงลำพัง ซึ่งเธอเคยล้มป่วยด้วยโรคเอสแอลอีจนลุกเดินไม่ได้หลายครั้ง และเคยสลบไปนานถึงเจ็ดวันจนญาติพี่น้องคาดว่าเธอคงมีลมหายใจบนโลกใบนี้ได้ไม่เกินอายุ 25 ปี สิ่งที่ทำให้เธอรอดพ้นวิกฤติชีวิตมาได้ เพราะเธอใช้ศิลปะบำบัดตนเองและผู้อื่นจนจิตใจแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ อาการโรคร้ายที่ใครๆ ต่างคาดว่าจะพรากชีวิตเธอไปกลับค่อยๆ ลดลงจนเธอสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติมาจนถึงวันนี้

ครูเชอรี่ในวัยต้นสี่สิบปีเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาตนเองว่า

“ตอนอายุ 17 ปี ป่วยเป็นโรคเอสแอลอี หรือ โรคพุ่มพวง เคยป่วยหนักขนาดอาเจียนเป็นเลือด สลบไปเจ็ดวัน ฟื้นมาอยู่ห้องไอซียู นอนโรงพยาบาลเป็นเดือนกว่าจะแข็งแรง ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าศิลปะบำบัดคืออะไร แต่เราก็เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีคนทำงานด้านศิลปะ พอออกจากโรงพยาบาลต้องพักฟื้นที่บ้านไม่ได้ไปโรงเรียนอยู่ครึ่งปี ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเอาลังกระดาษเหลือๆ มานั่งวาดรูป เพราะยาทำให้นอนไม่หลับ กลางวันอ่านนิยาย กลางคืนวาดรูป”

หลังจากสุขภาพดีขึ้น เธอจึงสนใจเลือกเรียนด้านศิลปะบำบัดแบบผสมผสาน (Integrative Art Therapy) ซึ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรที่ประเทศอังกฤษ

ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เลือกเรียนวิชาเอกภาพพิมพ์ แล้วบังเอิญได้คุยกับคุณป้าชาวอังกฤษทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์มาสมัครเรียนรุ่นเดียวกัน คุณป้าบอกว่า ‘ที่มหาวิทยาลัยมีคอร์สศิลปะบำบัดด้วยนะ’ คุณป้าอยากเรียนคอร์สนี้ ตอนนั้นเพิ่งได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก เราสงสัยว่าศิลปะบำบัดเป็นยังไง เพราะตอนที่เราป่วย เราใช้ศิลปะบำบัดตนเองอยู่เหมือนกัน เช่น เวลาเขียนจดหมายถึงเพื่อนก็วาดระบายสีซองจดหมายก่อนส่งไปให้เพื่อน เหมือนเราทำศิลปะบำบัดตนเองมาตลอด เราไม่ใช่คนเรียนศิลปะเก่ง แต่ชอบที่ได้ทำมากกว่า เราไม่เคยประกวดได้รางวัลศิลปะ แต่เรามีศิลปะอยู่ในชีวิตและมันช่วยเยียวยาเรามาตลอด ก็เลยสนใจเรียนคอร์สศิลปะบำบัด เพราะเราเป็นคนป่วยมาก่อนเลยคิดว่าเราน่าจะทำสิ่งนี้ได้ดี

 

สู่การเยียวยาผู้อื่น

ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ครูเชอรี่ทำงานศิลปะบำบัดให้กับคนหลากหลายช่วงวัย

ตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนชรา รวมไปจนถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่

เธอบอกว่ากลุ่มที่ทำงานด้วยง่ายที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วยเด็ก เพราะถึงแม้ว่าเด็กจะลุกไปวิ่งเล่นไม่ได้เหมือนเด็กทั่วไปแต่กิจกรรมศิลปะบำบัดสามารถ “สร้างพื้นที่ให้เขาวิ่งเล่นบนกระดาษอย่างมีความสุข” เช่นกัน

การบำบัดเด็กเป็นหวัดกับเป็นมะเร็งเหมือนกัน เด็กอายุสี่ห้าขวบ ไม่รู้ความร้ายแรงของโรค รู้แต่ว่ามันเจ็บป่วยทรมาน เด็กที่ป่วยมากติดเตียงเราก็ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เขาได้ทำกิจกรรม เช่น ตัดกระดาษ จับกรรไกรไม่ได้ เราช่วยให้เขาได้แสดงความคิดเห็น เขาจะภูมิใจที่เขาได้ทำ ถ้าเกิดอยากแสดงความรู้สึกอะไรออกมา เขาก็วางใจเราในการเล่าเรื่องที่ชอบหรือไม่ชอบเพื่อปลดปล่อยสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ

“การบำบัดผู้ป่วยเด็กกับผู้ใหญ่แตกต่างกันเยอะ เพราะเด็กจะตอบสนองดีมาก เรามาวันเดียว เขาก็รู้แล้วว่า เรามาทำอะไร เด็กจะอยากวิ่งมาหาเรา แต่ผู้ใหญ่เราต้องไปเชิญมาร่วมกิจกรรมทุกวัน บางคนก็คลุมโปงหนีเรา เพราะหนึ่ง เจ็บจนไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย สอง เขารู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องของเด็ก ฉันไม่เก่งงานฝีมือ ไม่เก่งกิจกรรม แต่ถ้ามีเพื่อนคนหนึ่งในห้องทำก็จะเริ่มสนใจ พอเราเริ่มติดตลาดกับผู้ใหญ่กลุ่มนี้ก็ง่ายแล้ว แต่พอคนเก่ากลับบ้านไป เราก็ต้องมาเริ่มกับผู้ป่วยกลุ่มใหม่อีกแล้ว การทำงานกับเด็กจะง่ายกว่าเยอะ”


สิ่งที่ยากสุดของการทำศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือการทำให้ผู้ป่วยซึ่งมีความเจ็บปวดจากโรคร้ายยอมถ่ายเทความเจ็บปวดของตนเองออกมาสู่งานศิลปะท่ามกลางร่างกายที่อ่อนแรง หน้าที่ของนักศิลปะบำบัดจึงต้องช่วยประคับประคองจินตนาการของผู้ป่วยถ่ายทอดลงบนชิ้นงานศิลปะจนเจ้าของความคิดรู้สึกผ่อนคลายจากความเจ็บปวดหรือมีกำลังใจต่อสู้โรคร้ายต่อไป

กรณีผู้ป่วยหนักเราให้เขาทำเองไม่ไหว แต่เราสามารถใช้ศิลปะในการช่วยถ่ายเทเรื่องความเจ็บปวดได้บ้าง สิ่งที่ง่ายที่สุดคือปั้นแป้งโดว์ นอนแล้วบีบมือ เหมือนบริหารกล้ามเนื้อมือ เราแค่ให้เขาเลือกว่า ชอบสีอะไร เราก็มีแม่สีไป แล้วผสมให้ ถ้าเขาเลือกสีเหลืองก็ให้เขานวดดู แล้วปั้นอะไรก็ได้ มีผู้ป่วยท่านหนึ่งให้เอาแป้งโดว์สีขาวผสมแดงเหมือนเป็นเลือด เขาบอกปั้นเป็นคนให้หน่อย เราถามว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร เขาก็ตั้งชื่อมา สมมติชื่อบี แล้วบีจะช่วยแบ่งเบาอะไรได้บ้างไหม เขาก็บอกว่า ช่วยแบ่งเบาความเจ็บปวดให้หน่อยนะ พอเขาเจ็บปวดก็จะบีบแรงๆ. เพราะมะเร็งระยะสุดท้ายจะปวดมาก บางคนปั้นเป็นรูปทรงพระพุทธรูป แล้วเขาบอกว่า อยากให้ลูกเอาไปตั้งไว้ที่หิ้งพระในบ้าน เขาอยากให้ลูกได้ไหว้พระ นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่อยากบอกลูก


ในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ เวลาพูดถึงงานศิลปะมักจินตนาการถึงภาพวาดสวยงามในกรอบรูปประดับฝาผนัง คนที่ไม่ชอบวาดรูปจึงมองไม่เห็นคุณค่าของการทำศิลปะทั้งในเชิงการสร้างจินตนาการและการสร้างกำลังใจ นอกจากนี้ผู้ใหญ่มักคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องของเด็ก สังคมไทยจึงยังมองว่า “ศิลปะบำบัด” เป็นเรื่องของผู้ป่วยเด็ก ซึ่งหากเราเปิดใจมองศิลปะในมุมใหม่ที่ก้าวพ้น “ความสวยงาม” เราคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้านในตัวเราและคนรอบข้างเช่นกัน

ศิลปะบำบัดไม่ใช่การรักษา เป็นการดูแลจิตใจ ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรครักษาหาย เขาก็จะมีกำลังใจในการต่อสู้ เราทำให้เขามองเห็นว่าเขายังมีศักยภาพและมีอะไรอื่นๆ ที่เขายังทำได้ในชีวิต หรือถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายก็แค่ยอมรับว่าจะอยู่กับมัน ถ้ายอมรับแล้ว เขาก็จะเผชิญชีวิตต่อไปโดยมีโรคนี้เป็นเพื่อน ดูแลยังไงให้อยู่ไปด้วยกันได้ บางอย่างแค่เรายอมรับและอยู่กับมัน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา มองว่าชีวิตเราไม่ได้เพอร์เฟ็ค เราก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

 

สมดุลชีวิต

ตลอดเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ครูเชอรี่เริ่มทำงานศิลปะบำบัดให้กับคนหลากหลายกลุ่ม สุขภาพของเธอจากที่เคยป่วยหนักเกือบตายมาหลายครั้งก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องกินยารักษาโรคใดๆ มาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว และเธอยังมีชีวิตอยู่เกินวัย 25 ปีจากที่ญาติพี่น้องเคยคาดการณ์ไว้อย่างน่าอัศจรรย์ เธอบอกว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้หายป่วยมาจากการสร้างสมดุลในชีวิตให้ตนเอง ทั้งจากการแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งจากการได้รับพลังแห่งความสุขที่สะท้อนกลับมาจากกลุ่มคนที่เธอทำงานศิลปะบำบัด เพราะทำให้เธอเหมือนได้บำบัดตนเองไปด้วยระหว่างทางเช่นกัน

หลังจากเราทำงานบำบัดผู้ป่วย ตัวเราก็ไม่ป่วยอีกเลย เหมือนเราได้บำบัดตนเองไปด้วย พอใจเราสมดุลขึ้น ร่างกายก็รักษาตนเอง เราปล่อยวางและเข้าใจชีวิตมากขึ้น สร้างสมดุลให้ตนเอง พอรู้ว่าบางอย่างถ้าเยอะเกินไปทำให้เราป่วย เราก็แค่ทำอะไรที่พออยู่ได้ ดูแลคนรอบข้างได้ เราโตขึ้น มันก็มีปัญหาใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ก็ต้องจัดสมดุลชีวิตไปเรื่อยๆ

สิ่งสำคัญที่ทำให้เธอทำงานด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะเธอเองก็ผ่านปมชีวิตมามากมายตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อเธอได้คลี่คลายปมของเด็กคนอื่น สิ่งที่ได้รับคืนกลับมาคือการคลี่คลายปมของตนเองด้วยเช่นกัน

“ตอนเด็กๆ เราต้องการให้แม่แสดงออกทางความรักในแบบที่เราต้องการ เมื่อแม่แสดงออกในอีกรูปแบบหนึ่ง เราจึงโกรธแม่ คิดว่าแม่ไม่รัก พอเราต้องทำงานบำบัดให้เด็กคนอื่น ได้เรียนรู้เรื่องพัฒนาการทางอารมณ์ของคนทุกช่วงวัย ทำให้ได้มองย้อนเข้าไปในตนเอง และปลดล็อคตรงนี้ เราก็เข้าใจแม่มากขึ้นว่าชีวิตแม่ก็มีปมเหมือนกันเพราะต้องสูญเสียพ่อตั้งแต่เราอายุแค่สี่ขวบ พอเราเข้าใจตนเอง เวลาทำงานเราก็เข้าใจคนอื่นมากขึ้นตามไปด้วย”


ทุกวันนี้ ครูเชอรี่นับเป็นกระบวนกรและนักศิลปะบำบัดวิชาชีพจำนวนไม่กี่คนในเมืองไทยที่เรียนจบด้านศิลปะบำบัดมาโดยตรง และมีประสบการณ์บำบัดคนทุกช่วงวัย ทั้งผู้ป่วยในโรงพยาบาล เด็กพิเศษ จนถึงบุคคลทั่วไปซึ่งปัจจุบันมีปัญหาโรคซึมเศร้ากันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะศิลปะบำบัดคือเครื่องมือที่สามารถใช้เยียวยาคนทุกเพศทุกวัย และมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าศิลปะในกรอบรูปที่เน้นความสวยงามบนฝาผนัง

ความสุขจากการที่เราทำงานศิลปะบำบัดอยู่ตรงที่เราเห็นคนมีความสุขขึ้น แล้วเราก็มีความสุขขึ้นทุกครั้ง เพราะเราถือว่าคนที่เราได้ทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้เจอกันแค่ครึ่งวัน หรือเคยทำงานด้วยกัน เราก็ได้เติบโตและเรียนรู้ไปกับทุกๆ กระบวนการบำบัดด้วยเช่นกัน เรารู้จักคนมากขึ้น เราก็รู้จักตนเองมากขึ้นในการที่เราจะรับมือกับแต่ละเรื่อง เรารู้สึกดี ไม่ใช่แค่เขารู้สึกดีขึ้น แต่เรารู้ว่าเขาและเรารู้สึกดีขึ้น มันเหมือนพลังที่เราให้เขาแล้วส่งกลับมา เราได้รับมากกว่าที่เราไปให้เขา มันเป็นพลังที่ส่งต่อระหว่างกัน อย่างเช่นเราไปเจอผู้ป่วยระยะสุดท้าย บางทีเราท้อเหนื่อยมาจากเรื่องอื่นๆ แค่เขาบอกว่าขอบคุณมากนะลูก ขอให้หนูเจริญๆ แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไปบนเส้นทางชีวิตของตนเองตั้งแต่วัยเยาว์มาจนถึงวันนี้ นักศิลปะบำบัดวิชาชีพวัยต้นสี่สิบสรุปบทเรียนชีวิตตนเองว่า

“คิดว่าเราถูกกำหนดมาแล้วให้มาทำเรื่องนี้ เพราะเราเคยผ่านการป่วยหนัก เฉียดตายมาหลายรอบ ต้องใช้ศิลปะบำบัดตนเองมาตลอด แล้วตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราก็ไม่เคยทำงานอย่างอื่นได้ดีเท่ากับศิลปะ”

 (หมายเหตุ – ขอขอบคุณภาพประกอบจากครูเชอรี่มา ณ​ ที่นี้ด้วยค่ะ ท่านสามารถติดตามกิจกรรมศิลปะบำบัดของครูเชอรี่ได้ที่เพจ Art Therapy by Cherry Nawamarat)

 

ศิลปะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save